“กระทรวงพาณิชย์” กุมขมับ “สมคิด” โยนเป้าส่งออก 5% ต้อง…หวนคืน “ทวิภาคี” ปลุกชีพค้าเพิ่ม

“หลายปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และเชื่อว่าการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีกำลังจะหมดยุค ค้าเสรีขนาดใหญ่จะเข้ามาแทนที่ แต่ปัจจุบันเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ทำท่าจะไปไม่รอด เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) แต่เวลานี้การเจรจาแบบทวิภาคีจะหวนกลับมา ดังจะเห็นได้จาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญเรื่องทวิภาคี และถอนตัวจากทีพีพี” คำกล่าวของ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

สอดคล้องกับมุมมอง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การเจรจาการค้าแบบพหุภาคี ในเวทีการค้าโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ การเจรจาระดับนี้ในอนาคตคงไม่สดใสนัก เพราะเป็นการเจรจากรอบใหญ่ที่มีสมาชิกมาก การประสานประโยชน์แต่ละประเทศให้ลงตัวก็เป็นไปได้ยาก และในเวที WTO ก็มีการแบ่งแยกประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น เมื่อกระแสโลกหันมาสู่การเจรจาการค้าแบบตัวต่อตัวมากขึ้น ประเทศไทยก็ต้องไม่ (ให้) ตกขบวนเช่นกัน โดยแผนผลักดันการส่งออกปี 2560 สะท้อนเรื่องนี้ได้ดี เพราะได้เดินนโยบายไม่ทิ้งการเจรจาการค้าแบบทวิภาคี ควบคู่กับการเจรจาแบบพหุภาคี อย่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้โจทย์แก่กระทรวงพาณิชย์และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) 58 แห่งทั่วโลก และตั้งเป้าหมาย (การทำงาน) ส่งออกปีนี้ว่า ให้ขยายตัว 5% ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องจากตลาดหลักของไทยที่เป็นคู่ค้าสำคัญ เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดี ทั้งจีนที่รักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง อาเซียนซึ่งเศรษฐกิจยังเติบโตดี สหรัฐอเมริกาซึ่งเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน

“อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะนโยบายของสหรัฐอเมริกา” นายสมคิดกล่าว และให้แนวทางแผนผลักดันส่งออก ว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งเสริมทั้งการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ จัดกำลังคนและองค์กรให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ประเทศไหนสำคัญก็ไปตั้งสำนักงานที่นั่น มีการจ้างเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น (Local Staff) เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนงานของเจ้าหน้าที่ไทยในต่างประเทศ

“กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดต่อจากนี้ คือการเจรจาความตกลงการค้าแบบทวิภาคี ทั้งรูปแบบความตกลงการค้าเสรี (FTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงที่แคบกว่า FTA และจำกัดกรอบเจรจาเข้ามาเป็นรายอุตสาหกรรม หรือรายสินค้า ที่จะทำให้ความตกลงบรรลุเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องผลักดันความตกลง RCEP ให้บรรลุ ซึ่งจะทำให้อาเซียนเข้มแข็ง ใช้โอกาสนี้เป็นตัวดึงดูดการค้าและลงทุน” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

ไม่เพียงเท่านี้ ต้องผลักดันส่งออกสินค้าควบคู่กับภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นไปโลจิสติกส์และการขนส่ง ดิจิตอลคอนเทนต์ เพราะปัจจุบันส่งออกภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 30% ของส่งออกทั้งหมดและมีแนวโน้มขยายตัวอีก

นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนต่างประเทศ ตามแนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ที่มีทั้งการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต่อยอดการผลิตในประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต่อไปตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ด้วย

นายสมคิดทิ้งท้ายว่า การผลักดันส่งออกภาครัฐควรร่วมมือกันกับเอกชน ให้เอกชนเป็นตัวนำที่จะทำธุรกิจ และให้ภาครัฐสนับสนุน อำนวยความสะดวก

ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุตัวเลขล่าสุดว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่า 17,099 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.83% และปีนี้จะผลักดันเต็มที่ให้ถึงเป้า 5% ซึ่งจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 18,841 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือรวมทั้งปีให้ได้ 226,093 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดจะทำได้อย่างน้อย 3.5% ซึ่งจะต้องส่งออกเดือนละ 18,572 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือรวมทั้งปีให้ได้ 222,863 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดอัตราแลกเปลี่ยนปีนี้อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันอยู่ในกรอบ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ส่วนปี 2559 มีมูลค่ารวม 215,326 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.45%

 

สําหรับผู้โปรโมตด้านตลาดโดยตรงอย่าง นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ทำผ่านคณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) หนึ่งในคณะทำงานประชารัฐ ด้วยการให้เอกชนรายใหญ่ที่เคยไปลงทุนแล้วเป็นพี่เลี้ยงให้กับเอกชนรายอื่น หรือพี่จูงน้อง

แผนปีนี้ยังจะเน้นเชิงรุกเป็นรายภูมิภาค โดยเชิญภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่เข้าไปทำธุรกิจอยู่แล้ว ในแต่ละภูมิภาคมาเป็นที่ปรึกษา หรือเรียกว่า Regional Advisor แบ่งออกเป็น 7 ภูมิภาค เพื่อมาร่วมกันจัดทำแผนผลักดันการส่งออก ประกอบด้วย

1. สหรัฐ นายธีรพงศ์ จันสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TUF

2. จีน นายณรงค์ เจียรวนนท์ จากเครือซีพี และ นายณัฐพล เดชวิทักษ์ จาก Loxley

3. สหภาพยุโรป (อียู) นางจริยา จิราธิวัฒน์ จากกลุ่มเซ็นทรัล

4. อาเซียน นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

5. ญี่ปุ่น นายบุญเกียรติ โชควัฒนา จากเครือสหพัฒน์

6. เอเชียใต้ นายพรชัย วิทยาคุณสกุลชัย จากกลุ่มเอสซีจี

และ 7. แอฟริกาและตะวันออกกลาง นาย Yuji Nakagawa จาก Toyota Tsusho

เป้าหมายส่งออกรวมปีนี้ ขยายตัว 5% แยกดูรายตลาดสำคัญ จะต้องทำให้ได้ดังนี้ สหรัฐ 3.2% อียู 3% จีน 4% อาเซียน 5% ซีแอลเอ็มวี 6.4% ญี่ปุ่น 4% ออสเตรเลีย 7% ตะวันออกกลาง 2% แอฟริกา 2.5% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช 12.5% และเอเชียใต้ 3%

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังมองต่างออกไป อย่าง นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ระบุว่า การเติบโตที่แท้จริงของส่งออกปีนี้อยู่ที่ราว 2-3% เท่านั้น แต่เห็นด้วยกับการกำหนดตัวเลขการเติบโต 5% เป็นเป้าหมายการทำงาน แต่ควรเร่งรัดยุทธศาสตร์เชิงรุกที่นำเสนอไว้โดยเร็ว โดยเฉพาะการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วกว่าการเจรจาการค้าเสรี และต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ใช่หวังพึ่งพาแต่ภาคเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว

รัฐบาลควรต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีการอำนวยความสะดวกภาคเอกชนในการขออนุญาตต่างๆ

และควรมีบุคลากรที่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากต่างประเทศ

 

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานฝ่ายเอกชนคณะทำงาน D4 กล่าวว่า ความเป็นไปได้ของส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัว 2.5-3.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน ยุโรปจะดีขึ้น แต่จะต้องดูตลาดจีนที่จะกระทบส่งออกไทย เมื่อสหรัฐจะเดินนโยบายกีดกันสินค้านำเข้าจากจีน ส่วนตะวันออกกลาง กำลังซื้อน่าจะดีขึ้นตามราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น สำหรับแผนผลักดันการส่งออกที่ภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ คือ ให้ Regional Advisor ทั้ง 7 คน ใน 7 ภูมิภาค ทำงานกับทูตพาณิชย์ ว่าตลาดในแต่ละภูมิภาคจะผลักดันอย่างไร รวมทั้งมีการเดินหน้าส่งเสริมให้ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย

แม้ว่าเป้าหมายตัวเลขของส่งออกไทยปีนี้เอกชนและรัฐจะมองต่างกันไปบ้าง แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันที่จะผลักดันให้เติบโต ให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว ภายใต้การค้าโลกที่หันมาคุย “ตัวต่อตัว” กันมากขึ้น

ส่วนจะได้ตามเป้าหรือไม่นั้น ก็ต้องรอดู!