ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (8)

เราได้บรรยายหัวข้อการตีความเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสของนักประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่มีลักษณะเด่นแยกเป็นเอกเทศออกจากการปฏิวัติอื่นๆ หรือไม่?

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติกระฎุมพีหรือการปฏิวัติประชาชน?

และการปฏิวัติฝรั่งเศสคือความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์หรือการตัดตอนแตกหักทางประวัติศาสตร์? จบไปแล้ว

ในตอนนี้จะขอขึ้นหัวข้อใหม่ คือ ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส 1789-1799

 

จําเป็นหรือไม่ที่รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นถึงจะมีรัฐธรรมนูญได้?

รัฐเผด็จการหรือรัฐที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มี “รัฐธรรมนูญ” ได้หรือไม่?

ความข้อนี้ อาจต้องพิจารณาว่าเราให้ความหมายของรัฐธรรมนูญอย่างไร?

หากยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ คือ ผลผลิตของการปฏิวัติใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดชะตากรรม กำหนดรูปแบบการเมืองการปกครองที่ตนเองปรารถนา ไม่ใช่กษัตริย์ ไม่ใช่พระเจ้า และรัฐธรรมนูญตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแบ่งแยกอำนาจ การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่บุคคล เช่นนี้ รัฐธรรมนูญคงปรากฏขึ้นครั้งแรกสมัยปฏิวัติอเมริกาและปฏิวัติฝรั่งเศส ระบบเก่าก่อน 1789 ย่อมไม่มีรัฐธรรมนูญ

ในทางตรงกันข้าม หากยอมรับว่าขึ้นชื่อว่าสังคมการเมืองแล้ว ย่อมต้องมีกฎเกณฑ์พื้นฐานว่าด้วยการจัดระเบียบอำนาจในการปกครองอยู่แล้ว ไม่ว่ากฎเกณฑ์นั้นปรากฏขึ้นในลักษณะใด มีรูปแบบอย่างไร มันก็คือ “รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง

กรณีนี้ เราก็ต้องยอมรับต่อไปว่า ในสมัยระบบเก่า (l”Ancien R?gime) ก่อน 1789 ก็มี “รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกัน

เพื่อสร้างความชัดเจน และไม่นำกฎเกณฑ์การเมืองการปกครองในระบบเก่าไปปะปนกับรัฐธรรมนูญในระบบใหม่

เราอาจเรียกมันว่า “รัฐธรรมนูญแบบธรรมเนียมโบราณของกษัตริย์ในสมัยระบบเก่า” เพื่อแยกออกจาก “รัฐธรรมนูญสมัยใหม่”

ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก คือ รัฐธรรมนูญ 1791

 

การศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึง “รัฐธรรมนูญแบบธรรมเนียมโบราณของกษัตริย์ในสมัยระบบเก่า” ซึ่งดำรงอยู่มาก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ 1789 ด้วย เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสก็คือปฏิกิริยาตอบโต้กับรัฐธรรมนูญโบราณสมัยระบบเก่า

ในสมัยระบบเก่า ไม่มีเอกสารทางกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดระเบียบการเมืองการปกครองไว้แบบรวบรวมเป็นประมวลฉบับเดียว

อีกนัยหนึ่ง คือ ไม่มีรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่เราพบเห็นในปัจจุบัน แต่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเมืองการปกครองปรากฏในหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นจารีตประเพณี ไม่ได้ตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร

ซึ่งการเคารพเชื่อฟังยอมปฏิบัติตามเกิดจากความโบราณและการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ เราอาจแบ่งแยกได้เป็น 2 เรื่องสำคัญได้แก่ อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ซึ่งแสดงออกผ่านอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย

และประเพณีที่รวมกันเรียกว่า “กฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร” (Les lois fondamentaux du royaume)

 

อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ ในการบัญญัติกฎหมาย

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 Guy Coquille นักกฎหมายผู้สนับสนุนการสร้างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เคยประกาศไว้ในหนังสือ Institution au droit des Fran?ais – สถาบันในกฎหมายของชาวฝรั่งเศส (1595) ว่า “กษัตริย์ คือ เอกกษัตริย์ (Monarque) และไม่ต้องมีผู้ใดมาเคียงข้างเพื่อใช้อำนาจของกษัตริย์”

ความคิดของ Guy Coquille ยืนยันว่า Monarchy แบบพระ (la monarchie seigneuriale) และ Monarchy แบบกษัตริย์ (Monarchie royale) นั้นแยกขาดจากกัน อำนาจของกษัตริย์ไม่อาจแบ่งแยกได้ และมีแต่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้มัน

สมดังที่กษัตริย์ Louis XV เคยตรัสไว้ว่า

“คือ ตัวข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียวที่ทรงอำนาจอธิปไตยซึ่งแสดงออกทางจิตวิญญาณของการบริหาร ความยุติธรรม และเหตุผล คือข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียวที่เป็นเจ้าของอำนาจในการบัญญัติกฎหมายโดยปราศจากซึ่งการขึ้นกับใครและปราศจากซึ่งการแบ่งปันกับใครทั้งสิ้น ระเบียบสาธารณะทั้งหลายที่แผ่ซ่านไปทั่วมาจากข้าพเจ้า”

 

ในศตวรรษที่ 16 มีปรัชญาเมธีผู้สร้างความคิดเรื่องอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์อยู่หลายคน แต่คนหนึ่งที่โดดเด่นและมีอิทธิพลต่อการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในฝรั่งเศส คือ Jean Bodin ในงานของเขาชื่อ “Les six livres de la R?publique – หกเล่มว่าด้วยสาธารณรัฐ” (1576) ได้ยืนยันเรื่องอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์

และความคิดนี้ได้เปลี่ยนแปลงให้อำนาจการเมืองที่มีลักษณะค่อนไปทางนามธรรมในยุคกลาง กลายเป็นรูปธรรมและแสดงออกถึงศักยภาพในการปกครองรัฐผ่านการใช้อำนาจของกษัตริย์

สำหรับ Bodin แล้ว หัวใจของอำนาจกษัตริย์ คือ อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย และกฎหมายคือการแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยของกษัตริย์อย่างเยี่ยมยอดที่สุด มันคืออำนาจสูงสุดในการสร้างกฎหมายขึ้นใช้บังคับในรัฐ และเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากใครทั้งสิ้น

Bodin สรุปไว้อย่างกระชับว่า “กฎหมายไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากคำสั่งการขององค์อธิปัตย์ผู้ใช้อำนาจของตน” ด้วยเจตจำนงของกษัตริย์ซึ่งแสดงออกไปเพียงอย่างเดียว กฎหมายก็มีกำลังบังคับขึ้นทันที

กษัตริย์ไม่ได้มีภารกิจในการรักษากฎหมายที่มีมาแต่ดั้งเดิมเสมือนกับองค์กรตุลาการเท่านั้น แต่กษัตริย์เป็น “ผู้สร้างกฎหมาย” และผูกขาดอำนาจนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว

กรณีนี้ส่งผลตามมา คือ ไม่มีผู้ใดสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ มีแต่เพียงกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจบัญญัติกฎหมายเท่านั้นที่สามารถยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้

เมื่อไม่มีใครยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ จึงไม่มีใครโต้แย้งกฎหมายได้ด้วย เมื่อกษัตริย์เป็นผู้สร้างกฎหมายขึ้นเอง

กษัตริย์จึงไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับใดๆ ของกฎหมายที่ตนเองสร้าง และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวกันว่า แม้กษัตริย์ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจใดในรัฐ แต่กษัตริย์ก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติและกฎของพระเจ้าอยู่ ความข้อนี้ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าอำนาจของกษัตริย์มีข้อจำกัดแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับกษัตริย์ดำรงในลักษณะคู่ขนานกันไป ในทางเทววิทยา พระเจ้า คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เป็นผู้สร้างโลก

แต่ในทางความเป็นจริง ในเรื่องของการปกครองในแต่ละรัฐ กษัตริย์ คือ ผู้ทรงอำนาจ เมื่อพระเจ้าปกครองโลก กษัตริย์ก็คือผู้ปกครองรัฐ ดังนั้น กษัตริย์จึงปกครองไพร่ของตนด้วยภาพของพระเจ้าบนผืนแผ่นดินในอาณาเขตของแต่ละรัฐ อำนาจสูงสุดในแต่ละรัฐ ก็คือกษัตริย์นั่นเอง

นอกจากกฎหมาย คือ การแสดงออกซึ่งอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ในการสร้างกฎหมายขึ้นใช้บังคับในรัฐแล้ว กฎหมายยังเป็นการแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกด้วย กษัตริย์ทรงอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย เมื่อกษัตริย์กำหนดสิ่งใดขึ้นแล้วเสร็จ สิ่งนั้นก็มีสถานะเป็นกฎหมาย และใช้บังคับกับทุกคนโดยทันที โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากคนที่อยู่ภายใต้บังคับ

อำนาจในลักษณะนี้ต่างจากอำนาจแบบอื่นๆ ตรงที่อำนาจอื่นๆ อาจต้องให้ผู้อยู่ใต้อำนาจยินยอมพร้อมใจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

แต่อำนาจตรากฎหมายของกษัตริย์ ไม่ต้องการความยินยอมจากผู้อยู่ใต้อำนาจเลย

ถ้ากษัตริย์ปรารถนาให้สิ่งใดเป็นกฎหมาย แล้วแสดงเจตจำนงให้ปรากฏ สิ่งนั้นก็เป็นกฎหมายทันที

ในขณะที่อำนาจแบบประเพณี ต้องผ่านการทดสอบว่ามีการปฏิบัติซ้ำจนคนเห็นร่วมกันว่ามันเป็นกฎเกณฑ์ แต่อำนาจตามกฎหมาย บังคับต่อคนในรัฐทันที เมื่อกษัตริย์กำหนดขึ้น

อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ในการบัญญัติกฎหมาย คือ ลักษณะสำคัญประการแรกของ “รัฐธรรมนูญแบบธรรมเนียมโบราณของกษัตริย์ในสมัยระบบเก่า” ในตอนต่อไป เราจะกล่าวถึง “กฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร” (Les lois fondamentaux du royaume)

ซึ่งเป็นประเพณีต่างๆ อันเป็นลักษณะสำคัญประการที่สองของ “รัฐธรรมนูญของระบอบกษัตริย์”