มาเข้าใจ “พระตรีมูรติ-สทาศิวะ” กันใหม่อีกสักครั้ง | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

วันวาเลนไทน์นั้น มีผู้แห่แหนกันไปไหว้ “พระตรีมูรติ” หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยหวังใจว่าจะประสบความสำเร็จในความรัก

ต่างพากันเอาดอกกุหลาบแดง ธูปเทียนแดงไปกราบไหว้บนบานเทวรูปองค์นั้น

อัศจรรย์อย่างไม่มีที่เปรียบครับ ไปไหว้เทพฮินดู (ที่เรียกผิดชื่อ) ในวันแห่งความรักของฝรั่ง (ซึ่งแต่เดิมเป็นวันฉลองนักบุญในคริสต์ศาสนา ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับความรักหนุ่มสาวเลย)

แถมยังใช้ “ดอกกุหลาบแดง” ซึ่งนิยมในวัฒนธรรมฝรั่งโดยมีความหมายเกี่ยวกับความรัก (แม้ในฮินดูก็ใช้ไหว้พระ แต่เน้นคุณลักษณะของสีมากกว่าตัวดอกไม้โดยตรง)

และเทพองค์นี้ก็ไม่ได้ถูกระบุในคัมภีร์ใดว่าเกี่ยวกับความรักโดยเฉพาะ

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยความรู้จาก “หมอดู” ไทยๆ เราเองนี่แหละ ไม่ใช่พราหมณ์อินเดียที่ไหน และบันดาลให้แพร่หลายโดยอำนาจแห่ง “ทุนนิยม” ที่คุณค่าอยู่ที่ “รวยเร็ว รักรุ่ง” ในสังคมแล้งรัก และเมืองกรุงเทพฯ ที่ไม่โรแมนติกเอาเสียเลย (ตามคำของคุณวีรพร นิติประภา)

ความรักหนุ่มสาวเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหา ปลูกฝังผ่านภาพยนตร์ ละคร และโฆษณา คุณจึงต้องซื้อโปรดักต์ใดๆ ที่ทำให้คุณสวยหล่อและโดดเด่นกว่าใครในหล้าโลก เพื่อจะมีใครหรือใครมาให้เลือก

แต่ท่ามกลางการแข่งขันนั้นคุณอาจแพ้ได้เสมอ และการมีชีวิตอยู่ในเมืองหลวงมันไม่ง่ายเลยที่คุณจะมีเวลาไปจีบใคร ทำความคุ้นเคย เดินเล่นกันในอากาศดีๆ เพราะแค่รถติดชีวิตก็หมดเวลาแล้ว

ผู้ช่วยแบบรวดเร็วและง่ายจึงตอบโจทย์ชีวิตแบบนี้ครับ ไม่ว่าจะวัตถุมงคลอะไรก็ตามที่ทำให้ “รักรุ่ง รวยเร็ว”

อุตสาหกรรมวัตถุมงคลของไทยจึงรุ่งเรืองมาก รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ๆ ด้วย แม้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจะมีที่มายังไง ข้อเท็จจริงจะเป็นไง แทบไม่มีใครสนใจ ขอให้ให้พรได้ตามที่ฉันต้องการก็พอในชีวิตห่วยแตกแบบนี้

ที่จริงผมไม่ได้เขียนเพื่อตำหนิอะไรกับเพื่อนร่วมทุกข์ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวเลยนะครับ ผมก็อยู่ในบ้านเมืองแบบเดียวกันนี่แหละ ในสภาพที่ดูเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะพึ่งได้มากกว่ารัฐบาลเสียอีก ห่าเอ้ย (เสียงอุทานในใจผมเอง)

แต่งานของผมในทางวิชาการ คืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเอาข้อมูลมาบอกกัน อะไรไม่ตรงตามหลักวิชาก็มารื้อมาถอดกัน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ ส่วนรู้แล้วใครจะเชื่อยังไงต่อก็ขอให้โชคดีครับ

การถอดรื้อมายาคติและอะไรเบี้ยวๆ บูดๆ ที่สั่งสมกันมาเป็นภาระใหญ่ของนักวิชาการไทยมาพักหนึ่งแล้ว แต่รื้อทีไรก็มักโดนด่า เพราะหลายคนชินที่จะอยู่กันแบบรกๆ อยู่ในหลุมของความไม่จริงหรือไม่รู้ เพราะมันอุ่นสบายดี ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร

ถูกด่าคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะรุ่นใหญ่กว่ายังโดนด่า ผมซึ่งเป็นเพียงรุ่นเยาว์จะโดนด่าบ้างก็ไม่แปลก ยิ่งถ้าด่าแล้วซื้อมติชนสุดสัปดาห์ หรือ “ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?” อ่าน ก็ด่าเถิดครับ (ฮ่าๆ)

 

ที่จริงมีผู้เขียนเรื่อง “พระตรีมูรติ” ที่หน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่กลางเมืองไว้หลายครั้งแล้ว เช่น อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ซึ่งท่านก็ยืนยันหนักแน่นว่า เทพองค์นั้นไม่ใช่พระตรีมูรติอย่างที่คนเข้าใจกัน

ผมก็อยากจะมาช่วยยืนยันอีกเสียงว่า โดยประติมานวิทยา (วิชาว่าด้วยลักษณะของเทวรูป) แล้ว ต้องถือว่า ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ไม่ใช่ “พระตรีมูรติ” อย่างที่เรียกขานกัน แต่เป็นรูปเคารพของ “พระศิวะ” ในปางที่เรียกว่า “สทาศิวะ” หรือพระปัญจมุขี (แปลว่า ห้าหน้า)

พระสทาศิวะ เป็นรูปพระศิวะที่ปรากฏห้าเศียร ปกติเรามักคุ้นเคยแต่พระศิวะที่มีเศียรเดียว

รูปเคารพนี้พัฒนาขึ้นในอินเดียใต้ จากหลักปรัชญาความคิดของสำนักไศวสิทธานตะ ที่นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุด

รูปพระตรีมูรติที่เรียกๆ กันนั้น หากลองสังเกตดูจะพบว่า มีห้าเศียร มีพระจันทร์เป็นปิ่นที่เศียรบนสุด และแต่ละเศียรมี ดวงตาที่สามบนพระนลาฏ ตรงตามรูปแบบของพระศิวะทุกอย่าง เว้นแต่อาวุธและของต่างๆ ในพระกรถูกเอาออกจนหมด

ดังนั้น คำอธิบายที่บางคนว่าเศียรบนสุดเป็นพระศิวะ สี่เศียรล่างเป็นพระพรหม และพระวรกายเป็นพระวิษณุนั้น เป็นคำอธิบายที่ผิดอย่างแน่นอน เพราะทั้งห้าเศียรคือเศียรของพระศิวะ และคงไม่มีเทพใดส่งแต่ร่างกายพระองค์มาผสมกับเทพอื่น

การมีห้าเศียรนั้น แต่ละเศียรมีพระนามต่างๆ กันออกไป คือ อีศานะ ตัตปุรุษะ วามเทวะ อโฆระ และสัตโยชาตะ ซึ่งล้วนเป็นพระนามและองค์คุณของพระศิวะ

พระเศียรทั้งห้าสะท้อน ภาวะห้าของจักรวาล ธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ไฟ ลม อวกาศ) สะท้อนกิจกรรมทั้งห้าของพระเจ้าคือ สรรค์สร้าง รักษา ทำลาย ปลดปล่อย และสร้างมายาภาพ (ลวง) สีทั้งห้า นิกายทั้งห้า (ของพวกที่นับถือพระศิวะ) ฯลฯ

ดังนั้น ชาวไศวะสิทธานตะจึงถือว่านี่คือรูปสูงสุดของพระศิวะ และเมื่อความเชื่อนี้แพร่หลายเข้ามายังอุษาคเนย์ ก็ปรากฏรูปเคารพของพระสทาศิวะในดินแดนแถบนี้ด้วย ของบ้านเราก็มีครับ และคงเป็นที่นิยมมาจนถึงสมัยอยุธยา

 

พระสทาศิวะเกี่ยวอะไรกับความรัก

ก็ต้องบอกว่า “ไม่” ครับ คนฮินดูเขาเอาความรักไปผูกไว้กับ “กามเทพ” โน่น แต่ก็เป็นในเชิงอุปมาอุปไมยในทางกวีเสียมาก

แถมพระศิวะนี่เป็น “ศัตรู” กับกามเทพเลยนะครับ เพราะกามเทพเคยมาพยายามทำให้พระองค์ตกหลุมรักพระแม่ปารวตี พระกามเทพจึงโดนไฟกรดจากเนตรที่สามของพระศิวะเผาจนเป็นจุณมหาจุณ พระศิวะจึงมีอีกพระนามว่า ผู้เผากามเทพ

ตำนานตอนนี้สะท้อนว่า ที่จริงแล้ว พระศิวะในฐานะฤษีกำลังเผา (ตปัสหรือตบะ) กามราคะให้มอดไหม้ไป เพราะพระองค์ต้องการบำเพ็ญพรตนั่นเอง แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังมีคู่ครอง เป็นกึ่งคฤหัสถ์ กึ่งนักบวช (ตามเทวตำนาน)

ถ้าถามว่า แล้วชาวบ้านอินเดียเวลาเขาไปขอพรเรื่องคู่ครองเขาไหว้ใคร

ที่จริงเขาก็ขอไปทั่วนั่นแหละครับ ไม่ได้เฉพาะเจาะจง นับถือใครก็ไปขอพรองค์นั้น แต่โดยมากอะไรทางโลกๆ เขาก็นิยมเข้าหา “เจ้าแม่” ทั้งหลายกัน เพราะใกล้ชิดกว่า และโดย “สภาวะ” ก็ใช่มากกว่า

(โปรดอ่านบทความเรื่อง “ศาสนาผู้หญิง ศาสนาผู้ชาย” ของผมย้อนหลังเถิด)

 

ผมเข้าใจว่า แต่เดิม พระตรีมูรติ (สทาศิวะ) ที่ห้างนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเทพแห่งความรักอะไรหรอกครับ แต่เขาตั้งขึ้นในทำนองเพื่อ “แก้ฮวงจุ้ย” อะไรเทือกๆ นั้น เพราะที่ผมจำได้ แต่เดิมศาลพระตรีฯอยู่มุมแยกราชประสงค์ ในฝั่งตรงข้ามกับพระพรหมเอราวัณเลย ผู้สร้างคงมุ่งหมายจะเลือกเทพที่ดูใหญ่กว่าพระพรหมมาตั้งประจันหน้า

เผอิญเลือกเอาพระสทาศิวะมาโดยเข้าใจว่าตรีมูรติ และเชื่อกันว่าเคยเป็นเทวรูปอารักษ์ของวังเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ส่วนการเริ่มต้นลือกันว่าเป็นเทพแห่งความรักเมื่อใดนั้น ผมยังหาไม่พบ

ใครลือก่อน? ใครทราบโปรดบอกเป็นวิทยาทาน

ที่จริงผมเคยเห็นรูป “พระตรีมูรติ” ที่วัดพู เมืองจำปาสัก ประเทศลาวที่พอจะเป็นต้นเค้าของเราได้ พระตรีมูรติที่นั่นองค์กลางเป็นพระสทาศิวะยืนอย่างเดียวกับเทวรูปที่หน้าห้างนั่นแล แต่สองข้างมีพระวิษณุและพระพรหมคุกเข่าประนมก้มไหว้อยู่ด้วย

การปรากฏทั้งสามองค์นี่เอง จึงเรียกว่า “ตรีมูรติ” ที่แปลว่า “รูปสาม” แต่แน่นอนว่าลักษณะอาการดังนี้ย่อมพอเข้าใจได้ว่า เทวาลัยวัดภู “ศรีภัทเรศวร” เป็นเทวาลัยที่นับถือพระศิวะสูงสุด เพราะพระองค์ปรากฏอยู่ตรงกลาง และยังมีเทพชั้นสูงอีกสององค์น้อมไหว้

ผมมักบอกนักศึกษาอย่างขำๆ ว่า ดูอย่างที่วัดพู เขามากันครบทีมจึงเรียกตรีมูรติได้อย่างไม่ขัดเขิน เหมือนนักร้องดังสักวง สมมุติวงเกิร์ลลี่เบอรี่ มีน้องแนนนี่ไปออกงานคนเดียว พิธีกรเขาก็ต้องบอกว่า ขอต้อนรับน้องแนนนี่จากวงเกิร์ลลี่เบอรี่ ไม่ใช่บอกว่า ขอต้อนรับวงเกิร์ลลี่เบอรี่ อย่างนี้

ตรีมูรติก็เหมือนกันนั่นแหละ พระศิวะมายืนอยู่องค์เดียวหน้าห้าง จะเรียกว่าตรีมูรติก็ไม่ใช่ ต้องบอกว่าพระศิวะถึงจะถูก ส่วนใครจะเชื่อไงอันนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง

ที่จริงเรื่องตรีมูรติยังมีอะไรน่าคุยกันต่อ เพื่อความงอกเงยทางความรู้ แต่เนื้อที่หมดแล้ว

ผมจะขอยกไปคราวหน้าครับ