สุรชาติ บำรุงสุข | ภูมิรัฐศาสตร์ 2020 : รัฐมหาอำนาจกับการเมืองโลก

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามทั้งหลายล้วนเป็นตัวแทนของความล้มเหลวทางการทูต”

Tony Benn

หากพิจารณาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวทีโลกแล้ว

เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ศูนย์กลางของปัญหาขึ้นอยู่กับการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่เป็นสำคัญ

การแข่งขันนี้ปรากฏทั้งในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามเศรษฐกิจ และอาวุธนิวเคลียร์

ดังนั้น บทความนี้จะสำรวจการแข่งขันใน 8 ประเด็นหลักสำหรับปี 2020

1)การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่

การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสถานการณ์ที่มีนัยหมายถึง การแข่งขันในการขยายอิทธิพลไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองโลก

ดังเช่นที่เป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญในการเมืองโลกในหลายปีที่ผ่านมา

การแข่งขันเช่นนี้ในด้านหนึ่งบ่งบอกถึงการเติบใหญ่ของจีนในระดับโลก ที่คงจะต้องยอมรับถึงสถานะที่เป็นจริงว่า จีนเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ และจีนเองก็แสดงบทบาทให้เห็นว่าจีนเป็นเช่นนั้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเมืองโลกเป็นเวทีที่มีสหรัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักมาตั้งแต่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น การก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของจีน จึงกลายเป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์โดยตรงต่อสหรัฐ

และความท้าทายเช่นนี้นำไปสู่การแข่งขันในเชิงอำนาจและอิทธิพลครั้งสำคัญระหว่างสองฝ่าย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดความกังวลว่า เรากำลังก้าวสู่การก่อตัวของสถานการณ์โลกปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นดัง “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21” (The 21st Century Cold War)

และสภาวะเช่นนี้จะมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดความเป็นไปของโลกทั้งในปี 2020 และในปีถัดๆ ไป

อีกทั้งการแข่งขันนี้น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้บุคลิกของผู้นำทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ การแข่งขันเช่นนี้ยังนำไปสู่คำถามสำคัญของการเมืองโลกว่า สภาวะเช่นนี้จะนำไปสู่การเกิด “สงครามใหญ่” ระหว่างรัฐมหาอำนาจทั้งสองหรือไม่

อีกนัยหนึ่งในทางทฤษฎี การแข่งขันนี้จะกลายเป็น “กับดักของทูซิดิดิส” (The Thucydides Trap) ที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจหรือไม่ในอนาคต

หรือสงครามระหว่างนครรัฐกรีกจะหวนกลับมาในศตวรรษที่ 21 อีกหรือไม่

2)สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

การต่อสู้ในเวทีการเมืองโลกที่เข้มข้นนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือ การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการกดดันจีน อันนำไปสู่สภาวะ “สงครามการค้า” ระหว่างรัฐมหาอำนาจทั้งสอง

ในภาวะเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า สงครามการค้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของสองมหาอำนาจในเวทีโลก ประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างมากก็คือ สถานะของโลกที่มีการขับเคลื่อนด้วยสงครามการค้านั้น

โลกาภิวัตน์ยังคงมีพลังมากน้อยเพียงใดในการผลักดันกระแสเศรษฐกิจโลก และการค้าเสรีของโลกซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งที่สำคัญของโลกาภิวัตน์จะยังดำรงอยู่ได้เพียงใดในสถานการณ์การต่อสู้ดังกล่าว

หรืออีกนัยหนึ่งการประชุม G-7 ของบรรดารัฐมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ยังคงมีพลังและอำนาจในการทิศทางเศรษฐกิจโลกได้เพียงใด เพราะผู้นำสหรัฐปัจจุบันให้ความสนใจกับการกดดันจีนด้วยมาตรการของการตั้ง “กำแพงภาษี”

และอาจจะต้องยอมรับว่า สงครามชุดนี้มีผลกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนอย่างหนีไม่พ้น

และปัญหานี้ในปัจจุบันคือ ภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการยกระดับจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ ขึ้นสู่ระดับการต่อสู้ในแบบของสงคราม เป็นแต่เพียงสงครามครั้งนี้อยู่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจมากกว่าทางทหาร

แต่อย่างน้อยปัจจัยเชิงบวกเกิดขึ้นเมื่อสหรัฐและจีนสามารถลงนามข้อตกลงทางการค้ารอบแรกได้ ซึ่งจะลดแรงกดดันของปัญหานี้ลงได้มาก

3)ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

ผลจากการเปิดสงครามการค้าของสหรัฐที่มุ่งเป้าไปสู่การจำกัดการเติบโตของจีนนั้น มีกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของโลกโดยตรง

ดังจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในปี 2019 จะยังคงมีความผันผวนสืบเนื่องในปี 2020 อีกทั้งหลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากว่า

ความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ในด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐมหาอำนาจชะลอตัวลง ตลอดรวมถึงกับบรรดาประเทศเล็กๆ ก็มีผลไม่แตกต่างกัน

และในอีกด้านจากสภาวะเช่นนี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบ และกลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก (global recession) และอาจส่งผลให้หลายประเทศผลักดันนโยบาย “เศรษฐกิจแบบชาตินิยม” มากขึ้นในอนาคต

อีกทั้งผลกระทบอาจจะเกิดอย่างมากกับประเทศเล็กที่เป็น “ห่วงโซ่การผลิต” และต้องพึ่งการส่งออกวัตถุดิบไปยังตลาดทั้งสอง ผลที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดจากปี 2019 ต่อเข้าปี 2020 ก็คือการหดตัวของตลาดและการลดลงของการผลิตในเวทีโลก

แต่อย่างน้อยการลงนามในข้อตกลงทางการค้ารอบแรกจะมีส่วนช่วยอย่างมากกับประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิต

4)การขยายอิทธิพลของจีนผ่านเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน

หากพิจารณาจากภาพภายนอกแล้ว โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (OBOR) ที่ในปัจจุบันได้ถูกปรับให้เป็นโครงการ “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) เป็นโครงการที่สร้างการเชื่อมต่อข้ามภูมิภาคอย่างน่าสนใจ

ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งหากคิดในเชิงบวกแล้ว

การเชื่อมต่อดังกล่าวจะทำให้ภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่แยกจากกันในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์จะถูกดึงเข้ามาให้มีความใกล้ชิดต่อกันทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

แต่ในอีกด้านก็ทำให้เกิดความกังวลของหลายประเทศที่มองว่า การสร้างเครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนนั้น จะนำไปสู่การขยายอิทธิพลของจีนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรือเป็นการส่งออกอิทธิพลจีนผ่านระบบโลจิสติกส์ใหม่ ทั้งยังทำให้อำนาจในการปิดล้อมของสหรัฐตามแนวคิดของยุคสงครามเย็นที่มีจีนเป็นเป้าหมาย ไม่อาจกระทำได้จริงเช่นในอดีต

นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายของเส้นทางคมนาคมดังกล่าวยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจีนในการก่อสร้างระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่

ดังเช่นที่เห็นได้จากการขยายตัวของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงภายในจีน เป็นต้น

การสร้างอำนาจผ่านเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ของจีน จึงเป็นดังการขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในอีกแบบนั่นเอง

5)การปรับยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐในเอเชีย

หากพิจารณาในกรอบทางยุทธศาสตร์แล้ว จะเห็นถึงความพยายามของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการสร้าง “กรอบคิดทางยุทธศาสตร์ใหม่” ของสหรัฐในการต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของจีนในปัจจุบัน

อันนำไปสู่การจัดทำ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (The Indo-Pacific Strategy)

และเท่ากับว่าผู้นำสหรัฐได้ยกเลิกแนวคิดทางยุทธศาสตร์เดิมที่เป็น “เอเชีย-แปซิฟิก” (The Asia-Pacific Strategy) การปรับยุทธศาสตร์ใหม่เช่นนี้ยังนำไปสู่ความพยายามที่จะสร้างระบบพันธมิตรใหม่ ที่มีความเป็น “จตุรมิตร” (The Quad) ที่ยืนอยู่บนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของสี่ชาติพันธมิตรหลัก ได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ใหม่นี้ยังบ่งชี้ให้เห็นถึงการขยายพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอาณาบริเวณครอบคลุมสองมหาสมุทรภายใต้ยุทธศาสตร์เดียว

ทั้งที่หากพิจารณาจากอาณาบริเวณแล้ว การใช้ “ยุทธศาสตร์สองมหาสมุทร” ของสหรัฐและชาติพันธมิตรเป็นความท้าทายอย่างมาก

และมีคำถามในทางปฏิบัติอย่างมากว่า สหรัฐจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ได้มากน้อยเพียงใด

และยุทธศาสตร์นี้จะรับมือกับการขยายตัวของจีนในภูมิภาคนี้ได้เพียงใดปี 2020

อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐจะทำให้เกิด “ระเบียบระหว่างประเทศใหม่” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและในมหาสมุทรอินเดียหรือไม่

และการปรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็คือการวางแนวทางยุทธศาสตร์ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของสหรัฐ

6)การฟื้นบทบาทของรัสเซียในการเมืองโลก

หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่ตามมาด้วยสภาวะของการเมืองโลกที่เป็นแบบ “ขั้วเดียว” (unipolar) ที่มีการล่มสลายของสหภาพโซเวียต-รัสเซียเป็นสัญลักษณ์สำคัญ

สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจหลักของโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

ขณะเดียวกันการลดลงของอิทธิพลของค่ายที่นำโดยฝ่ายโซเวียตในการเมืองโลก บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า โลกแบบ “สองค่าย” (bipolar) ได้สิ้นสุดลงเช่นกัน

นับจากช่วงเวลาดังกล่าว เราอาจจะเห็นการกำเนิดใหม่ของรัสเซีย แต่ก็แทบไม่เคยเห็นบทบาทในการเมืองโลกอย่างจริงจัง

จนกระทั่งในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจึงเริ่มเห็นการฟื้นตัวของรัสเซียกลับสู่ความเป็นมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรัสเซียในพื้นที่บอลติก ในวิกฤตยูเครน

และที่สำคัญคือการกลับมาของบทบาททางทหารของรัสเซียในตะวันออกกลาง ผ่านสถานการณ์สงครามกลางเมืองในซีเรีย เป็นต้น

บทบาทเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นถึงการหวนคืนบทบาทของรัสเซียในการเมืองโลก

แม้ในอีกด้านเศรษฐกิจของรัสเซียอาจจะยังไม่เข้มแข็งมากจนสามารถแบกรับบทบาทในเวทีโลกได้ทั้งหมดก็ตาม

และน่าสนใจว่าบทบาทของรัสเซียในการเมืองโลก และโดยเฉพาะกับการเมืองตะวันออกกลางและในภูมิภาคบอลติกในปี 2020 จะเป็นเช่นไร

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับรัสเซียที่หวนกลับมาเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์อีกครั้งทั้งในบริบทของยุโรปและตะวันออกกลาง

ซึ่งก็คือภาพสะท้อนของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในปัจจุบัน

7)การกลับมาของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์

หนึ่งในความกังวลอย่างมากในเวทีโลกนับจากกลางปี 2018 เป็นต้นมา ได้แก่ ท่าทีของผู้นำสหรัฐ (จากการเสนอแนะของที่ปรึกษาด้านความมั่นคง) ที่ต้องการให้สหรัฐถอนตัวจากความตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางในยุโรป (The Intermediate-range Nuclear Forces Treaty : INF Treaty) ที่ผู้นำสหรัฐและสหภาพโซเวียตลงนามในปี 1987

ความตกลงนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวลาต่อมา

และเป็นสัญญาณที่ดีที่ชี้ให้เห็นถึงการลดความตึงเครียดด้านอาวุธนิวเคลียร์ของยุโรป

อีกทั้งยังเป็นความหวังว่า ปัญหาความมั่นคงในยุโรปจะไม่ถูกแก้ไขด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือ

ดังนั้น เมื่อผู้นำสหรัฐแสดงท่าทีที่จะถอนตัวจากความตกลงนี้ ด้วยข้อกล่าวหาว่าฝ่ายรัสเซียได้แอบพัฒนาอาวุธในระดับนี้

ซึ่งหากสหรัฐตัดสินใจยุติที่ลงนามต่ออายุความตกลงนี้ ปัญหาที่ตามมาย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงด้านอาวุธนิวเคลียร์ของยุโรป

ขณะเดียวกันการกระทำเช่นนี้คือ การเปิดประตูไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 21

และหากการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางขยายตัวมากขึ้นแล้ว การแข่งขันอาวุธชนิดนี้อาจขยายตัวจากยุโรปเข้าสู่เอเชียด้วย

แม้ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังในปี 2019 แต่ประเด็นเช่นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองในปี 2020

และในมุมมองของวอชิงตันแล้ว ความเหนือกว่าทางด้านนิวเคลียร์ ยังคงเป็น “แต้มต่อ” ที่สำคัญของสหรัฐ

8)ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

หนึ่งในประเด็นของการเมืองในระดับภูมิภาคที่อาจขยายตัวเป็นความขัดแย้งใหญ่ได้คือ ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ประเด็นนี้ด้านหนึ่งเป็นปัญหาระหว่างจีนกับบรรดาประเทศผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในบริเวณดังกล่าว

และเป็นปัญหาที่ไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในแบบที่ไม่เปิดโอกาสให้รัฐอื่นที่อ้างกรรมสิทธิ์เข้ามามีส่วนได้ประโยชน์จากพื้นที่แถบนี้

อันส่งผลให้ปัญหานี้จะอยู่กับภูมิภาคไปอีกในระยะยาว

แต่ในอีกด้านของปัญหา การอ้างกรรมสิทธิ์แบบ “ครอบคลุมทั้งหมด” ของจีนในมุมมองของฝ่ายตะวันตกนั้น กลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อ “เสรีภาพในการเดินทะเล” ในพื้นที่แถบนี้

และยิ่งจีนมีท่าทีที่ใช้อำนาจทางทหารในการแก้ปัญหานี้มากเท่าใด ก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพยานของการเป็น “ภัยคุกคามของจีน” มากเท่านั้น

การขยายและพัฒนาสิ่งปลูกสร้างทางทหารบนเกาะเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดี การขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในทะเลจีนใต้จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายกับบทบาทของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างมาก

การนำเสนอข้อพิจารณาทั้ง 8 ประเด็นในข้างต้นเพื่อชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นสำคัญ

และประเด็นนี้มีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตของโลก แม้ว่าประเด็นส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในปลายปีนี้

แต่กระนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำของรัฐมหาอำนาจใดก็ตาม การต่อสู้และแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่จะดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

และแน่นอนว่าปัญหานี้จะยังคงเป็นโจทย์การเมืองโลกที่สำคัญในปี 2020

และยังรวมถึงความกังวลใหญ่ในปีนี้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะขยายตัวและพัฒนาไปสู่สงครามหรือไม่!