ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (8)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent หรือ จอมคนป่าอสรพิษ ไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาดมากนักในประเทศไทย

ผู้นำเข้าหนังคือ Hal เคยบ่นให้ผู้เขียนฟังว่าหาทาง “ขาย” หนังเรื่องนี้ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก

แต่ในโลกตะวันตกก็เผชิญปัญหาแบบนี้เหมือนกัน นักวิจารณ์จาก Guardian, New York Times, New Yorker, Washington Post ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อสำหรับผู้อ่านกลุ่มจริงจัง (Serious Reader) จึงหาทางออกด้วยการช่วยเชียร์หนังเรื่องนี้ให้คนยังไม่ได้ดูเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นหนัง “อาณานิคม”

อันที่จริงการที่ผู้นำเข้าหนังอย่างบริษัท Hal บ่นว่าหนัง Embrace ขายยาก ก็ประหลาดแล้ว เพราะ Hal เป็นค่ายหนังน้องใหม่สุดบ้าดีเดือดที่ต้องชื่นชมความกล้านำเข้าหนังซึ่งค่ายใหญ่ไม่กล้ามาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น The Tribe ซึ่งกวาดสามรางวัลคานส์ แต่เป็นหนังใช้ภาษามือทั้งเรื่อง, White God โกยรางวัลคานส์มาอีกสอง แต่ผู้แสดงคือหมานับสิบตัว, 45 years เข้าชิง 47 รางวัลทั่วโลก แต่เป็นเรื่องผัวเมียเลิกกันตอนแต่งครบ 45 ปี และ Embrace กวาดไปทั่วโลก 20 รางวัล แต่เป็นหนังคนป่าซึ่งถ่ายทำด้วยภาพขาวดำ

ถ้าคนนำเข้าหนังที่แสดงโดยคนหูหนวกและหมายังบ่นว่ายาก Embrace นี่ต้องเป็นหนังที่สรุปว่าคืออะไรได้ยากจริงๆ

คําว่า “อาณานิคม” ช่วยขายหนังเรื่องนี้อย่างไร?

พูดง่ายๆ คือคำทำให้ผู้ฟังมีมโนภาพของคนขาวกับคนอินเดียนพื้นเมืองที่ฝ่ายแรกปกครองฝ่ายหลังด้วยความเอารัดเอาเปรียบ ขณะที่ฝ่ายหลังก็ต้องหาทางต่อต้านเพื่อประกาศเอกราชจากฝ่ายแรกตลอดเวลา

คำว่า “อาณานิคม” จึงมาพร้อมกับโครงเรื่องที่ผู้ชมคาดเดาล่วงหน้าว่าจะเห็นจากหนัง มาพร้อมกับตัวเอกและตัวร้าย มาพร้อมกับดราม่าสะเทือนอารมณ์เรื่องคนพื้นเมืองถูกคนขาวกดขี่ และมาพร้อมกับความอิ่มเอมจากความปีติที่คนพื้นเมืองชนะคนขาวในบั้นปลาย

Embrace of the Serpent พูดถึงคนขาวกับคนพื้นเมืองจริง แต่ไม่ได้พูดผ่านขนบของมโนภาพ “อาณานิคม” แบบสูตรสำเร็จสี่ข้อ

ข้อแรกคือคนขาวกับคนพื้นเมืองมีความสัมพันธ์แบบขัดแย้งเชิงต่อรองซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แบบเผด็จการกดขี่

ข้อสองคือทรัพยากรในการต่อรองคือความรู้ ไม่ใช่กำลังอาวุธ

ข้อสามคือการกดขี่ของนายทาสถูกหนังผลักไปเป็นฉากหลังที่ผู้ชมรับรู้ผ่านรอยแผล หรือ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ในใจตัวละคร

และข้อสี่คือฉากจบของหนังก็ไม่มีการ “ปลดแอก” ที่คำว่า “อาณานิคม” ชวนให้มโน

ในแง่นี้ ผู้ที่ดูภาพยนตร์เรื่อง Embrace เพราะหลงเชื่อภาพลักษณ์ที่นักวิจารณ์พยายามสื่อสารผ่านคำว่า “อาณานิคม” คงต้องออกจากโรงหนังด้วยความหงุดหงิดระดับอาจฟ้องสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคว่าหนังไม่ตรงกับคำโฆษณาก็เป็นได้

เพราะที่จริงหนังพูดถึงสภาวะอาณานิคม (Coloniality) ไม่ใช่อาณานิคม (Colonialism)

ส่วนโครงเรื่องก็ให้น้ำหนักกับสิ่งที่ Walter Mignolgy ใน Local Histories/ Global Designs เรียกว่า Colonial Difference หรือ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” ไม่ใช่การขูดรีดแบบอาณานิคม

Colonial Difference หรือความผิดแผกแบบอาณานิคมคืออะไร?

พูดแบบสั้นที่สุดในพื้นที่อันจำกัด Colonial Difference หรือ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” คือสิ่งที่มิงโญโล่บอกว่าเป็น “ห่วงโซ่ที่ขาดหาย” ซึ่งถ้าเข้าใจก็จะถักทอให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบสามส่วนของโลกสมัยใหม่

นั่นคือมองเห็นว่าอารยธรรม, โลภาภิวัตน์ และระบบโลกแบบอาณานิคม/สมัยใหม่ (modern/colonial world system) ไม่ได้แยกขาดจากกัน

และถึงที่สุดแล้วทั้งสามเรื่องนี้มีความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลซึ่งกันและกันระดับโลกจนผลักดันให้ “ท้องถิ่น” เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

มิงโญโล่พัฒนาแนวคิดเรื่อง “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” จากงานเขียนของนักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ในเปรูและโบลิเวียสองคนที่มีบทบาทสำคัญในการประดิษฐ์แนวคิดเรื่อง “อาณานิคมทางอำนาจ” (Coloniality of Power) เพื่ออธิบายมรดกของระบบอาณานิคมในความหมายของ Colonialism ที่ยุโรปทิ้งไว้ในรูปของความรู้ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่แทรกตัวอยู่ในโครงสร้างสังคมของอเมริกาใต้ต่อมาอีกนาน ถึงแม้ระบบอาณานิคมจะล่มสลายไปแล้วก็ตาม

สรุปสั้นๆ อาณานิคมทางอำนาจหมายถึงสภาวะอาณานิคมดำรงอยู่โดยปราศจากเจ้าอาณานิคม

พูดอย่างเป็นรูปธรรม ปัญญาชนอเมริกาใต้พูดถึงสภาพที่เจ้าอาณานิคมสร้างการแบ่งชั้นทางการเมืองและสีผิวซึ่งมีผลต่อการยกสถานะคนบางกลุ่มและเหยียบย่ำคนบางกลุ่มที่ดำรงอยู่จนอเมริกาใต้มีเอกราช

อธิบายแบบไทยง่ายๆ ก็คือเจ้าอาณานิคมยุโรปสร้างอเมริกาใต้ให้มี “ชุมชนในจินตนาการ” ที่กำพืดและวัฒนธรรมเป็นบรรทัดฐานในการจัดวางให้คนบางกลุ่มอยู่วรรณะยอดสุดของสังคม เช่นเดียวกับคนบางกลุ่มอยู่ชั้นด้อยกว่าไม่รู้จบ โดยการจัดวางสังคมแบบนี้อยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีระบบเจ้าอาณานิคม

พูดให้ละเอียดมากขึ้น “อาณานิคมทางอำนาจ” ดำรงอยู่พร้อมกันสามมิติ

มิติแรกคือลำดับชั้นทางสังคมที่มีสูงมีต่ำซึ่งความแตกต่างของกลุ่มชนเป็นฐานของการจัดประเภทและสถานะในสังคม

มิติที่สองคือระบบความรู้และการผลิตความรู้ว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มชนและการจัดลำดับชั้นแบบสูงต่ำเป็นเรื่องธรรมชาติ

และมิติที่สามคือคือการสร้างวัฒนธรรมหรือความเชื่อสาธารณะที่ยึดโยงกับการจัดลำดับชั้นแบบสูงต่ำ และทำให้ระบบความรู้ที่เกี่ยวข้องกันนั้นไปแทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน

“อาณานิคมทางอำนาจ” เป็นแนวคิดที่นักวิชาการที่เล่นเรื่องอเมริกาใต้หลายคนพัฒนาต่อว่าคือรากฐานของสภาวะอาณานิคมซึ่งในที่สุดแล้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนโลกสู่ความเป็นสภาวะสมัยใหม่ (Modernity)

พูดในทางกลับกันคือสภาวะสมัยใหม่เกิดได้เพราะมีสภาวะอาณานิคมเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในขอบเขตทั่วโลก ผลก็คือมุมมองว่าอาณานิคม = ตะวันตก = ความป่าเถื่อน = ฝรั่งขูดรีดโลกที่สาม = ต้องปลดแอกฝรั่งให้สิ้นซาก ฯลฯ

กลายเป็นการสร้างขั้วตรงข้ามระหว่างฝรั่ง VS โลกที่สาม ที่มีความน่าเชื่อถือน้อยลง

ท่ามกลางความล่มสลายของขนบการคิดเก่าเรื่องนี้ มุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นแทนที่ก็คือความป่าเถื่อนของอาณานิคมนั้นแนบแน่นกับความทันสมัย ผู้จรรโลงความป่าเถื่อนไม่ได้มีแต่ฝรั่ง และคนพื้นเมืองก็รับช่วง / สืบทอด “สภาวะอาณานิคม” ได้เหมือนกัน

ควรระบุว่ามุมมองว่าสภาวะอาณานิคมคือเงื่อนไขพื้นฐานของสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่ได้เกิดจากการอนุมานทางทฤษฎี แต่เป็นผลจากการที่นักวิชาการกลุ่มนี้กลับไปอ่านประวัติศาสตร์การก่อตัวของมโนภาพ “โลก” จนพบว่าเส้นทางการค้าสายยุโรป-แอฟริกา-อเมริกา ผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เรียกว่า Atlantic Circuit ทำให้เกิดการก่อตัวของ “สภาวะอาณานิคม” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกิด “สภาวะสมัยใหม่” ในคริสต์ศตวรรษที่ 18

ในแง่นี้ Atlantic Circuit เป็นเหตุให้สภาวะอาณานิคมแทรกในโลกาภิวัตน์, อารยธรรม และระบบโลกแบบอาณานิคม / สมัยใหม่ จนปัจจุบัน

ด้วยแนวคิด “อาณานิคมทางอำนาจ” และการอ่านประวัติศาสตร์โลกแบบนี้ มิงโญโล่พัฒนาทฤษฎี “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” (Colonial Difference) เพื่ออธิบายว่าสภาวะสมัยใหม่, อารยธรรมตะวันตก และโลกาภิวัตน์ทำให้มนุษย์มืดบอด

แนวคิดนี้ตระหนักถึงความผิดแผกระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ มองเห็นความผิดแผกระหว่างความรู้ที่ผลิตโดยผู้สร้างโลกแบบอาณานิคมกับความรู้ที่ผลิตโดยผู้ที่ถูกผลักไสจากกระบวนการนี้ และต้องการทำให้เห็นว่า “ตะวันตก” กดทับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตลอดเวลา

ในมุมมองของมิงโญโล่ การตระหนักถึงการมีอยู่ของ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” ทำให้เกิดการขุดคุ้ยต่อไปถึงสภาวะอาณานิคมซึ่งเกิดขึ้นผ่านกรรมวิธีที่เจ้าอาณานิคมนำเสนอภาพลักษณ์ของคนกลุ่มอื่นบนฐานคิดว่าคนเหล่านี้อยู่บนสายธารประวัติศาสตร์เดียวกับเจ้าอาณานิคม เดินไปสู่จุดหมายเดียวกับเจ้าอาณานิคม แต่คนเหล่านี้อยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งล้าหลังกว่าเจ้าอาณานิคม ไม่มีวันถึงจุดหมายได้เหมือนเจ้าอาณานิคม จึงเป็นคนกลุ่มที่ด้อยกว่าเจ้าอาณานิคมอยู่ตลอดเวลา

“ความผิดแผกแบบอาณานิคม” ทำงานด้วยการเปลี่ยน “ความผิดแผก” เป็น “การตัดสินคุณค่า” จากนั้นจึงสถาปนาลำดับชั้นของมนุษย์ในแบบที่ทำให้ทุกคนรับรู้ว่าลำดับชั้นนั้นเป็นความจริงแท้อย่างถึงที่สุด แนวคิดนี้ขุดคุ้ยว่าอะไรทำให้เกิดความเชื่อว่าคนบางกลุ่มด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นระดับไตร่ตรองด้วยเหตุผลแล้วก็ยังเห็นว่าพวกเขาบกพร่องกว่า “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” สถาปนาบรรทัดฐานตามผู้อยู่เหนือกว่าว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้และอะไรคือสิ่งที่ต้องกำจัดทิ้ง

กล่าวอีกนัยคือ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม” สร้างการควบคุมประชากรในรูปแบบที่ประชากรเองแทบไม่มีใครรู้ตัว

ตรงกันข้ามกับคำอธิบายแบบนักวิจารณ์ฝรั่งที่บอกว่า Embrace of the Serpent เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยอเมริกาใต้ยุคอาณานิคม

หนังเรื่องนี้มีโครงสร้างการเล่าเรื่องและคำอธิบายที่ออกไปจากกรอบทฤษฎี “อาณานิคม” หรือ Colonalism แทบทั้งหมด

พูดอีกแบบคือความโดดเด่นของ Embrace อยู่ตรงที่หนังเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนขาวกับคนพื้นเมืองผ่านเลนส์หลังอาณานิคมทั้งหมด

และปมทั้งหมดของหนังพัวพันกับ “ความผิดแผกแบบอาณานิคม”

ไม่ใช่การกดขี่ขูดรีดทางเศรษฐกิจระหว่างคนขาวกับคนพื้นเมือง