จรัญ มะลูลีม : การประชุมสุดยอด KL 2019 เพื่อเผชิญกับการท้าทายที่มีอยู่ในโลกมุสลิม (1)

จรัญ มะลูลีม

คํากล่าวของ

สุลต่าน (สุลฏอน) นัซรีน มุอีซุดดีน ชาฮ์ (Suttan Nazrin Muizuddin Shah)

ในการประชุมสุดยอดกัวลาลัมเปอร์ 2019

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม ปี 2019 เวลา 10.00 น.

ณ Kaula Lumpur Convention Centre

“การพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอธิปไตยแห่งชาติ ชะตากรรมของคนไร้รัฐ”

 

ท่านนายกรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

1. ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวนำแก่ทุกท่านในวันนี้ ในการประชุมสุดยอด KL 2019 ข้าพเจ้าได้รับฟังด้วยความสนใจจากคำประกาศการประชุมสุดยอดซึ่งเพิ่งอ่านไป ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับท่านนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียผู้ทรงเกียรติ และประธานการประชุมสุดยอด KL ตุน ดร.มหฏิร บิน โมฮัมมัด (Tun Dr. Mahathir Mohammad) สำหรับผลของการประชุมที่ออกมาอย่างน่าประทับใจ

คำประกาศจะเป็นทางนำสำคัญและเป็นเข็มทิศสำหรับแผนของชาติ

รวมทั้งการปรึกษาหารือระหว่างประเทศและความร่วมมือกันที่จะไม่ยอมให้มีเอกสารอีกชิ้นหนึ่งมารวมเป็นฝุ่นอยู่บนหิ้งเกิดขึ้น

 

2.ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการประชุมสุดยอดนี้ได้มีขึ้นครั้งแรกหลังจากปี 2014 ในฐานะที่เป็นเวทีที่จะหยิบยกและแสวงหาทางออกให้กับการท้าทายที่เผชิญอยู่กับโลกมุสลิม

ด้วยความหวังว่าการสนทนาเหล่านี้ในที่สุดจะนำไปสู่การฟื้นฟูอารยธรรมอิสลามที่ยังคงเป็นจุดหมายของการประชุมสุดยอดจนถึงเวลานี้

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้นำจากทั่วโลกมุสลิมได้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่กับการพูดคุยที่มีความสำคัญร่วมกันพร้อมกับการนำเสนอที่ลุ่มลึกและโดดเด่น ทำให้หัวข้อที่พูดคุยมีมุมมองที่กว้างไกล ทั้งเรื่องการเมือง การศึกษา ความรุ่งเรืองและเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับหัวข้อที่มีความสำคัญที่สุดคือการพัฒนาที่ศึกษาผ่านหัวข้อเหล่านี้และหัวข้ออื่นๆ การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการก็จะทำให้เกิดการรวมตัวกันได้

ปีนี้การประชุมสุดยอด KL (KL Summit) จะมีส่วนอนุเคราะห์อย่างสำคัญในการสร้างการเชื่อมโยง และความก้าวหน้าที่จะตามมา โดยผ่านชุมชนอิสลามโลก

 

3.มีตัวแทนจากหลายประเทศในการประชุมสุดยอด รวมทั้งบรรดาผู้นำและนักวิชาการที่มารวมกันอยู่ที่นี่ในวันนี้ เราได้เห็นทั้งความหลากหลายและเอกภาพที่หาได้ยากของอุมมะฮ์ (ประชาชาติมุสลิม)

พวกเราทุกคนได้มารวมกันด้วยศรัทธาแห่งอิสลาม

ในเวลาเดียวกัน พวกเราได้นำเอาประสบการณ์ที่หลากหลายและความคิดที่โดดเด่นมาสู่โต๊ะประชุม เรามาจากประเทศต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดและประชากร รวมทั้งโครงสร้างทางการเมือง ความหลากหลายจะช่วยทำให้การเสวนาถูกเสริมด้วยการนำเสนอมุมมองใหม่ที่ท้าทายโลกอิสลามเหมือนๆ กันและพัฒนาความเข้าใจในความยากลำบากที่เกิดกับชาติและภูมิภาคของเราเพื่อที่ว่าเราจะได้ช่วยเหลือกันและกันได้ ขอให้จดจำภาษิตที่มีชื่อเสียงที่นำเอามาใช้อย่างจริงจังโดยชาวมุสลิมในสมัยต้น ซึ่งได้แก่ เราะห์มะตุลอุมมะฮ์ฟี อิคตาฟิล-อะอิมมะฮ์

(ความเมตตาของอุมมะฮ์นี้โดยแน่นอนได้วางอยู่บนความหลากหลายของบรรดาผู้นำของพวกเขา)

 

4.การประชุมสุดยอด KL มีจุดหมายอยู่รายรอบเสาหลัก 7 ประการที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น นั่นก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเป็นปึกแผ่น ธรรมาภิบาล วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ สันติภาพ ความยุติธรรมและเสรีภาพ อธิปไตย ความมั่นคงและการป้องกัน การค้าและการลงทุน เทคโนโลยีและการปกครอง ทั้งหมดนี้ถูกถือว่าเป็นหัวข้อสำคัญต่อการขยายการพัฒนาและความก้าวหน้าในโลกอิสลาม

ดังนั้น ความล้มเหลวใดๆ ที่จะแปรเปลี่ยนการสนทนาไปสู่นโยบายต่างๆ และการกระทำย่อมเป็นความล้มเหลวที่จะทำให้ประโยชน์จากการสานเสวนาและความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นในการประชุมสุดยอดนี้ ส่งผลที่ค่อนข้างเข้าใจได้ง่ายคือไม่ได้อะไรเลยนอกจากจะมาชุมนุมกันเพื่อพูดคุยกันเท่านั้น

เป็นความหวังที่จริงใจที่สุดว่าเมื่อมีการพบปะกันในการประชุมสุดยอดครั้งต่อไปก็จะมีความมุ่งหวังไปที่ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาสิ่งที่จะต้องทำต่อไป

 

5.แล้วอะไรคือความท้าทายที่อาจมีขึ้น แน่ละนั่นคือความเชื่อของข้าพเจ้าที่ว่าความท้าทายอันหนักหน่วงที่เผชิญหน้ากับโลกอยู่นั้นอยู่ภายใต้ สาม P (Three Ps) นั่นคือความมั่งคั่ง (Prosperity) โลก (Planet) และประชาชนของโลก (Its People)

ในประเด็นความมั่งคั่ง จะมีการเพิ่มความมั่งคั่งและขจัดความยากจนอย่างไร ได้มีการอภิปรายกันมาอย่างมากแล้วในการประชุมสุดยอดแห่งปี ที่ต้องขอบคุณคือการพูดคุยที่มุ่งไปที่การพัฒนาเรื่องของโลกอันเป็นหัวข้อที่ใกล้ชิดอยู่กับดวงใจของข้าพเจ้าที่จำเป็นต้องเลือกทำก่อนสิ่งอื่นใด อันเป็นทางเลือกเพื่อการพัฒนา อันเนื่องมาจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนซึ่งทำลายอากาศและธรรมชาติของโลก ยังไม่ได้มีการพัฒนาแต่อย่างใด

จุดมุ่งหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติได้มอบแผนที่การดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมไว้ให้แล้ว ในด้านนี้และในอดีตที่ผ่านมา โดยข้าพเจ้าได้พูดคุยถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านจริยธรรมที่มีอยู่อย่างไม่น่าเชื่อของการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDGs) ไปแล้ว พร้อมกับคำสอนจากคัมภีร์กุรอานประโยคที่มีความยาวระดับหนึ่ง (สุลฏอน (สุลต่าน) นัซรีน ชาฮ์ (Nazsin Shah) “การรับรู้ถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการเงินอิสลาม” เป็นสุนทรพจน์ของพระองค์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งสภาที่ปรึกษาชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ของ Bank Negara มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ (12 ธันวาคม 2017))

อย่างไรก็ตาม สิ่งสุดท้ายนั่นคือประชาชน ซึ่งข้าพเจ้าต้องการนำมากล่าวถึง

 

6.ไม่กี่ปีที่ผ่านมาจุดหมายการพูดคุยของพวกเราอยู่ที่ว่าการพัฒนาจะช่วยส่งเสริมอธิปไตยของชาติเราได้

อย่างไรก็ตาม ตามที่ข้าพเจ้าได้สะท้อนให้เห็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของชาติ ไปแล้วในตอนต้นของการประชุมสุดยอดนี้ ข้าพเจ้าพบว่าตัวของข้าพเจ้าเองได้กลับมาที่คำถามเดิมอีกครั้ง แล้วอะไรคือการไม่มีชาติ?

สมาชิกที่เป็นอุมมะฮ์ เหล่านั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง

พี่น้องมุสลิมของเราทั้งชายและหญิงที่ถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านเรือนของตนเอง เป็นการละทิ้งบ้านเรือนอันเนื่องมาจากความทุกข์เข็ญ ความขัดแย้งและการประหัตประหาร?

 

7.เรากำลังเผชิญกับวิกฤติที่หนักหน่วงรุนแรง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัย รายงานว่ามีผู้คนมากขึ้นที่เป็นผู้ไร้ถิ่นที่อยู่ในโลก ในเวลานี้มากกว่าช่วงเวลาใด นับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สอง มีผู้ไร้ถิ่นราว 70 ล้านคนอยู่ทั่วโลก

ในจำนวนนี้เกือบ 26 ล้านคนของผู้ลี้ภัย หนึ่งในสามของพวกเขามาจากประเทศที่มุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ (UNHCR “Figures at a Glance” เข้าถึง 20 ธันวาคม 2019) https//www.unhcr.org/figures.at-a glancehtml ผู้ลี้ภัยรวมกันราว 9.4 ล้านคน มาจากซีเรียและอัฟกานิสถาน)

พวกเขากลายเป็นคนไร้ชาติ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของรัฐต่างๆ ที่จะให้ความสนใจพวกเขาและเนื่องมาจากระเบิดและกระสุนแห่งสงคราม

คนนับล้านๆ คน รวมทั้งเด็ก สตรี คนชรา ต้องเผชิญกับการถูกทอดทิ้งอย่างน่าตกใจ ทุกข์ทรมานและไร้ที่พึ่ง

แล้วเราจะพูดถึงสิ่งที่เราสร้างและกระทำในการสนทนาว่าด้วยอธิปไตยของชาติและการพัฒนาเพื่อที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร?

 

8.ด้วยการหาหนทางและด้วยการหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับปัญหาผู้ลี้ภัย จำเป็นต้องมีการพูดถึงเหตุผลที่ว่าทำไมประชากรเหล่านี้จึงกลายเป็นคนไร้ที่อยู่และผู้ลี้ภัย

ความจริงการประชุมสุดยอดนี้ได้กระทำบางอย่างไปบ้างแล้ว การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนที่เราให้ความสนใจนี้จะช่วยขจัดความยากจนและความขาดแคลนได้ และทำให้การดำรงชีวิตดีขึ้น จะทำให้สถาบันทางการเมืองอุดมสมบูรณ์และมีโครงสร้างการบริหารที่ก่อให้เกิดธรรมาภิบาลและการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองทั้งหลาย โดยไม่เลือกชาติพันธุ์ศาสนาหรือเพศหรือที่อยู่อาศัย มันจะนำไปสู่การมีกฎหมายที่ยุติธรรมและหน่วยงานต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาสันติภาพและยืนยันถึงความมั่นคง

การพัฒนาที่ครอบคลุมจะมีส่วนก่อให้เกิดทรัพยากรที่มีความจำเป็นที่จะช่วยปกป้องต่อต้านผู้รุกรานและการโค่นล้มจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่สำหรับครอบครัวและตัวบุคคลทั้งหลายที่พบว่าประเทศของพวกเขาตกอยู่ภายใต้สภาพแห่งความหมดหวังหรือหวาดกลัวการมีชีวิตอยู่ของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากปาเลสไตน์ ซีเรีย อัฟกานิสถาน อิรักหรือจากประเทศใดๆ ก็แล้วแต่ที่ยังคงถูกทำให้สิ้นสลาย อันเนื่องมาจากสงครามและการประหัตประหาร

พวกเขาก็ไม่อาจรอได้ในการหาทางออกที่ยั่งยืน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ

หรือมันอาจจะไม่มาถึงเลยก็ได้