“โรคห่า” ยุคพระเจ้าอู่ทอง ไม่ใช่ “อหิวาตกโรค”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว “พระเจ้าอู่ทอง” ได้อพยพหนี “โรคห่า” ที่ระบาดหนักมาจากที่ใดที่หนึ่ง (ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่า และใครคนนั้นอยากให้พระเจ้าอู่ทองมาจากที่ไหน?) จากนั้นพระองค์ก็เสด็จมาสร้างกรุงศรีอยุธยา

แน่นอนว่า ใครหลายคนมักจะอธิบายว่า “พระเจ้าอู่ทอง” ในตำนานที่ว่านี้ก็คือ “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1” ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ตามที่พงศาวดารอยุธยาทุกฉบับระบุไว้ตรงกัน จนกระทั่งทำให้การชำระและตีพิมพ์พงศาวดารอยุธยาทุกฉบับก็มักจะมีวงเล็บว่า อู่ทอง เอาไว้ที่ข้างท้ายพระนามของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

ส่วน “โรคห่า” ที่ว่านี้ก็มักจะอธิบายกันมาแต่เดิมว่าคือ “อหิวาตกโรค” ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2 ประการ

ประการแรกก็คือ หลังจากเกิดการระบาดของอหิวาตกโรค หรือที่เรียกกันในครั้งโน้นว่า “ไข้ป่วงใหญ่” เมื่อ พ.ศ.2363 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งก็มีผู้เสียชีวิตในพระนครและหัวเมืองใกล้เคียงมากถึงราว 30,000 คนนั้น

ชาวบ้านเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ห่าลงปีมะโรง” เพราะเกิดขึ้นในช่วงปีมะโรง จึงทำให้คนในยุคกรุงเทพฯ คุ้นเคยกับเหตุการณ์ระบาดของ “โรคห่า” ว่าเกี่ยวข้องกับการระบาดของอหิวาตกโรค จนมีคนล้มตายกันอย่างมหาศาล จึงพากันเข้าใจในยุคหลังว่า โรคห่า คือชื่อโบราณของอหิวาตกโรคไปในที่สุด

ความเข้าใจอย่างนี้ยังถูกตอกย้ำด้วยการระบาดหนักอีกครั้งของโรคร้ายชนิดเดิมที่ว่านี้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องร่วง ถ่ายเหลว อาเจียน จนร่างกายขาดน้ำ และล้มตายในที่สุด เมื่อ พ.ศ.2392 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ที่อ้างกันว่ามีคนตายมากถึง 40,000 คน เมื่อนับยอดรวมทั้งจากผู้เสียชีวิตในพระนคร ปทุมธานี พิษณุโลก อ่างศิลา ฯลฯ

โดยเมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในปีระกา ชาวบ้านก็จึงเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “ห่าลงปีระกา” ไม่ต่างอะไรจากที่เรียกเหตุการณ์ระบาดของอหิวาตกโรคครั้งรัชกาลที่ 2 ว่า ห่าลงปีมะโรง นั่นเอง

 

หมอสมิธ (Samuel John Smith) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งเข้ามารับราชาการในราชสำนักสยามตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 2 จึงอยู่ร่วมสถานการณ์กับเหตุห่าลงกรุงเทพฯ ทั้งสองครั้ง ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ห่าลงปีระกาเอาไว้ว่า

“ผู้คนล้มตายกันมากมาย (ในหลวงรัชกาลที่ 4 ซึ่งตอนนั้นยังผนวชอยู่) ได้แนะนำให้ลำเลียงศพไปเผาที่วัดสระเกศ วัดบางลำพู วัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุข) ปรากฏจำนวนคนที่นำไปฝังและเผาในวัดทั้งสามนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม รวม 29 วัน มีจำนวนถึง 5,457 ศพ โดยเฉพาะวันที่ 23 มิถุนายน วันเดียวมีจำนวนคนตายมากที่สุดถึง 696 คน แต่ถึงกระนั้นก็ดูเหมือนจะยังตายน้อยกว่าสมัยในหลวงรัชกาลที่ 2”

การนำศพไปฝังและเผาที่วัดสระเกศนั้น ไม่ได้ทำเฉพาะในเหตุการณ์ห่าลงปีระกาเท่านั้น แต่ได้ทำมาก่อนเมื่อครั้งห่าลงปีมะโรงแล้วด้วย ว่ากันว่าก็เป็นด้วยการที่มีศพเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีฝูงแร้งมาคอยจิกกินซากศพอยู่ที่วัดดังกล่าว จึงทำให้เหตุการณ์ห่าลงทั้งสองครั้งนั้น ยังมีภาพจำอีกอย่างคือ “แร้งวัดสระเกศ” ซึ่งก็ยังเป็นคำที่คุ้นหูมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนักหรอกนะครับ ที่สำหรับคนในยุคกรุงเทพฯ นั้น เมื่อพูดถึง “โรคห่า” แล้วจะไพล่นึกถึง “อหิวาตกโรค” กันไว้ก่อน จนทำให้กลายเป็นความเข้าใจในภายหลังว่า โรคห่าคือชื่อโบราณของอหิวาตกโรคไปในที่สุด

 

สําหรับเหตุผลประการที่สองก็คือ การที่ในพงศาวดารอยุธยาหลายฉบับ เช่น พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีข้อความระบุว่า

“ศักราช 725 ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ.1906) ทรงพระกรุณาตรัสว่า เจ้าแก้วเจ้าไทยออกอหิวาตกโรคตายให้ขุดขึ้นเผาเสีย ที่ปลงศพนั้นให้สถาปนาเจดีย์วิหารเป็นพระอารามแล้ว ให้นามชื่อวัดป่าแก้ว”

ผู้ที่ “ทรงพระกรุณาตรัส” ในข้อความข้างต้นคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งก็คือคนที่ถูกเหมาเอาว่าเป็นคนเดียวกันกับพระเจ้าอู่ทอง ที่ทรงหนีโรคห่ามาจากที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้น โรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองหนี ก็น่าจะเป็นโรคห่าเดียวกันกับที่ลงเมืองแล้วทำให้ “เจ้าแก้วเจ้าไทยออกอหิวาตกโรคตาย” นั่นแหละ

น่าสนใจว่า เรื่องของเจ้าแก้วเจ้าไทยตายเพราะอหิวาตกโรคนั้นมีอยู่เฉพาะพงศาวดารอยุธยา ฉบับที่เขียนขึ้นในช่วงหลังกรุงธนบุรีลงมาแล้วเท่านั้น

และนั่นก็หมายความว่า พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ก็คือหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดแล้ว สำหรับเรื่องนี้

เพราะพงศาวดารฉบับที่เขียนขึ้นในยุคอยุธยา เช่น ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หรือฉบับวันวลิตนั้น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้เลย

 

เราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะอ้างได้เลยว่า พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น ไปเอาข้อมูลเรื่องนี้มาจากไหน?

ดังนั้น เราจึงตรวจสอบไม่ได้ด้วยซ้ำไปว่า โรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองเสด็จหนีมานั้น คืออหิวาตกโรคที่ระบาดจนทำให้เจ้าแก้วเจ้าไทยต้องตายลงหรือเปล่า?

และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น มีลักษณะเป็นตำนานที่ถูกนำมาผสมผสาน และเรียบเรียงเข้ากับหลักฐานประวัติศาสตร์อื่นๆ แล้วเขียนขึ้นพงศาวดารในภายหลังมากกว่า

ดังนั้น อหิวาตกโรคที่ทำให้เจ้าแก้วเจ้าไทยตาย จึงอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองหนีมาเลยก็ได้

อันที่จริงแล้ว ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น อาจจะนำเอาเรื่องเจ้าแก้วเจ้าไทยตายด้วยโรคห่าสมัยพระเจ้าอู่ทอง มาตีความเอาเองว่าคืออหิวาตกโรคด้วยเช่นกัน เพราะเรากำลังพูดถึงคนในยุคกรุงธนบุรีต่อเนื่องมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กำลังพยายามสอบทานเรื่องในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ที่ห่างไกลจากตัวเขาถึง 400 ปีเศษ ไม่ต่างอะไรจากเราในปัจจุบัน เมื่อต้องพยายามสืบค้นเบาะแสในเรื่องเมื่อหลายร้อยปีก่อนมากนัก

เอาเข้าจริงแล้วจึงดูจะไม่ใช่เรื่องที่เข้าท่าสักเท่าไหร่นักหรอกนะครับ ที่จะใช้เจ้าแก้วเจ้าไทย เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับชี้วัดว่า โรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองเสด็จหนี จนมาสร้างกรุงศรีอยุธยาได้นั้นคือ อหิวาตกโรค

 

คําว่า “ห่า” เป็นภาษาเก่า แต่ไม่ได้แปลว่า “อหิวาตกโรค” มาแต่เดิม นักโบราณคดี-ประวัติศาสตร์นอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอธิบายเอาไว้ว่า คำว่า “ห่า” แปลว่า “มาก” เช่น ฝนตกห่าใหญ่ แปลว่า ฝนตกมาก (แน่นอนว่า ฝนตกห่าใหญ่ ย่อมไม่สามารถแปลว่า ฝนตกจนไข้ป่วงใหญ่มากได้) โรคห่า จึงหมายถึง โรคระบาดที่มีคนตายเป็นจำนวนมาก

และนี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ชาวบ้านยุคต้นกรุงเทพฯ เรียกเหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาด เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 ว่า เหตุการณ์ห่าลงปีมะโรง และห่าลงปีระกา ตามลำดับ

ที่สำคัญก็คือ เหตุการณ์ระบาดใหญ่ของอหิวาตกโลกทั้งสองครั้งที่ว่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาพร้อมๆ กันทั่วทั้งโลก

หมอสมิธ คนดี คนเดิม ได้เล่าถึงเหตุการณ์ห่าลงปีมะโรงในสมัยรัชกาลที่ 2 เอาไว้ว่า

“โรคนี้เริ่มเมื่อ พ.ศ.2362 แพร่กระจายมาจากเกาะปีนัง แพร่เข้ามาตามหัวเมืองชายทะเล ราษฎรพากันอพยพขึ้นมาพระนคร บ้างก็แยกย้ายไปตามหัวเมืองอื่นๆ”

 

ถึงแม้ว่าหมอสมิธจะบันทึกเอาไว้อย่างนี้ แต่อันที่จริงแล้ว การระบาดของอหิวาตกโรคในครั้งนั้น มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่เบงกอล ก่อนจะแพร่กระจายเข้าสู่อินเดีย จีน ทะเลสาบแคสเปียน และส่วนอื่นๆ ของโลก รวมถึงสยาม โดยเท่าที่โลกตะวันตกได้บันทึกข้อมูลเอาไว้นั้น การระบาดของอหิวาตกโรคในครั้งนี้ นับเป็นการระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกเป็นครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ.2359-2369

ในขณะที่เหตุการณ์ห่าลงปีระกา เป็นส่วนหนึ่งของการระบาดใหญ่ครั้งที่ 2 ของอหิวาตกโรค ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2372-2394 ที่มีจุดตั้งต้นในทวีปยุโรป และยังแพร่กระจายเข้าไปในพื้นที่โลกใหม่อย่างทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรก

แน่นอนว่าการระบาดของโรคเหล่านี้ได้ลุกลามไปตามเส้นทางที่มนุษย์ได้ติดต่อระหว่างกัน โดยเฉพาะเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทร ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบิน สมัยต้นกรุงเทพฯ เช่นนี้ สมัยปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ ยุคพระเจ้าอู่ทองจึงย่อมเป็นเช่นนี้

ไม่มีหลักฐานเลยว่า ยุคพระเจ้าอู่ทองมีการระบาดของอหิวาตกโรค นอกจากเรื่องเจ้าแก้วเจ้าไทย ในพงศาวดารไทย ที่ถูกชำระขึ้นหลังเหตุการณ์ราว 400 ปี แต่มีหลักฐานมากมายของการระบาดของโรคห่าอีกโรคหนึ่งคือ กาฬโรค อยู่ให้เต็มไปหมดทั่วทั้งผืนโลกเก่า นับตั้งแต่จีน ไปจนถึงยุโรป ในช่วงระหว่าง พ.ศ.1874-1897 ซึ่งคาบเกี่ยวกับยุคสถาปนากรุงศรีอยุธยา หรือสมัยพระเจ้าอู่ทอง

ดังนั้น ถ้าเมืองของพระเจ้าอู่ทองจะเคยถูกห่าลง จนต้องมีการอพยพหนีและทิ้งร้างกันไปจริงๆ ตามตำนานว่า โรคห่าในครั้งนั้น จึงควรจะหมายถึง กาฬโรค ไม่ใช่อหิวาตกโรค อย่างที่เคยเข้าใจกันมาแต่เดิม