คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความรักในโลกธรรมชาติ กับพระธรรมบาลแห่งดอยหลวงเชียงดาว

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้เล่าไปในครั้งที่แล้วว่า ธรรมเนียมพุทธทางมหายานและวัชรยานนั้น เขามีการตั้ง “พระธรรมบาล” คือเทพ-ผีทั้งจากพราหมณ์และพื้นเมืองเพื่อเป็นผู้ปกป้องดูแลพระธรรมและผู้ปฏิบัติ

กล่าวโดยง่ายก็คือ การจับเทพ-ผีมาบวชให้เป็นพุทธนั่นเอง ซึ่งผิดกับบ้านเราที่มักบวชให้ผีเป็นพราหมณ์ เช่น จับเจ้าที่มาแต่งองค์ทรงเครื่อง แล้วใช้บาลีสวดบูชาบวงสรวง สร้างเทวตำนานให้กลายเป็นเทพในสารบบพุทธ-พราหมณ์อย่างพระภูมิ

ผมคิดว่าคำอธิบายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า ศาสนาในบ้านเรานั้นคือศาสนาผีที่เอาพุทธและพราหมณ์มาประดับ โดยเลือกเฉพาะส่วนที่ไม่ขัดกับผียังคงใช้ได้อยู่ ซึ่งกลับกับสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดว่า เรามีศาสนาแบบ “พุทธ พราหมณ์ ผี” คือพุทธศาสนาสามารถกำราบทั้งพราหมณ์และผีให้อยู่ใต้อำนาจอย่างราบคาบ

แต่ที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น และดูเหมือนว่าในปัจจุบันผียิ่งจะทรงอำนาจมากกว่าเดิม

ผมคิดว่าผิดกับสายวัชรยานหรือมหายาน คือทางทิเบต กลุ่มประเทศใกล้เคียงนั้น แต่เดิมก็อุดมผีไม่ต่างกับเรา แต่ความเป็นชาวพุทธของเขานั้นเข้มข้นอย่างยิ่งในแง่ปฏิบัติ แต่ก็เปิดกว้างด้วยในเวลาเดียวกัน จึงโอบอุ้มผีเอาไว้ภายใต้ความเปิดกว้างนั้น โดยไม่เสียท่าทีอย่างพุทธ

ไม่เสียท่าทีแบบพุทธ คือแม้รับเอาผีหรือเทพเข้ามาแล้ว ยังคงรักษาทัศนคติที่ตรงตามคำสอนและแนวทางของพุทธศาสนาไว้

เป็นต้นว่า เทพ-ผีที่รับมาต้องเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติธรรม มิใช่อำนวยแต่ประโยชน์ผลทางโลกแต่ถ่ายเดียว

ผู้ปฏิบัติแม้มีผีเทพมาเกี่ยวข้องก็ไม่ละทิ้งเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

แต่ทำอย่างไรให้การนับถือเทพ-ผีสามารถเป็นสิ่งเกื้อหนุนไปสู่เป้าหมายนั้นได้ อย่างนี้เป็นต้น

 

ธรรมเนียมพุทธฝ่ายเถรวาทในลังกา มีการตั้งเทวดาสำคัญๆ เช่น ขัตตรคาม (พระขันทกุมาร) พระวิษณุ หรือเทพพื้นเมืองอย่างสุมนเทวดาไว้รับใช้พุทธศาสนา ส่วนในบ้านเรานั้น ผมเข้าใจว่ามีแต่ธรรมเนียมพื้นบ้านอย่างการตั้งเสื้อวัด (ผีดูแลวัด) ในภาคเหนือและอีสาน แต่ยังนึกไม่ออกว่ามีการตั้งเทพผีสำหรับดูแลระดับใหญ่กว่านั้นไหม

ที่จริงการตั้งเทพผีในประเพณีพุทธบ้านเราและลังกานั้น ออกจะมีลักษณะที่เรียกว่า “วิหารบาล” หรือ “อารามบาล” มากกว่าจะเป็นธรรมบาล คือเน้นการปกปักดูแลวัดวาอารามและการอำนวยโชคผลแก่ศาสนิกชนมากกว่าการเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการปฏิบัติธรรม

วิจักขณ์ พานิช เคยถามกับผมนานมาแล้วว่า ในเมืองไทยนี่มีผีอะไรใหญ่ๆ บ้าง เผื่อจะเชิญท่านมาเป็นธรรมบาลตามแบบวัชรยาน

ตอนนั้นผมนึกออกแค่เจ้าแม่อยู่หัวที่สุโขทัย ยังไม่ได้นึกถึงเจ้าหลวงคำแดงที่เชียงดาว

มาปีนี้ เมื่อต้องไปดอยหลวงเชียงดาวอีกในงาน sacred mountain festival วิจักขณ์คุยกับผมว่าอยากจัดพิธีเปิดให้ผู้คนกลับไปสำนึกถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยเฉพาะธาตุทั้งสี่ ในโลกที่เราตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ได้ เราจะจัดกันยังไง

เรามีศาลนาคซึ่งสัมพันธ์กับสายน้ำแล้ว เรามีเจดีย์หินซึ่งมีธงมนต์ผูกไว้อันสัมพันธ์กับสายลม เรามีเขาวงกตซึ่งเหมาะสมสำหรับธาตุดิน สถานที่เหล่านี้เรามีไว้ให้คนที่มางานได้ตรึกตรอง ทำสมาธิ เพ่งพินิจ เชื่อมโยงอยู่แล้ว

แต่พอกล่าวถึงธาตุไฟ เรารู้สึกว่าในปีที่ผ่านๆ มาดอยหลวงประสบปัญหาไฟป่าที่รุนแรงมาก และเมื่อพูดถึงดอยหลวง ผมก็นึกถึงเจ้าหลวงคำแดงทันที

จึงเสนอเพื่อนไปว่า เราน่าจะตั้งท่านให้เป็นพระธรรมบาลเยี่ยงจารีตธรรมเนียมฝ่ายวัชรยาน แล้วฝากฝังท่านดูแลเรื่องไฟป่ากับภัยธรรมชาติต่างๆ ด้วย

อีกทั้งท่านก็จะได้แนบแน่นเชื่อมโยงกับพวกเรายิ่งขึ้น

แต่เราจะเอาอำนาจอะไรไปตั้งท่าน ผมคิดเยี่ยงตำนานทิเบตว่า อาศัยพุทธบารมีและบารมีของครูบาอาจารย์อย่างคุรุริมโปเชหรือคุรุปัทมสมภพผู้กำราบเทพผี แล้วนำพุทธธรรมไปยังทิเบตได้โดยราบรื่นก็น่าจะพอไหว

แถมเมื่อค้นตำนานเจ้าหลวงคำแดง บางตำนานว่าท่านได้สัญญาจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาสมบัติที่พระยาธรรมิกราช

หรือบางตำนานว่า พระศรีอาริยเมตไตรย์จักมาช่วงใช้ในอนาคตกาล

ก็เป็นอันว่าท่านเป็นผีที่มีสัมมาทิฐิ หรืออย่างน้อยๆ ก็เชื่อมโยงกับพุทธศาสนาแล้ว

 

วิจักขณ์เสนอว่า ในวันพิธี ให้เราแสดงสัญลักษณ์ของธาตุไฟไว้ด้วย ในวันนั้น ผมเริ่มพิธีด้วยการจุดธูปเทียน เป็นสัญญาณการอัญเชิญเบื้องหน้าศาลเจ้าหลวงคำแดงในค่ายเยาวชนเชียงดาว แล้วอ่านบทประกาศตั้งพระธรรมบาลที่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่

ครู่หนึ่งไฟจากกระถางหน้าศาลได้ถูกจุดขึ้นแล้วค่อยๆ มอดดับลง เป็นสัญลักษณ์ว่าไฟป่ารวมทั้งไฟแห่งโทสะในใจเราจะได้ดับลงไปด้วย

แล้วเราก็บันลือเสียงสังข์ กลองฑมรุ (บัณเฑาะว์) และกระดิ่ง เป็นสัญญาณแห่งพรและการรับรู้ของเหล่าทวยเทพ พร้อมกันนั้นผู้เข้าร่วมได้โปรยข้าวสารแทนดอกไม้ทั่วทั้งบริเวณ

บรรยากาศในเวลานั้นช่างสงบและศักดิ์สิทธิ์

ผมคิดว่า เมื่อเรามีเจตนาที่ดีงาม มีความนอบน้อมอย่างแท้จริง เราจะเชื่อมต่อกับความศักดิ์สิทธิ์แห่งโลกธรรมชาติได้ด้วยหัวใจ

ผมขออนุญาตนำบางส่วนของบทประกาศตั้งพระธรรมบาลแห่งดอยหลวงเชียงดาวมาบันทึกไว้ในบทความนี้ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ลองพินิจ และหากเห็นเป็นกุศลก็ขอท่านได้โปรดอนุโมทนา ดังนี้

 

“โอมฺ! ขอนอบน้อมแด่คุรุ พระรัตนตรัย โพธิสัตว์ ฑาก ฑากินี เหล่าธรรมบาล บรรดาเทพทางธรรมและทางโลก นาค คนธรรพ์ เจ้าที่เจ้าทาง ดวงวิญญาณน้อยใหญ่ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นประจักษ์พยาน

ในปัจจุบันกาลความดีเสื่อมถอย อายุคนลดน้อย เต็มไปด้วยโรคภัยประหลาด ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกเบียดเบียนหนักหนา ฟ้าก็คละคลุ้งด้วยฝุ่นควัน น้ำนั้นก็เจือด้วยพิษร้าย สัตว์ทั้งหลายก็พากันตายสิ้น ดินก็เดือดดาลปานอัคคี ต้นไม้พืชพรรณสมุนไพรบรรดามีก็ถอยรส ทุกข์เข็ญปรากฏทุกหย่อมหญ้า อธรรมก็กล้าหยามหยาบผู้คน ความขัดสนแพร่กระจายและความตายก็คลุ้งฟุ้งอยู่ในทุกอณูลมหายใจเข้า-ออก

แม้ในโลกยังเหลือสถานที่อันงดงาม เช่น ดอยหลวงเชียงดาวอันพิเศษพิสุทธิ์ แต่ความเสื่อมทรุดแห่งธรรมชาติก็ยังปรากฏมี เกิดอัคคีไฟเพลิงผลาญไพรพฤกษ์ลดาวัลย์และหมู่สัตว์ให้ได้รับอันตรายเป็นอันมาก ไฟป่าอันเชี่ยวกรากดุจสายน้ำลุกลามอยู่ทั่วไป มวลมนุษย์ผู้มีกำลังน้อยเช่นข้าพเจ้าทั้งหลายมิอาจต้านทานไฟป่าอันมีฤทธิ์แรงร้ายนี้ได้โดยลำพัง

ขณะเดียวกันพุทธธรรมแห่งสัมมาปฏิบัติก็เสื่อมถอย ทุกถิ่นที่ก็พลอยเสื่อมทราม ความทุกข์ยากที่ปรากฏนี้ แม้เกิดจากกรรมที่มนุษย์กระทำขึ้น แต่โดยอาศัยความกรุณาแลพุทธานุภาพยิ่งใหญ่ เหล่าข้าทั้งหลายจึงได้ร้องวิงวอนต่อคุรุพระรัตนตรัยและพระธรรมบาลผู้ประเสริฐ โปรดสดับคำร่ำวิงวอน ช่วยถ่ายถอนทุกข์โศกนี้

ข้าพเจ้าผู้ยืนอยู่ ณ เชิงดอยหลวงเชียงดาวอันบริสุทธิ์ดุจสุเมรุราช ผุดผาดปานทิพยวิมาน เป็นที่สราญของเหล่ามนุษย์และทวยเทพเทวา ขุนผาแห่งนี้เป็นที่สถิตจอมผีอันมีนามว่าเจ้าหลวงคำแดง ผู้มีแรงฤทธิรอน เป็นโอรสแห่งนครสุวรรณโคมคำ ตามตำนานว่าท่านตามกวางทองซึ่งที่แท้คือนางอินทร์เหลา จนเข้ามาในเขตคามดอยหลวง แล้วทั้งคู่จึงล่วงเข้าคูหากลายเป็นอารักษ์ คอยพิทักษ์ธรรมสมบัติอันพระศรีอาริยเมตไตรโยพุทธเจ้า ผู้จักเข้าพระนิพพานในอนาคต จักได้จรบทมาช่วงใช้ อีกท่านไซร้เป็นเค้าเป็นประธาน แห่งผีบ้านผีเมืองทั้งหลายในดินแดนล้านนา มากหน้าดารดาษ ล้วนอยู่ใต้อำนาจของท่านสิ้น

ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ด้วยอำนาจแห่งคุรุปัทมสมภพ ผู้เจนจบในไตรโลก ผู้ขจัดโศกแห่งสาวก ผู้ปกครองเหล่าธรรมบาลและภูตผีทั้งหลาย ขอให้ดวงวิญญาณทิพยศักดิ์ คืออารักษ์เจ้าหลวงคำแดงผู้มีเดช อันถือเพศอารักษ์ยักษราช ได้ประกาศจะนับถือพระรัตนตรัยและพิทักษ์ธรรมสมบัติ จงอย่าได้ผัดผ่อนนิ่งนอนใจ ขอท่านจงรับพุทธบัญชา อาสาเป็นพระธรรมบาล ผ่านการวิงวอนของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อจักได้ช่วยปกป้องขจัดโพยภัย นับแต่อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยอันตรายใดๆ อันจะเกิดแต่ดอยหลวงเชียงดาวนี้ ขออย่าได้มีเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นก็ขอให้ทุเลาโดยเร็วพลัน เพื่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์จักสุขสันต์ทุกวันคืน

ขอท่านจงชื่นชมพุทธาภาษิตอันมนุษย์ทั้งหลายได้เรียนรู้ ขอท่านจงเอ็นดูเหล่าข้าทั้งหลายผู้ได้มาเยือนดอยหลวงคือโมลีโลกอันงามยิ่ง ได้อิงแอบแนบอาศัยธรรมชาติอันพิลาศวิไล จูงใจให้สูงเทียมเทียบเมฆ ขอท่านจงอภิเษกชลธาราแห่งความรัก เพื่อพวกเราจักได้เข้าใจ ว่าเราทั้งหลายนั้นไซร้ล้วนแต่เป็นหนึ่งเดียวกันกับโลกธรรมชาติอันงามสรรพ กับพืชพรรณน้อยใหญ่ กับไฟกับลม กับก้อนหินดินดานธารทุ่ง ที่เราหมายมุ่งมาสู่ มาเรียนรู้ด้วยกัน ในมัณฑละแห่งความรื่นรมย์ เพื่อจะชื่นชมชีวิต และแผ่โพธิจิตอันเลิศล้ำไปช่วยค้ำจุนสรรพสัตว์ในไตรโลก จนกว่าทุกข์โศกจะหมดสิ้น

ขอท่านพระธรรมบาลเจ้าหลวงคำแดงแห่งดอยหลวงเชียงดาว

จงโปรดสดับคำวิงวอนนี้ ด้วยความกรุณาเทอญ”