ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
คดียุบพรรคอนาคตใหม่เป็นคดีการเมืองที่คนทุกกลุ่มสนใจ
และเท่าที่มีการแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย คนที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบมีมากกว่าฝ่ายยุให้ยุบจนเห็นได้ชัด
ต่อให้ฝ่ายอยากให้ยุบจะเป็นพวก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างคุณปารีณา ไกรคุปต์ แห่งพลังประชารัฐ หรือคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งเป็นวุฒิสมาชิกอย่างคุณสมชาย แสวงการ
ในการรณรงค์คัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ผ่านเว็บไซต์ change.org คนกลุ่มที่ลงชื่อมีตั้งแต่นักวิชาการและประชาชนผู้สนใจการเมืองอยู่แล้ว
แต่ที่น่าสังเกตคือนักธุรกิจรุ่นใหม่และดารา-นักแสดงที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็คัดค้านการยุบพรรคกรณีนี้ด้วย
ทั้งที่โดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้แทบไม่แสดงออกเรื่องนี้เลย
อนาคตใหม่ประกาศตัวตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำการเมืองแบบใหม่
และด้วยความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ อนาคตใหม่กลายเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2562 สูงกว่าทุกพรรค เพราะมีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกกว่า 6 ล้าน
ควรจะได้ ส.ส. 87 ทั้งที่ไม่มี ส.ส.เก่าและหัวคะแนนเลย
ด้วยแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ คำว่า “คนรุ่นใหม่” ที่พรรคอื่นหาเสียงกลายเป็นคำที่ปราศจากความหมายไปหมด เพราะขณะที่ทุกพรรคเห็นว่า “คนรุ่นใหม่” เป็นแค่เด็กหน้าขาว สะอาด เรียนสูง และยิ้มสวย
อนาคตใหม่ทำให้เห็นว่า “คนรุ่นใหม่” คือคนที่มีความคิดใหม่และแทบไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเดิม
ขณะที่นักธุรกิจที่สนับสนุนพรรคการเมืองอื่นๆ มักได้แก่เจ้าสัวที่หากินกับนโยบายและสัมปทาน หรือไม่ก็คือผู้รับเหมาที่ต้องวิ่งเต้นทำโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
นักธุรกิจที่สนับสนุนอนาคตใหม่คือผู้ประกอบการที่ต้องใช้นวัตกรรมและทักษะสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเลย
อนาคตใหม่ได้คะแนนท่วมท้นในแทบทุกพื้นที่ซึ่งเป็นเขตมหาวิทยาลัย ฐานคะแนนเสียงของอนาคตใหม่จำนวนมหาศาลจึงเป็นคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต
ตรงข้ามกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ฐานคะแนนเสียงมีทั้งคะแนนจัดตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าเดิมที่พฤติกรรมการลงคะแนนเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
กองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์มักกล่าวหาว่าฐานเสียงอนาคตใหม่เป็นคนรุ่นใหม่ที่โง่จนถูกล้างสมองเพราะไม่รู้เรื่องการเมือง
แต่ด้วยโครงสร้างประชากรและภูมิศาสตร์ทางการเมือง ผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ได้แก่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสภาพเศรษฐกิจใหม่ๆ จนต้องการการเมืองแบบใหม่ๆ เพื่อนำประเทศออกจากวังวนเดิม
อนาคตใหม่ถูกโจมตีตั้งแต่ก่อตั้งด้วยข้อหาเก่าๆ ประเภทล้มเจ้า ล้มศาสนา ล้มประเพณี
ผู้โจมตีโดยส่วนใหญ่มองอนาคตใหม่เป็น “พวกทักษิณ” จนต้องกวาดล้างเหมือนที่เคยทำกับพรรคซึ่งถูกหาว่าเป็น “พวกทักษิณ” มาแล้ว ทั้งที่อนาคตใหม่เป็นผลผลิตของพลวัตสังคมยิ่งกว่าจะเป็น “พวกทักษิณ” อย่างที่พูดกัน
ฐานเสียงอนาคตใหม่มีคนรุ่นเก่าด้วยแน่ๆ แต่คนรุ่นเก่าที่เลือกอนาคตใหม่นั้นไม่ใช่ “พวกทักษิณ” อย่างที่พูดกัน คนที่ชอบการเมืองถึงขั้นเป็น “พวกทักษิณ” มีพรรคเพื่อไทยเป็นทางเลือกที่ตรงใจกว่าอนาคตใหม่อยู่แล้ว อนาคตใหม่จึงเป็นการรวมกลุ่มแบบใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่เดิม
ตัวละครฝ่ายต่างๆ ที่โจมตีอนาคตใหม่จนผลักดันให้เกิดการยุบอนาคตใหม่ล้วนมีบทบาทในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่หลังปี 2549
คนกลุ่มนี้ทำให้อนาคตใหม่ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการต่อสู้ระหว่าง “พวกทักษิณ” และ “พวกต้านทักษิณ” เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งซึ่งควรจะปิดฉากไปถาวร
คดียุบอนาคตใหม่เป็นคดีการเมือง และ กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญล้วนกำเนิดตามรัฐธรรมนูญ 2540 และเปลี่ยนทุกครั้งที่ทหารรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญเดิมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คดีและองค์กรพิจารณาคดีจึงมีโอกาสถูกมองเป็นพวกเดียวกันกลุ่มต้านอนาคตใหม่และ “พวกต้านทักษิณ” อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ การดำเนินคดียุบพรรคอนาคตใหม่โดย กกต.ก็ทำให้ผู้สนับสนุนอนาคตใหม่มองว่าองค์กรอิสระทำเรื่องนี้เพราะมี “ใบสั่ง” ไปเรียบร้อยแล้ว คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายในการยืนยันความเชื่อว่าเรื่องนี้มี “ใบสั่ง” เท่านั้นเอง
ต่อให้คดียุบอนาคตใหม่จะมีใบสั่งหรือไม่มี คนที่เชื่อว่า กกต.และศาลรัฐธรรมนูญยุบอนาคตใหม่ตาม “ใบสั่ง” ย่อมเชื่อว่าคำตัดสินเป็นไปตามการชี้นำทางการเมืองทั้งหมด
กกต.และศาลรัฐธรรมนูญจึงเผชิญวิกฤตศรัทธาจากคดีนี้แน่ๆ
เช่นเดียวกับใครก็ตามที่สังคมเชื่อว่าเกี่ยวพันกับ “ใบสั่ง” ถึงจะไม่มีหลักฐานก็ตาม
ยังคาดเดาไม่ได้ว่าความเชื่อเรื่อง “ใบสั่ง” จะส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมืองในสังคมอย่างไร
แต่ถ้าอดีตเป็นครู ประสบการณ์ที่ประเทศเคยเกิดเหตุยุบพรรคการเมืองก็ชี้ว่าสังคมมีโอกาสเผชิญความขัดแย้งสูงมาก เพราะคนที่เชื่อว่าการยุบเกิดเพราะ “ใบสั่ง” ย่อมไม่เชื่อมั่นในระบบและสถาบันต่างๆ ของประเทศต่อไป
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมอาจไม่มีปฏิกิริยาต่อการยุบอนาคตใหม่เหมือนๆ กับไม่มีปฏิกิริยาต่อการยุบพรรคไทยรักษาชาติ
แต่ไทยรักษาชาติถูกยุบในเงื่อนไขที่ไม่ปกติ การยุบยังเกิดก่อนวันเลือกตั้งจนประชาชนไปเลือกพรรคอื่นแทนได้
ขณะที่การยุบอนาคตใหม่จะทำให้คะแนนของคนกว่าหกล้านหายวับไปในพริบตา
ถ้าปฏิกิริยาสังคมหลังยุบอนาคตใหม่เป็นเหมือนการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน สังคมไทยหลังการยุบพรรคก็มีโอกาสจะเป็นสังคมแห่งการแบ่งขั้วที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองอีกครั้ง
เพียงแต่ครั้งนี้จะมีคนกลุ่มใหม่อย่างคนรุ่นใหม่ทั้งที่เป็นนักศึกษาและอาชีพอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวแสดง
หากอดีตเป็นครูของปัจจุบัน อดีตที่สังคมไทยเคยเผชิญการยุบพรรคซึ่งคนมหาศาลเชื่อว่ามี “ใบสั่ง” ก็ทำให้เกิด “คนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นขบวนการมวลชนที่มีคนรากหญ้าเข้าร่วมกว้างขวางที่สุด แรงเหวี่ยงทางการเมืองหลังการยุบพรรคในปี 2549-2551 นำประเทศไปสู่ความผันผวนต่างๆ ต่อเนื่องจนปัจจุบัน
แน่นอนว่าด้วยปัจจัยทางการเมืองต่างๆ สังคมไทยยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขบวนการมวลชนแบบที่เคยเกิดเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ความไม่พอใจของมวลชนที่จะรุนแรงขึ้นอย่างมหาศาลนั้นมีแน่ๆ จนเหลือแค่ปัญหาว่าความไม่พอใจนี้จะแปรรูปเป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบไหนเท่านั้นเอง
ผู้สนับสนุนให้ยุบพรรคอนาคตใหม่อาจสบายใจที่ยังไม่เห็นสัญญาณของการเกิด “การเมืองมวลชน” แบบคนเสื้อแดงหลังการยุบพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน
แต่ที่จริงการเมืองมวลชนเป็นเรื่องของการสะสมความไม่พอใจ และกว่าที่คนเสื้อแดงจะก่อตัวขึ้นก็เป็นเวลาที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบไปแล้วสองปี
ทหารเคยประเมินว่าการยุบอนาคตใหม่จะผ่านไปโดยไม่มีใครต่อต้านอะไร แต่มุมมองนี้เกิดจากการจินตนาการถึงการ “ต่อต้าน” เรียวแคบแค่การชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อแบบเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเท่านั้น การ “ต่อต้าน” ในปี 2563 มีโอกาสเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่รูปแบบอาจไม่ใช่และไม่จำเป็นต้องเป็นการชุมนุม
การรวมตัวทางกายภาพของประชาชนถูกทำลายลงไปด้วยระบอบการปกครองที่กระบอกปืนจ่อหัวประชาชนยุค คสช. แต่การแสดงออกของประชาชนผ่าน “โซเชียล” ทำให้ “โซเชียล” เป็นสมรภูมิใหม่ที่เกิดการตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจอย่างดุเดือดเลือดพล่าน
จนการชุมนุมบนท้องถนนเป็นเรื่องเด็กเล่นไปเลย
ผู้มีอำนาจและเครือข่ายที่อยู่เบื้องหลังการยุบอนาคตใหม่อาจพอใจกับสภาพที่ประชาชนไม่กล้ารวมตัว แต่ข้อดีของการรวมตัวคือรัฐรู้ว่าผู้นำเป็นใคร พูดอะไร จะยัดคดีใส่ใคร และทิศทางการเมืองมวลชนจะไปทางไหน แต่ข้อที่น่าสะพรึงกลัวของ “โซเชียล” คือรัฐไม่มีทางรู้ว่าใครเกลียดรัฐจนมองรัฐเป็นศัตรูได้เลย
ด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ “พวกต้านทักษิณ” แสดงออกอย่างกระเหี้ยนกระหือว่าต้องการกวาดล้างเสียงของคนไทยกว่าหกล้านให้สิ้นซากไป ความไม่พอใจของคนขนาดนี้ย่อมปะทุเป็นการต่อต้านในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแน่ๆ เพียงแต่เราอาจกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการต่อต้านที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครเท่านั้นเอง
อนาคตใหม่ต้องอยู่ใต้กฎหมาย และถ้าอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริงๆ ก็สมควรถูกยุบตามกฎหมายบ้านเมือง แต่ปัญหาคือการดำเนินคดีครั้งนี้มีร่องรอยที่น่าสงสัยอยู่มาก และร่องรอยทั้งหมดชี้ไปยังบทสรุปว่าอนาคตใหม่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเพราะทำผิดกฎหมาย แต่เพราะผู้อยากยุบมีอิทธิพลเหนือกฎหมายบ้านเมือง
ยุบพรรคอนาคตใหม่คือส่วนหนึ่งของแผนพิฆาตธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้มีอำนาจทำตามแผนนี้ได้ไม่ยาก แต่ไม่ควรทำ เพราะประเทศจะเดินหน้าสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ที่มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมมหาศาล ทั้งที่สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดกับประเทศคือการประคับประคองสังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้สงบสุขบนการอยู่ร่วมกัน