ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
กลางเดือนที่ผ่านมามีข่าวสำคัญเกี่ยวกับชายแดนใต้อยู่หนึ่งเรื่อง นั่นคือข่าวทหารยศนายพันบุกขู่ผู้หญิงมุสลิมกลางตลาดยะลา แค่เพราะโกรธที่ถูกห้ามไม่ให้ยุ่งกับน้องสาวของเธอ
เนื้อหาในคลิปดุเดือดระดับทหารในเครื่องแบบเต็มยศตะโกนใส่ผู้หญิงมือเปล่าว่าพูดจาให้เกียรติกันบ้าง และ “ถ้าเอาตัวขึ้นแล้วอย่ามาร้องขอชีวิต”
ก่อนที่จะถอยออกไปเมื่อพบว่าบริเวณนั้นมีชายฉกรรจ์ 2-3 ราย ที่ลุกขึ้นตวาดกลับและพร้อมจะเป็นประจักษ์พยานให้การข่มขู่ที่ทหารทำต่อชาวบ้านธรรมดาได้ 100%
เหตุการณ์ดำเนินไปแบบสูตรสำเร็จ นั่นก็คือกองทัพย้ายนายทหารคนดังกล่าวจากพื้นที่
ส่วนผู้ถูกข่มขู่ก็ต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดจากการข่มขู่โดยทหารในพื้นที่ซึ่งทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อไป
ยิ่งกว่านั้นคือมีรายงานว่านายทหารรายนี้เคยทำแบบเดียวกันในพื้นที่อื่นจนถูกย้ายมาอยู่ที่ยะลา
แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุทหารขู่ประชาชนแถบปัตตานี เพราะทุกคนที่รู้ประวัติศาสตร์ย่อมรู้ว่าเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผู้บริสุทธิ์ถึงขั้นเสียชีวิตมีมานับสิบปีแล้ว
ตัวอย่างเช่น นาวิกโยธินฆ่า 5 มุสลิม แล้วโยนศพทิ้งแม่น้ำสายบุรีปี 2518, ทหารจับมุสลิมจนตาย 85 คนกรณีตากใบ ฯลฯ ซ้ำเหตุฉาวเรื่องทหารพรานเสพกามกับลูกชาวบ้านในโรงเรียนสอนศาสนาก็เพิ่งผ่านไปไม่นาน คนที่เชื่อว่านี่เป็นการข่มขืนก็มีไม่น้อย คลิปจึงตอกย้ำภาพลักษณ์ของทหารที่ข่มเหงคนในพื้นที่ปัตตานี
เมื่อระบุว่าภาพลักษณ์ทหารเป็นอย่างไรในมุมมองของปัตตานี ก็ควรระบุต่อไปว่าสภาพการบริหารพื้นที่ดังกล่าวในขณะนี้ทำให้ปัญหานี้ส่งผลมากกว่าที่คิด
เหตุผลคือกลไกจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นพลเรือนอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) ได้ถูกรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2557 แก้ไขให้เป็นอำนาจหน่วยงานทหารอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)
ภาพลักษณ์ที่เป็นปัญหาในอดีตจึงมีโอกาสลุกลามเป็นความไม่พอใจความเป็นจริงในปัจจุบัน
“มหาสมุทรและสุสาน” หนังไทยที่น่าจะดีที่สุดในปี 2559 แตะเรื่องทหารในพื้นที่ปัตตานีอย่างลึกซึ้งและสนุก
หนังนำเสนอภาพตัวแทนของทหารในเครื่องแบบกำลังปฏิบัติหน้าที่คู่ขนานกับชีวิตทหารขณะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ และความยอดเยี่ยมของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งถ่ายหนังเรื่องนี้จนได้รางวัล Asian New Talent Award จากเทศกาลหนังเซี่ยงไฮ้
รวมทั้งการตัดต่อของ อุรพงศ์ รักษาสัตย์ ก็มีมุมมองในการเล่าความรู้สึกของทหารและคนในพื้นที่ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์
แม้จะมีฉากหลังเอื้อให้ขายความรุนแรง หนังไทยชั้นดีซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Island and Funeral กลับไม่ขายหนังด้วยภาพความรุนแรงอะไรทั้งนั้น
หนังเลือกโจทย์ที่ยากแต่น่านับถือ นั่นคือถ่ายทอดบรรยากาศความรุนแรงผ่านสายตาของทหารที่เดินลาดตระเวนอย่างช้าๆ ด้วยภาพที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความหวาดหวั่นว่าจะถูกลอบทำร้าย
ผลก็คือมุมมองว่าชายฉกรรจ์คือโจรก่อการร้าย ส่วนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก็เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่อันตราย
ด้วยเหตุดังนี้ ทหารในหนัง “มหาสมุทรและสาน” จึงปรากฏในสภาพเล็งอาวุธปืนไปข้างหน้าแบบพร้อมยิงได้ทันที
คู่ขนานกับภาพและการกำกับฯ ที่แสดงพลานุภาพจนผู้ชมสัมผัสได้ถึงความหวาดระแวงที่ทหารมีต่อประชาชนในพื้นที่ขั้นน่าวิตก
หนังนำเสนอภาพพลทหารขณะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นลูกอีสานที่หวนไห้ถึงบ้านทุกลมหายใจ
กลอนลำขับเน้นความเจ็บปวดของคนหนุ่มผู้ถูกรัฐกระชากจากบ้านมาเป็นทหารเกณฑ์โดยตัวละครไม่ต้องส่งเสียงครวญคร่ำ
หนังทำให้เห็นว่าเนื้อในของนักฆ่าคือลูกอีสานที่ถูกบังคับให้อยู่ท่ามกลางคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมจนอยู่อย่างแปลกแยกตลอดเวลา
ตรงนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ภาพและองค์ประกอบทุกอย่างของหนัง “มหาสมุทรและสุสาน” ระเบิดศักยภาพของมันออกมา
ด้านหนึ่งลูกอีสานเดินไปเดินมาในหนังในสภาพอ้างว้าง สื่อสารกับใครไม่ได้ ไม่เข้าใจสภาพสังคมรอบตัว และพูดได้ว่าน่าจะเป็นตัวเอกที่พูดน้อยที่สุดในหนังไทยด้วยซ้ำ
ส่วนในอีกด้านคือการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งหนังทำให้ผู้ชมเห็นว่าพร้อมจะลั่นไกยิงกระสุนปลิดชีวิตคนที่ต้องสงสัยได้แทบจะตามอำเภอใจ
ถึงจุดนี้ หนังพาผู้ชมหลุดลอยไปสู่คำถามในจินตนาการที่น่ากลัวว่าอะไรคือผลของการกวาดต้อนคนต่างถิ่นมาทำงานในพื้นที่ซึ่งเป็นโลกที่เขาไม่เข้าใจอย่างสิ้นเชิง?
ยิ่งกว่านั้นคือจะเกิดอะไรเมื่อรัฐติดอาวุธสงครามให้คนต่างถิ่นสามารถฆ่าคนในพื้นที่ได้ตามอำเภอใจแบบนี้?
ความหวาดระแวงของทหารเกิดจากความไม่เข้าใจศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างทหารกับคนในพื้นที่ได้หรือไม่?
และจะเกิดอะไรหากความแปลกแยกออกผลเป็นการฆ่าคนแค่เพราะมีศาสนาและวัฒนธรรมต่างกัน?
ถามให้ไกลขึ้นไปอีก มีอะไรเป็นหลักประกันว่าระบบกองทัพที่ดูแลภาคใต้จะเข้าใจความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมจนมีภูมิคุ้มกันพอที่จะไม่ทำให้เกิดการฆ่าและความรุนแรงจากความหวาดระแวงคนที่แตกต่างไป?
น่าสนใจว่าขณะที่ตัวละครจากกรุงเทพฯ เดินทางไปปัตตานีในสภาพคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพื้นที่ ถ้าไม่นับรวมคลิปและภาพข่าวประเภทผู้ก่อการร้ายฆ่าตำรวจ ระเบิดถนน ฯลฯ ซึ่งพบได้ตามเว็บไซต์คุณภาพต่ำทั่วไป ตัวละครหลักอย่าง “ทหาร” ก็เป็นตัวละครที่ประจำการในพื้นที่
แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพื้นที่ด้วยเหมือนกัน
ท่ามกลางตัวละครหลักฝ่ายชายที่เข้าสู่พื้นที่ปัตตานีด้วยความไม่รู้ ความหวาดระแวง และความเข้ากันไม่ได้กับพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
ตัวละครหลักฝ่ายหญิงกลับเป็นคนริเริ่มการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปัตตานีและเต็มไปด้วยความสามารถในการต่อติดกับพื้นที่มากที่สุด
หนังจะเล่าให้เราฟังตั้งแต่ต้นว่าตัวละครหญิงมีความทรงจำแบบเลือนๆ เกี่ยวกับป้าจากปัตตานี ขณะที่น้องชายจำเรื่องนี้ไม่ได้ และการต่อติดแบบนี้เองที่ผลักดันให้เกิดการเดินทางไปปัตตานีในหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
ยิ่งการเดินทางเข้าใกล้ปัตตานีเท่าไร เราจะพบว่าตัวละครฝ่ายหญิงค่อยๆ transform ตัวเองจากเสื้อผ้าหน้าผมแบบสาวฮาร์เลย์หน้ารามประเภทใส่เสื้อกล้ามรัดรูปตลอดเวลาไปเป็นสาวมุสลิมมากขึ้นเท่านั้น
การแต่งกายมิดชิดแปรผันตามระยะทางที่จะถึงปัตตานี
การคลุมผมแบบคนชายแดนใต้จะเริ่มมีมากขึ้น เช่นเดียวกับการเข้าไปละหมาดทุกครั้งที่เจอมัสยิด
ซึ่งถึงจุดหนึ่งหนังเลือกที่จะถ่ายทอดภาพเธอขณะอยู่ในมัสยิดแล้วมองตรงมายังผู้ชมด้วยท่าทีราวกำลังดูดซับวิญญาณมัสยิดเข้าสู่ร่างกายของเธอ
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครเอกฝ่ายหญิงเป็นตัวละครที่มีอัตลักษณ์ร่วมกับปัตตานีมากที่สุด
การละหมาดแสดงถึงการต่อติดกับอิสลาม
การเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าให้เหมาะสมระดับดึงเสื้อปกปิดเนินอกขณะเข้ามัสยิดแสดงถึงการต่อติดกับวัฒนธรรมระดับพื้นที่
ความทรงจำเรื่องป่าแสดงการต่อติดในแง่ประวัติศาสตร์
การลักลอบไปหาเพื่อนแสดงความคุ้นเคยกับพื้นที่นี้ และเมื่อทั้งหมดนี้รวมกัน “ไลลา” ก็กลายเป็นตัวละครเดียวที่ไม่มีความหวาดระแวง ไม่มีความแปลกแยก
และไม่มีความกลัว
โปรดสังเกตว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีร่องรอยของการที่ตัวละครฝ่ายชาย “ต่อติด” กับพื้นที่ทั้งในแง่ศาสนาและวัฒนธรรม ตัวละครอย่าง “ต้อย” ผู้มีใบหน้าคล้าย โจ๊กโซคูล นั้นวิตกจริตทุกอย่างเกี่ยวกับปัตตานี, พลทหารลูกอีสานซึ่งอยู่ในพื้นที่ก็อยู่อย่างแปลกแยกและ “ต่อติด” กับใครไม่ได้ ส่วน “ซูกู๊ด” ผู้เป็นน้องชายของนางเอกไลลาก็ไม่เคยแสดงความเกาะเกี่ยวของเขากับอิสลาม, มุสลิม หรือปัตตานี รวมทั้งไม่มีแม้แต่ความทรงจำเรื่องป้าซึ่งพี่สาวต้องการมาเยี่ยมถึงขั้นที่บอกว่าป้าไม่มีอยู่จริง
บทบาทผู้หญิงแบบนี้ทำให้ “มหาสมุทรและสุสาน” มีความเป็นหนังผู้หญิงอย่างเต็มเปี่ยม
เพราะนอกจากผู้หญิงจะเป็นต้นเหตุของการเดินทาง ผู้หญิงยังเป็นคนปฏิบัติการเดินทาง
เป็นคนเผชิญกับคนแปลกหน้าในพื้นที่ขณะเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบ
รวมทั้งเป็นแกนนำในการเดินทางในสภาวะประหลาดไปหาหมู่บ้านของป่าอีกด้วย ขณะที่ผู้ชายในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากเคลื่อนไหวไปมาตามวาระที่ “ไลลา” เป็นคนกำหนดขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ในขณะที่หนังเสนอภาพของผู้หญิงมุสลิมกรุงเทพฯ ในฐานะผู้กำหนดวาระของตัวละครทั้งหมดด้วยความมั่นใจในการนำของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม
หนังกลับนำเสนอผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ปัตตานีในสภาพตัวละครที่ไร้ปากเสียง และอยู่ด้วยความหวาดกลัวอย่างถึงที่สุด
ตัวละครกลุ่มนี้ไม่ได้ทำอะไรมากกว่าแสดงความกลัวทหารหรือลุกหนีคนแปลกหน้าด้วยความรังเกียจ
มุมมองของ “มหาสมุทรและสุสาน” ทำให้ผู้หญิงมุสลิมจากกรุงเทพฯ มีสถานะต่างจากหญิงมุสลิมพื้นที่อย่างสิ้นเชิง
ถ้ายอมรับว่าหนังคืองานทางปัญญาไม่ต่างจากหนังสือหรือบทความทางวิชาการ
“มหาสมุทรและสุสาน” ก็คือภาพยนตร์ที่เป็นงานทางปัญญาระดับที่น่าเคารพ
หนังตั้งโจทย์ยาก และใช้กลไกของหนังทั้งหมดตอบโจทย์ยากจนได้
และเมื่อชมภาพยนตร์จบลง ผู้ชมจะตระหนักว่านี่คือหนังที่เป็นผลผลิตของการคิดอย่างละเอียดและประณีตจนการดูหนังเรื่องนี้คือกิจกรรมทางปัญญา
ไม่มีอะไรให้ต้องสงสัยว่า “มหาสมุทรและสุสาน” มีโอกาสจะเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดของปี