คำ ผกา | สนธยาแห่งรสนิยมและปัญญาสยามประเทศ

คำ ผกา

เป็นที่น่าตื่นเต้นมาก หนังเรื่อง Parasite ของเกาหลีใต้ไปกวาดรางวัลออสการ์มาถึง 4 รางวัล ไม่นับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ถือเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้รางวัลนี้

เราซึ่งไม่ใช่คนเกาหลี แต่ในฐานะคนเอเชีย ตาตี่ ผิวเหลือง ก็พลอยตื่นเต้นไปกับการได้รางวัลนี้ของเกาหลีใต้ไปด้วย

เพราะลึกๆ เราก็รู้ว่า “ฝรั่งผิวขาว” นั้นถ้าไม่ดูถูกก็มักมองเห็นคนเอเชียเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่น่ารัก ไร้เดียงสา เบ๊อะๆ บ๊ะๆ มากกว่าจะเคารพนับถือ

การไปได้รางวัลออสการ์ของ Parasite จึงทำให้เรารู้สึกว่ามนุษย์เผ่าพันธุ์ผิวสีเหลืองได้ไปปักธงอยู่บนเวทีที่ปกติมีแต่คนผิวขาว (หรืออเมริกันผิวสี) ตัวโตๆ แล้ว ไม่ว่าเหตุผลของการได้รางวัลนั้นจะมีเรื่องการเมือง ธุรกิจ (เช่น ออสการ์ก็ต้องการรีแบรนด์ตัวเอง และต้องการเปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยเหมือนกัน หาไม่แล้ว ถ้าไม่มีหนังจากฝั่งเอเชีย หรือนอกอเมริกาเสียอีก ที่จะทำให้ออสการ์เจ๊ง)

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากเหตุผลด้านธุรกิจแล้ว ตัวหนังก็ต้องมีคุณภาพ มีเสน่ห์พอที่จะให้คนยอมรับได้จริงๆ ด้วย

ไม่ใช่แค่ไปประดับเวที เป็นนางงามมิตรภาพอย่างเดียว

Parasite เป็นหนังที่เปิดเปลือย เสียดสี ความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้

และจะว่าไปมันก็คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมที่เราบอกว่าพัฒนาไปแนวทางของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก

ฉันจะไม่ลงรายละเอียดของหนัง เพราะมีคนเขียนวิเคราะห์ วิจารณ์เอาไว้มากและละเอียดลออมากพอแล้ว

แต่ความน่าสนใจของปฏิกิริยาของคนไทยต่อข่าว Parasite ได้ออสการ์คือ เราต่างชื่นชม ยินดี ภูมิใจในฐานะที่เป็นคนเอเชีย

เรามีบทความเขียนสรุปบทเรียนว่าอะไรที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ บันเทิงของเกาหลีก้าวไปสู่แถวหน้าของโลกได้

ขณะเดียวกันก็มีคนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า หนังเรื่อง Parasite เปิดโปงด้านมืดของสังคมเกาหลี

เปิดโปงความเหลื่อมล้ำของสังคมเกาหลีออกมาขนาดนี้

เปิดโปงความ ignorance โลกสวยลาเวนเดอร์ของกลุ่มคนที่เรียกกันว่าเป็น The 1% ของสังคมออกมาเจ็บแสบขนาดนี้ ก็ไม่เห็นคนที่เกาหลีเขาจะออกมาว่า นี่เป็นหนังที่ทำมาจากฝีมือของไอ้พวกคนชังชาติ

อยู่ดีไม่ว่าดี ไปด่าประเทศตัวเองให้คนอื่นฟัง มีปัญหาอะไร ทำไมไม่พูดคุยกันข้างใน เอาไปทำเป็นหนังให้คนทั้งโลกดูทำไม

แล้วอีหนังบ้าเนี่ยก็ใส่สีตีไข่ ทำให้คนทั้งโลกเข้าใจคนเกาหลีใต้ผิดๆ บลา บลา บลา

หนังเรื่อง Parasite ไม่เพียงแต่ไม่โดนข้อหาชังชาติจากคนเกาหลีใต้ (ซึ่งไม่แปลก หนักกว่านั้นไม่ควรแปลกใจว่าทำไมไม่โดน) แต่ฉันก็ไม่เห็นคนไทยที่ชอบโยนข้อหา “ชังชาติ” ใส่คนนู้นคนนี้วิจารณ์ว่า Parasite ชังชาติ ก็เห็นชื่นชมโสมนัสกับหนังเรื่องกันเป็นปกติดี

ย้อนกลับไปในอดีตของไทยเมื่อสัก 20 ปีมาแล้ว สังคมไทยก็เหมือนสังคมเกาหลีใต้ หรือสังคมอื่นๆ ในโลกที่ศิวิไลซ์กันตามปกติ

นั่นคือ การทำหนัง ทำเพลง ทำละคร ทำวรรณกรรม ทำศิลปะ ที่จะได้ชื่อว่า เป็นงานที่ดี มีสาระ เป็นงานที่ค่อนข้างเป็นปัญญาชน

เป็นงานที่จะเก๋ จะเท่

งานเหล่านั้นต้องเป็นงานที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมือง และต้องวิจารณ์ “ชาติ” และความเป็น “ชาตินิยม” อย่างหนักหน่วง

เพราะใดๆ ก็ตามที่ไม่ “วิพากษ์วิจารณ์” จะหมายถึงงานโฆษณาชวนเชื่อ งานของคนที่ “ไม่เก๋” หรืองาน “คนแก่” ที่ยังเกิดมาในยุคโปรปากานดาของรัฐบาลสมัยสร้างชาตินู้น

หรืออีกทีก็เป็นงานสายลม แสงแดด หวานแหวว ขายโรแมนซ์กันไปวันๆ หาสาระไม่ได้ เป็นงานแมสๆ งานหาเงินอะไรก็ว่ากันไป

แต่งานเก๋ๆ งานที่จะได้รับการยอมรับในระดับ “ปัญญาชน” นั้น ยังไง้ยังไงก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์สังคม และไม่ได้วิจารณ์เบาๆ ด้วยนะ วิจารณ์กันแรงๆ วิจารณ์กันยับๆ วิจารณ์กันอย่างขุดรากถอนโคน ด่ากันแรงๆ ไม่มีไว้หน้ากัน

เวทีวิชาการ ก็ด่ารัฐบาล ด่าความเป็นไทย ความเป็นชาติ วิจารณ์การสร้างชาติกันได้อย่างเอิกเกริก เมามันมาก

แล้วมันก็ตลกมากที่พอไม่มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ศิลปิน ปัญญาชน นักเขียน นักทำหนังทั้งหลายเขาก็พากันทำตัวเหมือนด่ารัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์สังคมกันไม่เป็นขึ้นมาเสียเฉยๆ

และการเลิกด่านี้ไม่ได้เป็นไปเพราะกลัวถูกคุกคามจากอำนาจมืดหรืออะไร แต่มันเหมือนเป็น Default mode ของศิลปินไทย ที่เห็นว่าการ “วิพากษ์สังคม” นั้นเป็นแขนงการทำงานที่มีไว้ใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือนักการเมือง พ่อค้า นายทุน เท่านั้น

แต่พอเป็นทหาร หรือเป็น “คนดี” ปุ๊บ Mode วิพากษ์สังคมจะดับลงทันที แล้วเปลี่ยนไปสู่ Mode เราคนไทยต้องรักกัน สามัคคีกัน ลุงตู่เสียสละ ลุงตู่เหนื่อย

ปัญหาสังคม ปัญหาฝุ่น ปัญหาไวรัส ปัญหากราดยิง เหล่านี้อย่าเอามาโยงการเมือง มันเป็นแผนของพวกคนชั่วชังชาติ ต้องการโยงทุกเรื่องมาเกี่ยวกับการเมืองเพื่อใส่ร้ายรัฐบาล เราต้องช่วยกันให้กำลังใจรัฐบาล เพราะรัฐบาลนี้ถูกกลั่นจากพวกชังชาติหนักมาก พวกมันปั่นข่าวปลอมมาโจมตีรัฐบาลทุกวัน เราต้องช่วยกันชี้แจงประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคนพวกนี้…

หือม…แล้วสำหรับสังคมไทยนั้น พบว่า ศิลปิน ปัญญาชนคนอะร้าอร่ามร้อยแปดสิบเก้าโดยประมาณ ไม่เพียงแต่เลิกวิพากษ์สังคม พวกเขายังกลายเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพแห่งการสร้างงานศิลปะโกหก หลอกลวง ล้างสมองประชาชนอีกด้วย สามารถอยู่ได้ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง บ้างก็เป็นปากเป็นเสียงให้โดยไม่ต้องมีอามิสสินจ้างเพราะมาจากอินเนอร์แห่งความรักในความเป็นเผด็จการล้วน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ การวิพากษ์สังคมจากศิลปิน ปัญญาชนในยุคที่ผ่านๆ มาที่เราคิดว่าสังคมเราก้าวหน้า กล้าวิพากษ์ตัวเองนั้น เอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง

มันเป็นแค่อาการเกลียดนักการเมืองและอาการหวาดกลัวความเป็นประชาธิปไตย

(แต่คนพวกนี้ชอบคิดว่าด่านักการเมืองในนามของการพิทักษ์ประชาธิปไตย แต่สุดท้ายพิทักษ์ประชาธิปไตยด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร ความเง็งจึงบังเกิดหนักมาก)

หลังการรัฐประหาร 2549 และเห็นชัดที่สุดคือการรัฐประหารปี 2557 นอกจากศิลปิน ปัญญาชนอะร้าอร่ามทั้งหลายจะผันตัวไปเป็นผู้ร่วมงานของรัฐบาล และเลิกวิพากษ์สังคม เลิกวิพากษ์ความเป็นไทยอะไรไปโดยสิ้นเชิงแล้ว

พวกเขายังกลายเป็นกองหนุนแห่งการสร้างวาทกรรม “ชังชาติ” อันเป็นทั้งประดิษฐกรรม นวัตกรรมทางวัฒนธรรมอันใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นไม่นาน

ใครก็ตามที่ตั้งคำถามกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและอยู่ในอำนาจต่อด้วยเทคนิคทางกฎหมายที่ตั้งใจ “ดีไซน์มาให้พวกเรา” จะถูกเรียกว่าเป็นพวกชังชาติ

ตลกกว่านั้น บรรดาผู้ขึ้นมามีอำนาจอย่างฉ้อฉล เวลาตอบคำถามไม่ได้ แก้ไขปัญหาไม่เป็น บริหารประเทศล้มเหลว คิดอะไรไม่ออก ก็จะมีท่าไม้ตายมาแถลงกับประชาชนว่า ขอให้รักชาติ ขอให้สามัคคี ขออย่าเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดีต่อชาติ ขอให้อดทน ขอให้เชื่อมั่นไว้ใจว่า รัฐบาลที่สุดแล้ว จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บลา บลา บลา

เมื่อพวกเขาเอะอะก็อ้างเรื่องรักชาติ อ้างว่าตัวเองรักชาติมากกว่าใคร พอมีใครมาวิจารณ์ว่า ทำไมตอนนี้บ้านเมืองมันเต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี และทันท่วงที ทำไมอย่างนั้น ทำไมอย่างนี้ ทำไมไม่โปร่งใส ทำไมไม่เป็นธรรม

ถามไปปุ๊บ ก็มาเลยจ้า – กลายเป็นพวกชังชาติ

ทีนี้ ศิลปิน ปัญญาชน ที่ไม่อะร้าอร่าม อยากจะวิพากษ์สังคม อยากจะผลิตงานด่าทอ เสียดสีสังคมไทยบ้าง ทำออกมา เขียนออกมาก็จะถูกแปะป้ายเป็นพวก “ชังชาติ” ทันที ชังชาติไม่พอ ถูกหาว่าขายชาติอีก ไม่มีคนจ้างให้ทำงานอีก วนเวียนกันไปเช่นนี้

จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ณ ขณะนี้เป็นยามสนธยาแห่งขอบฟ้าทางความรู้ รสนิยม วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร นาฏศิลป์ ทุกแขนง ในประเทศไทยอย่างน่าหดหู่ เพราะไม่มีบรรยากาศแห่งการทำงานที่จะสร้างสรรค์ หรือมีอะไรใหม่ๆ ออกมาเลย

ทุกอย่างมันดูเหี่ยวเฉา แห้งแล้งไปหมด

หนังที่เชิดหน้าชูตาอย่างงานของอภิชาติพงษ์ สำหรับฉัน มันดูเป็นงานของ “โลก” ไปแล้ว และตัดขาดกับสังคมไทยไปเหมือนคนแปลกหน้า เหมือนเราเห็นคนไทยที่ย้ายถิ่นฐาน ย้ายรกราก เปลี่ยนสัญชาติไปเป็นของคนอื่น และเขาแค่เล่าเรื่องเมืองไทยจากสายตา “คนอื่น” เท่านั้น

ไม่เพียงแต่เป็นคนอื่น คนในไทย แวดวงศิลปะไทยก็แทบจะไม่มีบทสนทนากับอภิชาติพงษ์และหนังของเขาด้วยซ้ำ นอกจากเสนอข่าวว่า เขาได้รางวัลอะไรที่ไหน ได้รับการยกย่องจากใคร เท่านั้นเอง

ฉันไม่ได้อิจฉาเกาหลีใต้ที่เขาได้ออสการ์ แต่ฉันสะท้อนใจว่า นายทุนและอภิมหาเศรษฐีเกาหลีใต้ อันเป็น “ชนชั้น” ที่ถูกวิจารณ์หนักที่สุด (และไม่อาจแยกเรื่องการเมือง กลุ่มทุน เศรษฐกิจ ออกจากกันได้ Parasite จึงเป็นหนังที่วิจารณ์การเมืองอย่างเข้มข้นด้วย) กลับคือ “นายทุน” ผู้อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้

อันสะท้อนให้เราเห็นถึงความซับซ้อนของการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบของทุนนิยมอย่างจุกที่สุดว่า แม้แต่หนังที่เปลือยความอัปลักษณ์ของทุนนิยมยังถูกสปอนเซอร์ด้วย “นายทุน” และผลของมันก็คือ ทำให้เราหลงลืมความอัปลักษณ์ของทุนผูกขาด ของทุนนิยมที่ไม่เป็นธรรมได้ชั่วคราว และอนุญาตให้ระบบนี้ดำเนินต่อไปได้ โดยที่เหล่านายทุนยังได้โล่ ได้กล่อง ได้รางวัลเสียด้วยซ้ำ

แค่นี้ก็คิดว่าจุกแล้ว แต่มันกลับจุกยิ่งกว่าที่พอหันกลับมาเมืองไทย มันเลวร้ายกว่านั้นหลายเท่าว่า อย่าว่าแต่ “นายทุน” หรือ “อำนาจรัฐ” จะสปอนเซอร์หนังที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ตัวเองดู sophisticate

นายทุน รัฐบาล และศิลปิน ทั้งหลายกลับพร้อมใจกันพาวงการศิลปะไทยเดินถอยหลังไปสู่ยุคโฆษณาชวนเชื่อที่เชยเสียยิ่งกว่าโฆษณาชวนเชื่อยุคสงครามเย็นเสียอีก เช่น นายกฯ รัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกลาโหม พากันมีโครงการทำหนังสงครามให้คนรักชาติ

ฉันอยากจะตะโกนดังๆ ว่า “เดี๋ยว”

ถ้าจะพาประเทศชาติล้าหลังไปขนาดนั้น หรือถ้าแฮปปี้จะอยู่กันอย่างนี้ ช่วยหาวิธีหรือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่เชยน้อยกว่านี้ หรือช่วยทำอะไรให้ประชาชนเห็นว่า พวกท่านเป็นมนุษย์ร่วมยุคร่วมสมัยกับเรา เพราะเท่าที่อ่านวิธีคิดของท่านๆ ฉันคิดว่าหลวงวิจิตรวาทการยังทันสมัยกว่าและเก๋กว่าพวกท่านได้อีก

อยู่ภายใต้เผด็จการก็ว่าแย่แล้ว แต่อยู่ภายใต้เผด็จการที่ไม่มีรสนิยมนี้เจ็บปวดกว่าหลายเท่า

แด่ยามค่ำสนธยาของสุนทรียศาสตร์ศิลปะวรรณกรรมสยามประเทศ