สุรชาติ บำรุงสุข : ‘สถาปัตยกรรมระหว่างประเทศ 2017’ ผันผวน รวนเร ท้าทาย!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
AFP PHOTO / William WEST

“ทรัมป์จะเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ มากกว่ารัฐบาลใดๆ ที่เราเคยเห็นมาแล้วในช่วงอายุของเรา”

Niall Ferguson
นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ

 

หนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญหลังจากการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ของการขยายตัวของ “กระแสประชานิยมปีกขวา” ในยุโรปในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันก่อให้เกิดคำถามที่มีนัยสำคัญกับโลกในอนาคตก็คือ ความเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองของบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันตกเช่นนี้จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบระหว่างประเทศหรือไม่

คำถามชุดนี้เกิดขึ้นจากชุดความคิดไม่ว่าจะเป็นของทรัมป์หรือบรรดาปีกขวาจัดในยุโรปที่ได้รับคะแนนเสียงทางการเมืองมากขึ้นในบ้านของตน และกำลังกลายเป็น “ความปกติใหม่” (new normal) ที่บ่งบอกถึงทิศทางที่ลดทอนความเป็นเสรีนิยมลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งๆ ที่กระแสในเวทีโลกในช่วงที่ผ่านมาล้วนเป็นไปในแบบของความเป็นเสรีนิยมอย่างชัดเจน

หรือเราอาจกล่าวได้ว่าแกนกลางของกระแสโลกที่มีนัยหมายถึงโลกาภิวัตน์นั้นก็คือ “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” (Neoliberalism) และผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่กลายเป็น “กระแสหลัก” ของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในเวทีโลก ก็บ่งบอกถึงการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมที่พัดพาไปสู่มุมต่างๆ ของโลกในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

แต่ผลของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดูจะส่งสัญญาณว่า กระแสเช่นนี้อาจจะหยุดชะงักลงจากทิศทางของคำประกาศและนโยบายทางการเมืองทั้งจากผู้บริหารทำเนียบขาวชุดใหม่ และจากบรรดาประชานิยมปีกขวาของยุโรปซึ่งก็มีท่าทีที่ชัดเจนในการปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์และชุดความคิดแบบเสรีนิยมใหม่

ผลเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่ากระแสประชานิยมปีกขวาที่กำลังพัดแรงในโลกตะวันตกนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อการจัดระเบียบโลกในอนาคต

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

เสาหลักในระเบียบโลก

หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ในเวทีโลกแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า ระเบียบโลก (world order) คือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบระหว่างประเทศ ซึ่งก็แน่นอนว่าในความสัมพันธ์เช่นนี้ รัฐมหาอำนาจใหญ่อยู่ในฐานะของการเป็นผู้กำหนด “วาระ” (agenda) ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นหลักในเวทีการเมืองโลก

และรัฐเล็กๆ ก็มักจะอยู่ในสถานะของการเป็นผู้อยู่ภายใต้กระแสของวาระดังกล่าว

หรืออีกนัยหนึ่งการจัดระเบียบโลกก็คือ การบ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเวทีโลกมีลักษณะเป็นแบบ “ลดหลั่น” (hierarchical) ตามสถานะของรัฐในแต่ละช่วงเวลา

ในขณะเดียวกัน ในแต่ละช่วงเวลาก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า การกำหนดวาระต่างๆ ในเวทีโลกนั้นได้ก่อให้เกิดเสาหลักที่เป็นดัง “เสาค้ำ” ของระเบียบโลก 3 เสา หรือเป็นดัง 3 เสาหลักของระเบียบโลก ได้แก่

1) เสาความมั่นคงระหว่างประเทศ

2) เสาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ

และ 3) เสาพันธะและระบบระหว่างประเทศ หรือบางทีเสาทั้งสามนี้อาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็น “แกนกลาง” ของระเบียบโลก

ดังนั้น ผลจากการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐ พร้อมๆ กับการขยายตัวของกระแสประชานิยมปีกขวาในยุโรป ซึ่งก็คือชุดความคิดเดียวกันในการเมืองโลกปัจจุบัน จึงเป็นดังการเปลี่ยน “สถาปนิก” ที่จะต้องเป็นผู้ออกแบบเสาแต่ละส่วนใหม่

แน่นอนว่าการเปลี่ยนตัว “ผู้ออกแบบ” ใหม่ เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นนี้ ย่อมจะทำให้เกิด “สถาปัตยกรรมใหม่” ของการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น เราอาจจะต้องยอมรับว่า “พิมพ์เขียว” เดิมของระเบียบระหว่างประเทศที่ถูกค้ำยันด้วยเสาหลักของลัทธิเสรีนิยมนั้น อาจจะกลายเป็นปัจจัยที่นำมาใช้ในการอธิบายและทำความเข้าใจกับกระแสโลกในยุคปัจจุบันไม่ได้

หรืออาจเปรียบได้ว่า “สถาปนิกใหม่” ย่อมจะนำมาซึ่ง “สถาปัตยกรรมใหม่” สำหรับเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม แม้สถาปัตยกรรมใหม่ของระเบียบระหว่างประเทศอาจจะยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนได้ทั้งหมด แต่เราก็จะพอคาดการณ์ได้ถึงแนวโน้มและความเป็นไปที่อาจจะเกิดขึ้นจากทิศทางที่กำลังก่อตัวขึ้นจากนโยบายและชุดความคิดบางส่วนที่ถูกนำเสนอในเวทีสาธารณะ

AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

เสาความมั่นคงระหว่างประเทศ

ในยุคหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นนั้น เสานี้บ่งบอกถึงทิศทางการเปลี่ยนผ่านของการเมืองโลกแบบ “สองขั้ว” (bi-polar) ของยุคสงครามเย็น ไปสู่แบบ “ขั้วเดียว” (uni-polar) ที่มีแต่สหรัฐเท่านั้นที่ดำรงอยู่ในฐานะของการเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของยุคหลังสงครามเย็น

สภาวะเช่นนี้บ่งบอกถึงการเมืองโลกในแบบที่สหรัฐเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว”

และขณะเดียวกัน มหาอำนาจใหญ่ที่เป็นคู่แข่งแต่เดิมในยุคสงครามเย็นอย่างสหภาพโซเวียต ก็ประสบกับสภาวะของการพังทลายทั้งในทางอุดมการณ์และในทางอำนาจในการเมืองโลก

อันมีนัยโดยตรงถึงการสิ้นสุดของภัยคุกคามทางทหารของกองทัพของฝ่ายสังคมนิยม ซึ่งก็คือการยุติของสงครามเย็นในเวทีโลกนั่นเอง

การดำรงสถานะความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐเป็นความท้าทายอย่างมาก

เพราะเมื่อโลกพัฒนาถึงจุดหนึ่งย่อมจะต้องมีมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้น และอาจจะต้องถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ปกติในการเมืองโลกที่มหาอำนาจใหม่จะท้าทายต่อมหาอำนาจเก่า…

กฎนี้ดำรงอยู่อย่างยาวนานในวิชาการเมืองระหว่างประเทศ ฉะนั้น ในสภาวะปัจจุบันเราจึงเห็นการเลื่อนสถานะของจีนก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจใหม่

หรือที่มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า “The Rise of China” ที่บ่งบอกถึงการเติบโตของจีนทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในเวทีโลก

ขณะเดียวกันในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัสเซียได้ค่อยๆ ขยับตัวฟื้นขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ แม้จะอยู่ในสถานะของการเป็นมหาอำนาจที่ล่มสลายมาเป็นระยะเวลาพอสมควรหลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น

การเล่นบทบาทเชิงรุกของรัสเซียในวิกฤตยูเครน และการขยายบทบาททางทหารในกรณีสงครามกลางเมืองในซีเรียก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่า รัสเซียได้กลับคืนสู่สถานะของการเป็นมหาอำนาจในเวทีการเมืองโลกแล้ว

และพร้อมที่จะมีบทบาทในด้านต่างๆ แข่งขันกับสหรัฐด้วย

ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงของตัวแสดงหลักในฐานะของรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งรัสเซียและจีนเช่นนี้ จึงกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง อีกทั้งในสภาวะเช่นนี้สถานะของสหภาพยุโรปก็เผชิญกับปัญหาต่างๆ รุมเร้าอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการก่อการร้าย วิกฤตผู้อพยพ และปัญหาหนี้ภายในของรัฐสมาชิกในสหภาพ เช่น กรณีวิกฤตหนี้ของกรีซ เป็นต้น จนมีผลให้กระแสชาตินิยมได้รับเสียงตอบรับมากขึ้นในหลายๆ ประเทศของยุโรป

และเป็นความกังวลว่ายุโรปที่เคยเป็น “ปราการ” ที่เข้มแข็งของลัทธิเสรีนิยม กำลังจะเปลี่ยนเป็น “ฐานที่มั่นใหญ่” ของฝ่ายขวาในการเมืองโลก

ในอีกด้านหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่มักจะปรากฏเป็นรูปแบบปกติก็คือ “การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์” (geopolitical competitions) ที่พร้อมจะขยายตัวไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นได้ในอนาคตคือการเมืองโลกจะหวนกลับสู่ “ยุคแห่งการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจใหญ่” อีกครั้ง

ซึ่งการแข่งขันเช่นนี้จะปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไรในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำใหม่ของสหรัฐประกาศท่าทีที่จะไม่เป็น “ตำรวจโลก” อีกต่อไป และไม่ต้องการจะแบกรับภาระทางเศรษฐกิจในการป้องกันทางทหารสำหรับประเทศพันธมิตร

ดังเช่นข้อเสนอที่จะให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่จะต้องแบกรับภาระนี้มากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง สถาปัตยกรรมใหม่ของความมั่นคงโลกนั้น จะให้ความสนใจกับปัญหาการก่อการร้าย การอพยพย้ายถิ่นของคน การแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ความมั่นคงด้านไซเบอร์ ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้ดูจะขยับออกไปจากประเด็นเดิม

เช่น ปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาการหันกลับสู่การใช้พลังงานสกปรก หรือการนำเสนอนโยบายที่ต่อต้านชาวมุสลิม ต่อต้านผู้อพยพ

จนอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ในอีกแบบหนึ่ง

บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประกาศยกเลิกแผนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในเม็กซิโก และเดินหน้าขยายโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐแทน / AFP PHOTO / PEDRO PARDO

เสาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เสานี้แต่เดิมดำรงอยู่ได้ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังนั้น แนวคิดหลักของเสานี้จึงได้แก่ “การค้าเสรี” แต่ดูจะชัดเจนว่าเมื่อผู้นำใหม่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “การค้าที่ล้มเหลว” (คือเป็น “failed trade” ไม่ใช่ “free trade”) ก็เท่ากับบ่งบอกถึงความพยายามในการออกแบบใหม่

กล่าวคือ ถ้าเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจะขยับตัวออกไปจากระบบเสรีนิยมแล้ว การออกแบบใหม่ก็อาจจะเป็นเรื่องของการหันกลับสู่แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยม (economic nationalism) ซึ่งก็มักจะปรากฏในรูปแบบของ “ลัทธิกีดกันทางการค้า” (Protectionism)

หากเศรษฐกิจโลกขยับจากลัทธิเสรีนิยมไปสู่ลัทธิกีดกันทางการค้าอย่างเช่นที่ทรัมป์ได้ประกาศจริงแล้ว ก็คาดเดาได้ว่าเศรษฐกิจโลกนับจากปี 2017 จะประสบความผันผวนอย่างมาก

เพราะในช่วงที่ผ่านมาในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น เศรษฐกิจโลกเป็นกิจกรรมข้ามชาติที่สำคัญประเด็นหนึ่งอันนำไปสู่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และกลายเป็นปัจจัยที่หลอมรวมรัฐเข้าหากันภายใต้แนวคิดของการ “พึ่งพาทางเศรษฐกิจ” (economic interdependence)

สภาพเช่นนี้จึงทำให้รัฐต่างๆ มีความผูกพันกันในทางเศรษฐกิจ และขณะเดียวกันก็นำไปสู่การจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจเสรี” ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หรือข้อเสนอในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจแปซิฟิก (TPP) เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้กำลังถูกต่อต้านจากกลุ่มประชานิยมปีกขวา พวกเขาเสนอให้พาเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่โลกในอดีต

ดังจะเห็นแนวคิดของพวกขวาจัดในยุโรปที่ต่อต้านสหภาพยุโรป และสะท้อนชัดเจนถึงการต่อต้านมาตรการทางเศรษฐกิจของสหภาพ (anti-austerity) ตลอดรวมถึงการต่อต้านยูโรโซน (anti-eurozone) ล้วนแต่เป็นความพยายามที่จะออกแบบเสาเศรษฐกิจให้เป็นแบบชาตินิยม และมีลัทธิกีดกันทางการค้าเป็นแกนกลาง

การออกแบบเช่นนี้ส่งผลให้สถาปัตยกรรมใหม่ของระเบียบเศรษฐกิจโลกถอยออกจากระบบเสรีนิยม

จนทำให้เกิดความกังวลว่า ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจในเวทีโลกเช่นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งในมิติทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งผู้บริหารชุดใหม่กีดกันผู้อยพยเข้าสหรัฐ / AFP PHOTO

เสาระบบระหว่างประเทศ

เสาที่สามที่สำคัญในการค้ำระเบียบระหว่างประเทศแบบเดิมก็คือ การจัดตั้ง “ระบบระหว่างประเทศ” (international regime) และการยอมรับถึงพันธะและความผูกพันที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ

ดังนั้น เสาที่สามนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องของพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งพันธะเช่นนี้ก็เป็นผลจากทิศทางของกระแสโลก เช่น เมื่อโลกเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้ผู้นำหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความมั่นคงใหม่

เช่น ให้ความสนใจกับเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ” (climate change) อันนำไปสู่การจัดทำ “ปฏิญญาปารีส” (The Paris Accord)

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำของโลกตะวันตกที่เป็นเสรีนิยมจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ “การสร้างประชาธิปไตย” ในประเทศต่างๆ

และปฏิเสธต่อการจัดตั้ง “รัฐอำนาจนิยม”

ดังนั้น กระแสประชาธิปไตยจึงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ผู้นำโลกให้ความสำคัญ อันส่งผลให้การเลือกตั้ง ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ถูกถือว่าเป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศของยุคสมัย

ซึ่งในกรณีนี้ก็อาจจะเห็นได้จากการให้การยอมรับในเรื่องสถานะของผู้หญิง การยอมรับความแตกต่างทางเพศ เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าผู้นำประชานิยมปีกขวาจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นเช่นนี้

จนกลายเป็นความกังวลว่า ระบบระหว่างประเทศที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดแบบเสรีนิยมนั้น จะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ในอนาคต

ดังจะเห็นถึงความกังวลของหลายๆ ฝ่ายที่ผู้นำสหรัฐอาจจะถอนตัวออกจาก “ปฏิญญาปารีส” และหันกลับไปสู่การใช้ “พลังงานสกปรก” ในบ้าน เป็นต้น

AFP PHOTO / PETER PARKS

สู่อนาคต

ถ้าเช่นนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หากผู้นำของรัฐมหาอำนาจละทิ้งบรรทัดฐานของลัทธิเสรีนิยม กติกาและมาตรฐานระหว่างประเทศแบบที่เราคุ้นเคยจะยังคงใช้ได้ต่อไปหรือไม่…

หรือทั้งหมดนี้บอกเราประการเดียวว่า ระเบียบโลกที่กำลังได้รับการออกแบบจาก “สถาปนิกใหม่” นี้ มีความผันผวน รวนเร

และท้าทายต่อความเป็นไปของโลกในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง!