แมลงวันในไร่ส้ม / ปะทะสนั่นเว็บ ยุบ-ไม่ยุบ ‘อนค.’ อีกไฮไลต์การเมืองไทยๆ

แมลงวันในไร่ส้ม

ปะทะสนั่นเว็บ

ยุบ-ไม่ยุบ ‘อนค.’

อีกไฮไลต์การเมืองไทยๆ

 

ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.

ก่อนหน้าวันวินิจฉัย มีกระแสข่าวสะพัดถึงชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ หลายทิศทางด้วยกัน

และหลังจาก 21 กุมภาพันธ์ ข้ามเสาร์-อาทิตย์ไป วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รมต. ที่มี 3 ป. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตบเท้าเดินขึ้นเขียง

เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่อันดับสองมีบทบาทเป็นอย่างสูง

สำหรับคดียุบพรรค ทำให้เกิดกระแสความห่วงใย

ที่น่าสนใจก็คือ ได้เกิดการเคลื่อนไหวรณรงค์ปกป้องพรรคอนาคตใหม่

โดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการที่ได้รับความยอมรับจากวงวิชาการ ได้สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียน สังคมไทย ผ่านเว็บไซต์ระดับโลก change.org

เสนอหัวข้อว่า ประเทศไทยต้องไปข้างหน้า การเมืองต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ร่วมลงชื่อ #คัดค้านยุบพรรคอนาคตใหม่

 

โครงการรณรงค์ในครั้งนี้ มีข้อความเชิญชวนร่วมลงชื่อว่า ฟังก่อน! เราไม่ได้บอกว่าพรรคอนาคตใหม่ดีงามสมบูรณ์แบบจนทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงต่อสู้ให้

สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ ไม่ว่าเราจะมีความเชื่อแบบไหนก็ตาม จะมีคนที่เชื่อไม่เหมือนเราอยู่ร่วมสังคมเดียวกันเสมอ ไม่มีวันหายไป

การลงชื่อครั้งนี้ เป้าหมายคือ การปกป้องวันนี้และอนาคตของประเทศไทย

การเมืองที่ดีควรเป็นระบบที่เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาต่อสู้แข่งขันกันได้อย่างเสรีเป็นธรรม โดยมีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ส่วนการมุ่งกำจัดกลุ่มการเมืองใดๆ ให้สิ้นซากนั้น มีแต่จะทำให้สังคมตึงเครียดรอวันระเบิด

ช่วยกันหยุดการทำลายล้างทางการเมืองครั้งใหม่ที่จะไม่เหลืออะไรนอกจากความพัง…

ความสงบจบที่อยู่ร่วมกัน

ทางออกที่ดีที่สุดคือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างที่สุด สนับสนุนให้พรรคการเมืองของประชาชนเข้มแข็ง

เลิกคิดเสียทีว่า การยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคนที่คิดไม่เหมือนเราจะนำไปสู่ความสงบในสังคม

ที่ผ่านมามีความพยายามในการหยุดยั้งหรือทำลายพรรคอนาคตใหม่อยู่จริง โดยผู้มีอำนาจไม่สนใจถึงราคาที่สังคมไทยจะต้องร่วมกันจ่าย

ประชาชนและประเทศไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว พอกันทีกับการกดทับเสียงของความเปลี่ยนแปลง อำนาจการตัดสินปัจจุบันและอนาคตต้องอยู่ในมือประชาชนอย่างเรา ไม่ใช่อยู่ที่คนเพียงหยิบมือ

นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมนั้น ร่วมกันลงชื่อ เพื่อพาการเมืองไทยไปข้างหน้าหยุดความพัง ยับยั้งความขัดแย้ง

ที่น่าสนใจคือผู้ร่วมชื่อเปิดแคมเปญดังกล่าว

 

รายชื่อผู้ร่วมลงชื่อเปิดแคมเปญ มาจากหลากหลายวงการ อาทิ กนกรัตน์ สถิตนิรามัย (อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), กรุณพล เทียนสุวรรณ (นักแสดง), กิตติธัช ไทยอารี (นักธุรกิจ)

เกษียร เตชะพีระ (อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), คชาภา ตันเจริญ (“มดดำ” – พิธีกร), คฑาวุธ ศรีสุวรรณ์ (ประธานสหพันธ์แรงงานอีซูซุประเทศไทย),  โคทม อารียา (อดีตกรรมการการเลือกตั้ง), เจริญ รามาน (ฝ่ายการตลาดต่างประเทศ / ผู้ผลิตและส่งออกอาหารแช่แข็ง)

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (“มะเดี่ยว” – ผู้กำกับภาพยนตร์ รางวัลสุพรรณหงส์), ดวงฤทธิ์ บุนนาค (สถาปนิกและนักออกแบบ), เดชาธร บำรุงเมือง (ศิลปินวง Rap Against Dictatorship), ตุล ไวฑูรเกียรติ (ศิลปิน), ไตรเทพ ศรีกาลรา (ประธานบริษัทโปรอินโนเวชั่นกรุ๊ป และร้านอาหาร Ainu Bar)

ทิชา ณ นคร (นักสิทธิเด็ก เยาวชน และสตรี), ธนกิจ สาโสภา (ประธานสหพันธ์แรงงานฮอนด้าประเทศไทย), ธนสักก์ เจนมานะ (อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), นิจวิภา หนูนอก (นายกสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2561)

นิติ ภวัครพันธุ์ (นักวิชาการอิสระ), นิธิ เอียวศรีวงศ์ (นักวิชาการประวัติศาสตร์), นิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภา), บรรจง นะแส (นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย)

บรรจง บุญรัตน์ (ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย), บรรยง พงษ์พานิช (ผู้บริหาร), บัณฑิต ไกรวิจิตร (อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี)

ใบพัด นบน้อม (นักเขียน), ปกฉัตร เทียมชัย (“จิ๊บ” – ดารานักแสดง), ปรีดา เตียสุวรรณ์ (นักธุรกิจ), พนัส ทัศนียานนท์ (อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ (Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาปริญญาเอก University of Oxford)

ยุทธเลิศ สิปปภาค (ผู้เขียนบทภาพยนตร์, ผู้กำกับภาพยนตร์), รสิตา ซุ่ยยัง (แกนนำการแก้ปัญหาการคืนสัญชาติ กรณีคนไทยพลัดถิ่น)

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล (นักเขียน, นักเดินทาง, พิธีกร), วริตตา ศรีรัตนา (อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (นักเขียนรางวัลศรีบูรพา, สื่อมวลชน และนักสิ่งแวดล้อม)

สมชาย ปรีชาศิลปกุล (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), สมฤทธิ์ ลือชัย (นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์)

สายชล สัตยานุรักษ์ (อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล (“ฮาร์ท” ศิลปินวง เบิร์ด & ฮาร์ท)

สุรัตน์ แก้วสีคร้าม (ศิลปินสาขาการแสดง), สุริชัย หวันแก้ว (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ปัญญาชนสยาม), เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ (อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย (เจ้าของธุรกิจ), อนุสรณ์ ธรรมใจ (อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย), อนุสรณ์ ติปยานนท์ (นักเขียน), อนุรุจน์ วรรณพิณ (ผู้ก่อตั้ง Readery), อภิชาต สถิตนิรามัย (อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (“เจ้ย” – ผู้กำกับภาพยนตร์ รางวัลปาล์มทองคำ), อมรฤทธิ์ แสงยะรักษ์ (ประธานสหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย)

อรจิรา แก้วสว่าง (ดารานักแสดง), อังคณา นีละไพจิตร (อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ), อาทิตย์ เพชรศศิธร (หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

อาภรณ์ สีมาโรจน์ (นักวาดภาพ), อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (ผู้ก่อตั้ง Blognone และผู้บริหาร Brand Inside), อุทิศ เหมะมูล (นักเขียนรางวัลซีไรต์) ฯลฯ

 

เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตัวเลขผู้ลงชื่อถึงตอนบ่ายวันที่ 18 กุมภาพันธ์ มีตัวเลขกว่า 3.8 หมื่นเข้าไปแล้ว

ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ มีผู้ใช้ชื่อ Kengi Mario ได้สร้างแคมเปญรณรงค์นี้ร้องเรียน ประชาชนทุกเพศทุกวัย ลงชื่อยุบพรรคอนาคตใหม่!!!

โดยมีข้อความเชิญชวนว่า ทำผิดตั้งแต่ต้น “เงินกู้ 191 ล้าน” เป็นเหตุยุบพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร ปิยะบุตร พูดถูก “เงินกู้” ไม่ใช่ “รายได้” แต่ถือเป็น “ประโยชน์อื่นใด” และถ้าเกิน 10 ล้านบาท มีความผิดครับ

มีผู้ร่วมลงชื่อถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ มีผู้สนับสนุน 3 พันกว่าคน

เป็นการปะทะในอีกแนวรบหนึ่ง ระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ยิ่งทำให้ผลการวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ยิ่งน่าสนใจ