“อัษฎางค์ ปาณิกบุตร” หนุนขุดรากถอนโคน ปัญหาเหลื่อมล้ำ-โครงสร้าง ขรก. ต้นตอเหตุรุนแรงไม่คาดฝัน

“มีการบอกว่าจะให้ถอดบทเรียนเรื่องนี้ คำถามสำคัญคือ คุณจริงใจที่จะทำมันมากแค่ไหน คุณรู้หรือเปล่าว่ามันต้องแยกแยะ จะดูเพียงแค่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่ เราต้องพิจารณาไปถึงราก นั่นคือโครงสร้างของสังคมเรา ถามลงไปลึกๆ ว่าจริงๆ แล้วสังคมในประเทศนี้มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ผมพูดได้เลยว่ามันคือสังคมแห่งการเอาเปรียบ เป็นสังคมของระบบอุปถัมภ์ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง แค่เรื่องภาษีทรัพย์สินยังทำกันไม่ได้เลย คุณจะเก็บภาษีคนรวยสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เพื่อให้คนอีกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ใช้ก็ทำไม่ได้ เขาไม่ยอม ปัญหามันอยู่ที่ว่าผู้นำรัฐบาลเข้าใจปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่มันเกิดเหตุที่โคราชมันก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดว่าคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นกิจวัตรของคนในรัฐบาล หลายๆ รัฐบาล กิจวัตรของระบอบราชการ ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เอาเปรียบชั้นพูดน้อย”

รศ.ดร.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉายภาพรากปัญหาที่ฝังลึกสังคมไทย อันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน

ดังที่เกิดที่ จ.นครราชสีมามาแล้ว


รศ.อัษฎางค์ยกตัวอย่าง แค่เวลาเราไปโรงพัก เราก็จะเห็น “สภาพบางอย่าง” หรือไปรับบริการที่โรงพยาบาลบางแห่ง คุณก็เจอภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนของความเหลื่อมล้ำ หากไม่มีคนรู้จัก เส้นสายหรือสถานะ คำถามคือ มันจะมีอะไรที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ในเรื่องของความเสมอภาค

พอมองไปที่การศึกษาเข้าโรงเรียนก็ต้องเสียเงินแป๊ะเจี๊ยะ การจะมีตำแหน่งเลื่อนขั้นทางตำรวจดีๆ ก็ต้องเสียเงินหรือไม่

“ผมมองว่าผู้นำรัฐบาลมองภาพสังคมไม่เป็น ไม่รู้เรื่องตลอดมา ทุกคนไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะคนคนนี้ สาเหตุที่เขาไม่สนใจกันเพราะว่าคนข้างบนได้เปรียบ ชนชั้นนำเหล่านี้รังแกคนได้ตลอด มันก็เลยพังกันไปหมด ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา กระทบเป็นทอดๆ”

“ถ้าหากเราเอาแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักแล้วก็จะมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ การจะแก้ได้มันต้องทำจริงและใช้อำนาจพอสมควร คณะรัฐมนตรีต้องสั่งการอย่างชัดเจนให้มีความเสมอภาคในการรับบริการของรัฐ ถามว่ามีใครกล้าทำบ้าง คุณประยุทธ์กล้าที่จะพูดใน ครม.หรือไม่ว่าให้เป็นวาระแห่งชาติไปเลย หรือผมท้าให้คุณไปทำวิจัยก็ได้ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่คาใจของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว กระจายไปทุกหย่อมหญ้า ใครที่มีพรรคมีพวกก็สบาย”

“ผมเองมีส่วนเข้าไปทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เห็นปัญหาตลอดว่า ขรก.ชั้นผู้ใหญ่เอาเปรียบผู้น้อยเสมอ แล้วเกิดขึ้นในแทบทุกระดับ ฉะนั้น การที่ ผบ.ทบ.มาแถลงว่าจะล้างบางจะทำอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ผมบอกได้คำเดียวว่ามันอยู่ที่ “ความจริงใจ” ในการที่จะทำ ควรตั้งกรรมการสอบให้ชัดเจนว่าการปล้นอาวุธ การเฝ้าเวรยาม ทั้งหมดไปอยู่ที่ไหน ทำไมปล่อยให้ออกมา ให้ก่อเหตุ ไล่ปัญหาหัวถึงหาง เอาตั้งแต่รื้อปัญหาทหารชั้นผู้น้อย ปมค่าอาหาร การเลี้ยงดู”

“แต่พอผู้นำกองทัพมาแสดงออกเรื่องการจูงสุนัขและก็มีท่าทีบางอย่างตามมา ผมมองว่านั่นแหละคือตัวตนที่แท้จริงของเขา ณ วันหนึ่งแสดงออกอย่างหนึ่ง (มีน้ำตา) แต่อีกวันถัดมาแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง”

“การมาเปรียบเปรยมันไม่ใช่วิสัยของผู้นำ ไม่ได้มีลักษณะใดๆ ของผู้นำเลย มันเป็นสิ่งที่แสดงตัวตน ถ้าเราอยากรู้ว่าทำไมคนถึงไม่ชอบ ก็ต้องหาสาเหตุแล้วจะทราบว่าทั้งหมดล้วนมาจากการปฏิบัติของเราเองทั้งสิ้น ท่าทีที่แสดงออกมาแบบนี้มันทำให้การแก้ปัญหายิ่งยากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน มันอยู่ที่ความเชื่อถือเชื่อมั่น ต้องจำเอาไว้พฤติกรรมการแสดงออกว่าเป็นบวกกับประชาชนยังไงก็มีแต่คนรัก”

“ถามว่าคุณอภิรัชต์ตั้งแต่เข้ามามีอำนาจได้เริ่มทำอะไรให้ประชาชนชื่นชมบ้าง?”

ภาวะการเป็นผู้นำ ต้องไม่มองประชาชนเป็นศัตรู รศ.อัษฎางค์กล่าวและบอกว่า เขาเป็นเพื่อนร่วมประเทศ เขามีความรู้สึกนึกคิด ถ้าเขาอยากแสดงออก เราต้องรับฟังเหตุผล ในทางกลับกันต้องลองสำรวจตัวเองว่าเราเป็นอย่างที่คนเขาวิจารณ์หรือไม่ แล้วการแสดงออกของเราในแต่ละครั้งมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

จะว่าไป “กองทัพ” คือเบอร์ 1 ของประเทศด้วยซ้ำ เพราะว่ากองทัพบกใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ คุณสามารถจี้รัฐบาลได้ตลอดทุกเวลานาทีที่ต้องการโดยที่ไม่มีใครต่อต้าน

ผบ.ทบ.อาจจะเหลือเวลาไม่กี่เดือน แต่ถ้าคุณปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากหน้ามือเป็นหลังมือ คนจะกลับมาชื่นชมคุณได้

เอาแค่เรื่องง่ายๆ ที่ชาวบ้านสงสัยว่า ตกลงแล้วคุณรับเงินเดือนกี่ทาง ถ้าคุณรวยอยู่แล้ว แถมตั้งใจทำประโยชน์เพื่อสังคมจริง คุณก็ประกาศไปเลยว่าจะไม่รับเงินเดือนทางไหน มีเรื่องให้ทำสารพัด แค่นี้คนก็นิยมมากขึ้นแล้ว ก็เหมือนกับที่ ผบ.ตร.เอาเงิน 1,000 ไปวางเป็นค่าโดนัทในห้างที่เกิดเหตุ คนก็ชมกันทั้งประเทศ

นี่คือความอ่อนไหวของสังคมในการสื่อสาร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์มองทางออกของเรื่องนี้ว่า ต้องมีการตั้งกรรมการสอบอย่างจริงจังทั้งประเทศโดยมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหลักประกันในการทำงาน ที่สำคัญควรพูดให้น้อยทำให้มาก ผู้นำไม่ว่าระดับไหน อย่าพูดเยอะ ยิ่งในระดับสูงของประเทศต้องพูดน้อยต่อยหนัก ไม่พูดยิ่งดี แถลงเมื่อจำเป็น ทำงานให้มากๆ คนเขาจะชื่นชมเอง

ส่วนที่คนมองว่าการที่ผู้ก่อเหตุเป็นชั้นผู้น้อยอาจจะพึ่งพากระบวนการยุติธรรมได้ไม่มาก อ.อัษฎางค์มองว่า ความกดดันจากความเหลื่อมล้ำ การข่มขู่กลั่นแกล้งภายใน สภาวะที่แต่ละคนพบเจอมาไม่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของคนเรา มีใครให้ระบายปรับทุกข์ ในฐานะที่ผมจบด้านอาชญาวิทยามา ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าสาเหตุมันคือเรื่องโครงสร้างสังคม ใครๆ ก็มองกันว่าถ้ากองรักษาการณ์สกัดทันอาจจะไม่ไปถึงห้างก็ได้

ฉะนั้น ถ้าคุณอยากจะถอดบทเรียนเรื่องนี้จริงๆ คุณต้องพูดความจริงและไล่เหตุการณ์กันมาตั้งแต่ต้น คุณก็จะรู้ว่า ถ้าดำเนินการด้วยวิธีที่เหมาะสม ภายในก็คงไม่เกิดความสูญเสียมากขนาดนี้ ต้องเอามาวิเคราะห์สถานการณ์

โดยขอเน้นย้ำว่า เรื่องนี้เขาต้องพูดความจริง คุณต้องพิสูจน์ให้ละเอียดว่าไอ้ปลอกกระสุนทั้งหมดมาจากไหนบ้าง แม้แต่ในตัวผู้เสียชีวิตทุกคน ต้องเปิดเผยข้อมูลความจริงออกมา

อย่างไรก็ตาม อ.อัษฎางค์มอบโครงสร้างภายในกองทัพ บวกกับลักษณะการบังคับบัญชา มันไม่ได้เปิดช่องให้นายทหารคนนี้ไปร้องกับใครได้เลย เพราะว่าตัวผู้บังคับบัญชาอยู่ระดับสูงกว่ามาก ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องกลัวอยู่แล้ว ช่องทางที่เขาใช้ร้องเรียนหรือพึ่งพาได้มันเลยไม่มี

คำถามคือว่า ถ้าเรื่องเป็นที่รับรู้กันว่ามีการเอาเปรียบกัน คือทำไมไม่มีใครดำเนินการ

แม่ทัพหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงเคยรู้บ้างหรือไม่ ว่าลูกน้องตัวเองไปทำอะไรไว้บ้างก็ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

สําหรับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ อ.อัษฎางค์สรุปว่า คนที่ควรต้องรับผิดชอบต่อเรื่องทั้งหมดคือ “รัฐบาล” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นตัวหลัก ว่าทำไมมองไม่เห็นปัญหาเหล่านี้ มองไม่ออก

ความไม่เป็นธรรมในสังคมมันมีมานานแล้วทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะการบุกรุกที่ดิน ระดับผู้ว่าฯ ไม่เคยถูกลงโทษ ที่ดินก็ไม่เคยถูกลงโทษ แล้วยิ่งรัฐบาลอย่าง คสช.เป็นรัฐบาลมีอำนาจมากที่สุดตั้งแต่ประเทศเรามีมา คนที่ชื่อประยุทธ์ไม่เคยมีใครมีอำนาจเท่านี้ ยังทำหรือแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย จนเด็กเล็กต้องเอาไปล้อในขบวนพาเหรดเป็นอักษรย่อ ผนงรจตกม

ผมว่ามันก็ใกล้ความจริงไปทุกที อย่าทำเป็นเล่นไป สัญญาณที่บ่งชี้ได้ชัดที่สุด คนก็ไม่มีเงินในกระเป๋า บริโภคน้อยลง เที่ยวน้อยลง ทุกอย่างมันลดลงหมด แถมยังมาเจอไข้หวัดอีก เจอฝุ่นพิษอีก ทุกอย่างมันเห็นผลภายใน 3 เดือนจะกระทบมากกว่านี้ ต่อให้มีงบประมาณแค่ไหนก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ เพราะปล่อยปัญหาค้างคา ยามเมื่อตัวเองมีอำนาจก็มองไม่เห็น

ใครมาสัมภาษณ์ผมกี่ทีกี่หน ผมก็ย้ำถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมในโครงสร้าง ผมย้ำเรื่องนี้ตลอดเวลาว่าคุณต้องแก้ไข ไม่มีใครกล้าทำเพราะไปกระทบกับประโยชน์บางกลุ่ม พ่อค้าเจ้าสัวใหญ่โตเอาเปรียบชีวิตของประชาชน