สุวัจน์ ส่องกล้องเกมปรองดอง คิดข้ามช็อต Match เลือกตั้ง รู้แพ้ รู้ชนะ เล่นตามกติกา

บทบาท “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา แม้จะถูกพิษการเมืองเว้นวรรคลงสนามเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่เคยเว้นวรรคไปจากแวดวงการเมือง ไม่อยู่หน้าฉาก ก็อยู่หลังฉาก

ถึงแม้สนามเลือกตั้งจะปิดปรับปรุงชั่วคราว แต่ “สุวัจน์” ก็ยังเลาะตะเข็บกระดานอำนาจ เกาะขอบสนามการเมือง นั่งเป็นผู้ชมอยู่ข้างสนามตลอด 10 ปี

ในวันที่การเลือกตั้งเข้าใกล้จุด “สตาร์ต” จึงเห็น “สุวัจน์” ใช้สนามปรองดอง “วอร์มอัพ” อยู่ข้างสนามการเมือง กล้องทุกตัวถ่ายสดท่าที-ท่วงท่าของ “สุวัจน์” บนสนามปรองดอง ว่า ไฉน “สุวัจน์” จึงออกมา “ตามน้ำ” กวักมือเรียกคนการเมืองให้กระโดดร่วมสนามปรองดองที่มีรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพ

“วันนี้ไม่ได้อะไรที่เกี่ยวข้องทางการเมืองเลย ผมคิดในฐานะที่ผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง อยากเห็นประเทศชาติเรียบร้อยเท่านั้นเอง คนไทยมีความสุข บ้านเมืองเจริญ เที่ยวนี้เป็นเรื่องของการปรองดอง ในฐานะที่เป็นคนไทย ต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย คิดเท่านั้นเอง”

“สุวัจน์” มองข้ามหลังความขัดแย้งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นึกเสียดาย “โอกาส” ของประเทศไทยที่ “ติดหล่ม” อยู่กับความขัดแย้งยาวนาน จนสูญเสียความยิ่งใหญ่ที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศแถวหน้าของอาเซียนด้านการค้า-การลงทุน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นบั่นทอนโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนรถยนต์แรงม้าแรงๆ แทนที่จะวิ่งให้เต็มสูบ ติดหล่ม ล้อฟรี ออกแรงเต็มที่ แต่ล้อฟรี ไม่ไปข้างหน้า ยังมีเรื่องความสุขของคนไทยอีก หายไปเยอะ”

หากต้องเริ่มต้น “เขี่ยลูก” ในเกมปรองดอง “สุวัจน์” มองว่า พรรคการเมืองต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ พรรคการเมืองหยุดแตกแยก หยุดทะเลาะกัน พร้อมใจกันสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันทางการเมือง โดยไม่มีความขัดแย้งเหมือนอดีต

“เป็นการทำงานการเมืองสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่ไปฮั้วกัน แต่ก็ไม่ใช่ไปทะเลาะกัน ไม่ฟังเสียงกัน เป็นรัฐบาลก็ต้องใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านก็ต้องสปอร์ต มีสปิริตเพียงพอ ถ้ารัฐบาลทำดี มีประโยชน์ต่อประชาชน สนับสนุน”

“มองย้อนยุคไปสิ การเมืองยุคน้าชาติ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ทุกคนเป็นพรรค เป็นพวกกันหมด รัฐบาล ฝ่ายค้าน ก็เป็นพรรคเป็นพวกกัน ในสภาก็นั่งคุยกัน ให้ความเคารพนับถือกัน รัฐบาล ฝ่ายค้าน ร่วมมือทำงาน ท่านชาติชายก็บอกว่า แปรสนามรบเป็นสนามการค้า อินโดจีนหยุดรบกัน ท่านพูดบ่อยๆ ว่า พรมแดนรบกันแล้วใครจะมาลงทุนในประเทศไทย หันหน้าเข้าหากัน สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย บรรยากาศทางการเมืองรุ่นเก่าๆ มีผู้ใหญ่ทางการเมือง มีความร่วมมือ ทุกคนเป็นพรรค เป็นพวกกัน นั่นคือการเมืองเมื่อก่อน”

ทว่า การเมืองยุคหลัง “สุวัจน์” มองว่า เป็นการเมืองพรรคใหญ่ก็ใหญ่ไปเลย พรรคเล็กก็เล็กไปเลย พรรคขนาดกลางไม่มีแล้ว มีแต่พรรคใหญ่ พรรคเสียงเกิน 100 เสียง กับพรรคเล็ก พรรคระดับสิบเสียง วัฒนธรรมทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเมืองพรรคใหญ่ กับการเมืองพรรคเล็ก เป็นการเมืองสองขั้ว

ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่พรรคการเมืองมีหลายระดับ มีความร่วมมือกัน ทำงานร่วมกัน

 

เกมการเลือกตั้งในฝันของ “สุวัจน์” ในวันข้างหน้า คือ พรรคการเมืองส่ง “ผู้เล่น” ที่ดีที่สุดลงสนามเลือกตั้ง ยอมรับผลการเลือกตั้ง และที่สำคัญคือ การเล่นตามกติกา

“ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งทุกคนยอมรับผลการเลือกตั้ง ก็ต้องทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ทำให้ทุกคนยอมรับผล ทุกพรรคต้องปฏิบัติตามกฎหมาย Play by law เป็นนักกีฬา คือ ต้องเล่นตามกติกา ไม่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทุกพรรคมีหน้าที่ต้องคัดคนดีๆ ลงมาเล่นการเมือง บอกว่านโยบายประชานิยมไม่ดี ก็ต้องไม่ทำ”

“เรื่องใดที่เห็นไม่ตรงกันก็ใช้เวทีสภาตัดสิน วันนี้คุณเสียงน้อยกว่าผม ไม่เป็นไร รออีก 4 ปี คุณก็เสียงเยอะกว่าผม ไปตัดสินที่การเลือกตั้ง ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมองว่านักการเมืองมาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน เพียงแบ่งหน้าที่กันทำเท่านั้น หน้าที่ฝ่ายค้าน หน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้น ต้องเลี่ยงที่จะสร้างเดดล็อกทางการเมือง อะไรที่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่เดดล็อกทางการเมือง ต้องพยายามไม่สร้างมันขึ้นมา ความขัดแย้งที่ผ่านมาลบเทปมันไปซะ ลืมอดีต ไม่ให้เป็นเงื่อนไขในการร่วมกันทำงานทางการเมือง”

“สำคัญที่สุดข้อเดียวคือ เห็นต่างกันก็ตัดสินกันในสภา สภาคือเวทีประชาธิปไตย มีสิทธิ์เห็นต่างกันได้ ท่านชาติชายจะพูดอยู่เสมอว่า ประชาธิปไตยชนะกันเสียงเดียวก็พอแล้ว หมายความว่าไม่จำเป็นที่ต้องมีเสียงมากกว่าเยอะๆ หรอก เราตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก เสียงเดียวก็พอแล้ว ที่เหลือคือไมตรี ความสัมพันธ์ ไม่ใช่ต้องเอาชนะกันหมดทุกเรื่อง”

 

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเขาคลุกคลีอยู่กับแวดวงกีฬา อาทิ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน THAI FIGHT ประธานที่ปรึกษาสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย อดีตนายกลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นนายกกิตติมศักดิ์ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย และรองประธานอาวุโส สหพันธ์เทนนิสแห่งเอเชีย (เอทีเอฟ)

ในฐานะคนกีฬาที่มีสายเลือดนักกีฬาอยู่ครึ่งค่อนชีวิต เขาจึงมักเปรียบการเมืองเสมือนเป็นเกมกีฬา ช่วงหาเสียงเลือกตั้งจึงเหมือน Match การแข่งขันกีฬา บางครั้งเข้าหนัก เข้าแรง จนปิดช่อง-ปิดเพดานไม่ให้ “คู่แข่งขัน” ได้แลกเสื้อ-จับมือ หลังสิ้นเสียงนกหวีดหมดเวลาการแข่งขัน จนเปิดทางให้เกิด “นายกฯ คนนอก”

“ถ้าพรรคการเมืองสามารถสร้างบรรยากาศของความร่วมมือกันและช่วยกันสร้างบุคลากรดีๆ ทางการเมืองให้เกิดขึ้น สร้างภาพลักษณ์ของการเมืองให้สังคมยอมรับ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ตอบสนองลำดับความสำคัญของความต้องการของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้อิงกับพรรค อิงกับเสียงของประชาชนอยู่แล้ว การเมืองเองก็ต้องทำตัวเองให้ได้รับการยอมรับ บริสุทธิ์ เข้ามาอย่างถูกต้อง มีคนดีๆ นำเสนอ มีนโยบายดีๆ นำเสนอ บรรยากาศการเลือกตั้งไม่ได้ขัดแย้งกัน ถ้าช่วยกันรักษาโทนอย่างนี้ไว้ได้ ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย”

“ถ้านักการเมืองทุกคนใช้หลักของเกมกีฬาจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะกีฬามีแพ้ มีชนะ ไม่ได้แปลว่าจะแพ้ตลอดกาล หรือชนะตลอดกาล แต่เวลาผมแพ้ ผมก็รอโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะ แต่เวลาผมเป็นผู้ชนะ ผมก็รู้ว่าผมจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อผู้แพ้”

 

“สุวัจน์” ชี้ว่า แต่เมื่อใดพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ “นายกฯ คนนอก” จะเป็นกลไกผ่านทางตันทางการเมืองทันที!!!

“รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้ให้แล้ว ไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง เพื่อให้กลไกของการเดินหน้าตามผลของการเลือกตั้ง ตามเจตนารมณ์”

นอกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว อดีตรองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้งตัวแทนพรรคจัดตั้งรัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล ชี้หนทางแก้ปัญหาอย่างถึงกึ๋นว่า ควรควบคู่ไปกับการไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย รวมถึงการพัฒนาและการเข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ

“คนจนกับคนรวยต่างกันเยอะ ต้องให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนกับคนรวยมีช่องว่างลดลง และความเจริญระหว่างชนบทกับกรุงเทพฯ ลดลง โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานจากกรุงเทพฯ ในเมืองหลวงไปสู่ชนบท เอารถไฟฟ้าความเร็วสูงไปถึง การเอามอเตอร์เวย์ไปถึง เอารถไฟรางคู่ไปถึง ระดับการศึกษาของโรงเรียนในเมืองหลวงกับในชนบทแตกต่างกัน ต้องพัฒนามาตรฐานการศึกษา ภาคเกษตรยังยากจน ต้องพัฒนาผลผลิตภาคการเกษตรให้เพิ่มขึ้น มีการตลาด มีภาคอุตสาหกรรม เข้าทำจนภาคเกษตรเข้มแข็งขึ้น ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของความต่อเนื่องของแผนพัฒนา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา อาจจะ 5 ปี 10 ปี”

ก่อน “สุวัจน์” จะทิ้งท้ายเป็นมุมมองของอดีตรองนายกฯ-รัฐมนตรีหลายสมัย และคนกีฬาที่เดินสายตามทัวร์นาเมนต์ แกรนด์ สแลม ระดับนานาชาติ ว่า

“ผมคิดว่าบรรยากาศอย่างนี้ เพียงแค่ได้เริ่มต้นบรรยากาศที่ดีๆ ก็ทำให้วันนี้ไปจนถึงอนาคตของประเทศในปีข้างหน้า สมมุติเรามี Road map ของการเลือกตั้ง ไม่ต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้ง ความสำเร็จก็เห็นแล้วในวันนี้ คือบรรยากาศดีๆ ก็ทำให้สามารถทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนต่างประเทศ รายงานข่าวในต่างประเทศ เหมือนกับประเทศไทยได้เข้าสู่โหมดของการปรองดอง เข้าสู่โหมดของการยุติความแตกแยกต่างๆ แล้ว”