จับเข่าคุย ‘วิโรจน์ อนาคตใหม่’ ทำไมถึงมุ่ง “ทหาร” และความในใจ “พวกเราไม่กลัวการยุบพรรค”

อีกหนึ่ง “ดาว” ที่น่าจับตาในสภา คือ “ลีลา” การอภิปรายของ ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยได้ตั้งกระทู้และบรรยายเรื่องของกองทัพได้อย่างน่าสนใจ

มติชนสุดสัปดาห์จึงพาไปรู้จักมุมคิดและตัวตนของบุคคลนี้

วิโรจน์เล่าย้อนเหตุการณ์ และยอมรับคำว่า ไม่ได้ตั้งใจเป็น ส.ส.-นักการเมืองแบบที่เป็นอยู่นี้แต่แรก

เพียงแค่มีความปรารถนาที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อยากเห็นความแตกต่างหลากหลายที่คนอาจจะสุดขั้วกัน สามารถคุยกันได้ ตกลงกันได้ หาจุดในการตัดสินใจเพื่อให้มันไปต่อได้

ไม่อยากเห็นสังคมที่มีผู้ถืออำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อจะล้มอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ โดยที่ไม่คำนึงถึงกติกาใดๆ

มาวันหนึ่งฝ่ายถืออำนาจดันทำผิดกฎหมายหรือทำในสิ่งที่เคยต่อว่าอีกฝ่ายไว้โดยลืมสิ้น สังคมไทยจึงกลายเป็นหลายมาตรฐาน ไม่ใช่แค่ 2 มาตรฐาน การแบ่งขั้วและความเกลียดชังยิ่งมีมากขึ้นเข้าไปเรื่อยๆ

เราอยากเห็นสภาพเหมือนกับทุกๆ สังคมที่เราอยู่กันได้ ปรองดอง พอแพ้แล้วสู้ภายใต้กติกา นำเสนอสิ่งให้ประชาชนตัดสินใจ

“เราอยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปได้จริงๆ เพราะว่าตอนเด็กๆ ที่เราเรียนหนังสือทุกคนจำได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา พอเราโตขึ้นมาจนตอนนี้อายุ 42 แล้วนะครับ ประเทศเราก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาเหมือนเดิม แต่เดิมเคยเชื่อว่าการที่ประเทศจะพัฒนาไปได้มันยาก มันต้องใช้เวลา”

โมเดลที่สำคัญที่เราเห็นคือเกาหลีใต้ ก่อนปี 1970 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP เรากับเขาไม่ได้ต่างกันเลย เรามากกว่าเขาด้วยซ้ำไป ในบางปี สมัยหนึ่งเมื่อเรายังเด็ก หากเราซื้อผลิตภัณฑ์แบรนด์เกาหลีนะ ก็จะเกิดคำถามรู้สึกว่าทำไมคุณไปซื้อของเขา เพราะจากญี่ปุ่น made in Japan น่าจะดีกว่า แต่สุดท้ายวันนี้เกาหลีก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ หรือ Samsung กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกไปแล้ว เกาหลีใต้ถูกพูดถึงในเวทีโลกแล้ว

ถ้าเราตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศได้อย่างนั้น ก็มาคิดต่อว่าเราทำอะไรได้บ้าง?

จากนั้นพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาตรงกับสิ่งที่เราต้องการในการพัฒนาประเทศและต้องการทางสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความหลากหลายและแตกต่าง โดยผ่านการชักชวนกันในกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

จุดเริ่มต้นเลยแค่เพื่อนบอกว่ามาสมัครแล้วก็มาร่วมกันโหวตให้พรรค ที่สนามกีฬาธรรมศาสตร์ เราก็เป็น 500 คนแรก คิดว่ามีบทบาทแค่นั้นก็จบ

แต่พรรคไม่จบ! ด้วยความใจกว้าง เขาก็เชิญชวนให้ไปร่วมทำการรณรงค์การเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องทำอย่างไรบ้าง เชิญชวนเรามาร่วมแสดงความคิดเห็น เราเองยังแปลกใจเลยว่ามีพรรคการเมืองแบบนี้อยู่ด้วยหรือ

เราเองยังคิดว่าแค่สมัครสมาชิกแล้วคอยรับจดหมายข่าวจากพรรคแค่นั้นก็พอ เป็นเพียงกองเชียร์อยู่ห่างๆ

แต่เมื่อพรรคชวนเข้าร่วมกิจกรรมไปแสดงความคิดเห็นแล้วก็พยายามไป ปรากฏว่าเขารับฟัง มีการประมวลความเห็นของทุกคนไปปรับแล้วก็ชวนเรามาซ้ำอีก ก็รู้สึกว่ามีด้วยเหรอพรรคการเมืองที่ฟังเสียงเรา

พอเราได้เข้าไปสัมผัสเรื่อยๆ แล้วเห็นกระบวนการรับฟังความหลากหลาย แล้วพร้อมปรับอยู่เสมอ

จากนั้นมาก็ร่วมกิจกรรมมาเรื่อยๆ จนในที่สุดบรรดาน้องๆ ในพรรคก็มาชวนให้เราลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่

เราก็คิดอยู่นาน จนคิดเล่นๆ ว่าโอเคอย่างน้อยเราก็ไม่ได้มีประวัติไม่ดี ก็ไปเพียงแค่มีชื่อทำให้บัญชีรายชื่อของพรรคสมศักดิ์ศรี จนได้ผ่านกระบวนการของพรรค ประกอบกับช่วงเลือกตั้งการตอบรับและความคาดหวังของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พวกเราได้เข้าสู่สภา

ย้อนไปก่อนหน้านั้นจริงๆ วิโรจน์เล่าว่า การเป็นนักการเมืองไม่เคยมีแวบเข้ามาในหัวเลย

แต่เราอยากแค่เสนอนโยบาย ช่วงวันที่จะสมัครยังคิดอยู่เลยว่า จะไปขายเครื่องเขียน และทำร้านเย็นตาโฟ คือวางแผนไว้แบบนั้นแล้ว หลังจากเราลาออกจากงานประจำมาได้สักพัก ตัวเองมีประสบการณ์ด้านการศึกษา มีประสบการณ์ด้านการค้าปลีก เราก็เลยคิดว่าเราจะเอาอุปกรณ์การเรียนการสอนมาขายในโรงเรียน หรือสื่อการเรียน เพราะช่วงนั้นมีเวลาว่างเยอะก็ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรมพรรคได้หน่อย

เมื่อพอเราได้เป็น ส.ส.ขึ้นมา ก็ต้องทบทวนตัวเองใหม่ ก็ตั้งใจจะทำให้เต็มที่ให้ดีที่สุด เมื่อได้รับโอกาสมาแล้ว แม้ว่าคนจะมี “ภาพจำ” ว่าเราอภิปรายกองทัพได้ในหลายครั้ง วิโรจน์ชี้ว่าไม่ใช่ว่าจะเจาะจงเฉพาะหน่วยนี้ แต่สังคมเรามันจะไปต่อได้ต้องยอมรับความจริงกันว่าต้องมีความโปร่งใส ไม่ใช่ว่าผ้าขาวไปวางอยู่บนพรมและปล่อยให้มีการยกเว้นที่อธิบายไม่ได้

เราย้อนดูสังคมที่ศิวิไลซ์ กฎหมายใดๆ ระเบียบต่างๆ เขาบังคับใช้กับทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น แต่บ้านเรานั้นแปลก พอจะมีการยกเว้นอะไรก็ตาม หาจุดเล็กน้อยมาเขียนให้เป็นข้อยกเว้นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มหนึ่งหรือเล่นงานอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสังคมแบบนี้มันไปต่อไม่ได้

ภาพที่ฉาบเอาไว้กับความเป็นจริงมันไม่สอดคล้องกัน

ทุกคนในประเทศนี้ เรารักชาติเหมือนกันหมด แต่รายละเอียดในความรักชาติต้องตรวจสอบได้ด้วย ฉะนั้น สิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดคือให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องและข้อเท็จจริงที่ประชาชนตรวจสอบได้ ถ้ามีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหรือถูกตั้งข้อสังเกต กองทัพควรจะต้องมีเหตุผลในการอธิบาย สังคมมันไปต่อได้ต้องมีความเชื่อใจต่อกัน

ยังมีอีกหลายกระทรวงที่เราอยากจะเข้าไปแตะประเด็นสำคัญตรงนี้เพื่อให้เกิดสิ่งที่อธิบายได้กับสังคมและโปร่งใส

“เราไม่สามารถไปต่อได้หรอกกับคนที่ไม่อาบน้ำแล้วมาใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เนื้อตัวเขาต้องสะอาดด้วย ต่อให้คุณฉีดน้ำหอมยังไง ใส่เสื้อผ้าซักยังไง มันจะสะอาดเพียงแค่ชั่วครู่ ท้ายกลิ่นมันจะออกมา เราต้องการให้เกิดการอาบน้ำ”

สําหรับกองทัพ ทุกครั้งที่ผมตั้งข้อสังเกต หรือค้นคว้าข้อมูล เท่าที่ค้นหาได้ ทุกครั้งที่เราพยายามหาคำตอบยิ่งไม่ได้คำตอบ หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกัน

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องของ “พลทหาร” และจำนวน เหตุผลสำคัญเพราะพวกเขาคือเพื่อนเรา น้องเรา คนในครอบครัวเรา การมีพลทหารมันต้องแลกอะไรหลายอย่าง ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้โอกาสในการประกอบอาชีพของคนที่ต้องมาเกณฑ์ทหาร บางคนเขามีภาระต้องดูแลครอบครัว คุณแม่ คนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในครอบครัว บางคนเป็นเสาหลัก เป็นผู้ที่หาเลี้ยงดูครอบครัว เป็นกำลังสำคัญในการดูแลหายไปเลย

สิ่งที่เราต้องมาทบทวนก็คือ กำลังที่เรามีอยู่ตอนนี้ 120,000 เราตั้งคำถามง่ายๆ ว่าจำเป็นจริงๆ แล้วต้องการกี่นายกันแน่?

แล้วด้วยสภาพสังคม การเมืองและเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศมันเปลี่ยนไปแล้ว บริบทในความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เปลี่ยน เราควรจะเอางบฯ ส่วนนี้ไปลงทุนในเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อมาปกป้องพลทหารอีกทีจะดีกว่าหรือไม่ กับการที่เราจะเพิ่มคน เรากลับได้รักษาคนที่มีอยู่ผ่านเทคโนโลยีให้เขามีความปลอดภัยที่ดีขึ้น

มันเป็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นร่วมกันในหมู่ประชาชน

แต่บางคนก็ชอบมองว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นศัตรูกับกองทัพกับทหาร

ผมขอเถียงเลยถ้าเราเป็นศัตรูกับเขา จะมีทหารบางคนกล้าเข้ามาร้องทุกข์กับเราเหรอ มาร้องเรียนกับเราหรือ

ทุกครั้งที่มีปัญหาภายใน เรามักได้รับข้อมูล ล้วนมาจากทหารเองทั้งสิ้นที่เขารู้สึกอยากให้เราเข้าไปตรวจสอบ

พวกเราจึงเป็นเพียงคนที่ต้องกล้าตั้งข้อสังเกตที่เป็นผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน

นี่คือสิ่งที่เราพยายามที่จะวางบทบาทของเราตรงนั้น

พอมาวันนี้เราก็เห็นว่ากองทัพก็พยายามชี้แจงว่าได้มีการดูแลสวัสดิการของพลทหารดีขึ้น โดยมีคำสั่งออกมาจากผู้บังคับบัญชา

ต่อคำถามว่า “อนาคตของพรรค”

วิโรจน์มองว่าหากมองดูดีๆ แล้วทำไมหลายๆ คนไม่กลัวการยุบพรรค

เราก็รู้กันแล้วว่ายุบก็แค่ “เปลี่ยนชื่อ” กลไกในการขับเคลื่อนมันยังเหมือนเดิมเพราะเราเป็นพรรคของมวลชนประชาชนที่ให้การสนับสนุนเราอยู่

เราไม่ได้มีความเป็นบริษัท ที่บริหารด้วยคนไม่กี่คน การถูกยุบจึงไม่กลัว เราต้องขับเคลื่อนต่อได้เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ ซึ่งแคแร็กเตอร์ยังคงเหมือนเดิม

ผมเองยังเคยพูดเล่นๆ กันกับเพื่อนเลยว่า ลองหลับตาแล้วจินตนาการดูว่า หากไม่มีพรรคอนาคตใหม่ในการเมืองไทย มีเพียงพรรคที่มีอยู่มา

แล้วการเมืองเราต่างอะไรจากอดีตบ้าง?