ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม ใน Embrace of the Serpent (7)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นบทความชุดนี้แล้วว่า Embrace of the Serpent มีแกนเรื่องอยู่ที่ความขัดแย้งและการอยู่ร่วมกันอย่างไม่ลงรอยกันระหว่างท้องถิ่นกับ “สากล”

ซึ่งแตกยอดออกไปเป็นการเผชิญหน้าเรื่องความรู้หลายระนาบตั้งแต่ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ vs ความรู้ด้านจิตวิญญาณ

ความรู้เป็นของ “ตะวันตก” vs ความรู้เป็นของ “ทุกคน”

ความรู้ที่เป็น “ศาสตร์” vs ความรู้ที่ไม่เป็นศาสตร์ ฯลฯ

รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่ตึงเครียดและไม่ลงตัวตลอดเวลาที่ร่วมเดินทางเข้าส่วนลึกที่สุดของอเมซอน

มองในมุมนี้ การปะทะของคาราคามาเต้กับบาทหลวงจึงเปรียบได้กับ “สงคราม” ระหว่างบุคคลซึ่งคนพื้นเมืองมองเป็นผู้วิเศษระดับขนานนามให้เป็น “ผู้เปิดโลก” กับบุคลาธรรมแห่งคริสตจักรซึ่งตั้งนิคมคล้ายโรงเรียนกินนอนสอนศาสนากลางป่าลึก

หนังองค์นี้จบด้วยฝ่ายพื้นเมืองปลดปล่อยเด็กเป็นอิสระพร้อมกับจัดการจนฝ่ายหลังสอนศาสนาต่อไม่ได้

หรือกล่าวอีกนัยคือจบด้วยชัยชนะของคนพื้นเมือง “ผู้เปิดโลก” ที่ปิดฉากด้วยคำปราศรัยว่าเด็กๆ ต้องกลับไปหาภาษาและความรู้ของบรรพชนพื้นเมือง

ในธรรมเนียมที่หนังซึ่งพูดถึงอเมริกาใต้จาก The Mission ถึง Fitzcarraldo มักวนเวียนกับเรื่องเล่าจากฝ่ายคนขาวถึงความอึดอัดใจที่ไม่สามารถทำให้คนอินเดียนพื้นเมืองเลิกใช้ภาษาพื้นถิ่นตามบรรพบุรุษ

สิ่งที่ Embrace ทำคือกลับตาลปัตรขนบการเล่าเรื่องนี้สี่ข้อ

ข้อแรก คือหนังโยนมุมมองของคนขาวทิ้งไป, ข้อสอง คือหนังเล่าประเด็นนี้ผ่านสายตาชนพื้นเมืองอย่างเต็มที่, ข้อสาม คือหนังให้คนพื้นเมืองล้มระบอบการปกครองของบาทหลวงได้สำเร็จ และข้อสี่ หนังคืนอิสรภาพให้เด็กกลับสู่ภาษา / ความรู้พื้นเมือง

โปรดสังเกตว่าขณะที่หนังไม่ได้นำเสนอภาพที่เป็นรูปธรรมของ “เจ้ายาง” และ “กองทัพ” ในแง่เป็นภัยประทุษร้ายชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งยังกดบังคับให้คนทั้งสองกลุ่มถอยไปเป็นแค่ฉากหลังให้ผู้ชมรับรู้ถึงการดำรงอยู่โดยไม่ต้องปรากฏให้เห็น

หนังกลับฉายภาพระบอบเผด็จการบาทหลวงในนิคมสอนศาสนาแบบชัดแจ้งที่สุด

กล่าวอีกนัยคือหนังกำลังบอกว่าแค่เห็นรอยแผลบนแผ่นหลังทาส ผู้ชมก็รับรู้ความเป็นทรราชของทหารและทุนได้แล้ว

ส่วนทรราชด้านภาษาและความรู้ต่างหากที่มองเห็นยากจนต้องอุทิศเวลาพูดถึงอย่างจริงจัง

คําถามคือทำไมทรราชด้านภาษาและความรู้ถึงเป็นปัญหาสำคัญในมุมมองของหนังที่พยายามเล่าเรื่องผ่านสายตาของคนพื้นเมือง?

แนวทางการตอบคำถามนี้ที่ง่ายที่สุดคือการหยิบยืมทฤษฎี Orientalism ฉบับ เอ๊ดเวิร์ด ซาอิด มาอธิบายว่าภาษา / ความรู้ทำให้ “ฝรั่ง” รู้สึกถึงความชอบธรรมที่จะปกครองคนพื้นเมือง และฉะนั้น คนพื้นเมืองผู้ประสงค์จะปลดแอกตัวเองย่อมต้องประกาศอิสรภาพจากภาษา / ความรู้แบบ “ฝรั่ง” ทั้งหมด

สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนังที่เล่าเรื่องสภาวะอาณานิคมด้วยสายตาของคนพื้นเมืองจึงมีหน้าที่ชี้ให้ผู้ชมเห็นว่าภาษาและความรู้คือต้นตอของปัญหานี้ หาไม่ก็ไม่มีทางที่การปลดแอกแบบนี้จะเกิดขึ้นมา

อย่างไรก็ดี Orientalism เป็นทฤษฎีที่ให้น้ำหนักกับการเปิดโปงการสร้างความรับรู้ในผู้อ่าน “ฝรั่ง” ถึงความ “ล้าหลัง” ของชนพื้นเมือง

ตัวทฤษฎึจึงมีธรรมชาติซึ่งจะเล็งเป้าไปที่การรื้อทำลายความรู้ในฝั่งผู้ครอบงำที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสภาวะอาณานิคม

ผลในด้านกลับคือทฤษฎีนี้ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจนักว่าผู้ถูกครอบงำตระหนักถึงการครอบงำและการต่อต้านการครอบงำอย่างไร

หรือพูดอีกแบบคือทฤษฎีไม่ได้อธิบายว่าทำไมผู้ถูกครอบงำถึง “ตาสว่าง” จนมองเห็นบทบาทของภาษา / ความรู้ ในการสร้างการครอบงำ

ในภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent ผู้วิเศษ “ผู้เปิดโลก” ซึ่งกลายเป็นผู้ปลดปล่อยเด็กพื้นเมืองจากทรราชบาทหลวงนั้นมีมุมมองที่ตั้งคำถามกับความรู้แบบฝรั่งซึ่งปรากฏในหนังมาตั้งแต่ต้น

และถึงแม้หนังจะไม่ได้บอกว่าคาราคามาเต้พัฒนาคุณสมบัติ “ตาสว่าง” ขึ้นมาอย่างไร ผู้ชมก็อาจอนุมานได้จากปฏิกิริยาของเขาจากวิวาทะเรื่องเข็มทิศกับนักสำรวจเยอรมัน, ภูมิหลังที่มาจากชนเผ่าซึ่งถูกนายทาสไล่ล่าจนบ้านแตกสาแหรก ฯลฯ ว่าคาราคามาเต้ “ตาสว่าง” เพราะประสบการณ์ตรงจากสภาวะอาณานิคม

มองในภาพกว้างออกไป สภาพที่ประสบการณ์จากสภาวะอาณานิคมแปรรูปเป็นจิตสำนึกในการต่อต้านภาษา / ความรู้ หมายความถึงความสามารถในการเชื่อมโยง “ประสบการณ์ส่วนบุคคล” กับ “สาเหตุเชิงโครงสร้าง” ซึ่งอยู่สูงกว่าการคุกคามด้วยกองกำลังของกองทัพและนายทาส

พูดอีกแบบคือผู้วิเศษพื้นเมืองซึ่งมีมิติที่เรียกแบบไทยๆ ว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” พัฒนามิติที่เรียกแบบตะวันตกว่า “ปัญญาชนปฏิวัติ” ด้วยความสามารถเชื่อมโยงความรุนแรงในชีวิตจริงกับภาษา / ความรู้ ซึ่งเกื้อกูลให้เกิดสภาวะอาณานิคม

มุมมองว่าประสบการณ์ระดับ “พื้นเมือง” หรือ “ท้องถิ่น” ส่องทางให้เห็นความเกื้อกูลที่ ภาษา / ความรู้ มีต่อสภาวะอาณานิคมนั้นเป็นสิ่งที่นักวิชาการซึ่งจัดประเภทได้ยากอย่าง Walter Mignolo ขยายความอย่างพิสดารในงานเขียนชิ้นสำคัญชื่อ Local Histories / Global Designs

ซึ่งสรุปง่ายๆ คือเขาเสนอว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” (Local Histories) สัมพันธ์กับสิ่งที่เขาเรียกว่า “การกำหนดระดับโลก” (Global Designs) และการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอะไรที่เป็น “ท้องถิ่น” กับ “ระดับโลก” จะช่วยให้เห็นภาพใหญ่ว่า “ท้องถิ่น” เชื่อมโยงกับอาณานิคม / โลกาภิวัตน์ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกสมัยใหม่ (Modernity) อย่างไร

แนวคิดของมิงโญโล่สำคัญเพราะเขาล้มล้างมุมมองว่าอาณานิคมเป็นคำอธิบายสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่จบโดยตัวเอง เขาโจมตีว่าแนวคิดแบบอาณานิคมหรือระบบโลกสนใจมากไปอยู่สามเรื่อง

เรื่องแรก คือการขยายตัวทางภูมิศาสตร์ของทุนนิยม

เรื่องที่สอง คือการควบคุมแรงงานสำหรับผลิตสินค้าเพื่อทุนนิยมโลก

และเรื่องที่สาม คือการสร้างกลไกรัฐที่แข็งแกร่งในศูนย์กลางทุนนิยม ส่วนเขาเห็นว่าสิ่งที่มีประโยชน์กว่าคือการศึกษาว่าสภาวะอาณานิคมแต่ละท้องถิ่นนั้นสัมพันธ์กับสภาวะสมัยใหม่อย่างไร

คําอธิบายของ Mignolo เรื่องนี้ยืดยาวและซับซ้อนเกินกว่าจะนำเสนอให้ครบถ้วนและรอบด้านในเวลาและพื้นที่อันจำกัด

พูดสั้นๆ คือเขาเริ่มต้นโดยเสนอว่าโครงข่ายการค้าซึ่งทำให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติกเชื่อมโยงกันในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ส่งผลให้เกิดจินตภาพหรือ Imaginary เกี่ยวกับโลกแบบใหม่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า “การกำหนดระดับโลก” หรือ Global Designs

ซึ่งเขาให้น้ำหนักว่าหมายถึง “การรู้” และ “การเห็น” นอกจากหมายถึงแค่มิติทางเศรษฐกิจแบบแนวคิดอาณานิคม

ควรสังเกตด้วยว่าแนวคิดมิงโญโล่มีแกนกลางอยู่ที่ “จินตภาพ” หรือ Imaginary ซึ่งเขาใช้ในความหมายเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงจินตภาพต่อระบบโลกแบบอาณานิคม / สมัยใหม่ (modern/ colonial world system)

จินตภาพหมายถึงวิธีต่างๆ ที่วัฒนธรรมทำให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจต่อโลก

ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์สร้างจินตภาพต่อโลกที่เรียกว่า orbis terrarium ซึ่งแบ่งโลกจนเกิดการเขียนแผนที่โลกเป็นสามส่วนตามลักษณะเผ่าพันธุ์คือยุโรป, เอเชีย และแอฟริกา โดยแต่ละเผ่าสืบเชื้อสายจากบุตรโนอาห์แต่ละคน

หนึ่งในตัวอย่างของจินตภาพต่อโลกที่เรียกว่า orbis terrarium คือแผนที่โลกที่เขียนโดย Isidore of Seville ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์คนสุดท้ายของโลกยุคโบราณ

เขาเขียนแผนที่นี้ในหนังสือชื่อ Etymologiae ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมความรู้ที่เป็นสากลที่สุดในยุคนั้น

ประเมินว่าหนังสือและแผนที่นี้เขียนขึ้นราว ค.ศ.600-625 ตรงกับ พ.ศ.1143-1168 หรือราว 524 ปี ก่อนพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองตั้งรัฐสุโขทัย

และนักปราชญ์ของยุโรปในยุคนั้นมีจินตภาพต่อโลกดังนี้

ภายใต้จินตภาพใหญ่ต่อโลกที่ทำให้เกิดจินตกรรมด้านแผนที่โลกแบบนี้ เมื่อมีการค้นพบทวีปอเมริกาในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 16 อเมริกาก็ถูกอธิบายว่าเป็นส่วนขยายของยุโรปตามจินตภาพนี้ไปด้วย

ความรับรู้โลกที่สืบทอดจากพระคัมภีร์หลายร้อยปีก่อนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดให้ยุโรปยึดครองอเมริกาเป็นดินแดนใต้อาณานิคมได้อย่างสมเหตุสมผล ถึงแม้ความรับรู้โลกดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกับความรู้พื้นฐานทางภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในเวลานั้นก็ตาม

มุมมองเรื่องจินตภาพและแผนที่โลกตามจินตนาการที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นตัวอย่างของสิ่งที่มิงโญโล่เรียกว่า “การกำหนดระดับโลก” โดยสังเขป

พูดง่ายๆ คือมิงโญโล่กำลังบอกว่าเมื่อโลกมีอิทธิพลแบบนี้ ปรากฏการณ์ระดับท้องถิ่น หรือ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ย่อมมีร่องรอยของการถูกกำกับและวางกรอบโดย “การกำหนดระดับโลก” เยอะไปหมด ท้องถิ่นจึงเป็นช่องทางให้เข้าใจการครอบงำที่เกิดขึ้นในระดับโลกได้โดยปริยาย

ในภาพยนตร์เรื่อง Embrace of the Serpent คนพื้นเมืองมองเห็นภัยคุกคามของภาษา / ความรู้ จากความสามารถในการเชื่อมโยงเรื่องเล็กๆ สู่เรื่องใหญ่ๆ หรืออีกนัยคือจากข้อห้ามเด็กพูดภาษาพื้นเมืองกับปัญหาอาณานิคมและการกวาดต้อนคนพื้นเมืองเป็นทาส จนในที่สุดปฏิบัติการต้านอาณานิคมก็เริ่มต้นด้วยการปลดแอกเด็กพื้นเมืองจากบาทหลวงจนไม่ถูกห้ามพูดภาษาพื้นเมืองอีกต่อไป