ฐากูร บุนปาน | แล้วยังจะมีหวังอะไร

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งออกมาแถลงว่า

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.3

ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ “ต่ำมาก”

และต้องไม่ลืมด้วยว่า การคาดคะเนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นมักจะผิดเสมอ

เพราะผลที่แท้จริงจะออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้แทบทุกครั้งไป

ตัวอย่างล่าสุดก็คือปี 2562 ที่เพิ่งผ่านมา

ต้นปี หน่วยงานรัฐทั้งหลายพยากรณ์ (เหมือนเอาใจรัฐบาล) ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 4

ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลดเป้าหมายลงมาเหลือร้อยละ 3.8 แล้วเป็น 3.5 ก่อนลงต่อมาอีกเป็น 3.2 และ 3

แต่จบจริงๆ น่าจะอยู่ประมาณร้อยละ 2.8 เท่านั้น

แล้วปีนี้เริ่มต้นที่ 1.3

ถามว่าจะไปจบตรงไหน

เหมือนที่มีท่านผู้รู้เตือนเอาไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยสาหัสแน่

ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดปัญหาไวรัสโคโรนาเข้ามาขย้ำซ้ำให้การท่องเที่ยวตายสนิท และการส่งออกยิ่งสาหัสกว่าเดิม

(ก่อนไวรัสจะระบาด ก็มีการคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวของไทยในปีนี้แล้วว่าจะต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี)

แต่ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะบ่นด่าว่าใครก็ไม่ได้ และไม่มีประโยชน์

ได้แต่ก้มหน้ารับมือกันไปให้เต็มกำลัง และสติปัญญา ความสามารถ

เผื่อจะผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง แล้วอะไรที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้

อย่างน้อยก็ต้องสองประการด้วยกัน

ข้อแรก คือต้องอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าระบบ (หมายเหตุว่า ต้องอัดฉีดให้ถูกเรื่อง ถูกที่ด้วย)

และข้อสอง คือต้องมีนโยบายที่ถูกต้อง

ในยามที่ประเทศฝืดเคือง ประชาชนยากจน

คนที่มีกำลังพยุงเศรษฐกิจได้มากที่สุดก็คือรัฐ หรือรัฐบาล

ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดก่อน (ก็คนกลุ่มเดียวกันกับชุดนี้) พยายามทำมาตลอด 5 ปี

แต่น่าเสียดายที่การอัดฉีดเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ

และเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภค (ซึ่งอยู่ปลายทาง) เป็นหลัก

ผลเป็นอย่างไรก็เห็นๆ กันอยู่

รวมๆ กันแล้ว วงเงินที่รัฐบาลก่อนประกาศอัดฉีดใส่ระบบเศรษฐกิจเฉียดๆ 2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจบางส่วนโตขึ้นมาจริง แต่ซีกที่โตนั้นไปตกอยู่กับเศรษฐีมหาเศรษฐีเป็นส่วนใหญ่

ถ่างให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นอีก

แล้วถ้าอัดฉีดแบบเดิมไม่ได้ผล หรือยิ่งทำให้ปัญหาหนักข้อขึ้น

จะฉีดแบบไหน

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ฉีดไปที่การเพิ่มรายได้

ฉีดตรงๆ ไปที่รากหญ้า ไปที่เกษตรกร ไปที่คนมีรายได้น้อย

จะจ้างให้เลิกผลิตสินค้าเกษตรตัวไหนที่ไม่มีอนาคต

เพื่อจะปรับโครงสร้างภาคเกษตรใหม่

ทำเลย

จะจ้างให้คนในภาคเกษตรที่ว่างงานจากการประสบปัญหาภัยแล้ง เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งกักเก็บน้ำ

เพื่อปีหน้าปีต่อๆ ไป จะได้ไม่กลับมาเผชิญหน้ากับปัญหาซ้ำซาก

จ้างเลย

จะเพิ่มเงินอุดหนุนให้คนจนเมือง สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนตัวเล็กตัวน้อย

เอาเลย

ฯลฯ

ทำให้รากหญ้าลืมตาอ้าปากได้ เศรษฐกิจไทยยังพอมีทางรอด

แต่แจกเงินให้ถูกต้อง ถูกคน ถูกเรื่อง นั่นแค่ส่วนเดียว

เบื้องต้นก่อนจะไปถึงตรงนั้น ต้อง “ยอมรับความจริง” กันเสียก่อน

ว่าที่กำลังเผชิญหน้าอยู่นี้คือวิกฤต

ต้องรับมือแบบการเผชิญหน้ากับวิกฤต

ต้องประกาศกันให้รู้ทั่วว่า ถ้าไม่จัดการอะไรให้ถูกต้อง

ประเทศนี้สังคมนี้กำลังเดินหน้าไปสู่หายนะ

ต้องร่วมกันประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น

โดยมีรัฐบาลเป็นตัวอย่าง

อะไรที่ประหยัดมัธยัสถ์ได้ ต้องทำให้เห็น

เมื่อเงินทองมีน้อย ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด อะไรไม่ใช่ความจำเป็นจะต้องซื้อ

อย่าซื้อ

ที่เขียนมายาวยืดนี้

เพราะไปเห็นข่าวว่า อีกไม่ช้าโครงการชิม ช้อป ใช้ งวด 4 จะออกมาแล้ว

ประเทศจนกรอบ คนแทบไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ

แทนที่จะทำตัวเป็นมดง่ามขยันขันแข็ง

ต้องทำงานหนัก ต้องเอาจริง ต้องอึดและอดทน

ผ่ายุยงให้ทำตัวเป็นจักจั่น จับระบำรำฟ้อนไปเรื่อยในฤดูร้อน

เพื่อจะไปอดตายในฤดูหนาว

มันผิดฝาผิดตัว กลับหัวกลับหางไปทั้งหมดอย่างนี้

แล้วยังจะมีหวังอะไร