บทสนทนากับกฤษณา อโศกสิน : นักเขียนข้ามยุค | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

นานๆ ครั้ง ผมจะได้มีโอกาสเสวนากับนักเขียนอาวุโสในทุกแง่ทุกมุมของชีวิต โดยเฉพาะที่ข้ามจากยุค “อะนาล็อก” มาสู่ “ดิจิตอล” ได้อย่างน่าทึ่ง

“กฤษณา อโศกสิน” ในวัย 88 เขียนหนังสือมา 70 ปี ผลิตผลงานเกือบ 160 เล่ม และยังเขียนหนังสือทุกวันด้วยความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่นที่ไม่เปลี่ยนแปร

ผมได้โอกาสตั้งคำถามที่พรั่งพรูอยู่ในใจกับคนที่ผมเรียก “พี่สุกัญญา” (ชลศึกษ์) มายาวนานก็ตรงกับวันที่เธอได้รางวัล “นักเขียนอมตะ” ปี 2562 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

มูลนิธิอมตะ จัดงานประกาศผลรางวัล “นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 8 ประจำปี 2562 มีคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ ชมัยภร บางคมบาง รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร จรัญ หอมเทียนทอง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กนกวลี กันไทยราษฎร์ รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง

อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน มอบรางวัล “นักเขียนอมตะ ปี2562” ให้แก่ กฤษณา อโศกสิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562

คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการ (ปีนี้ 80) ประกาศว่า คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ มีคุณสมบัติอันเหมาะสมกับคำว่า “นักเขียนอมตะ” ด้วยทำงานเต็มชีวิต เต็มเวลา เป็นแบบอย่างของนักเขียนมืออาชีพ สร้างสรรค์งานและได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 17 ปี และสร้างสรรค์งานต่อเนื่องมาโดยตลอดไม่มีหยุดหรือเว้นวรรค ปัจจุบันอายุ 88 ปี ทำงานต่อเนื่องมาแล้ว 70 ปี มีผลงานเกือบ 160 เล่ม อาจกล่าวได้ว่า ใน 1 ปีมีผลงานมากกว่า 2 เล่ม สามารถดำรงตนด้วยอาชีพนักเขียนและพร้อมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่นักเขียนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเท่าทัน เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตให้แก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลงานสร้างสรรค์ยืนยงและเท่าทันยุคสมัย ผลงานมีคุณภาพสะท้อนปัญหาชีวิตมนุษย์อย่างลุ่มลึกและปัญหาสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถาบันครอบครัวและการเท่าทันสถานการณ์ในสังคม มีทั้งเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา การเมืองและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่หลากหลายและประณีตงดงาม

“ผลงานของนางสุกัญญาให้ความรู้สึกแก่คนวรรณกรรมประหนึ่งร่มไม้ใหญ่ในทางวรรณศิลป์ เป็นที่นิยมยิ่งของนักอ่าน สามารถสร้างนักอ่านข้ามยุคข้ามสมัย ผลงานจำนวนไม่น้อย มีผู้นำไปสร้างเป็นสื่อแขนงอื่น เช่น ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสร้างซ้ำหลายครั้ง ส่งผลสะเทือนแก่สังคมในวงกว้าง”

คุณเนาวรัตน์บอก

นักเขียนที่เคยได้รับรางวัลนักเขียนอมตะครั้งที่ 1-7 มีจำนวนทั้งหมด 8 คน (ครั้งที่ 6 มีนักเขียนได้รับรางวัล 2 คน)

1. นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ นามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” (เสียชีวิตแล้ว)

2. นายโรจ งามแม้น นามปากกา “เปลว สีเงิน”

3. นายโกวิท เอนกชัย นามปากกา “เขมานันทะ” (เสียชีวิตแล้ว)

4. นายสมบัติ พลายน้อย นามปากกา “ส.พลายน้อย”

5. พระไพศาล วิสาโล

6. นายคำสิงห์ สีนอก นามปากกา “ลาว คำหอม”

7. นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา “พนมเทียน”

8. นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ นามปากกา “จินตเทพ” (เสียชีวิตแล้ว)

บางตอนของการเสวนาคืนนั้น (16 ธันวาคม 2563) ทำให้ผมเข้าใจความเป็นนักเขียน “อมตะ” หลายเรื่องที่ผมไม่เคยได้รับทราบมาก่อน

กฤษณา อโศกสิน

ถาม : พี่สุกัญญาชอบทั้งกลอน, เรื่องสั้นและนวนิยาย ทำไมจึงเลือกมาเขียนนิยายเสียส่วนใหญ่ครับ

ตอบ : ชอบทั้งสามอย่าง แต่เวลาเขียนนวนิยายต้องใช้เวลามาก ต้องหาข้อมูลและเตรียมการ กว่าจะได้มาสักเรื่องต้องใช้เวลาเยอะ ต้องหาเนื้อหาก่อน และต้องหาเป้าหมายของเรื่องด้วย ในเนื้อหาก็หลากหลาย เพราะเป็นเรื่องยาว ตัวละครบางทีก็หลายครอบครัวค่ะ

ถาม : เรื่องที่เขียนก็จะสะท้อนถึงสภาพสังคม ณ ช่วงนั้นๆ ใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ค่ะ ต้องอ่านให้แตกด้วยว่ามันใช่หรือเปล่า บางทีไม่ใช่ เวลาผิดก็อายเขา

ถาม : อายบ่อยไหมครับ?

ตอบ : ไม่บ่อย…เวลาผิดก็แก้ยากหน่อยเพราะมันเป็นหนังสือกระดาษ เวลาเป็นออนไลน์ก็แก้ง่ายกว่า ดิฉันไม่ค่อยสันทัดออนไลน์เท่าไหร่ แต่จำเป็นที่ต้องไปออนไลน์ด้วย

ถาม : นี่คือความสุดยอดของพี่สุกัญญาที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ไม่ลังเลที่จะทำ นักเขียนโดยเฉพาะที่ประสบความสำเร็จแล้วจะถามว่าเรื่องอะไรที่ท่านจะต้องปรับตัว คิดว่าคนอื่นต้องปรับหาฉันซิ แต่พี่สุกัญญาตั้งแต่อายุ 15 ถึงวันนี้ 88 ก็ได้ปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่ง

ตอบ : ตอนนี้ก็เขียนบนไอแพด เขียนด้วยดินสอไฟฟ้า เป็นลายมือตัวเอง เขียนให้น้องสามคนที่ตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาชื่อ “อ่านเอา” เขามาขอเรื่อง ก็จึงส่งเรื่องไปให้น้องๆ กลุ่มนี้ เขาก็ส่งไปให้คนพิมพ์พิมพ์ จ้างคนพิมพ์อีกทีหนึ่ง

ถาม : ดังนั้น เรื่องของพี่ก็อยู่ในเว็บไซต์นี้ คนรุ่นใหม่ก็อ่านได้ คนมีมือถือก็อ่านได้แล้วใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ค่ะ

เว็บไซต์ “อ่านเอา” https://anowl.co

ถาม : ตอนแรกก็คงไม่ค่อยชำนาญนักใช่ไหมครับ

ตอบ : ต้องฝึกอยู่หนึ่งปี ตอนแรกเขียนด้วยดินสอไฟฟ้า บางทีก็หายไป กลุ้มใจมาก แต่ก็ฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ จนค่อยๆ เข้าที่ พอเรารู้เครื่องหมาย เราแตะที่เครื่องหมายด้วยปลายดินสอไฟฟ้า ไม่ได้ใช้มือ

ถาม : ความรู้สึกระหว่างเขียนหนังสือด้วยดินสอกับดินสอไฟฟ้าต่างกันมากไหมครับ

ตอบ : ต่างกันเยอะเลย แต่ที่จริง มีเว็บไซต์อีกแห่งหนึ่งเขามาขอเหมือนกัน เขาบอกให้เขียนเป็นลายมือบนกระดาษ แต่ลูกบอกว่าอย่าเลย ไหนๆ แม่ฝึกเขียนบนไอแพดแล้ว ก็เขียนบนไอแพดต่อไป จะได้เก่งๆ

ถาม : กระบวนการเขียนการคิดและความรู้สึกของแบบเดิมกับแบบใหม่ต่างกันมากไหมครับ

ตอบ : ต่างกันค่ะ แต่พี่ต้องเขียนด้วยลายมือ ถ้าเป็นการพิมพ์ ความคิดจะไม่แล่น

ถาม : ทุกวันนี้เขียนบนไอแพดอย่างเดียวเลยหรือครับ

ตอบ : ใช่ค่ะ เขียนบนไอแพดอย่างเดียวเลย

ถาม : ช้าลงไหมครับ

ตอบ : ไม่ช้าลง พอรู้วิธีแล้วก็คล่อง แต่ปลายดินสอไฟฟ้าไม่เหมือนปลายปากกา มันจะโย้เย้ พื้นของไอแพดก็ลื่นและใสๆ… มันบอกไม่ถูก…มันเหมือนกระดานชนวน

ถาม : พี่สุกัญญาคิดว่าบทบาทของบรรณาธิการสำคัญแค่ไหนครับ เพราะทุกวันนี้มีคนบ่นว่าการเขียนหนังสือไม่มีบรรณาธิการแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขียนกันในโซเชียลมีเดีย

ตอบ : บรรณาธิการคนแรกของพี่คือหม่อมหลวงจิตติ นพวงษ์ เวลาส่งต้นฉบับไป ท่านก็ไม่เคยเรียกไปบอกกล่าวว่าตรงนั้นตรงนี้ผิด ท่านไม่เคยขอแก้ แต่ท่านอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง นานๆ ที ไม่กี่ครั้ง ตลอดเวลาหลายสิบปีที่อยู่กับท่านก็มีสักสองสามครั้งที่ท่านโทรศัพท์มาบอกว่าขอเปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้

ถาม : เปลี่ยนที่ถ้อยคำหรือเนื้อหาครับ

ตอบ : เช่น พี่หมั่นไส้นักการเมือง พี่ก็สอดแทรกเข้าไป ชนิดใส่เข้าไปดื้อๆ เหมือนเอาถ้อยคำอะไรบางอย่าที่เกลียดเขาใส่ลงไป ท่านก็เลยบอกว่าขอตัดตรงนี้ออกเพราะมันไม่เกี่ยว ท่านเก่งมาก ท่านโทร.มาอย่างสุภาพ อย่างเรียบๆ ท่านจับได้ จึงเป็นบทเรียนว่าเราอย่าเที่ยวไปหมั่นไส้ใคร

ถาม : หลังจากนั้นก็ไม่มีการหมั่นไส้ใครอีกเลยใช่ไหม

ตอบ : มีเหมือนกัน

ถาม : อย่างตัวละครที่เราเขียนขึ้นมาเอง เราเคยหมั่นไส้ตัวละครบางตัวของเราไหม

ตอบ : มี ตัวละครน่าเบื่อ มี บรรณาธิการเขาเอามาให้ เขาบอกว่าพี่เขียนเรื่องนี้นะ เขาให้พล็อตคร่าวๆ บอกว่าสนุก คะยั้นคะยอให้เราเขียน พอเขียนไปเขียนมา เราก็บอกว่าตายแล้ว ฉันเบื่อตัวละครนี้มากเลย ฉันจะจบแล้วนะ บ.ก.บอกว่าไม่ได้ พี่จบไม่ได้นะ คนดูเขายังไม่ให้พี่จบ

ถาม : นี่คือเรื่องสำหรับทีวีแล้วใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ คนกำลังอ่านเรื่องอยู่ ตัวละครกำลังอยู่บนเวที พี่บอกว่าพี่เบื่อไอ้หมอนี่จังเลย เป็นตัวพระเอกซะด้วย เบื่อเขามากเลย แต่ก็ต้องเขียนต่อไป เขาบอกว่าพี่ยังจบไม่ได้ เพราะคนดูเขายังไม่ให้จบ เขาอยากจะรู้ว่ามันจะจบอย่างไร หลายปีต่อมา มีนักเขียนคนหนึ่งมาบอกว่าพี่ เคยอ่านเรื่องของพี่เรื่องหนึ่ง ไอ้พระเอกมันน่าเบื่อมากเลย

ถาม : แสดงว่าเราประสบความสำเร็จมากที่สามารถเขียนให้พระเอกน่าเบื่อถึงขนาดนั้น

ตอบ : ใช่ น่าเบื่อไม่ได้แปลว่าไม่น่าอ่าน เขาอยากรู้ว่าพระเอกคนนี้จะแสดงฤทธิ์ไปถึงไหน จึงต้องเขียนต่อให้สุดฤทธิ์สุดเดชของความน่าเบื่อของเขา

ถาม : การจะเขียนให้ตัวละครเก่งและฉลาดคงไม่ยากเท่ากับเขียนให้น่าเบื่อใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่ เขียนให้น่าเบื่อนี่ยาก รู้จัก Mr. Cannot ไหม พระเอกคนนี้อะไรๆ ก็ Cannot ทำไม่ได้ทั้งนั้น

ถาม : ท้าทายมากนะครับ การเขียนให้ตัวละครน่าเบื่อขึ้นเรื่อยๆ

ตอบ : ใช่ค่ะ ต้องพยายามหาลู่ทางต่างๆ ที่จะเขียนให้ผู้อ่านเห็นว่าพระเอกคนนี้น่าเบื่อมากขึ้นทุกทีอย่างไร

(ตอนหน้า : เขียนให้ 7 ฉบับ 7 เรื่องใน 7 วันได้อย่างไร?)