เพ็ญสุภา สุขคตะ : รอนฝัน ตะวันเศร้า องอาจ สิงห์สุวรรณ และนนทพัทธ์ หิรัญเรือง พลังคนรุ่นใหม่ขับไล่สังคมทราม

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอนสุดท้ายของการเขียนถึงรางวัล “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ครั้งที่ 2

ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิต ผลึกความคิด และมุมมองของ 3 กวีหนุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นนทพัทธ์ หิรัญเรือง : เชื้อไฟ และรองชนะเลิศอีก 2 อันดับ อันดับแรกคือ องอาจ สิงห์สุวรรณ : ขยะ

และอันดับที่สองคือ รอนฝัน ตะวันเศร้า : ความฝัน 2019

 

รอนฝัน ตะวันเศร้า : ความฝัน 2019

รอนฝัน ตะวันเศร้า มีนามจริงว่า พิชญ อนันตรเศรษฐ์ เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสอ่านรวมบทกวีของตุล ไวฑูรเกียรติ (นักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า) ชื่อ “หลบเวลา” และบวกกับช่วงเวลาอันสับสนในชีวิต จึงระบายออกมาเป็นบทกวี

รอนฝันมีงานบทกวีของอนุชา วรรณาสุนทรไชย ตุล ไวฑูรเกียรติ และอุเทน มหามิตร เป็นแรงบันดาลใจ บุคคลที่เป็นต้นแบบจริงๆ คือ Charles Bukowski ส่วนวรรณกรรมที่ชื่นชอบ คือนวนิยายคลาสสิคของรัสเซีย โดยเฉพาะงานของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้

ผลงานที่เคยตีพิมพ์ปรากฏตามสื่อต่างๆ อาทิ มติชนสุดสัปดาห์ และเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Way Magazine, ประชาไท, Anthill Archive กับเฟซบุ๊กเพจ “Kitchengun Library”, The Paperless และ “สาธารณรัฐกวีนิพนธ์”

บทกวีของเขาได้รับคัดเลือกให้รวมเล่มในหนังสือรวมบทกวีชื่อ “ดินแดนแห่งความสุขล้นทะลัก” สำนักพิมพ์ชายขอบ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Vice Versa Vol.2 ของภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งใช้ประกอบในงานวิดีโออาร์ต โดยวชร กันหา

บทกวี ความฝัน 2019 ชิ้นนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้รับรางวัล เป็นงานทดลองที่เกิดจากความรู้สึกมากมายที่มีต่อสังคมรอบตัว ตลอดช่วงเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ได้เกิด “ภาวะ” บางอย่างที่ทะลักออกมาเป็นตัวอักษร

ผ่านการได้ดูเซ็ตภาพถ่ายชุดชั้นใน ของนางแบบชิบาริคนหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันในโลกสังคมออนไลน์ โดยที่ผู้เขียนต้องการที่จะคงไว้ซึ่งความดิบ และซื่อตรงกับสภาวะทางกวีให้มากที่สุด

โดยส่วนตัวนั้น แม้ไม่เคยมีโอกาสรู้จักกับถนอม ไชยวงษ์แก้ว มาก่อน แต่เมื่อได้เห็นกติกาที่ระบุว่า “เป็นบทกวีที่ว่าด้วยการเมืองและสังคม” จึงตัดสินใจส่งมาร่วมแจม และเป็นกวีรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว เพียงคนเดียวที่เดินทางมารับรางวัลด้วยตนเอง ณ สวนเหยิม สันป่าตอง เชียงใหม่ บ้านของนักเขียนหญิง “แพร จารุ”

ล่าสุดดิฉันได้พบกับเขา ณ งาน “น่านโปเอซี่ครั้งที่ 2” เมื่อ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

องอาจ สิงห์สุวรรณ : ขยะ

นามจริงคือ องอาจ สิงห์สุวรรณโชติ ปัจจุบันพักอยู่ที่อำเภอเมืองขอนแก่น จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกอุดรธานี

แรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี เริ่มต้นจากการท่องบทอาขยานหลังเลิกเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา จนติดปากประทับใจ ผลักหนุนให้ฝึกเขียนกลอนลงในสมุดบันทึกมาโดยตลอด บทกลอน/บทกวีกลายเป็นเครื่องมือใกล้ตัวที่เลือกใช้สำหรับสะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อชีวิต ผู้คน สังคม และโลก คือความผ่อนคลายและเยียวยาไปพร้อมกัน

มีผลงานตีพิมพ์ และรางวัลที่ได้รับดังนี้

๏ ปี 2555 “ผู้อิ่มก่อนใคร” ชนะเลิศการประกวดบทกวีนิพนธ์รางวัลวีระสโมสร ครั้งที่ 2

๏ ปี 2556 บทกวี “มีกี่ทางระหว่างวิถี” เป็นสำนวนแรกในชีวิตที่ได้รับการตีพิมพ์หน้านิตยสาร คือเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์กวีทรรศน์ ดูแลโดยเคี่ยว โคมคำ (เสรี ทัศนศิลป์) จากนั้นมีบทกวี “ยังคงเป็นละครไร้ตอนจบ” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด (ใช้นามแฝงว่า ปากกาพ่อ ดินสอแม่) บทกวี “สาบภาษาบนผ้าชีวิต” ได้รับพิจารณาตีพิมพ์บทกวีประกวดรางวัลมติชนอะวอร์ด

๏ ปี 2557 บทกวี “ค่ากระดูก” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด

๏ ปี 2558 บทกวี “นั่นเจ้าใช่ไหม” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด และบทกวี “หนังบักตื้อฯ” ชนะเลิศการประกวดบทกวีนิพนธ์รางวัลวรรณศิลป์ เปลื้อง วรรณศรี ครั้งที่ 1

๏ ปี 2560 บทกวี “ณ ร่มเรา” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ พานแว่นฟ้า (ไม่มีรางวัลชนะเลิศ), บทกวี “เงาแสงพิพากษา” รางวัลรองชนะเลิศ เปลื้อง วรรณศรี ครั้งที่ 3 และบทกวี “อิฐ” ได้รับรางวัลที่ 3 กวีนิพนธ์ขนาดสั้นหัวข้อ “บทกวีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์”

๏ ปี 2561 บทกวี “รั้วและเรา” รางวัลชมเชย ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1

๏ ปี 2562 บทกวี “นัยมือ” รางวัลชนะเลิศ พานแว่นฟ้า และบทกวี “ขยะ” รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 2

บทกวี “ขยะ” องอาจ สิงห์สุวรรณ มองว่าประเทศชาติเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ให้ชีวิตแก่ผู้อยู่อาศัย หากปล่อยให้พื้นที่และสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยขยะ อันเกิดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความไม่ยุติธรรม ลุแก่อำนาจ ใช้อภิสิทธิ์เหลี่ยมเล่ห์เข้าโกงกิน ฯลฯ

ต้นไม้ที่ชื่อว่าประเทศคงไปไม่รอดและอาจล่มสลายไปในที่สุด จึงอยากเรียกร้องผ่านบทกวีให้ช่วยกันกำจัดขยะเหล่านี้สิ้นไปหรือน้อยลงมากที่สุด เท่าที่จะทำได้

 

นนทพัทธ์ หิรัญเรือง : เชื้อไฟ

นนทพัทธ์ หิรัญเรือง เป็นชื่อ-สกุลจริง อายุ 23 ปี ชาวศรีสะเกษ จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

ปัจจุบันรับราชการเป็นครูผู้ช่วย โรงเรียนกระดุมทองวิทยา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ

เริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกเมื่อปลายปี 2558 จากการชักชวนและส่งเสริมของครูกวี “อนุวัฒน์ แก้วลอย” ผู้เป็นแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ทางวรรณกรรมให้เขา

นนทพัทธ์ประทับใจลีลาภาษา การร้อยเรียงความคิดของกวีร่วมสมัยชั้นครูหลายท่าน อาทิ

ศิวกานท์ ปทุมสูติ โชคชัย บัณฑิต” สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน วิสา คัญทัพ คมทวน คันธนู พนม นันทพฤกษ์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ประเสริฐ จันดำ วาณิช จรุงกิจอนันต์ และไพบูลย์ วงษ์เทศ

นนทพัทธ์เป็นกวีรุ่นใหม่ที่มีผลงานตีพิมพ์ และได้รับรางวัล (น่าจะ) มากที่สุดแล้วในประเทศไทยเมื่อเทียบกับกวีรุ่นเดียวกัน ในพื้นที่อันจำกัดนี้ไม่สามารถจาระไนได้หมด จึงขอนำมาลงพอเป็นสังเขปดังนี้

รางวัลชนะเลิศกวีนิพนธ์

๏ รางวัลเปลื้อง วรรณศรี ปี 2559 หัวข้อ “พลัดหลงในห้วงเวลาอันไกลกว่ารั้วบ้านของเรา”, รางวัลในงานสัมมนาวิชาการ “คิดต่างระหว่างบรรทัด ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย”

๏ บทกวีหัวข้อ “ฐานันดรที่ 4 สื่อที่ดีต้องตีตรา?” ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2560

๏ รางวัลช่อมะกอก ครั้งที่ 4 ปี 2561 ภายใต้แนวคิด “สันติภาพ หลากสีสัน”

๏ สุนทรพจน์และบทกวี “พระผู้ทำสงฆ์ให้งาม” เชิดชูเกียรติครบรอบ 13 ปี ชาติภูมิสถาน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

๏ กลอนต่อต้านการทุจริต ประเภทนักศึกษา จัดโดย ป.ป.ท.

๏ รางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ปี 2561 โดยชมรมวรรณศิลป์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Pen)

๏ ประชันสักวากลอนสดชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานราชภัฏบุรีรัมย์ มหกรรมวิชาการและวัฒนธรรมนานาชาติ ครั้งที่ 3 BRICC Festival 2019

รางวัลรองชนะเลิศและชมเชย

๏ “รางวัลรองชนะเลิศ” : เซเว่นบุ๊กอวอร์ด นักเขียนรุ่นเยาว์ปี 2561, กลอนชมรมวรรณศิลป์ ม.เกษตรศาสตร์ หัวข้อ “เรื่องเล่าในเงาจันทร์”, งานวันเวลาภาษาไทย ชมรมภาษาและวรรณศิลป์ ศึกษาศาสตร์ มศก., บทกวีประชาชน FreeWriteAward 3, ประชันกลอนสด ภาคอีสาน ครั้งที่ 3 มรภ.นครราชสีมา

๏ “รางวัลชมเชย” : ประชันกลอนสด ภาคอีสาน ครั้งที่ 2 มรภ.นครราชสีมา, โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ 3, รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี ปี 2560, เรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น BRICC Festival 2018, รางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2561 และรางวัลนักศึกษาพระราชทาน ปี 2561

รางวัลพิเศษอื่นๆ

๏ รางวัลดีเด่น บทวิจารณ์กวีนิพนธ์ ค่ายวิจารณ์วรรณกรรม “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 3” โดย สนพ.ประพันธ์สาส์น-ธนาคารกรุงเทพ, รางวัลพิเศษ “กวีปากกาทอง” 3/2559 ศูนย์สังคีตศิลป์ ม.มหาสารคาม

๏ “สานต่องานวิจารณ์กับรางวัลซีไรต์และชมนาด (บ้านเก่า)” 1 ใน 40 ผลงานรับทุนรางวัล โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 3” สนพ.ประพันธ์สาส์น-ธนาคารกรุงเทพ

๏ บทวิจารณ์วรรณกรรม “ครอบครัวดวงตะวัน : อบอุ่นแห่งความรักความเข้าใจ” หนังสือ “Critics on the Cloud” ร่วมกับนักวิจารณ์ระดับประเทศ

๏ กวีนิพนธ์ขนาดสั้นชุด “กำสรวลการศึกษา” งาน Chiang Mai Book Fair 4

๏ บทกวี “วรรณกรรม-สะพานทองเชื่อมสู่ใจ อีสาน-ลาว” งาน “มหกรรมอ่านบทกวีอีสาน-ลาว ครั้งที่ 4”

รางวัลเชิดชูเกียรติ

๏ รางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี 2561 กระทรวงวัฒนธรรม, รางวัลนักศึกษาที่มีผลงานดีเด่นฯ การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1 มรภ.สุรินทร์

๏ รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรมปี 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรางวัลคนเก่งภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สุรินทร์ ปี 2560-2561

 

บทกวี “เชื้อไฟ” เกิดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์บางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย มองย้อนไปในปี 2562 ที่ผ่านมา หลังผ่านการเลือกตั้ง หลายเหตุการณ์ส่อเค้าความไม่ชอบมาพากล สะท้อนความไม่เป็นธรรม นำพามาซึ่งเสียงก่นด่าประณามจากทุกทิศทาง

หันมองในระดับประชาชนคนทั่วไป รู้สึกว่ารอยร้าวในใจแต่ละคนมันถูกขยาย แผลมันถูกเขี่ย ไฟมันถูกลมกระพือพัด ในโลกจริงและโลกสมมติเห็นแต่ภาพของการแบ่งขั้วแบ่งข้าง บ้างไล่กันไปตาย บ้างไม่แยกแยะความเชื่อ-ความจริง

ตั้งป้อมปฏิเสธทุกความชอบธรรมของอีกฟากฝ่าย ลากพวกลากเพื่อนมาตะลุมบอนกันผ่านคีย์บอร์ด เซ็งแซ่แต่เสียงสบถด่า เสียงเหยียดหยามประณามแช่งคนขั้วตรงข้าม ผู้คนที่ล้วนเปราะบางต่างพร้อมที่จะพลีตนเป็นเชื้อไฟ กระโจนเข้าไปในกองไฟแห่งความขัดแย้งโดยไม่ฟังเหตุผล

ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่เกิดประโยชน์โภชผลอันใด นอกจากเพิ่มไฟให้ร้อนแรงแกร่งกล้าขึ้นไปอีก เขาเชื่อว่าปลายทางของสภาวะเช่นนี้ คงไม่พ้นการที่ต้องทำลายล้างกันไปข้าง

เขาเขียนบทกวีชิ้นนี้ขึ้นจากความอัดอั้นตันใจ เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ไปถึงจุดนั้น จุดที่ต้องทำลายล้างกัน สิ่งใดที่เรายังแชร์กันได้บ้าง อยากให้ลองนึกดู ถอยจากกองไฟ ไกลออกมาสักหน่อย บางทีเราอาจเห็นอะไรชัดขึ้น จากร้อนก็กลายเป็นอุ่น

แน่นอนเขาไม่ได้ชี้ชวนให้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา การลุกมาต่อต้านความไม่เป็นธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ทว่าด้วยท่าทีแบบไหน ปลายทางแบบไหนที่เราต้องการจะไปถึง เขาเชื่อว่าการมุ่งทำลายล้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนสิ้นซากไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย