สุจิตต์ วงษ์เทศ : เทศน์มหาชาติ มาจากไหน? (3) เสียงเอื้อนโหยหวน ได้จากขับลำลุ่มน้ำโขง

แอ่วลาวเป่าแคน ขับลำคำคล้องจองตามประเพณีดั้งเดิมของไต-ไท

ตอน 1 2

เทศน์มหาชาติเป็นทำนองแหล่ต่างๆ ที่แพร่หลายในไทยทุกวันนี้ (ไม่มีในอินเดียและลังกา) มีรากเหง้าพัฒนาการจากขับลำของกลุ่มชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมไต-ไท

ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำใกล้เคียงต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออก เช่น ลุ่มน้ำแดง-ดำ ในเวียดนาม

 

ทำนองเทศน์มหาชาติ เริ่มจากลุ่มน้ำโขง

เทศน์มหาชาติเป็นทำนองต่างๆ เริ่มมีจากเมืองลาว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรู้เรื่องนี้นานมากแล้ว จึงมีพระนิพนธ์โดยสรุปว่า

“พระเทศน์เวสสันดรชาดกโดยทำนองต่างๆ เห็นจะมีขึ้นทางเมืองลาวก่อน แล้วจึงแพร่หลายลงมาข้างใต้…”

[คำนำ หนังสือ มหาพนคำเฉียง พิมพ์แจกงานศพขุนราชพิจิตร (จุ้ย กฤษณามระ) พ.ศ.2462 หน้า ข (สมเด็จฯ ทรงมีข้อสงสัยต่อไปอีกว่า “มอญจะได้ไปจากไทย ฤๅไทยฝ่ายเหนือจะได้มาจากมอญ ข้อนี้ยังสงสัยอยู่”)]

เมืองลาวในพระนิพนธ์นี้ หมายถึง บ้านเมืองลุ่มน้ำโขง มีผู้คนพูดตระกูลภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท รวมทั้งคำว่าฝ่ายเหนือหรือเมืองเหนือก็อยู่ในกลุ่มเมืองลาว

หนังสือเทศน์ของพระสงฆ์ในวัดวาอารามลุ่มน้ำโขง สมัยก่อนแต่งด้วยขับลำคำคล้องจอง เพื่อให้อ่านหรือเทศน์เป็นลีลาทำนองที่กำหนด จึงเรียกหนังสือชุดนั้นๆ ว่า ลำ เช่น ลำมหาชาติ คือ เทศน์มหาชาติ, ลำพระเหวด คือ เทศน์เรื่องพระเวสสันดร ฯลฯ แล้วยังเรียกสืบเนื่องจนทุกวันนี้

สู่ขวัญนาตาแฮก ก่อนลงมือทำนาจริง

ภาษากลางสมัยก่อน คือภาษาไทย

ภาษาไทย เป็นภาษากลางทางการสื่อสารของภูมิภาคภายใน เทศน์มหาชาติเป็นทำนองต่างๆ เริ่มจากเมืองลาว เหตุเพราะภาษาไต-ไท ถูกใช้เป็น “ภาษากลาง” ในกิจกรรมสำคัญของคนบนภาคพื้นทวีปยุคนั้นตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1700 เช่น การค้าทางไกลทางบก และการเผยแผ่คำสอนพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกา

ตัวอักษรและอักขรวิธีไทย ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิจัยพบว่าผู้เผยแผ่พุทธศาสนาสำนักลังกาในดินแดนแถบนี้ เลือกใช้ภาษาไต-ไทเป็นภาษาสำหรับการเผยแผ่ศาสนา อาจเป็นเพราะภาษาไต-ไทพอเป็นที่เข้าใจแก่ประชากรส่วนใหญ่ของราชอาณาจักรใหญ่

การเทศน์, การทำพิธี โดยเฉพาะพิธีนอกบาลีทั้งหลาย ตลอดจนการเล่านิทานชาดก จำเป็นต้องใช้ภาษาที่ผู้ฟังเข้าใจ ภาษาไต-ไทอำนวยความสะดวกในการนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อต้องเขียนอธิบายหลักธรรมทั้งแก่ผู้เรียนศาสนา และคนทั่วไป ภาษาพื้นเมืองที่ถูกเลือกใช้คือภาษาไต-ไท อันเป็นภาษาที่คนทั่วไปพอเข้าใจได้อยู่แล้ว

พุทธศาสนาสำนักลังกาอันเป็นศาสนาใหม่ที่มีพลังในการเผยแผ่ไปสู่คนธรรมดาสามัญอย่างกว้างขวาง จึงมีส่วนในการทำให้ภาษาไต-ไท กลายเป็นภาษาที่คนในชาติพันธุ์อื่นๆ รู้จัก และเป็นประตูอีกบานหนึ่งที่ผู้คนเหล่านั้นค่อยๆ กลืนตัวเองเป็นไต-ไทในที่สุด

อักษร “ไทย” ถูกทำให้เป็นระบบในช่วงที่ภาษาไต-ไทกำลังถูกใช้โดยคนที่ไม่ได้พูดภาษาไต-ไทมาแต่กำเนิด แต่ต้องใช้เพื่อศึกษาศาสนาใหม่ และต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการค้าทางไกลทางบก (ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559 หน้า 57-64)

ภาษาไทยจึงไม่ใช่ภาษาศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ระบบการศึกษาไทยพยายามสร้างใหม่ทุกวันนี้ แต่เป็นภาษา “ประชานิยม” ที่คนทุกชาติพันธุ์นิยมใช้เป็นภาษากลาง สร้างความเข้าใจกันและกัน