วิกฤติศตวรรษที่21 | สงครามเงินทุนสหรัฐ-จีนมีขอบเขตกว้างขวาง

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (37)

สงครามเงินทุนสหรัฐ-จีนมีขอบเขตกว้างขวาง

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนนั้นเห็นกันว่าเป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็งในทะเล

ยังมีสงครามเบื้องลึกที่ใหญ่กว่า เรียกว่าสงครามการเงินก็มี สงครามทุนก็มี ซึ่งไม่ได้มีการให้ความหมายที่ชัดเจน

ในที่นี้จะใช้คำว่าสงครามเงินทุน มีความหมายกว้างๆ ว่า เป็นการชิงกันอย่างดุเดือดระหว่างสหรัฐกับจีน เพื่อการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนโลกให้เกิดประโยชน์แก่การค้า การลงทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การบริหารและสังคมวัฒนธรรมของตน

สงครามเงินทุนนี้มีของเขตกว้างขวาง ที่ปะทุออกมาเห็นชัดแล้วมีสองด้าน

ด้านหนึ่งได้แก่ สงครามการค้าที่ก้าวสู่ขั้นการทำข้อตกลงขั้นที่หนึ่ง รอการทำสงครามขั้นต่อไป

อีกด้านหนึ่งได้แก่ การทำสงครามเทคโนโลยี ที่นอกจากจะเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเกี่ยวกับความมั่นคงและการทหารที่ต่อรองได้ยาก

สงครามเงินทุนสหรัฐ-จีน มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

จนถึงปี 2000 สหรัฐก็ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องมาทำสงครามเงินทุนกับจีนดังที่เป็นอยู่ เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของจีนยังห่างไกลจากสหรัฐอยู่มาก

อุตสาหกรรมในจีนยังอยู่ในระดับรับจ้างประกอบ ไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นมากนัก

จีนเพิ่งเลื่อนฐานะจากประเทศยากจนสู่ประเทศมีรายได้ปานกลางในปี 1997 เอง (ปี 2010 จีนเลื่อนฐานะเป็นประเทศรายได้ปานกลางข้างสูง)

พื้นที่ที่สหรัฐสนใจจะเข้าไปควบคุม ได้แก่ประเทศที่เคยร่วมเป็นสหภาพโซเวียต และมหาตะวันออกกลาง

เมื่อถึงปี 2005 ก็มีนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐที่เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและการไหลเวียนของทุนโลก ได้เขียนบทความเตือนว่า การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐมีความไม่สมดุลอย่างมาก

ในประการแรก การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงราวร้อยละ 30 ต่อปี สูงเป็นสองเท่าของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อคิดเป็นตัวเงิน อัตราการนำเข้าก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังน้อยกว่าการส่งออก คือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 12.5 ต่อปี ดังนั้น จีนจึงได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล ที่สำคัญกับสหรัฐ การนำเข้าที่ลดลงเกิดขึ้น เกิดจากจีนหันไปใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตเองได้ในประเทศมากขึ้น

ในประการต่อมา การออมและการลงทุนของจีนสูงมากอย่างหาประเทศใดเทียบยาก

ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2005 อัตราการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการออมของจีนก็ยังอาจสูงกว่าอัตราการลงทุนเข้าไปอีก

ดังนั้น เศรษฐกิจของจีนจึงมีความไม่สมดุล เนื่องจากมีการออมมากเกินไป การบริโภคภายในประเทศน้อยเกินไปและพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีความไม่สมดุลจากการบริโภคมากเกินไป และต้องอาศัยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากจีน เพื่อสร้างเสถียรภาพการเงินของสหรัฐ (มองในด้านการไหลของทุนก็คือมีทุนไหลออกจากสหรัฐเพื่อสร้างความมั่งคั่งในจีน)

ผู้เขียนเตือนว่าความขัดแย้งและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ-จีน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีขึ้น เขายังชี้ว่าผู้นำของทั้งสองประเทศดูไม่สนใจที่จะปรับแก้ความไม่สมดุลนี้

(ดูบทความของ Brad W. Setser ชื่อ China”s economy in 2005 is not what it was in 2000 ใน cfr.org 11/08/2005)

การที่ชนชั้นนำสหรัฐปล่อยปละละเลยไม่เร่งแก้ไขความไม่สมดุลนี้อย่างจริงจังนี้มีการวิเคราะห์วิจารณ์สรุปว่า เกิดจากเหตุปัจจัย 3 ประการด้วยกันได้แก่

ก) การมีนโยบายต่างประเทศที่เน้นการใช้อำนาจแข็ง

ได้แก่ การใช้กำลังทหารและการกดดันแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อบีบให้ประเทศอื่นยอมคล้อยตามหรือปฏิบัติตามที่สหรัฐต้องการ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เดินนโยบายแบบจักรวรรดิ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและได้ผลอย่างจำกัดไม่ยั่งยืน

ในช่วงประธานาธิบดีโอบามามีความพยายามจะปรับแก้จุดอ่อนนี้ โดยหันมาใช้อำนาจอ่อนมากขึ้น

แต่ในทางปฏิบัติกลับทำคล้ายเดิม โอบามายังคงใช้การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและข่มขู่ว่าจะทิ้งระเบิดหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทั้งยังเปิดสมรภูมิใหม่ที่ประเทศลิเบียและซีเรียที่คาราคาซังจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ มีการให้สัญญาว่าจะยุติการสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ในทางปฏิบัติกลับใช้อำนาจแข็งมากกว่าสมัยโอบามาเสียอีก

ได้แก่ ก่อสงครามการค้ากับจีนที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ยังคงฐานทัพและกองทหารในอิรักและซีเรียอย่างมั่นคง

และได้เปิดสมรภูมิใหม่กับอิหร่านเกิดความตึงเครียดมาก

นโยบายใช้อำนาจแข็งเพื่อการกดดันสูงสุดของทรัมป์คาดว่าคงใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน

เป็นที่สังเกตว่าขณะที่สหรัฐทำเหมือนเดิม

จีนได้มีการปรับแก้ความไม่สมดุลใหญ่ได้แก่ ลดการพึ่งการส่งออกลง หันมาเน้นการบริโภคภายในมากขึ้น เป็นต้น

ข) กลุ่มทุนสหรัฐที่มีความเป็นอิสระสูง

มีนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าในบรรษัทใหญ่ของสหรัฐ มีการจ้างนักบริหารอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนมาก ไม่ได้ปฏิบัติตนเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ มีแนวโน้มจะเห็นประโยชน์เฉพาะหน้าของตนมากกว่าที่จะมองเห็นประโยชน์รวมระยะยาวของชาติ

ต่างกับในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งโดยเฉพาะจีน ที่รัฐบาลมีบทบาทสูง สามารถฝ่าวิกฤติ 2008 ได้

ขณะที่นายทุนอเมริกันและยุโรปต้องสูญเสียฐานะความเป็นใหญ่บนเวทีทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก เปิดช่องให้ประเทศตลาดเกิดใหม่เอาชนะศึกชิงความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ และประเทศตะวันตกจำต้องปรับรื้อและปฏิรูปองค์กรและการบริหารของตนเสียใหม่

(ดูหนังสือของ Daniel Pinto ชื่อ Capital Wars : The New East-West Challenge for Entrepreneurial Leadership and Economic Success มีนาคม 2014)

ค) ท่าทียโสของชนชั้นนำสหรัฐที่มองตนเองว่าวิเศษดีกว่าใคร ยืนสูงกว่าใคร มีเสรีกว่าใคร กฎหมายของตนอยู่เหนือกฎหมายของประเทศอื่น รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ

ความยโสนี้ยิ่งปรากฏชัดในสมัยทรัมป์ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

และนับเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งของสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนอเมริกันและชาวโลกน่าจะได้สิ่งที่ดีกว่านี้

นอกจากนั้น ขณะที่สหรัฐวางอำนาจเหนือกว่าชาติใด จีนเดินนโยบายการทูตแบบหว่านเสน่ห์ เสนอแนวทางปฏิบัติแบบ “ชนะ-ชนะ”

ทำให้สหรัฐตกเป็นรองทางการเมืองและการทูตเป็นครั้งแรก นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามเงินทุนสหรัฐ-จีนในทางปฏิบัติ

สงครามเงินทุนสหรัฐ-จีนเป็นชะตากรรมที่ต้องเป็นไปอย่างหนึ่งในโลกนี้ เพราะว่ามีแต่สองชาตินี้เท่านั้นที่จะทำสงครามเงินทุนกันได้ ประเทศอื่นที่ท้าทายความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ล้วนแต่ยืนหยัดอยู่ไม่ได้นาน ต้องยอมอิงกับเศรษฐกิจและการนำของสหรัฐในระดับหนึ่ง

รัสเซียสมัยใหม่ทำได้อย่างมากเพียงปลีกตัวจากอิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐ ไม่สามารถสร้างตลาดใหม่ที่ทัดเทียมกับสหรัฐได้เหมือนจีน

สงครามเงินทุนนั้นมีเป้าประสงค์ใหญ่ตรงกันได้แก่การแย่งบทบาทในการกำหนดการไหลของเงินทุนโลก พยายามชักนำเงินทุนให้ไหลเข้าประเทศตนให้มาก ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามกีดกันไม่ให้เงินทุนไหลเข้าประเทศคู่อริ

แม้เป้าประสงค์จะง่าย แต่ในการปฏิบัติจริงมีความซับซ้อนมาก ต้องอาศัยข้อมูล การตัดสินใจ การกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ และการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ให้ว่องไว สิ่งที่สหรัฐปฏิบัติหนักไปในทางกีดกัน เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมการไหลเงินทุนเดิมของโลก

การกีดกันใหญ่ประการแรก ได้แก่ การกีดกันทางการค้า ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าหลายแสนล้านบาท อนึ่ง การกีดกันนี้ยังดำเนินควบคู่ไปกับการลดภาษีครั้งใหญ่ เพื่อจูงใจให้บริษัทของอเมริกาเอง และบริษัทสัญชาติอื่นกลับมาลงทุนในสหรัฐ

การกีดกันอย่างที่สอง ที่มีการพูดกันแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริง ได้แก่ การเพิ่มอัตราภาษี เงินทุนที่ไหลเข้าสหรัฐ ซึ่งใช้ได้ทั่วไปไม่ใช่เฉพาะกับประเทศจีน แต่การกีดกันทั้งสองแบบ ฝ่ายตรงข้ามสามารถตอบโต้ด้วยการเพิ่มอัตราภาษีได้เช่นเดียวกัน

การกีดกันอย่างที่สาม ที่พูดกันคือการกีดกันไม่ให้บริษัทจีนมาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติจริงเพราะกระทบต่อฐานะตลาดเงินทุนของสหรัฐเองด้วย

การกีดกันอย่างที่สี่ ลงมือปฏิบัติแล้ว เรียกว่าสงครามเทคโนโลยี (หรือเรียกให้เห็นภาพง่ายว่า “ศึกหัวเว่ย”) เพื่อปิดตลาดการค้าบริษัทไฮเทคของจีน และสกัดไม่ให้ได้เทคโนโลยีทันสมัยจากสหรัฐ ปฏิบัติการนี้จนถึงปัจจุบันถือว่าไม่สำเร็จ เพราะพันธมิตรอย่างเช่นอังกฤษและยุโรปไม่ยอมโอนอ่อนให้ทั้งหมด บริษัทในสหรัฐเองก็เดือดร้อนจากการขาดรายได้จากการขายอุปกรณ์ให้แก่บริษัทจีน ที่สำคัญเนื่องจากว่าจีนได้มีเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่ก้าวหน้า ใช้ได้ และราคาถูก ถ้ากีดกันจีนออกไป ก็จะทำให้การพัฒนาการสื่อสาร 5 จี ล่าช้าและมีราคาแพง นอกจากนี้ ยังเข้าถึงตลาดของจีนที่มีขนาดใหญ่ได้ลำบาก การร่วมมือกับจีนแบบระมัดระวังน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

การปฏิบัติของจีนหนักไปในด้านการสร้างพื้นที่และการไหลเวียนเงินทุนโลกใหม่ เพราะการเข้าแข่งขันในพื้นที่และการไหลเวียนเดิมที่มีดอลลาร์สหรัฐเป็นฐานนั้นมีความยากลำบากและตกเป็นเบี้ยล่างได้ง่าย

การปฏิบัติเด่น ที่ควรกล่าวถึงมี 3 ประการได้แก่

ก) อภิโครงการแถบและทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่ เป็นยุทธศาสตร์หลักของจีน มีเป้าประสงค์สำคัญในการสร้างตลาดการค้าโลกใหม่ ที่เป็นไปตามแนวหรือมาตรฐานของจีน ได้แก่ เศรษฐกิจการค้าแบบพหุภาคี ใช้เงินหลายสกุลเป็นฐาน ไม่ใช่ยึดดอลลาร์เป็นหลัก

มีความสัมพันธ์แบบ “ชนะ-ชนะ” ประเทศทั้งหลายต่างเคารพกันและกัน คล้ายกับการเปิดตลาดใหม่ ย่อมมีการลดแลกแจกแถม หรือจัดมหรสพเพื่อดึงดูดลูกค้า

สหรัฐและตะวันตกโจมตีโครงการนี้หลายประการ เช่น เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของบริษัทจีน ไม่โปร่งใส และจะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องแบกภาระหนี้จากจีน

แต่ที่น่าหวาดกลัวยิ่งคือเป็นการนำระบบและมาตรฐานเศรษฐกิจแบบจีนไปใช้ในประเทศอื่น

(ดูเอกสารของสำนักวิจัยสภาคองเกรสสหรัฐ ชื่อ China”s Economic Rise : History, Trends, Challenges and Implications for United States ใน fas.org 25/06/2019)

ข) ยุทธศาสตร์ “ทำในประเทศจีน 2025” (ประกาศปี 2015) เพื่ออิสระทางเทคโนโลยีของจีน ไม่ต้องพึ่งพาตะวันตกอีกต่อไป และจีนกลายเป็นศูนย์แห่งเทคโนโลยีโลก

ค) การทำให้ตลาดเงินทุนของจีนอยู่ในระดับนำของโลก ซึ่งจะทำให้จีนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนของต่างประเทศได้ต่อไป และแสดงบทบาทเป็นศูนย์การเงินโลกเช่นเดียวกับนครนิวยอร์กและลอนดอน

ที่ควรติดตามคือจีนได้กระทำการหลายอย่างที่คล้ายกับตะวันตก จะกล่าวในที่นี้สองประการได้แก่ จีนสร้างสถาบันจัดอับดับความน่าเชื่อถือของตนที่มีลักษณะระหว่างประเทศขึ้นหลายแห่ง จำนวนมากเป็นรัฐวิสาหกิจ และต้นปี 2018 ได้อนุญาตให้บริษัทสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส บริษัทจัดอันดับน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เข้ามาดำเนินการ ในประเทศจีน

การดำเนินการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคล้ายกับที่ทางตะวันตกเรียกว่า การแปรรูปวิสาหกิจ จีนใช้ศัพท์ว่า “การปฏิรูปแบบเป็นเจ้าของร่วม” เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2015 เปิดให้นักลงทุนเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมในรัฐวิสาหกิจ อย่างค่อยเป็นค่อยไป (แปลว่าทำไปปรับไป)

ถึงปี 2019 มีแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจชุดใหญ่กว่า 100 แห่งออกข่าวว่าจะเปิดให้นักลงทุนเป็นผู้บริหารจัดการองค์กร กำลังคนและการผลิต ส่วนรัฐบาลเพียงแต่ดูแลด้านการเงิน ตัวแบบคล้ายเทมาเส็กกลุ่มบริษัทลงทุนของของรัฐบาลสิงคโปร์

ซึ่งโดยวิธีนี้และการปฏิบัติอื่นทำให้สิงคโปร์ขึ้นชั้นเป็นชาติที่มีความสามารถในการแข่งขันในอันดับต้นของโลก เคียงคู่กับสหรัฐ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงกรณีตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดทองและสกุลเงินต่างๆ