วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / บทลงโทษ ‘จดแจ้งการพิมพ์’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์    

บทลงโทษ ‘จดแจ้งการพิมพ์’

 

พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2552 แบ่งเป็นหลายหมวด ตั้งแต่การยกเลิกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการพิมพ์และหนังสือพิมพ์ คำนิยาม สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ บทกำหนดโทษ ซึ่งมีโทษทางปกครอง และโทษอาญา มีทั้งหมด 29 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล

บทลงโทษหนังสือพิมพ์ที่กำหนดไว้เป็นบทลงโทษในเรื่องของการปฏิบัติไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์คือโทษทางปกครองและโทษทางอาญา

โทษทางปกครอง มาตรา 19 ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 หรือมาตรา 9 (มาตรา 8 ในสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักร ฯลฯ มาตรา 9 ให้ผู้พิมพ์ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา 8 จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายในสามสิบวันนับแต่วันเผยแพร่) ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 20 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 12 (มาตรา 12 ในหนังสือพิมพ์ให้แสดงข้อความดังต่อ ไปนี้ {1-4 ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์ ผู้โฆษณา ชื่อของ บรรณาธิการ ชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์} ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้ชื่อย่อหรือนามแฝง) ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 21 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 17 (มาตรา 17 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเปลี่ยนแปลงรายการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 11 วรรคสอง – ผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องยื่นแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานตามรายการในมาตรา 11 – ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว) ต้องระวางโทมษปรับทางปกครองไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 22 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 18 (มาตรา 18 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลิกเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์) ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสามหมื่นบาท

 

ส่วนการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องเป็นไปตาม มาตรา 14 บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

(2) มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย

(3) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร

(4) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนคนไร้ความสามารถ

(5) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดลหุโทษ

ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดประสงค์จะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

มาตรา 15 เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (1-5 เช่นเดียวกับคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14)

มาตรา 16 เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคล ซึ่งมีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมด และต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย

ห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยในนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นหรือมีกรรมการเป็นผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิกถอนการจดแจ้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 24 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

ส่วนที่ 2 โทษอาญา มาตรา 25 ผู้ใดออกหนังสือพิมพ์โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับจดแจ้งตามมาตรา 11 หรือรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์โดยฝ่าฝืนมาตรา 14 มาตรา 15 หรือมาตรา 16 มีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 26 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 วรรคสอง (ห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยในนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง) มีความผิดต้องระวางโทษไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจหรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนแล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละห้าหมื่นถึงสองแสนห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา 10 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 10 เป็นมาตรากำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจกานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราช อาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ด้วยก็ได้ และห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะดังกล่าวมาแสดงไว้ด้วย ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย)