จิตต์สุภา ฉิน : ไวรัสแพร่ระบาดสะเทือนโลกไอที

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือที่ในตอนนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการแล้วว่า COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทุกวงการ

ซึ่งแน่นอนว่าวงการเทคโนโลยีก็ไม่เว้น

ความเสียหายล่าสุดที่เกิดขึ้นและน่าจะเป็นเรื่องที่ช็อกวงการไม่ใช่น้อย ก็คือการยกเลิกการจัดงาน Mobile World Congress หรือ MWC งานจัดแสดงเทคโนโลยีโมบายที่จัดขึ้นในบาร์เซโลนามาตั้งแต่ปี 2006 และไม่เคยขาดเลยสักปี (แต่ประวัติศาสตร์ของการจัดงานย้อนกลับไปยาวนานถึง 33 ปีแล้ว) และต้องมาสร้างสถิติยกเลิกงานในปีนี้เป็นครั้งแรกอันเนื่องมาจากไวรัสทำพิษ

งาน MWC เป็นงานที่แบรนด์เทคโนโลยีใหญ่ๆ ใช้เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วก็มักจะเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ล่าสุด และด้วยความที่เป็นงานระดับโลกก็ทำให้คนที่ติดตามแวดวงเทคโนโลยีสนใจงานนี้มากที่สุดงานหนึ่งในรอบปี

กว่าจะมาถึงจุดที่ตัดสินใจว่าจะยกเลิกงาน GSMA ผู้จัดงานก็น่าจะกินไม่ได้นอนไม่หลับกันเป็นแถวๆ แน่นอนว่าผู้จัดไม่ได้อยากยกเลิกงานที่วางแผนมาเป็นปีๆ และมีต้นทุนที่ลงไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่

รวมถึงเจ้าภาพสถานที่อย่างกาตาลุนญาที่ก็เดือดร้อนจากการยกเลิกงานเพราะหมายถึงเม็ดเงินที่เคยมีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีต้องหดหายไปเป็นครั้งแรก

 

งาน MWC ทุกปีจะจัดขึ้นเป็นระยะเวลานาน 4 วัน มีผู้เข้างานประมาณ 110,000 คน และมีบริษัทที่เข้าร่วมจัดแสดงในงานราว 2,800 แห่ง หลายพันบริษัทในนั้นเป็นบริษัทจีน การยกเลิกการจัดงานแค่ปีเดียว หมายถึงการหายไปของการจ้างงานคน 1.3 ล้านคนทั่วโลก และรายได้ 137 ล้านยูโร

เมื่อผู้จัดงานรวมถึงเจ้าภาพไม่ได้อยากยกเลิก แล้วทำไมต้องยกเลิก สาเหตุก็มาจากการตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของการที่บริษัทที่เข้าร่วมทยอยถอนตัวกันนั่นเอง

บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากถอนตัวจากการเข้าร่วมงานเพราะความกังวลว่าการเดินทางและการนำคนจำนวนมากๆ ไปรวมอยู่ในที่ที่เดียวกัน จะยิ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเลวร้ายลงไปกว่าเดิม

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยที่สุด การยกเลิกจึงดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่แบรนด์จะเพลย์เซฟได้ ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ทั้ง Facebook, Cisco, Nokia, Sony, LG, Amazon ต่างก็พร้อมใจกันถอยทัพและหยุดพักไปหนึ่งปี

เมื่อมีจำนวนบริษัทที่ถอนตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้จัดงานก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องยกเลิกการจัดงานทั้งหมดไปในที่สุด

จะว่าไปความกลัวของบริษัทเทคโนโลยีก็สมเหตุสมผล และการถอนตัวก็ดูจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่ามีนักธุรกิจชาวอังกฤษที่ไปร่วมงานสัมมนาในสิงคโปร์และติดเชื้อไวรัสกลับมาด้วย

และแม้ว่าผู้จัดงานอย่าง GSMA จะประกาศมาตรการในการรับมือไว้อย่างเข้มงวดแค่ไหน แต่ข่าวที่ออกมารายวันก็ทำให้ความไม่สบายใจก่อตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวระยะการฟักตัวของเชื้ออาจยาวถึง 24 วัน ไม่ใช่ 14 วันอย่างที่เคยเข้าใจกัน หรือการใส่หน้ากากป้องกันอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

น่าสนใจว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานไปอีกแค่ไหน และงานอื่นๆ ที่จ่อคิวรออยู่ข้างหน้าจะต้องรับมืออย่างไร เพราะงานใหญ่ๆ ในช่วงนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียก็ยกเลิกกันไปเกือบหมดแล้ว

 

ถึงแม้ว่า Apple จะไม่ใช่หนึ่งในแบรนด์ที่เข้าร่วมงานนี้กับเขาด้วย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการระบาดของ COVID-19 เลย เพราะการปิดโรงงาน Foxconn ในจีนก็ทำให้การผลิต iPhone ต้องชะงักไปด้วย

ล่าสุดมีการคาดการณ์กันว่าภายในสิ้นกุมภาพันธ์นี้ จำนวนการผลิต iPhone น่าจะทำได้อย่างมากสุดก็คือ 50% ของการผลิตตามปกติ และจะไม่กลับไปผลิตได้เต็มสูบ 100% ก่อนเดือนเมษายนแน่ๆ

เมื่อจีนเข้าสู่โหมดวิกฤตและคนจีนไม่มีทางเลือกที่จะออกนอกบ้านได้อย่างอิสรเสรีโดยปราศจากความกลัวต่อเชื้อไวรัส ก็ทำให้คนจำนวนมากเหมือนถูกกักบริเวณอยู่ในที่พักอาศัยของตัวเอง ตัวออกไปไหนไม่ได้ แต่งานการก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้มากที่สุด

โชคดีหน่อยที่พนักงานออฟฟิศมีทางเลือกให้ทำงานจากที่บ้านได้ ไม่เหมือนกับพนักงานในโรงงานที่จะต้องเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่นั้นๆ เท่านั้นงานจึงจะสำเร็จลุล่วง

ทั้งนักเรียนและพนักงานออฟฟิศจึงต้องหาตัวช่วยในการทำงานระยะไกล และหันไปพึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ที่พัฒนามาเพื่อให้ทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานผ่านคลาวด์ การประชุมแบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารงานภายในองค์กรโดยเฉพาะ ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้มีอัตราการเติบโตที่พุ่งขึ้นสูงภายในช่วงระยะเวลาอันสั้น บางแพลตฟอร์มมียอดผู้ใช้ใหม่รายวันเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งล้านคน

เรียกว่าเป็นช่วงบูมของแพลตฟอร์มการทำงานออนไลน์ที่ไม่น่าจะมีสถานการณ์ไหนทำให้เติบโตได้รวดเร็วกว่านี้อีกแล้ว

เช่นเดียวกับวิถีชีวิตการเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ถึงจะออกจากบ้านไม่ได้ แต่ก็ยังต้องแสวงหาความรู้ไม่ขาด คอร์สเรียนออนไลน์ต่างๆ จึงได้รับความนิยมไม่แพ้แพลตฟอร์มทำงานออนไลน์

 

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พิพิธภัณฑ์และสถานที่จัดแสดงศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ แม้จะไม่เปิดประตูต้อนรับคนให้เข้ามา แต่ก็นำเอาของทั้งหมดที่มีไปจัดแสดงออนไลน์แทน อย่างเช่น พระราชวังต้องห้ามในปักกิ่ง หรือสุสานกองทัพทหารดินเผาในซีอาน ที่ตอนนี้ก็สามารถเข้าไปทัวร์เสมือนจริงได้ ไม่เว้นแม้แต่สวนสัตว์ปักกิ่งที่เปิดให้คนล็อกอินเข้ามาดูแพนด้าได้ผ่านทางหน้าจอของตัวเอง

ทุกสิ่งทุกอย่างของจีนถูกถ่ายโอนเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ภายในระยะเวลารวดเร็ว และคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเปลี่ยนโครงสร้างของโลกออฟไลน์-ออนไลน์ของจีนไปในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ใครที่ไม่พร้อมที่จะเข้าสู่โลกออนไลน์ก่อนหน้านี้ ตอนนี้ก็ไม่มีตัวเลือกนอกจากจะต้องทำตัวเองให้พร้อมเร็วที่สุด

และอาจจะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการใช้ชีวิตออนไลน์ไปตลอดกาล