ต่างประเทศ : เอกสารหลุดเบื้องหลัง “สงครามต้านก่อการร้าย” ในซินเจียงอุยกูร์

รัฐบาลจีนพยายามมาโดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อปกครองเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมืองบริเวณชายแดนตะวันตกสุดของจีน พื้นที่ซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นประชากรส่วนใหญ่

ชาวอุยกูร์เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจีนเริ่มเกิดความหวาดกลัวการก่อการร้าย และใช้สิ่งนี้เป็นเหตุผลในการเข้าควบคุมความคิดความเชื่อทางศาสนาในพื้นที่อย่างเข้มงวด

ความพยายามของรัฐบาลจีนยกระดับขึ้นอีกหลังเหตุระเบิดสถานีรถไฟในซินเจียงอุยกูร์ เมื่อปี 2014 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศมาตรการ “สงครามต่อต้านก่อการร้าย” ก่อนจะเปลี่ยนแปลงซินเจียงอุยกูร์กลายเป็น “รัฐตำรวจ” ในที่สุด

สื่อต่างประเทศขุดคุ้ยจากหลักฐานที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ ค่อยๆ เปิดโปงความพยายามของรัฐบาลจีนในการกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ในพื้นที่ออกมามากขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายกักกันลับที่จีนใช้ในการคุมขังชาวมุสลิมนับแสนคน ที่หน่วยงานเพื่อสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมโหฬาร

ทว่าทางการจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าสถานที่ดังกล่าวเป็น “วิทยาลัยอาชีวศึกษา” ที่ชาวอุยกูร์ “สมัครใจ” เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อ “เปลี่ยนแนวคิด” ของตนเอง

 

ทว่าล่าสุดมีการเปิดเผยเอกสาร “ฐานข้อมูล” ที่หลุดออกมาถึงเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) แสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดการชาวมุสลิมอุยกูร์ในรูปแบบต่างๆ ที่สะท้อนว่า รัฐบาลจีนไม่ได้พุ่งเป้าไปเพียงแค่ “แนวคิดทางการเมืองสุดโต่ง” เท่านั้น

แต่กลับพุ่งเป้าไปที่ “ความเชื่อทางศาสนา” โดยเฉพาะ

เอกสารดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลของผู้ถูกคุมขังจำนวน 311 คน ซึ่งมีญาติอยู่ต่างประเทศทั้งหมด มีข้อมูลของญาติๆ รวมกว่า 2,000 คน ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้าน คนรู้จัก ในแต่ละลิสต์รายชื่อระบุชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวประชาชน วันที่ถูกควบคุมตัว สถานที่ในการควบคุมตัว ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว ศาสนา ข้อมูลเกี่ยวกับละแวกบ้าน เหตุผลในการถูกควบคุมตัว และเหตุผลในการตัดสินใจที่จะปล่อยตัว หรือควบคุมตัวต่อไป

เอกสารแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อทางศาสนาของชาวอุยกูร์ที่แสดงออกผ่านกิจกรรมปกติธรรมดาอย่างการละหมาด การเข้ามัสยิด การไว้หนวดเครา หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายกักกัน ก็อาจทำให้ถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติได้ด้วยเช่นกัน

เอกสารล่าสุด มีฉบับที่ลงวันที่เป็นปัจจุบันมากที่สุดคือเดือนมีนาคม ปี 2019 เป็นผู้ถูกควบคุมตัวที่มาจากเขตคาราคักซ์ เมืองที่มีประชากรราว 650,000 คน ในจำนวนนี้ 97 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวอุยกูร์

ผู้ถูกควบคุมตัวและครอบครัวจะถูกติดตามเก็บข้อมูล และถูกประเมินแบบหยาบๆ เช่น ครัวเรือนนี้ “น่าไว้วางใจ” หรือ “ไม่น่าไว้วางใจ”

ทัศนคติถูกประเมินว่า “ธรรมดา” หรือ “ดี” รวมไปถึงประเมินครอบครัวว่ามีบรรยากาศทางศาสนาที่ “เข้มข้น” หรือ “เบาบาง” เรื่อยไปจนถึงมีคนในครอบครัวของผู้ถูกส่งเข้า “เรือนจำ” หรือไปยัง “ศูนย์ปรับทัศนคติ” กี่คนแล้ว

ข้อมูลเหล่านี้เจ้าหน้าที่ทางการจีนจะใช้ในการจัดกลุ่มคนว่ามีความ “น่าสงสัย” มากน้อยเพียงใด แม้คนเหล่านี้จะไม่เคยก่ออาชญากรรมใดๆ มาเลยก็ตาม

 

ในส่วนของเหตุผลที่จะใช้ในการนำตัวเข้าสถานกักกันปรับทัศนคติก็มีหลายเหตุผล เช่น “รับแนวคิดศาสนา” “ก่อความรำคาญด้วยการไปหาโดยไม่มีเหตุผล” “มีญาติอยู่ต่างประเทศ” “ความคิดเข้าใจได้ยาก” เป็นต้น

เอกสารดังกล่าวมีชื่อของ “เมมติมิน อีเมอร์” อิหม่ามท้องถิ่นในซินเจียงอุยกูร์ วัย 80 ปี ที่ถูกจับกุมในข้อหาปลุกระดมแนวคิดก่อการร้าย เป็นผู้นำศาสนาเถื่อน นับถือหลักมุสลิมนิกายวะฆาบีอันเคร่งครัดของซาอุดีอาระเบีย ในช่วงระหว่างปี 2017-2018 ถูกตัดสินจำคุกถึง 12 ปี ก่อนที่ลูกชายอีก 3 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนจะถูกนำตัวเข้าค่ายกักกันทั้งหมด

อับดุลลาห์ มูฮัมหมัด ลูกศิษย์ของอีเมอร์ ยืนยันว่า อีเมอร์เป็นผู้นำศาสนาที่ได้รับความเคารพจากคนในพื้นที่ เคยเป็นที่เคารพจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เกิดปัญหาขึ้นหลังจากอิหม่ามอีเมอร์ปฏิเสธที่จะเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์ซึ่งส่งผลให้อีเมอร์ถูกปลดจากตำแหน่งอิหม่าม ต้องผันตัวไปเป็นแพทย์แผนโบราณแทน และห่างจากกิจกรรมทางศาสนา

ทว่านั่นก็ไม่ได้ทำให้รอดพ้นจากการถูกทางการจีนจับกุมตัวพร้อมข้อกล่าวหาหนัก ในช่วงเวลาที่ความหวาดกลัวก่อการร้ายเพิ่มสูงขึ้น

ลูกชายทั้ง 3 คนของอีเมอร์ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายกักกัน ด้วยเหตุผลว่า “มีลูกมากเกินไป” “พยายามเดินทางไปต่างประเทศ” “ไม่น่าไว้วางใจ” “มีแนวคิดศาสนาแบบสุดโต่ง” “ไปร่วมพิธีฮัจญ์” รวมไปถึงการเป็นลูกชายของอีเมอร์ ส่งผลให้พวกเขาเป็นบุคคลที่อันตรายเกินไปที่จะปล่อยออกมาจากศูนย์กักกัน

 

แม้เอกสารเหล่านี้จะออกในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าฐานข้อมูลดังกล่าวออกโดยหน่วยงานใด จะถูกส่งให้หน่วยงานใดในรัฐบาลจีน และไม่สามารถยืนยันได้ถึงชะตากรรมของอีเมอร์และลูกทั้ง 3 คน

แต่เอพีระบุว่า เอกสารชุดนี้ทำให้เห็นภาพส่วนหนึ่งของการกวาดล้างใหญ่ที่ปิดล้อมกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศจีนจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนเอาไว้จากโลกภายนอก

ดาร์เรน ไบเลอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสอดส่องประชาชนในซินเจียง ระบุว่าข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า “ความเชื่อและการประกอบพิธีทางศาสนา” ของชาวมุสลิมอุยกูร์นั้นตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลจีน

“พวกเขาต้องการให้สังคมแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แยกครอบครัวออกจากกัน ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกนำตัวไปฝึกอบรมหรือถูกปรับทัศนคติมากยิ่งขึ้น” ไบเลอร์ระบุ