อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / อุษาคเนย์ : บริบทภายนอกและสิ่งท้าทาย

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ในภาพใหญ่ การเมืองในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2020 จะยังคงเป็นการปะทะกันระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม

ในขณะที่การผงาดขึ้นของจีนในฐานะมหาอำนาจของโลกจะทำให้ความพยายามในการสร้างกลไกที่เปลี่ยนจากระเบียบโลกแบบเดิมเข้มข้นขึ้น อันจะนำไปสู่การถ่วงดุลอำนาจและการแสวงหาพันธมิตรใหม่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเช่น ยุทธศาสตร์ BRI ของจีน China Pakistan Economic Corridor, China Indochina Economic Cooperation-CIEC, Lanchang Mekong Initiative-LMI, China Myanmar China Economic Corridor-CMEC

ส่วนของสหรัฐอเมริกาคือ อินโด-แปซิฟิก (Open Free Indo-Pacific-OPIP) อันเป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

อาจกล่าวได้ว่า ระเบียบเสรีนิยมแบบเดิมถูกท้าทายสั่นคลอน

แต่ระเบียบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาก็ยังไม่ลงหลักปักฐานมั่นคง

การเมืองและเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ปี 2020 จึงอยู่ในห้วงเวลาของ ช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional period)

ที่สำคัญจะส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ต่างๆ เช่น เสถียรภาพทางการเมืองเมื่อมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ เรียกร้องการสนับสนุนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง หรือมีแรงกดดันจากกติการะหว่างประเทศทางด้านการค้า การลงทุนที่มีการหยิบยกประเด็นภายในประเทศได้แก่ สิทธิมนุษยชน การจ้างงานแรงงาน ธรรมาภิบาล การทุจริตของชนชั้นนำ เป็นต้น

ในส่วนนี้จะหยิบยกเพียงบริบทภายนอกที่สำคัญและทวีความท้าทายต่อภูมิภาคนับจากปี 2020 ด้วย

 

สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21

กรกฎาคม 2019 1 ปีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน มีการวิเคราะห์ให้เห็นว่าภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สงครามการค้าของสหรัฐ-จีนไม่ใช่แค่การทะเลาะกันระหว่างสองมหาอำนาจเท่านั้น

แต่ยังมีผลทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เศรษฐกิจใหญ่อย่างญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะตึงเครียดด้วย (1)

แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้เริ่มสงครามการค้าโดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เหตุผลเบื้องลึกนั้นเกี่ยวข้องกับการดุลอำนาจการเมืองโลก สหรัฐกำลังสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกที่เคยมีอยู่แต่เพียงผู้เดียวตลอดทศวรรษ 1990-2000

ทำให้เราเห็นการแสดงออกของผู้นำสหรัฐในรูปแบบลัทธิชาตินิยม (Nationalism) เห็นว่าชาติของตนเด่นเหนือกว่าชาติอื่น ความเกลียดกลัวและใช้ความรุนแรงกับต่างชาติ (Xenophobia and Radicalism)

และนำไปสู่นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มครอง (Protectionism) อันนำไปสู่ภาวะสงครามการค้า (trade war) ในที่สุด

นโยบายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์มีลักษณะการหาเสียงกับฐานเสียงชาตินิยมของตัวเองมากกว่าจะเป็นไปตามหลักการ ไม่ว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยการถอนตัวออกจากสัญญาลดโลกร้อน ปารีส

ขณะเดียวกันก็เพิ่มความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารกับซาอุดีอาระเบียขนานใหญ่

ประกาศย้ายสถานทูตสหรัฐไปกรุงเยรูซาเลม ทำให้อิสราเอลมีฐานะเหนือกว่าปาเลสไตน์และประเทศอาหรับทั้งหลายในความสัมพันธ์กับสหรัฐ

ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้รัฐบาลทรัมป์เป็นรัฐบาลเอียงขวาและสนับสนุนยิวกับซาอุดีอาระเบียที่ขวาจัดเหมือนกัน (2)

นอกเหนือจากการพิจารณาว่า นโยบายนานัปการของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นสะท้อนให้เห็นองค์ประกอบของนักการเมืองฝ่ายขวาประชานิยม (right wing populism) และสะท้อนการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ Jacksonian ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดประชานิยมและความแข็งแกร่งทางทหาร (3)

การถอยห่างออกจากแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมของสหรัฐในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการตอกย้ำว่า สหรัฐในศตวรรษที่ 21 ยังมีความมั่นใจว่าตนเองอยู่ในสถานะที่สามารถทำอะไรก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐยังวางตำแหน่งของตัวเองในโลกไม่ต่างจากในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเชื่อว่าสหรัฐถือเป็นตัวแบบให้ชาติอื่นๆ ทำตาม (4)

เราอาจเรียกได้ว่า นี่คือความอหังการของสหรัฐที่มองว่าตนเองอยู่ในฐานะชาติที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

ย่อมนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจเข้าแทรกแซงประเทศอื่นโดยอ้างประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ความโอหัง (Hubris) และการประเมินศักยภาพของตัวเองสูงเกินจริงถือเป็นภาพสะท้อนของปัญหาความพิเศษเหนือชาติอื่นของอเมริกา (American Exceptionalism) ได้ชัดเจน (5)

สหรัฐควรละทิ้งแนวคิดนี้ซึ่งเป็นสิ่งล้าหลังและไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก (6) ในศตววรษที่ 21 (7)

หากยังดึงดันต่อไปด้วยการเล่นบทบาทรัฐมหาอำนาจแบบเสรีนิยม (Liberal hegemony) ภาพลักษณ์ของตนเสื่อมลง เหนืออื่นใดอาจตัดสินใจผิดพลาดสร้างความยุ่งยากทางเศรษฐกิจต่อโลกและภูมิภาคนี้ในกรณีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ก่อความตึงเครียดถึงขั้นการทำสงครามในกรณีสงครามอิหร่าน-สหรัฐที่เกิดขึ้นเกือบทันทีเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ปี 2020

การตัดสินใจผิดพลาดส่งผลทั้งระยะยาว ผลกระทบทั่วโลกและแก้ไขได้ยาก

 

ไทยกับสมการเศรษฐกิจการเมืองโลก

การจะเข้าใจเมืองไทยกับสมการเศรษฐกิจการเมืองโลกได้นั้นควรพิจารณาจากพื้นฐาน 2 พื้นฐานสำคัญนั่นคือ มิติภายนอก (dimension) และมิติภายใน (internal dimension) ซึ่งกล่าวอย่างย่อดังนี้

มิติภายนอก

สิ่งแรกอันพึงทำความเข้าใจคือ มิติภายนอก ซึ่งก็คือ ระบบโลก (World System) เป็นมากกว่าความสลับซับซ้อน เมื่อฉายภาพจากยุคหลังสงครามเย็น (Post Cold War) ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) สู่ยุคดิจิตอล (Digitalization)

ยุคหลังสงครามเย็น ด้วยการสิ้นสุดของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ นอกจากภาพที่แบ่งแยกไม่ได้ชัดเจนระหว่างค่ายการเมืองสองขั้วแล้ว

ระบบคณาธิปไตย (Oligarchy) ในค่ายคอมมิวนิสต์ประกอบสร้างระบบทุนนิยมทั้งระบบผูกขาด ระบบพวกพ้อง มาเฟียทั้งจากการผลิต ระบบการเงินและการบริโภคที่ข้ามพรมแดน ฟอกเงินและสะสมทุนอย่างรวดเร็วจนบางส่วนเป็นระบบเศรษฐกิจต้นแบบอันใหม่ของโลก ดังเช่น รัสเซีย ยูเครน เวียดนาม เป็นต้น

ในทางกลับกัน ระเบียบเศรษฐกิจเสรีนิยมค่อยๆ ล่มสลายด้วยตลาดไม่เสรี ความฉ้อฉลของชนชั้นนำ การทุจริตในระบบราชการ ความไม่มีประสิทธิภาพขององค์กำกับดูแล รวมทั้งแนวโน้มการทะยานขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาและอุดมการณ์ฝ่ายขวาในยุโรป เช่น ในเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส การปรากฏตัวของโดนัลด์ ทรัมป์

มิติภายนอกที่กล่าวโดยย่อข้างต้นนอกจากนำมาซึ่งปัจจัยนอกเหนือความควบคุมเพราะการสลับหัวสลับหางทางอุดมการณ์การเมืองแล้ว มหาอำนาจและรัฐของพวกเขายังแสวงหาการขูดรีดสมัยใหม่โดยหยิบยกความร่วมมือทวิภาคี ประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม Climate Change เป็นกลไกขูดรีดชาติเล็กๆ อย่างได้ผล ประกอบกับภูมิทัศน์ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) กลับเข้ามามีความสำคัญโดยที่ชาติมหาอำนาจแสวงหาความได้เปรียบและกำไรจากพื้นที่ (space) อย่างสำคัญ

แล้วรัฐไทยสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นไร เราเห็นแต่ภาพการวิ่งกวาดนามธรรม ปรับหลักสูตรความรู้อย่างไม่มีขอบเขตและไร้ทิศทางของชนชั้นนำทางนโยบาย แล้วในที่สุดก็ใช้กรอบวิสัยทัศน์เดิมคือ ศัตรู (Enemy) การประกอบสร้างศัตรูเก่าและใหม่ รวมทั้งอุปโลกน์ “ผี” ต่างๆ นานา

ยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งทุกสิ่งเร็วและสั้น แต่ครอบคลุมทั่วโลก ดังนั้น ศักยภาพทางความคิดของชนชั้นนำทางนโยบายก็ยิ่งใบ้ การกำเนิดหลักสูตรผู้บริหารระดับต่างๆ เป็นตัวสะท้อนอาการของโรคได้ดี ยิ่งเมื่อโลกาภิวัตน์กลายพันธุ์เป็น “โรคาภิวัฒน์” ทั้งจากไวรัสซาร์สถึงไวรัสโคโรนา ชนชั้นนำทางนโยบายถึงกับใบ้เลยทีเดียว

ท่ามกลางความปั่นป่วนของมิติภายนอกยุคดิจิตอล ที่ประกอบสร้างโลกเสมือนจริง สังคมออนไลน์และบิ๊กดาต้า ยิ่งเผยทั้งความอ่อนด้อยและอ่อนล้าของชนชั้นนำทางนโยบาย

 

มิติภายใน

หลังปี 2000 เป็นต้นมาสังคมไทยลุกเป็นไฟด้วยการต่อสู้ระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่ทั้งในโครงสร้างการเมืองรัฐสภาและนอกรัฐสภา บนท้องถนนและในโลกเสมือนจริง

แม้ว่าพลังใหม่จะยังไม่มีอุดมการณ์ที่แน่ชัดและยังไม่มีฐานมวลชนที่กว้างไพศาล

แต่พวกแกล้งเป็นซ้ายก็ท้าทายพลังเก่าอย่างมหันต์จนแสดงความหวาดกลัวอย่างออกหน้า

“ไฟ” ที่ลุกโชนทั่วนาครได้เผยให้เห็นการดิ้นรนและการต่อสู้กันที่ยังไม่สิ้นสุด

เรายิ่งไม่เชื่อในทฤษฎี “ลู่ตามลม” ไม่เชื่อและสงสัยว่า “ความเป็นไทย” จะนำมาซึ่งอิสรภาพแห่งชาติได้อย่างไร เพราะชนชั้นนำทางนโยบายของพลังเก่าก็แตกแยกกันเอง ต่างฝ่ายต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนให้ได้มากที่สุด

ความแตกแยกภายในของชนชั้นนำเห็นชัดได้ตลอดเวลาทั้งในโลกจริงและเสมือนจริง อย่าโทษมิติภายนอกเลยครับท่าน มิติภายในที่ปั่นป่วนนั้น ท่านสร้างกันขึ้นมาเอง

โปรดติดตามด้วยใจระทึก

——————————————————————————————————-
(1) ปิติ ศรีแสงนาม “1 ปีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ร้าวลึกลงรากหญ้าไทย” The 101.World, July 23, 2019
(2) ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ “เบื้องหลังนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ : เมื่อการเมืองภายในสหรัฐสั่นสะเทือนการเมืองโลก” The 101.World, August 9, 2019.
(3) W.R. Mead “The Jacksonian Revolt : American Populism and the Liberal Order” Foreign Affairs 96 (2) 2017
(4) ทภิพร สุพร “ทลายมายาคติ “ความพิเศษเหนือชาติอื่นของสหรัฐอเมริกา” : การแสวงหายุทธศาสตร์ทางเลือก” มุมมองความมั่นคง (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2562-เมษายน 2563 : 42
(5) เพิ่งอ้าง : 44
(6) ดู Ian Glodenber, “Will Iran”s Response to Solemani Strike lead to War?” Foreign Affairs 3 January 2020
(7) เป็นความคิดผิดยุค บนพื้นฐานความคิด ความพิเศษเหนือกว่าชาติอื่นของอเมริกา อ้างจาก J. Sachs, A New Foreign Policy : Beyond American Exceptionalism, New York : Columbia University Press : 2