คุยกับทูต ‘เยฟกินี โทมิคิน’ ความร่วมมือไทย-รัสเซีย มีพลวัตมากขึ้นในทุกมิติ (2)

คุยกับทูตเยฟกินี โทมิคิน ความร่วมมือไทย-รัสเซีย มีพลวัตมากขึ้นในทุกมิติ (2)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียเพื่อส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาในประเด็นใหม่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งเรื่องของพลังงาน การขนส่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีและการทหาร รวมทั้งการเกษตร

นายเยฟกินี โทมิคิน (His Excellency Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของรัสเซียในหอการค้าไทย-รัสเซีย (TRCC) ซึ่งจดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2005 โดยสืบทอดมาจากสมาคมการค้าไทย-รัสเซียนั้นได้รับการยอมรับและความนิยมอย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรม

โดยมี ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสภาหอการค้าไทย-รัสเซียในปัจจุบัน

“หอการค้าไทย-รัสเซียได้รวมเอาบริษัทไทยกว่า 50 บริษัท (ตั้งแต่ขนาดเล็กและขนาดกลางไปจนถึงกลุ่มเครือบริษัทขนาดใหญ่มาก) ที่พัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจในเชิงปฏิบัติกับรัสเซีย โดยหอการค้าไทย-รัสเซียได้ช่วยบริษัทของรัสเซียในการหาหุ้นส่วนที่มีวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อปฏิบัติการในโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งในไทยและประเทศที่สาม”

“ผู้แทนของหอการค้าไทย-รัสเซียมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจกรรมทางธุรกิจทวิภาคี ทั้งในรัสเซีย (SPIEF : St. Petersburg International Economic Forum, EEF : Eastern Economic Forum และในขอบเขตของกิจกรรมทางธุรกิจรัสเซีย-อาเซียน) รวมทั้งในไทย (เวทีธุรกิจรัสเซีย-ไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2019)”

“กิจกรรมดังกล่าว นับเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจของรัสเซียและไทย มีการปรึกษาหารือจนเกิดความคิดอย่างมีวิสัยทัศน์ ทั้งมีการแสดงออกถึงความกังวลต่ออุปสรรคที่อาจฉุดรั้งการพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคี ทั้งนี้ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียหอการค้าไทย-รัสเซีย จึงได้จัดทำพันธกิจทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยทั่วภูมิภาครัสเซีย เพื่อเสาะหาโครงการและหุ้นส่วนการลงทุนที่เชื่อถือได้”

ท่านทูตโทมิคินกล่าวว่า

“ในฐานะเอกอัครราชทูต ข้าพเจ้าเข้าร่วมกิจกรรมของหอการค้าไทย-รัสเซียอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้นว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดการสัมมนาที่น่าสนใจคือ ไทย-รัสเซีย-BRICS : การกระตุ้นการค้าและการลงทุน ซึ่งในการสัมมนานี้เราได้หารือเรื่องต่างๆ ที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มพูนความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่ม BRICS และไทย”

BRICS คือ อักษรย่อจากการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa)

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องความร่วมมือกับบริษัทของรัสเซียในด้านการกลั่นน้ำมันและก๊าซ การสร้างสถานีไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพฯ สามารถแก้ไขปัญหาได้อีกมากและรัสเซียพร้อมสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการที่ไทยจะปฏิบัติตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมุ่งมั่นนั้น ท่านทูตชี้แจงว่า

“ความร่วมมือด้านพลังงานในระดับทวิภาคีที่มีอยู่แต่เดิมนั้น มุ่งในด้านน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ตามแผนของรัฐบาลไทยที่จะเพิ่มส่วนแบ่งก๊าซธรรมชาติในภาคพลังงานของประเทศ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในขอบเขตของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จึงค่อยๆ ก้าวเข้ามาสู่แนวหน้าของวาระด้านพลังงานไทย-รัสเซีย โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะค่อยๆ เพิ่มการนำเข้าเชื้อเพลิงชนิดนี้”

“การเจรจาระหว่างบริษัทก๊าซของรัสเซีย (NOVATEK) และบริษัท ปตท.ของไทย (PTT) ในการจัดสรรก๊าซธรรมชาติเหลว และไฮโดรคาร์บอนเหลวสู่ตลาดท้องถิ่นเช่นเดียวกับการร่วมผลิตนั้นกำลังพัฒนาอย่างแข็งขันที่สุด”

“นานมาแล้วที่บริษัทของไทยได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการมีส่วนเข้าร่วมลงทุนกับหนึ่งในโครงการของอาร์กติก (Arctic projects) ซึ่งดำเนินการโดย NOVATEK เราหวังว่าฝ่ายไทยจะยังสนใจเข้าร่วมด้วย”

“อีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในความร่วมมือด้านพลังงาน คือการลงนามเมื่อปี 2017 ในสัญญาระยะยาวระหว่างโรสเนฟต์” (Rosneft) และ ปตท. (PTT) ว่าด้วยการจัดสรรน้ำมันจนถึงปี 2037 ในจำนวนสูงถึง 200 ล้านตัน โดยน้ำมันดิบของรัสเซียชุดแรกถูกลำเลียงในปี 2017 ส่วนกรอบเวลาของชุดต่อๆ ไปกำลังอยู่ในขั้นตอนหารือ”

“และฝ่ายไทยยังพร้อมที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศของเราทั้งสองในด้านพลังงานสีเขียวด้วย โครงการนำร่องก็คือ การที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซื้อแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นฐานของโมดูลโครงสร้างที่ต่างออกไป ซึ่งผลิตโดยบริษัทของรัสเซียคือ เฮเวล เจเนอรัล (Hevel General company) สำหรับโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพลังงานพื้นฐานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น”

รัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งที่อุดมไปด้วยแหล่งพลังงานสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากจะมีก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลกแล้ว รัสเซียยังเป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองถ่านหินมากที่สุดในโลกอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียกลับมีนโยบายวางแผนให้เกิดการบริโภคพลังงานลดลง และหาแหล่งพลังงานทางเลือกมาใช้หมุนเวียนทดแทน

เมื่อสหรัฐและสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกดดัน รัสเซียจึงจำเป็นต้องปรับนโยบายการพัฒนาประเทศใหม่ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ยา เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ จากต่างประเทศ และหันมาผลิตเองภายในประเทศ

พร้อมกับขยายการค้าไปยังตลาดเอเชียและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นประเทศที่รัสเซียให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดนโยบาย 2030 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาว พร้อมทั้งสนับสนุนพลังงานสะอาด

“แม้ว่าเราจะไม่นับรวมเรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เอาไว้ในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2018-2037 เราก็ไม่ได้ละเลยประเด็นการพัฒนาสัญญาทวิภาคีในด้านอะตอมเพื่อสันติ”

“ในการประชุมที่ผ่านมาของคณะทำงานรัสเซีย-ไทย ว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ (กรุงเทพฯ, ตุลาคม 2019) แสดงให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญระดับท้องถิ่นเสนอให้เริ่มทำงานร่วมกันตามแนวทางนี้ด้วยโครงการ (ทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์) ที่ไม่ใช้พลังงาน”

“การจบลงอย่างประสบผลสำเร็จของโครงการรัสเซีย-ไทยไฮเทค เพื่อการสร้างสารกัมมันตภาพรังสีที่ซับซ้อนไซโคลตรอน (cyclotron) ซึ่งกำกับโดยรุสอะตอม เฮลท์แคร์ (Rusatom Healthcare) ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงของท้องถิ่น ควรจะส่งผลทางบวกต่อภาพลักษณ์ของโครงสร้างรุสอะตอม และกลายเป็นข้อดีอย่างแท้จริงของการมีส่วนร่วมในการประกวดราคาที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์สำรวจในประเทศไทย”

นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ไทยอยู่ในระหว่างพิจารณาคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศ สปป.ลาว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายในไตรมาส 1/2020 หลังจากทาง สปป.ลาวได้เสนอขายไฟฟ้าให้กับไทยเพิ่มเติมอีกเกือบ 10 โครงการ รวมปริมาณที่เสนอมาสูงกว่ากรอบความร่วมมือ (MOU) ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันที่ 9,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ เหลือรับซื้อได้อีก 3,000 เมกะวัตต์

โดยตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 2018-2037 (PDP2018) ไทยซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้าระบบได้ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป หรือทยอยเข้าระบบปีละ 700 เมกะวัตต์ รวม 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนนี้เป็นโควต้าของ สปป.ลาว 3,000 เมกะวัตต์ และเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ ได้อีก 500 เมกะวัตต์

ท่านทูตเยฟกินี โทมิคิน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

“เกี่ยวกับแผนของรัฐบาลไทยที่ประกาศเพิ่มการซื้อไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำของประเทศเพื่อนบ้านนั้น ก็ยังมีความหวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างไทย-รัสเซียเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และการมีส่วนร่วมจากประเทศที่สาม ดังเช่น สปป.ลาว”