มุกดา สุวรรณชาติ : ผลลัพธ์หลังยุบ “อนาคตใหม่” และ “ประชาธิปัตย์” ในภาวะเลือดไหลไม่หยุด

มุกดา สุวรรณชาติ

“ถ้าคนเป็นผู้บริหารพรรคใจเสาะ ผู้คนก็จะหนีไป”

14 กุมภาพันธ์ 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การยกระดับพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง” ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง โดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.รุ่นที่ 10)

นายชวนกล่าวช่วงหนึ่งว่า “การเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ใช่งานที่มีความราบรื่น เพราะสายตาของคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมองพรรคการเมืองในเชิงบวก สื่อมวลชนมักมองพรรคการเมืองเป็นจำเลย มีแต่เรื่องเลวร้าย ดังนั้น การทำให้พรรคการเมืองดำรงอยู่ได้และเป็นที่ยอมรับของประชาชน จึงต้องอยู่กับความเป็นจริงในเรื่องความถูกต้อง ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลในพรรค ขณะเดียวกันสมาชิกพรรคทุกคนจะต้องไม่ยอมให้คนที่ต้องการจะฮุบพรรคได้มีโอกาส พรรคการเมืองมีขึ้นมีลง มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา”

“ดังนั้น การที่พรรคการเมืองจะดำรงอยู่ได้จึงต้องมีคนที่ตั้งใจจริงอยากมาทำงานการเมือง ไม่ใช่เป็นแค่มาหาอะไรทำ เพราะในยามใดที่พรรคประสบปัญหา คนที่ตั้งใจจริงเขาจะไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจหรือทิ้งพรรค ไม่หวั่นไหว”

“แต่ถ้าคนเป็นผู้บริหารพรรคใจเสาะ ผู้คนก็จะหนีไป ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยประสบปัญหาอย่างนี้เมื่อปี 2521 มีหลายคนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรวมถึงนายสมัคร สุนทรเวช ลาออกแล้วไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็มาชวนผมให้ไปอยู่ด้วย แต่ผมไม่ไป ขออยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป และเห็นว่าถ้าสุดท้ายพรรคไปไม่รอด ผมก็ยอมกลับไปเป็นทนายความที่บ้านเกิด”

อย่างที่บอกว่าคะแนนของประชาธิปัตย์ (ปชป.) หายไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 7.5 ล้านคะแนน ทำให้แม้ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแต่ก็เริ่มมีคนลาออกจากพรรค แม้จะมีฐานะเป็น ส.ส.

คุณชวนอาจมองว่าความเสื่อมของ ปชป.เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว เพราะเคยเห็นมาหลายครั้งในอดีต และถ้าดูผลจากการเลือกตั้งในช่วงนั้นๆ จะพบว่า…

การเลือกตั้งในปี 2522 ภายใต้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 35 คน จากจำนวน 301 คน คิดเป็น 11.6%

ในปี 2535 มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร รสช. ของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 44 คน จากจำนวน 360 คน คิดเป็น 12.2%

การเลือกตั้งในปี 2548 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 96 คน จาก 500 คน คิดเป็น 19.2%

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ของคณะรัฐประหาร คสช. พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 53 คน จาก 500 คน คิดเป็น 10.6% ถือเป็นการได้ ส.ส.น้อยที่สุดในรอบ 40 ปี และไม่ได้ ส.ส.ในเขตกรุงเทพฯ เลยแม้แต่คนเดียว

 

นี่คือช่วงเวลาที่ควร…กล้า…
ออกจากประชาธิปัตย์และมาตั้งพรรคใหม่หรือ?

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก มีคนเคยทำมาแล้วอย่างที่คุณสมัครก็ออกมาตั้งพรรคประชากรไทย และก็สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.ในกรุงเทพฯ ได้ไปเกือบหมด

จังหวะของคุณสมัครคือจังหวะที่ ปชป.ทรุด ซวนเซ

พรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า…กล้า… เมื่อพวกเขากล้าออกจากประชาธิปัตย์ กล้าตั้งพรรคมาแข่งขัน แสดงว่าต้องมีความหวังในการเติบโต มีแผนการ มีเส้นทางเดิน มีทุน มีผู้สนับสนุน มีทุนรอน

วิสัยทัศน์ในการมองสถานการณ์ทางการเมืองของคุณกรณ์ จาติกวณิช กล้าลุย อาจต่างกับคุณชวน หลีกภัย ดูจากคะแนน ปชป. และลีลาทางการเมืองที่แกว่งไป-มา โดยเฉพาะช่วงแปลงกายเป็น กปปส. พอผลการเลือกตั้ง 2562 ออกมา ก็ชี้ว่านี่คือจังหวะที่ ปชป.อ่อนแรงที่สุด

พวกที่จะทำพรรคใหม่ ได้ศึกษาผลการเลือกตั้งครั้งใหม่และมองเห็นตัวเลขของคนหนุ่ม-สาวคนทำงานตั้งแต่ช่วงอายุ 18-40

การประสบความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ ก็มองเห็นเส้นทางที่ทำให้เกิดความหวังถ้าอนาคตใหม่ทำได้ ทำไมเขาจะทำไม่ได้

แต่ตัวอย่างการตั้งพรรคแนว กปปส. ที่สนับสนุนโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และเอนก เหล่าธรรมทัศน์ มองว่าไปไม่รอด

เมื่ออนาคตใหม่เป็นพรรคกลางซ้าย โดยคนหนุ่มไปได้ดี พวกเขาก็จะตั้งพรรคกลางขวา โดยคนหนุ่มเช่นกัน แต่ถ้าจะดึงเสียงคนหนุ่ม-สาวให้ได้ พวกเขาจะต้องมีลักษณะเป็นพรรคใหม่จริงๆ ถ้าถูกมองว่ายังยึดโยงกับประชาธิปัตย์ หรือมีส่วนสัมพันธ์กับพลังประชารัฐหรือเกี่ยวข้องกับ คสช. โอกาสจะได้เสียงจากคนหนุ่ม-สาวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

วันนี้พรรคอนาคตใหม่ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้าน คสช.อย่างเต็มตัว นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้คะแนนเสียง แต่พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะกล้าต่อต้านอย่างนั้นหรือ จะกล้าแสดงตัวแบบอยู่ไม่เป็น ยืนยันหลักการประชาธิปไตย จุดยืนเหล่านี้คิดว่าไม่นานก็คงจะได้เห็นกัน

แต่ในการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ถ้าหากเป็นไปตามมาตรฐานตุลาการภิวัฒน์เดิม และมี ส.ส.ที่ต้องหาพรรคใหม่ ภายใน 60 วัน ไปปรากฏตัวที่พรรคซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่นี้ ผู้คนคงจะคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่น่าจะอยู่ในแผนการที่วางไว้

เส้นทางของพรรคใหม่คงจะเลี้ยวไปจบกับพรรครัฐบาลและกลายเป็นพรรคเก่าธรรมดา

 

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
และกลบฝังวีรบุรุษ ถ้าพลาด
กรณ์ต้องศึกษาจากอภิสิทธิ์ และธนาธร

ในปี 2522 ในเขตกรุงเทพฯ ยังมีถนัด คอมันตร์ ได้มา 1 คนในปี 2535/1 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอดมาได้ 1 คน

ปี 2562 นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ ส.ส.ในเขตกรุงเทพฯ เลย

สำหรับอภิสิทธิ์ถ้าย้อนอดีตเขาเริ่มต้นในขณะที่พรรคตกต่ำ การได้ ส.ส.เพียงคนเดียวในกรุงเทพฯ ในปี 2535 จึงโดดเด่นมากในฐานะนักการเมืองหนุ่มนักเรียนนอกที่มีการศึกษาดี มีคุณสมบัติเพียบพร้อม

หลายคนจึงคาดหมายว่าเขาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต

หลังการเลือกตั้งปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์นำโดยคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้แพ้แก่พรรคไทยรักไทยอย่างไม่เห็นฝุ่น คุณบัญญัติได้ลาออกไป ให้คุณอภิสิทธิ์เข้ามาแทน

แต่การเลือกตั้งแบบแฟร์ๆ ตามกฎหมายก็ไม่ได้ถูกพิสูจน์เพราะ ปชป.บอยคอตการเลือกตั้ง

จากนั้นก็มีรัฐประหาร 2549 มีการเลือกตั้ง 2550 ตอนปลายปี

แม้จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่และคณะรัฐประหารจะต่อต้านไทยรักไทย ด้วยการยุบพรรคทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน ไม่ว่าจะต่อต้านอย่างไร ช่วยอย่างไร พลังประชาชนก็ยังได้ที่ 1 ในการเลือกตั้ง แต่ก็มีเหตุการณ์ที่พันธมิตรเสื้อเหลืองก่อม็อบครึ่งปี ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ต้องมีตุลาการภิวัฒน์ ยุบพรรคพลังประชาชน ต้องบีบพรรคอื่นๆ ให้เปลี่ยนขั้วย้ายข้างในค่ายทหาร

สุดท้าย ปชป.ได้เป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ สมดังที่คาดหมายกัน แต่ในช่วงสั้นๆ ที่เป็น ไม่มีผลงานเด่น

แน่นอนว่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ย่อมคิดว่าตัวเองที่นำพรรคประชาธิปัตย์สู้ในการเลือกตั้ง ต้องได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่าสมัยคุณบัญญัติ 96 คน แต่ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย 2562 ได้ ส.ส.แค่ 53 คน เป็นสถิติที่น้อยที่สุด คือ 10.6% โอกาสกลับมาแก้ตัวทางการเมืองคงยากแล้ว

แต่สิ่งที่ติดกับชื่อไปตลอดคือ บทบาทในการที่อภิสิทธิ์ได้เข้าไปเป็นหมากของความขัดแย้ง จะต้องมีการเอ่ยถึงชื่อนี้ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็น 10 กว่าปี

และบทบาทของเขาระหว่างปี 2550-2562 ซึ่งมีคนเสียชีวิตรวมหลายเหตุการณ์ น่าจะเกิน 100 คน บาดเจ็บหลายพัน ติดคุกหลายร้อย และคดีจากความขัดแย้งก็ยังไม่ยุติ

บทเรียนในประวัติศาสตร์สอนว่า การคบคนพาล คนโง่ คนบ้า จะพากันทำผิด ยิ่งถ้ามีอำนาจ ประชาชนจะเดือดร้อน และถ้ามีคนเชื่อตาม ความขัดแย้งก็จะไม่ยุติง่ายๆ

 

การยุบพรรคอนาคตใหม่จะทำให้เกิดเรื่องใหญ่

ฉบับที่แล้วเราตั้งคำถามค้างไว้ว่า การที่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันจะต่อสู้ถึงที่สุด ไม่ยอมจำนนและไม่กลัว ความมั่นใจแบบนี้ อะไรครั้งนี้ มีอะไรแตกต่างกันหรือไม่

ที่วิเคราะห์มองว่าในเชิงคดี แม้มีอนุกรรมการของ กกต.ให้ยกคำร้องถึง 2 ชุด

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยการยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เหตุผลในการยุบพรรคอาจจะใช้จากการคาดคะเนหรือหาเรื่องอื่นๆ มาประกอบก็ได้

แต่ทีมงานมองแล้วว่า ถ้ามีการยุบพรรค อนค. จะต้องมีเรื่อง จะต้องเกิดเรื่องแน่

นี่ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ และการเกิดเรื่อง หรือมีเรื่อง

เนื่องจากการหาเรื่อง เกิดขึ้นตามปกติที่ผ่านมาตลอด 10 ปี ดังนั้น จุดนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญในการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่จะทำหรือไม่ ถ้ายังลังเล การตัดสินคดีอาจเลื่อนออกไปก็ได้

อาจมีคนถามว่า แล้วพรรคอนาคตใหม่จะมีน้ำยาอะไร

ความรู้สึกต่อต้านความอยุติธรรม และปฏิกิริยาโต้ตอบของประชาชนมีมาตลอด และก็นำไปสู่การเกิดเรื่อง 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 คือการต้านอยุติธรรม จะเกิดเร็วเกิดช้า แรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมีการสะสมปัญหาแค่ไหน และเมื่อมีตัวจุดชนวนก็เกิดเรื่องได้

ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของอนาคตใหม่เท่านั้น การคัดค้านการยุบพรรคก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่ แต่ต้องไม่เกิดกับทุกพรรค

ขณะนี้ความขัดแย้งได้ขยายมาสู่ประชาชนมากยิ่งกว่าครั้งเดิมๆ

ในครั้งก่อนเมื่อมีการยุบพรรคไทยรักไทย การโต้ตอบของประชาชนก็คือยังไปเลือกพลังประชาชน และเมื่อถูกยุบพรรคพลังประชาชน การตอบโต้ก็คือการเกิดกลุ่มคนเสื้อแดง

การต่อสู้ยิ่งดุเดือดขึ้นถึงเลือดถึงชีวิต

แต่ถ้าดูให้ดี พวกเขาไม่ยอมแพ้การเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คะแนนเสียงยิ่งได้มากกว่าเดิม แต่จะสังเกตได้ว่า ประชาชนโต้ตอบได้แค่วิธีลงเสียงเลือกตั้งให้ฝ่ายที่ถูกรังแก

หลัง 5 ปี การรัฐประหาร 2557 คสช.ยึดอำนาจอยู่ 5 ปี ในการเลือกตั้งปี 2562 แม้จะทำทุกวิถีทาง เพื่อไทยก็ยังได้ที่ 1 ทั้งที่ไม่ส่งลงแข่งอีก 100 เขต

ถึงเวลานี้ การหาเรื่องกับพรรคอนาคตใหม่ดูแล้วจะทำให้ความตื่นตัวทางการเมืองเติบโตงอกงามได้ดีพอๆ กับยุคที่หาเรื่องยุบพรรคทักษิณ

 

ชะตากรรมของพรรคการเมือง
มาจากกรรมที่พวกเขาได้กระทำขึ้น
จะส่งผลต่อผู้นำพรรค
และส่งผลถึงชีวิตของประชาชน

ถ้ามองย้อนอดีต ดูการกำเนิดของพรรคไทยรักไทย ผลงานของพรรคไม่ว่าจะถูกทำลาย ถูกกดดันอย่างไร จนถึงวันนี้ก็ยังดำรงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็นเพื่อไทย ผลงาน 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังอยู่ให้ประชาชนได้รอดตาย หายเจ็บของนายกฯ ทักษิณก็ยังอยู่

ชีวิตของนายกฯ ทักษิณก็ไม่ได้ยากลำบากประการใด เงินทองทรัพย์สินที่ต้องใช้จ่ายไป สูญเสียไปในการต่อสู้ทางการเมือง

เทียบกับผลที่ออกมาในการช่วยฟื้นฟูสร้างสรรค์ประเทศและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับสวัสดิการในด้านต่างๆ จนถึงวันนี้ก็ยังดำรงอยู่ไม่มีใครกล้าลบล้างทำลาย มีแต่จะต้องเสริมเพิ่มเพื่อแข่งขันจึงถือว่าคุ้มค่ามากๆ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ บทบาทใน 10 ปีหลังทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจบทบาทของพรรคการเมือง ความแตกต่างของนักการเมือง จุดยืนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และความสามารถในการบริหารประเทศชาติ

เข้าใจคำว่าผู้ดีกับคนดีมีความแตกต่างกันอย่างไร

ที่สำคัญทำให้เกิดความเข้าใจว่า ผู้ที่สามารถบริหารและปกครองบ้านเมืองควรมีคุณสมบัติอย่างไร จึงจะทำให้บ้านเมืองเจริญและอยู่รอดได้

ยิ่งประชาชนเข้าใจมากขึ้น ความนิยมต่อพรรคก็ลดลง

ประชาธิปัตย์คงไม่สูญสลายไปง่ายๆ แต่มีแนวโน้มจะกลายเป็นพรรคเล็กๆ แบบพรรคชาติไทย

นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้สมาชิกและแกนนำจำนวนหนึ่งแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ การเกิดใหม่ในช่วงสั้นๆ แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบผลงานทรัพย์สินเงินทองที่ใช้ไปถือว่าคุ้มค่ามาก

ผลกรรมการกระทำของทั้งพรรคและผู้นำ ได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับประชาชน ถ้าเทียบกับยุคไทยรักไทยและเพื่อไทยที่สร้างความเข้าใจทําให้คนตาสว่างมองเห็นรากฐานของปัญหาในยุคที่ 1

พรรคอนาคตใหม่ก็ทำให้คนตาสว่างและรู้เหตุผลที่ลึกซึ้งเจาะลึกลงในปัญหาต่างๆ เป็นยุคที่ 2

สร้างความตื่นตัวให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายล้านคน

แต่พรรคอนาคตใหม่ยังไม่มีโอกาสได้เป็นรัฐบาล ถ้าได้เป็นคงจะได้สร้างผลงานเชิงปฏิรูป ระบบให้กับประเทศชาติได้ไม่น้อยทีเดียว

ไม่ว่าความตั้งใจยุบพรรคของกลุ่มอำนาจเก่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ก็จะไม่สามารถยุบพรรคอนาคตใหม่ให้หายไปได้ ตราบใดที่ประเทศชาติยังมีสารพัดปัญหา พรรคอนาคตใหม่ก็จะยิ่งเติบโตไปตามเทคโนโลยีของการสื่อสาร และงอกงามไปสะท้อนปัญหาเหล่านั้น

หากอีกฝ่ายพยายามดิ้นรนยุบพรรคอนาคตใหม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาย่อมเป็นสิ่งที่แหลมคมกว่า ใหญ่กว่า และแรงกว่าพรรคอนาคตใหม่แน่นอน

ความขัดแย้งทางการเมืองของทุกพรรค ทุกกลุ่ม ก็ได้สะท้อนความเที่ยงตรงของระบบยุติธรรมไทยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่าไม่สามารถให้ความเป็นธรรมจนยุติปัญหาได้

ถ้ายังเป็นแบบนี้ ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ จะยืดเยื้อไปไม่สิ้นสุด

กลายเป็นเครื่องถ่วงรั้งความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

ผู้ที่จะได้รับความทุกข์ยากก็คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง

โลกของการสื่อสารยุคใหม่ จะบันทึกเหตุการณ์และกรรมของบุคคลต่างๆ ไว้ ทั้งข้อความ ภาพ เสียง ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าก็ยังจะมีคนมาศึกษา วิจารณ์คนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ อภิสิทธิ์ สุเทพ ประยุทธ์ ธนาธร ฯลฯ รวมทั้งองค์กรต่างๆ

รับรองว่าละเอียดยิ่งกว่าบัญชียมบาล