หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’รู้’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างแอฟริกัน - ช้างเด็กๆ ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก พวกมันจะได้รับการปกป้อง ดูแลอย่างดี จะได้รับการสั่งสอน วิถีการดำเนินชีวิต เพราะพวกมันรู้ดีว่า หากในวัยเด็กไม่ได้รับการถ่ายทอดทักษะต่างๆ จากเหล่าผู้อาวุโส เวลาที่ผ่านมาของพวกมันก็จะไม่มีค่า

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘รู้’

ผมเริ่มต้นด้วยความไม่รู้

ในความไม่รู้นั้น มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ทำให้ไม่กลัว เพราะหากรู้ว่าเส้นทางที่เลือกเดินนั้นทุรกันดาร รกทึบ สูงชัน เดินยาก คงทำให้ท้อ หรืออาจเปลี่ยนใจเลือกเส้นทางใหม่ก็เป็นได้

แต่ถึงที่สุด เมื่อเลือกแล้ว สิ่งที่พบต่างๆ บนเส้นทาง ก็คล้ายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ได้เป็นสิ่งยากลำบาก มันเป็นสิ่งที่มากับงานที่เลือก

เมื่อเริ่มต้นงานถ่ายภาพสัตว์ป่ามาสักระยะหนึ่ง

ผมรู้ว่ามีสิ่งต่างๆ มากมายที่ต้องทำก่อนถึงการกดชัตเตอร์

การเดินทางไปให้ถึงแหล่งที่สัตว์ป่าอยู่ หลายแห่งไม่ง่ายเลย บางเส้นทางต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่เหมาะสม

พาหนะอย่างรถยนต์ที่ใช้งาน “นอกถนน” ได้อย่างสมบุกสมบันพอ ก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่สำคัญ

กับรถนอกถนนที่ต้องใช้มันราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำ

จำเป็นต้องมีสิ่งสำคัญ ที่มากกว่าอุปกรณ์เสริมดีๆ

 

รถใช้งานในป่าด้านตะวันตก ไม่ใช่เพียงรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่มีสมรรถนะสูงๆ ช่วงล่างเตรียมการมาอย่างดี ยางสำหรับลุยโคลน รวมทั้งวินช์ หรือรอกที่จะช่วยดึงเวลารถติดหล่ม

พาหนะแกร่งๆ อย่างเดียวไม่พอเพียง สิ่งสำคัญและจำเป็นมากๆ คือ “เด็กท้ายรถ” ที่คล่องแคล่ว และพร้อมจะผจญกับทุกเหตุการณ์

ช่วงเวลาหนึ่ง ผมร่วมทางกับผู้ชายที่ทำหน้าที่ได้ดี

เขาชื่อเดชา ชายหนุ่มจากหมู่บ้านคลิตี้

เดชามีคุณสมบัติของการทำหน้าที่ “เด็กรถ” ครบถ้วน ไม่แค่ตัวโต ล่ำสัน มีประสบการณ์ เดินทางกับรถในป่ามากมาย ได้รับทักษะต่างๆ จากเพื่อนร่วมงานรุ่นน้าๆ ลุงๆ

“ข้อเสียของเจ้าเดคือ อย่าให้หิว ถ้าเลยเวลากินข้าวแล้วไม่ได้กิน ได้เห็นมันออกฤทธิ์ แสดงอารมณ์เสีย หงุดหงิดแน่ ผมเคยด่าเรื่องนี้ มันโยนเครื่องมือโครม เดินกลับเขตเลย ทิ้งผมให้ซ่อมรถอยู่กลางป่าคนเดียวอย่างงั้นแหละ” บุญชัย มีศักดิ์เป็นอาเดชาเล่าให้ฟัง

บุญชัยคือช่างใหญ่ เขาถ่ายทอดทักษะช่างให้เดชาซึ่งมีแววทางนี้ไม่น้อย

บนทางทุรกันดาร การต้องซ่อมรถในป่าคือเรื่องปกติ

หากไม่หนักหนามากพอซ่อมได้ คันชัก คันส่งหัก แหนบพัง แชสซีส์ขาด ใช้ยางในมอเตอร์ไซค์ตัดเป็นชิ้นยาวๆ มัด หรือบางทีตัดไม้มาเป็นอะไหล่แทนก่อน

“ต้องเลือกไม้เป็นนะ หาที่ไม่ใช่เนื้อแข็งมาก เอามาเหลาให้เท่าๆ ชิ้นส่วนที่ต้องการพอเอารถออกมาให้ได้” บุญชัยสอนเดชา

ถ้าหนักหนาจริงๆ ก็ถอดชิ้นส่วนนำไปเป็นตัวอย่าง เดินแบกออกมาถึงสำนักงานเขต และเข้าไปซื้อในเมือง เอากลับมาเปลี่ยนในป่า

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับรถวัยชรา อายุการใช้งานกว่า 20 ปี

กับ “เจ้านิค” พาหนะที่มีอายุไม่ถึงปี ก็พบกับสภาพนี้เช่นกัน

“ทางที่นี่ก็อย่างนี้แหละครับ” บุญชัยช่างใหญ่พูดถึงงานที่ทำสั้นๆ อย่างได้ใจความ

 

หล่มลึกข้างหน้า ผมรู้ดีว่ารถลงไปจะติดทุกครั้ง จึงไม่ดิ้น หรือปั่นให้เสียเวลา

เดชากระโดดลงจากกระบะ เดินมาปลดสายวินช์ ลากไปคล้องต้นไม้อย่างรวดเร็ว

เขาให้สัญญาณมือ ผมกดสวิตช์ ลากสายวินช์เข้า ใส่เกียร์หนึ่ง เหยียบคันเร่งเบาๆ รถค่อยๆ เคลื่อนจากหล่ม

มาได้อีกราวหนึ่งกิโลเมตร เนินชันๆ ข้างหน้าเป็นร่องลึกและลื่น

“เร่งส่งเลยครับ ข้างล่างไม่มีหิน ไปให้สุด ติดแล้วค่อยวินช์”

เดชาตะโกนบอกมาจากด้านหลัง

ผมพารถมาได้กว่าครึ่งเนิน กระทั่งรถขยับไม่ไป เดชาลากสายวินช์ไปคล้องต้นไม้ ช่วยโยกสายสะลิงเป็นจังหวะ

ผมเหยียบคันเร่งสลับผ่อน โคลนกระเด็นออกข้าง บางส่วนเข้ามาในรถ

“ตอนรถติด อย่าเร่งอย่างเดียว ต้องมีผ่อนด้วย มันถึงจะไปต่อได้” ทุกครั้งที่รถติด คำสอนของพ่อแบบนี้จะแว่วเข้ามาเสมอ

และคำสอนนี้ ผมไม่ได้ใช้เพียงเวลารถติดเท่านั้น

 

ผมมองหน้าเดชาที่จ้องการทำงานของวินช์เขม็ง หน้าเขายังปกติ ไม่ขมวดคิ้ว หรือดูกังวล แสดงว่าวินช์ทำงานได้ดี

วินช์คืออุปกรณ์สำคัญของเรา และมักจะเสีย ใช้ไม่ได้เสมอ ในตอนที่เราอยู่ในสภาวะคับขัน

“ยอดไปเลยครับ ตัวนี้แรงดีมาก” เดชาพูดถึงวินช์ตัวใหม่ที่ผมซื้อมาแทนตัวเก่าที่พัง

เราใช้เวลาพักใหญ่ รถพ้นเนินชัน

เส้นทางข้างหน้าแม้จะลื่นไถล แต่พอไปได้ และไม่ถึงขนาดที่เดชาต้องกระโดดลงจากท้ายรถ

 

ร่วมสามทุ่มแล้ว เหลือระยะทางราวๆ 10 กิโลเมตรจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่า อันเป็นจุดหมาย

ที่นั่นมีบ้านพักอุ่นๆ กับข้าวร้อนๆ เราวิทยุแจ้งไปแล้ว เพื่อนๆ ที่นั่นจะเตรียมไว้ให้

ขอเพียงเราไปให้ถึงเท่านั้น

เดชาร้องเพลงอย่างอารมณ์ดี แม้ว่าจะเลยเวลากินมานาน

เขาแกะบะหมี่สำเร็จรูปในกล่องเสบียง เคี้ยวกินไปบ้างแล้ว

ผมไม่รู้หรอกว่าจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากี่โมง เพราะระยะทางสั้นๆ ที่เหลือ หนักหนาเอาการ

จากหน่วย ผมกับอดิเทพจะเดินอีกครึ่งวันจึงจะถึงจุดหมายที่จะทำงาน

“ระวังหลุมลึกทางซ้าย ชิดขวาไว้ครับ” เดชาทำหน้าที่เหมือนเนวิเกเตอร์

เขาร้องเพลงเสียงดังขึ้น นั่นหมายถึง เราถึงช่วงยากสุดของเส้นทางแล้ว

ฝนตกพรำๆ ตอนถึงหน่วย

ข้าวเย็นชืดในหม้อ เราตักใส่จานกินในตอนตีสอง…

 

ในป่า อุปกรณ์ดีๆ คือสิ่งจำเป็น แต่สิ่งจำเป็นยิ่งกว่าคือ มี “เด็กท้ายรถ” อย่างเดชา

คู่หูผมไม่ “ปลื้ม” เดชานักหรอก โดยเฉพาะวิธีการเลี้ยงดูลูก

เดชาถูกให้ออกจากงาน หลังจากก่อ “คดี” ที่หัวหน้าไม่ให้อภัย

ว่าตามจริง เขาเป็นชายหนุ่มที่ใจร้อน โผงผาง หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายๆ ทำงานไม่เข้าตาใครนัก

แต่ชีวิตในป่าสอนให้ผมรู้ว่า บนเส้นทางทุรกันดาร เคยร่วมทางมากับใคร

ข้อสำคัญ ทำให้ผม “รู้” ว่า จะจดจำผู้ร่วมทางผู้นั้นอย่างไร