สุจิตต์ วงษ์เทศ /บ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ ช้าง ‘ป่าต้น’ ไปอยุธยา

ศาลเทพารักษ์ อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดท่าโขลง น่าเชื่อว่าเป็น "ศาลผีปะกำ" ทำพิธีเกี่ยวกับช้าง พบในแผนที่เมืองสุพรรณบุรี สมัย ร.5 พ.ศ.2439 (วงสีแดง) 1.วัดกะดีทอง 2.ศาลเทพารักษ์ 3.วัดท่าโขลง

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ

ช้าง ‘ป่าต้น’ ไปอยุธยา

บ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ ในพระราชพงศาวดารอยุธยาที่ชำระสมัยหลังกรุงแตก น่าจะอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน ที่ปัจจุบันเรียกย่านวัดกุฎีทอง-วัดท่าโขลง

ย่านวัดกุฎีทอง มีคำบอกเล่าเกี่ยวกับพระเพทราชา เช่น พระยานมาศ ปัจจุบันเก็บไว้ในวัดกุฎีทอง

ใต้วัดกุฎีทองมีศาลตายาย [ได้ข้อมูลจาก คุณปัญชลิต โชติกเสถียร ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ] ตรงกับตำแหน่งศาลเทพารักษ์ พบในแผนที่เมืองสุพรรณบุรี สมัย ร.5 น่าเชื่อว่าแต่เดิมครั้งอยุธยาเป็นศาลผีปะกำใช้ในพิธีกรรมคล้องช้าง “ป่าต้น” จากเมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลาดลงแม่น้ำท่าจีน (ฝั่งตรงข้ามวัดท่าโขลง) สอดคล้องเป็นทางช้างลงข้ามน้ำ

แผนที่เมืองสุพรรณบุรี สมัย ร.5 พ.ศ.2439 วงสีแดง บ้านโพหลวง มี 2 ฝั่งแม่น้ำท่าจีน ไม่ใช่บ้านพลูหลวง

 

“ช้างป่าต้น คนสุพรรณ”

ท่าโขลง ปัจจุบันมีวัดท่าโขลง อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันออก (ตรงข้ามวัดกุฎีทอง) สุนทรภู่พรรณนาในโคลงนิราศเมืองสุพรรณ (แต่งสมัย ร.3) ว่าท่าโขลงเป็นที่ช้างข้าม (แม่น้ำท่าจีน) ว่า “ท่าโขลงโขลงช้างค่าม ตามโขลง”

[ค่าม คือ ข้าม ต้องการรูปเสียงเอก ตามฉันทลักษณ์โคลง เลยต้องสะกดเป็น ค่าม เรียกเอกโทษ]

ท่าโขลง โดยชื่อน่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องพระเพทราชา ทรงกำกับกรมคชบาล (หรือกรมช้าง) มีหน้าที่รวบรวมและควบคุมช้างในทางยุทธศาสตร์สนองราชสำนัก ซึ่งสอดคล้องวลีพังเพยว่า “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” มีคำอธิบายของถาวร สิกขโกศล (นักปราชญ์ร่วมสมัยแห่งสุพรรณบุรี) หมายถึง ช้างป่าหลวงอยู่เมืองสุพรรณ โดยป่าต้นคือป่าหลวง อยู่ในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

“ช้างป่าต้น” เป็นช้างชั้นเลิศเหนือช้างถิ่นอื่น “คนสุพรรณ” ก็เทียบได้กับช้างป่าต้น

เพราะป่าต้นเป็นแหล่งช้างชั้นเยี่ยมอยู่ในสุพรรณบุรี จึงเปรียบคนสุพรรณได้กับช้างป่าต้น อุปมาเป็นเลิศเหนือช้างถิ่นอื่นฉันใด อุปไมยก็เป็นเลิศเหนือคนถิ่นอื่นฉันนั้น สำนวนนี้เป็นคำยกย่องคนสุพรรณโดยแท้ มีใช้เป็นที่รู้ทั่วไปตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ อยู่ในโคลงนิราศสุพรรณ (บท 254) ว่า “ป่าต้นคนสุพรรณ ผ่องแผ้ว”

ศาลตายาย ริมแม่น้ำท่าจีน ทางใต้วัดกุฎีทอง ฝั่งตรงข้ามเยื้องวัดท่าโขลง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี [ภาพโดย พระครูสังฆรักษ์ (เจ้าอาวาสวัดพระรูป) สุพรรณบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563]

“บ้านพลูหลวง” ปัจจุบัน เดิมชื่อ บ้านโพหลวง

บ้านโพหลวง ถูกทางการท้องถิ่นสุพรรณเปลี่ยนเป็น บ้านพลูหลวง ราว 40-50 ปีมานี้

โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เดินทางทวนแม่น้ำท่าจีนจากใต้ขึ้นเหนือ ระบุชื่อบ้านตามลำดับพอผ่านหัวเวียง (คือบ้านหัวเวียงในปัจจุบัน) ต่อจากนั้นชื่อ โพหลวง ว่า  “โพหลวงห้วงน้ำลึก ไหลเนือย”

ชื่อบ้านนามเมืองขึ้นด้วยคำว่าโพ ในนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ (แต่งสมัย ร.3) เช่น โพคลาน, โพคอย, โพพระยา ถ้าพิจารณาจากชื่อ โพหลวง ก็จะรับกับตำแหน่ง โพพระและโพพญา คือขึ้นด้วยโพและต่อท้ายด้วยชื่อพื้นที่

ป้ายบอกชื่อ “บ้านพลูหลวง” (ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) แต่หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าย่านนี้ชื่อ “โพหลวง” ไม่ใช่ “พลูหลวง”

 

“บ้านพลูหลวง” ปัจจุบันคลาดเคลื่อน

“บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณ” พงศาวดารไม่ระบุว่าอยู่ตรงไหน? แต่ปัจจุบันทางสุพรรณบุรีได้กำหนดตำแหน่งของบ้านพลูหลวงอยู่ ต.พิหารแดง อ.เมือง ทางทิศเหนือของกำแพงเมืองสุพรรณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าบริเวณนี้เป็นบ้านพลูหลวงถิ่นฐานพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระเพทราชา

บ้านพลูหลวงไม่ใช่ตำแหน่งปัจจุบัน (ตามกำหนดของทางการสุพรรณ) เพราะเดิมชื่อ “บ้านโพหลวง” ถูกเปลี่ยนเป็นบ้านพลูหลวง เมื่อราวสี่สิบปีที่ผ่านมา (ตาม “เอกสารการประชุมพุทธสมาคม ครั้งที่ 11 ปี พ.ศ.2506” บทความเรื่องพลูหลวงมีที่สุพรรณ เสนอว่าบ้านโพธิ์หลวงนั้นอาจจะเพี้ยนจากพลูหลวง และเอกสารเรื่อง “นิทานย่านสุพรรณ” ของสุภร ผลชีวิน ได้สันนิษฐานว่าบ้านโพธิ์หลวงเพี้ยนมาจากบ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นความเข้าใจส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่หลักฐานประวัติศาสตร์)