ลึกแต่ไม่ลับ : มาตรา 61 วรรค 2

จรัญ พงษ์จีน

ในที่สุด “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ลงมติวินิจฉัย ว่าด้วยการ “พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2559” มาตรา 61 วรรค 2 มีปัญหาความชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 ตามมาตรา 4 หรือไม่

โดยมีมติออกมา “เอกฉันท์” ว่า ไม่ขัดหรือแย้ง จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557

ห้องเครื่องของการตีความ “พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ” มาตรา 61 วรรค 2 เคาะประเด็นเปิดเกม จาก “นายจอน อึ๊งภากรณ์” ในฐานะ ผู้อำนวยการโครงการ อินเตอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” และประชาชนจำนวน 107 คนเข้าชื่อสนับสนุน

โดยยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะเข้าข่าย เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้

ทั้งนี้ “พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” มีทั้งหมด 66 มาตรา ความยาว 21 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกเสียง การแบ่งเขตออกเสียง การนับคะแนน และการประกาศผล ซึ่งไม่มีปัญหา

แต่ มาตรา 61 ซึ่งมี 6 วรรค หรือ 6 ย่อหน้า ผู้ร้องเห็นว่า วรรค 2 ซึ่งมีอยู่ 4 บรรทัด

เนื้อหาแห่งวรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง

หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง

ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

และกำหนดโทษว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้

เข้าข่ายมีปัญหาความชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 4

ทั้งนี้ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ มีตัวอย่างที่คล้ายกับกรณีคำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2546” ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 198 ว่า

พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 12 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากฎหมายดังกล่าวบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลสามีเท่านั้น “ทำให้ชายและหญิงไม่มีสิทธิเท่าเทียมกัน เกิดความไม่เสมอภาคทางกฎหมายด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล”

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้น วินิจฉัยว่า “พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ” เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 30 ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งผลที่ตามมาภายหลังคำวินิจฉัย คือ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล มาตรา 12 ถูกยกเลิกเพียงมาตราเดียวเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม หัสเดิมมีการตั้งโจทย์ไว้ว่า หาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรค 2 เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว แห่งมาตรา การทำประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ เพราะยังมีเครื่องทุ่นแรงอื่นอีกหลายเล่ม เป็นต้นว่า การยุยงปลุกปั่น การปล่อยข่าวลือที่เป็นเท็จ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาอยู่แล้ว หรือการโพสต์ข้อความผิดทางสื่อออนไลน์ เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ก็เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

และเหนือสิ่งอื่นใด ในภาวะปัจจุบัน ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่องขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารอยู่แล้ว

ดังนั้น การที่ “ศาลรัฐฌธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า ไม่ขัดหรือแย้ง ก็ยิ่งทำให้การออกเสียงประชามติ ในไม่กี่วันข้างหน้ายิ่งเดินหน้าด้วยความราบรื่น

เลิกวอกแวกวอแว หันมาจดจำ เตรียมพร้อมกันเพื่อลงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ดังต่อไปนี้คือ

1. เริ่มออกเสียงประชามติ คูหาเลือกตั้งเปิดหีบเวลา 08.00 น. ปิดหีบ 16.00 น. ผู้ไปใช้สิทธิอย่าลืมบัตรประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย

2. ไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า หรือลงคะแนนออกเสียงนอกประเทศไทย

3. ออกเสียงนอกพื้นที่ได้ ถ้าไม่สะดวกกลับบ้าน สำหรับใครก็ตามที่ไม่สามารถออกเสียงประชามติที่บ้านตามที่อยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน สามารถออกเสียงนอกพื้นที่ได้ 3 ช่องทางคือ ยื่นผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ทางไปรษณีย์ และยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น

4. อายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียงมีสิทธิออกเสียง (เกิดไม่เกิน 7 สิงหาคม 2541) ใครที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียงประชามติ (เกิดไม่เกิน 7 สิงหาคม 2541) ก็มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงได้แล้ว โดยก่อนวันออกเสียง กกต. จะจัดส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านเพื่อแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่เกินวันที่ 22 กรกฎาคม 2559

ซึ่งหากรู้ว่าตัวเองมีสิทธิแต่ไม่มีรายชื่อ ต้องไปเพิ่มรายชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2559

5. การลงมติมีสองคำถาม คือ คำถามแรก “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ ทั้งฉบับ”

คำถามที่สอง “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ที่ให้วุฒิสมาชิกแต่งตั้งร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรี ในระหว่าง 5 ปีแรกของรัฐธรรมนูญ”

ถึงโค้งนี้ การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม “ผ่าน” เป็นต่อ “ไม่ผ่าน” ครึ่งควบลูก