เกษียร เตชะพีระ | อนาธิปัตยาภิวัตน์จากเบื้องล่าง (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ในความเห็นของผม งานเรื่อง Age of Anger : A History of the Present (ค.ศ.2017) โดยปังกัจ มิสชรา ช่วยปูพื้นความเข้าใจวิกฤตของการสร้างความทันสมัยในโลกปัจจุบันทั้งทางประวัติศาสตร์ ความคิดการเมือง และโครงสร้างความรู้สึกทางวัฒนธรรมได้อย่างหยั่งลึก

ทำให้เราสามารถเล็งเห็นเนื้อแท้ของสถานการณ์โลกปีที่ผ่านมาซึ่งอำนาจนิยมจากเบื้องบน เผชิญอนาธิปัตยาภิวัตน์จากเบื้องล่าง (Authoritarianization from above vs. Anarchization from below) ในหลากหลายประเทศทุกทวีป

ดังที่เขาวิเคราะห์ไว้ในบทความ “A Global Anarchy Revival Could Outdo the 1960s” ต่อจากตอนก่อน

ดังนี้ :

คําหยาบหยามที่พูดกันเกร่อ (ว่านักศึกษาฝรั่งเศสผู้ประท้วงเมื่อปี ค.ศ.1968 เป็นพวก “อนาธิปัตย์”) นี้สับสนปะปนลัทธิอนาธิปไตยเข้ากับสภาพไร้การจัดตั้ง พึงระลึกไว้ว่าการเมืองแบบอนาธิปไตยนั้นเป็นประเพณีทางการเมืองและปัญญาที่เก่าแก่ที่สุดกระแสหนึ่งของโลกสมัยใหม่ แม้ว่าความข้อนี้จะไม่ค่อยเป็นที่จดจำกันก็ตาม และทุกวันนี้ คำว่าการเมืองแบบอนาธิปไตยใช้บรรยายการหันไปประท้วงอย่างขุดรากถอนโคนทั่วโลกระลอกใหม่ได้ดีที่สุด

การเมืองแบบอนาธิปไตยเริ่มปรากฏขึ้นนับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แรกเริ่มเดิมทีมันปรากฏขึ้นในบรรดาสังคมที่พวกอัตตาธิปัตย์ผู้เหี้ยมเกรียมกุมอำนาจ อาทิ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี สเปนและแม้กระทั่งจีน รวมทั้งปรากฏขึ้นในที่ซึ่งความหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านหีบบัตรเลือกตั้งดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

พวกอนาธิปัตย์ซึ่งพวกนี้คนหนึ่งลอบสังหารประธานาธิบดีแม็กคินเลย์แห่งสหรัฐไปในปี ค.ศ.1901 นั้นแสวงหาเสรีภาพจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นแบบวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจที่ขูดรีดหนักหน่วงขึ้นทุกที ทว่าที่แตกต่างจากบรรดานักวิพากษ์ทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ยึดถือลัทธิสังคมนิยมก็คือ พวกอนาธิปัตย์ทุ่มพลังงานส่วนใหญ่ของตนไปที่การปลดปล่อยจากสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นรูปการจัดตั้งรวมหมู่แบบทรราช อันได้แก่ รัฐและระบบราชการของมัน ซึ่งในทรรศนะของพวกอนาธิปัตย์นั้นรูปการณ์จัดตั้งรวมหมู่ดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งแบบคอมมิวนิสต์พอๆ กับแบบทุนนิยม

ดังที่ปีแอร์-โจเซฟ ปรูดอง นักคิดผู้บุกเบิกลัทธิอนาธิปไตย (อีกทั้งเป็นผู้วิจารณ์มาร์กซ์อย่างแข็งกร้าวไม่รอมชอม) กล่าวว่า : “การถูกปกครองก็คือการถูกเพ่งเล็ง ตรวจตรา แอบสืบความลับ ชี้นำ ขับไสด้วยกฎหมาย แจงนับ กำกับดูแล เกณฑ์เข้าอบรม ปลูกฝังลัทธิ เทศนา ควบคุม ตรวจสอบ วัดประเมิน ตีค่า ด่าประจาน และบัญชาการโดยสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีทั้งสิทธิ ปรีชาญาณ หรือคุณธรรมที่จะทำเช่นนั้น”

สำหรับพวกอนาธิปัตย์มากหลายรัฐ ระบบราชการและกองกำลังความมั่นคงเป็นการย่ำหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพอย่างลึกซึ้งที่สุด พวกเขาเพียรหาทางบรรลุเสรีภาพแบบประชาธิปไตยโดยการลดทอนอำนาจของรัฐสารพัดพิษลงอย่างฮวบฮาบ พร้อมกับเพิ่มพูนอำนาจของปัจเจกบุคคลทั้งหลายให้เข้มแข็งขึ้นจากเบื้องล่างไป ในเวลาเดียวกันโดยผ่านปฏิบัติการประสานกัน

สำหรับพวกอนาธิปัตย์แล้ว ประชาธิปไตยมิใช่เป้าหมายห่างไกลที่จะไปถึงได้โดยอาศัยบรรดาพรรคการเมืองซึ่งบูรณาการเข้าด้วยกันในแนวดิ่ง เหล่าสถาบันที่ไม่มีลักษณะส่วนบุคคล และกระบวนการเลือกตั้งอันยาวนาน หากเป็นประสบการณ์แห่งการดำรงอยู่ซึ่งปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีได้โดยทันทีด้วยการร่วมกันท้าทายอำนาจหน้าที่และระเบียบความเหลื่อมล้ำที่กดขี่

พวกเขาเห็นประชาธิปไตยเป็นสภาวะถาวรแห่งการกบฏต่อรัฐรวมศูนย์อำนาจเกินเลยและตัวแทนกับผู้บังคับใช้ของมันซึ่งรวมทั้งข้าราชการและตำรวจ ความสำเร็จในการพยายามนี้วัดโดยขอบเขตและความเข้มข้นของการกบฏ รวมทั้งความเข้มแข็งของความสมานฉันท์ที่บรรลุถึง มากกว่าจะวัดจากการยอมอ่อนข้อใดๆ ของอำนาจหน้าที่ อันน่าชิงชังรังเกียจ

(ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอยู่ดี)

พวกผู้ประท้วงทุกวันนี้ดูจะมองประชาธิปไตยแบบนี้ด้วยในยามที่พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลทั้งหลายซึ่งขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์อย่างแรงกล้าพอๆ กับความเหี้ยมเกรียมที่แสดงออกมา โดยไม่มีความหวังสักเท่าไหร่ว่าจะประสบชัยชนะในความหมายแบบดั้งเดิม

ขอเราจงอย่าสงสัยเลยว่าความขัดแย้งที่เปิดเผยและมิอาจแก้ไขให้ตกไปได้ ระหว่างพลเมืองสามัญกับผู้กุมอำนาจหน้าที่ทั้งหลายน่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานทั่วโลกมากว่าเป็นข้อยกเว้น แน่นอนว่าความขุ่นเคืองเชิงสู้รบทุกวันนี้มิเพียงแต่แผ่กว้างไพศาลกว่าที่เคยเป็นเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เท่านั้น มันยังแฝงนัยการล่มสลายทางการเมืองที่ลงลึกขึ้นด้วย

การเจรจาและประนีประนอมระหว่างกลุ่มกดดันและผลประโยชน์ฝ่ายต่างๆ ซึ่งนิยามสังคมการเมืองมานมนานหลายยุคสมัย ฉับพลันนั้นก็ดูกลายเป็นเรื่องเก่าแก่ลายครามไป พรรคและขบวนการการเมืองแบบเก่าพากันระส่ำระสายไม่เป็นกระบวน สังคมก็แบ่งข้างแยกขั้วกันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อน และคนหนุ่ม-สาวก็ไม่เคยประสบ อนาคตที่ไม่แน่นอนขนาดนี้มาก่อนเลย ในยามที่ปัจเจกบุคคลทั้งหลายผู้โกรธเกรี้ยว และไร้แกนนำลุกขึ้นกบฏต่อบรรดารัฐและระบบราชการซึ่งนับวันอำนาจนิยมขึ้นทุกที จากซันติอาโกจรดนิวเดลี

การเมืองแบบอนาธิปไตยก็ดูเหมือนเป็นความคิดที่ได้เวลาของมันแล้ว