ลึกแต่ไม่ลับ : เงินจิ๊บ-จิ๊บ 2,991 ล้านบาท

จรัญ พงษ์จีน

แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามนานัปการ แต่กินขนมเชื่อได้ล่วงหน้าว่า การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 คงจะไม่มีปัญหาใดๆ ได้ลงร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนประเด็นที่ผ่าน หรือ ไม่ผ่านประชามติ เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง

ตัวเลขกลมๆ ของเงินงบประมาณ ที่จะนำไปใช้จ่ายในการทำประชามติ ปรากฏว่า ตกล่องปล่องชิ้นแล้ว คณะรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เคาะอนุมัติงบกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2,991 ล้านบาท จากที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ชงขอไป 4,200 ล้านบาท แต่ “บิ๊กตู่” ส่ง “วิษณุ เครืองาม” มาทำหน้าที่ทูตลิ้นทอง ต่อรองปรับลดเหลือสัดส่วนดังกล่าว

ประเด็นมันมีอยู่ว่า เงินจิ๊บ-จิ๊บ 2,991 ล้านบาท ที่ “กกต.” ได้รับฉันทานุมัติ ไปเป็นค่าใช้จ่าย เพียงพอต่อการทำประชามติหรือไม่ แค่บันไดขั้นแรก ซึ่ง “กกต.” อ้างว่า เป็นผลงานสำเร็จรูปไปแล้วนั้น ยอดค่าใช้จ่ายก็น่าจะทะลุหลักเกินพันล้านเข้าไปแล้ว ประกอบด้วย

1.ค่าจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม 2.จัดพิมพ์คำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ 3.จัดพิมพ์คำถามพ่วงและคำอธิบาย 4.จัดทำ-พิมพ์เอกสารสาระสำคัญฉบับย่อ 5.ทำแอพพ์ “ดาวเหนือ” 6.ทำแอพพ์ “ตาสับปะรด” 7.ทำแอพพ์ “ฉลาดรู้ ประชามติ” 8.ทำแอพพ์ รายงานผลถึง 95 เปอร์เซ็นต์ใน 3 ชั่วโมงหลังปิดหีบ

9.จัดพิมพ์บัตรออกเสียง 10.จัดทำหีบบัตรและอุปกรณ์ออกเสียง 11.จัดหากรรมการประจำหน่วย 12.แก้กฎหมายอำนวยความสะดวกคนพิการ คนสูงอายุ 13.จัดทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัดทางอินเตอร์เน็ต 14.ริเริ่มใช้การ์ดอ่านบัตรประชาชนในการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดในลพบุรี และปราจีนบุรี 15.อำนวยความสะดวกผู้สังเกตการณ์นานาชาติ 16.รักษากติกา พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ

17.จัดเวทีชี้แจง 4 ภูมิภาค 18.จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ 19.จัดหน่วยออกเสียงเคลื่อนที่ ให้กลุ่มคนพิการ สูงอายุ 20.จัดรายการทางโทรทัศน์เพื่อให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญ 21.สนับสนุนศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เป็นแกนนำสร้างความรู้และรณรงค์การออกเสียง 22.จัดกิจกรรม 6 สัปดาห์ประชามติ ให้นักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน มีส่วนร่วม

และ 23.”อบรมครู ก. ครู ข. และครู ค.” เกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติ

 

มาลงลึกกับประเด็นว่าด้วย “ครู ก. ครู ข. และ ครู ค.” ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ปูพรหม จัดอบรมวิทยากร เพื่อลงพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน การอบรมผ่านไประยะหนึ่ง เกินครึ่งทาง จวนจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว เริ่มมีเสียงสะท้อน วิตกกังวล กับ “ครู ก.-ครู ข.-ครู ค.” จะเข้าใจบรรลุสาระร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างถ่องแท้ได้อย่างไร ในเมื่อเวลามันจำกัด “กรธ.” จับปูใส่กระด้งทันหรือไม่

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อดูแผนงานของ “กรธ.” ในการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ เน้นที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักนั้น แบ่ง “วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย” ออกเป็น 3 ระดับ

สตาร์ตจาก “ระดับ 1” คือ ระดับจังหวัด นำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ มาร่วมวงเป็น “ครู ก.” จังหวัดละ 5 คน 77 จังหวัด รวมเป็น 385 คน

“ครู ก.” เมื่อได้รับการติวเข้มเข้าแก๊ปแล้ว ต้องนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อสู่วิทยากรระดับอำเภอ หรือ “ครู ข.” อำเภอละ 5 คน รวม 8,780 อำเภอทั่วประเทศ จำนวน 87,800 คน

ลำดับสุดท้าย “ครู ข.” นำวิทยายุทธ์ เรื่องรัฐธรรมนูญที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครู ก. ไปถ่ายทอดต่อให้กับวิทยากรระดับหมู่บ้าน หรือ ครู ค. หมู่บ้านละ 4 คน ทั่วประเทศมี 80,491 หมู่บ้าน เท่ากับมี ครู ค. ทั่วประเทศ 321,964 คน

ยกยอด ครู ก. + ครู ข. + ครู ค. เท่ากับทั่วประเทศ มี “ครูรัฐธรรมนูญ” เพิ่มขึ้นมา 3 ระนาบ มีอัตราส่วนทั่วประเทศ 410,149 คน

ขั้นตอนปฐมนิเทศ หรืออบรมวิทยากร เริ่มโหมโรงกันตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จะเสร็จสิ้นกลางเดือนมิถุนายน วันที่ 16 มิถุนายน ถึง 5 สิงหาคม 2559 คือ เป้าหมายของการเผยแพร่ประชาธิปไตย ผ่านครู ก. ครู ข. และ ครู ค. เป็นเวลา 50 วัน

การใช้บริการ ผู้คนเกือบครึ่งล้านราย มาอบรม ในห้วงเวลาเพียงเดือนเดียว ว่าด้วยเรื่องราวที่เป็นรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่ง “กรธ.” ยกร่างขึ้นมาใหม่เกือบจะยกดุ้น เนื้อหาสาระ “แกะกล่อง” ทั้งเรื่องของเขตเลือกตั้ง-วุฒิสมาชิก และไหนคำถามพ่วง เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี หรือกาบัตรใบเดียว น่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดุจขายขนมครก

เกิดวิทยากร ซึ่งดูเหมือนว่า เกณฑ์ กติกาที่จะมาเป็น “ครู ก. ครู ข. และ ครู ค.” ไม่ค่อยรัดกุมสักเท่าไหร่ และกรอบเวลาน้อยนิด เกิดสื่อสารผิดๆ ถูกๆ ไปถ่ายทอด เผยแพร่สู่ภาคส่วนประชาชน ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ที่น่าหนักใจมากเป็นไหนๆ คือ “งบประมาณ” ดังที่ปรากฏว่า “คณะรัฐมนตรี” อนุมัติงบกลางมาเป็นค่าใช้จ่ายในการออกเสียงทำประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม ชงตัวเลขกลมๆ ให้แค่ 2,991 ล้านบาท

เฉพาะที่ “กกต.” จัดแจงว่า ค่าใช้จ่ายที่ได้จัดทำไปแล้ว และเป็นผลงาน “งบกลาง” ก็เกือบจะเหลือแต่ก้นหีบ

อาสาสมัครที่จะมาช่วยในนามของ “ครู ก. ครู ข. และ ครู ค.” จะให้กินแกลบก็ดูกระไรอยู่ ต้องมีค่าใช้จ่ายอันเป็นเบี้ยเลี้ยง “กองทัพเดินด้วยท้อง” ของฟรีไม่มีในโลก

กับสมมุติฐานขั้นต่ำสุด ครูที่จะมาเป็นวิทยากร ได้รับเงินในฐานะผู้เสียสละเพื่อชาติ ด้วยสัดส่วนเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300/วัน ก็ปาเข้าไปวันละ 120,000,000 ล้านบาท

เวลาในการณรงค์ เผยแพร่ร่างรัฐรรมนูญ 50 วัน ยอดทะลุเพดาน 6,000 กว่าล้านบาท

บวกกับค่าใช้จ่ายของ “กกต.” อีกก้อนหนึ่ง ไม่เฉียดหมื่นล้านหรือ