คุยกับทูต ‘เยฟกินี โทมิคิน’ ความร่วมมือไทย-รัสเซีย มีพลวัตมากขึ้นในทุกมิติ (1)

การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCov) เป็นวิกฤตที่นานาประเทศให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตัวและความหวาดกลัวให้คนทั่วโลก หลังจากมีการรายงานการพบผู้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบหลายรายในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

และขณะนี้ยังคงปรากฏการแพร่กระจายในหลายประเทศทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในวงกว้างที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) เพราะเชื้อไวรัสนี้กำลังแพร่ระบาดไปอย่างน้อย 20 ประเทศ และทำให้ผู้เสียชีวิตกว่า 250 รายในจีน

โดยนับแต่วันที่ 19 มกราคม เป็นต้นมา ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะหลักร้อย และทวีคูณอย่างรวดเร็ว ผ่านไปเพียงแค่สิบวัน ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกก็ปาเข้าไปเฉียดหลักหมื่น

ข้อมูลบ่งชี้ว่าในระยะแรกการระบาดมีสาเหตุมาจากสัตว์สู่คน เชื้อไวรัสโคโรนาที่เคยระบาดทั้งในอดีตและปัจจุบันมีต้นตอของเชื้อที่เหมือนกันคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ ค้างคาว และอูฐ

แต่เมื่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ทนทานต่อภูมิคุ้มกันของคนและสามารถพัฒนาตัวกลายเป็นเชื้อที่ติดต่อจากคนสู่คนได้

รัสเซียก็ได้เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันไวรัสร้ายแรงนี้จากการข้ามพรมแดน

สำนักข่าว TASS ของทางการรัสเซียรายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นของ 3 ภูมิภาคในเขตสหพันธ์ตะวันออกไกลของรัสเซียประกอบด้วย ฮาบารอฟสก์, แคว้นอามูร์ และแคว้นปกครองตนเองยิวโอแบลส ได้มีคำสั่งปิดชายแดนติดประเทศจีนในพื้นที่ตะวันออกไกล ระยะทางกว่า 4,300 กิโลเมตร โดยไม่ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าประเทศ และระงับการออกวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นอกจากนี้ กองทัพรัสเซียยังได้จัดส่งเครื่องบินของกองทัพ 5 ลำ ไปอพยพพลเมืองชาวรัสเซียออกจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส สถานกงสุลรัสเซียในกวางโจวของจีนกล่าวว่า รัสเซียและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาวัคซีนไวรัสโคโรนา โดยปักกิ่งได้ส่งมอบข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนม (genome) ของไวรัสให้กับมอสโก

การคว่ำบาตรของสหรัฐครั้งล่าสุดอาจทำให้รัสเซียและจีนเข้าใกล้ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย และสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน มีการประชุมที่เป็นมิตรเมื่อปีที่ผ่านมาในวลาดิวอสต็อก

ในโอกาสที่นายเยฟกินี โทมิคิน (His Excellency Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ครบรอบหนึ่งปีในปีนี้ ได้ให้เกียรติมาตอบคำถามในประเด็นต่างๆ

เริ่มจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวว่า รัสเซียจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬารายการเมเจอร์ทุกชนิดเป็นเวลา 4 ปี เพราะถูกลงดาบห้ามลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 และฟุตบอลโลก 2022 เนื่องจากมีเรื่องเสื่อมเสียเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้น

เนื่องจากในการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งในกีฬาท้องถิ่นหรือกีฬาระดับนานาชาติ มักพบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารต้องห้าม (ยาโด๊ป) เสมอ

การใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจเพื่อเสริมสมรรถภาพของร่างกาย เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน หรืออาจจะโดยความไม่ตั้งใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่มีส่วนผสมของสารต้องห้าม ก็มีความผิดทั้งนั้น ตามกฎบังคับของโอลิมปิกสากล การตรวจพบสารต้องห้ามในนักกีฬาจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ เสื่อมเสียชื่อเสียงของสถาบันและประเทศชาติ ตลอดจนอนาคตของนักกีฬาผู้นั้นด้วย

จากกรณีที่ถูกห้ามลงแข่งขัน กฎนี้จะส่งผลต่อทีมชาติและประเทศรัสเซียอย่างไร

“นับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ กีฬากับการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ การแข่งขันกีฬานานาชาติที่สำคัญๆ อย่างเช่น กีฬาโอลิมปิก การแข่งขันชิงแชมป์โลกและยุโรป ต่างก็ถูกใช้เป็นเวทีในการต่อสู้ทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมานานแล้ว รัสเซียก็เป็นเหมือนหลายประเทศในโลกที่คัดค้านการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงในเรื่องของการต่อสู้กับการใช้สารกระตุ้น”

“เราเชื่อว่ากฎของหน่วยงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก (World Anti-Doping Agency – WADA) นั้นมีความลำเอียงเป็นอย่างยิ่งและค้านกับสามัญสำนึก มาตรการที่เกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นถูกนำมาใช้ขัดขวางนักกรีฑาของเราในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุดในปี 2016 (โดยทีมชาติรัสเซียสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ภายใต้ธงที่เป็นกลาง-the neutral flag)”

“อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาก็ประกาศว่านักกรีฑาส่วนใหญ่ที่ถูกกล่าวหานั้นพ้นผิด ดังนั้น การกำหนดโทษครั้งที่สองในกรณีเดียวกัน ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่ได้รับการพิสูจน์นั้น ขัดกับหลักกฎหมายและตรรกะทั้งปวง” ท่านทูตโทมิคินชี้แจง

“ประการที่สอง การลงโทษควรถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ในกรณีนี้ กลับกลายเป็นเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งรวมเอานักกีฬาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สารกระตุ้นด้วย”

“นอกจากนี้ ตามที่ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียได้กล่าวไว้นั้น กฎนี้ขัดกับกฎบัตรโอลิมปิก หากไม่มีการร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติงานของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติรัสเซีย ทีมของเราก็ไม่ควรเข้าร่วมโอลิมปิกในฐานะนักกรีฑาอิสระ (ภายใต้ธงที่เป็นกลาง) ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายของรัสเซียจะวิเคราะห์กฎนี้อย่างถี่ถ้วน เรามีเหตุผลทุกประการที่จะร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา”

“ประเทศไทยเองก็เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันในเรื่องนี้ ทีมยกน้ำหนักของไทยจะไม่ได้เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2019 โดย WADA ได้ระงับการรับรองของศูนย์ควบคุมการใช้สารกระตุ้นแห่งชาติในกรุงเทพฯ (ห้องปฏิบัติการ) เป็นเวลาหกเดือน ที่จริงแล้ว เท่าที่เราทราบ ไม่ได้มีการกล่าวถึงการละเมิดอย่างใดโดยเฉพาะเจาะจง จะมีก็แต่ความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับห้องปฏิบัติการอย่างคลุมเครือ”

สําหรับประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงระหว่างไทยกับรัสเซีย

“ประการแรก การติดต่อสัมพันธ์กันเป็นประจำอยู่เสมอนั้น ได้ทำให้ทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างจริงใจในเรื่องต่างๆ เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับเราในปี 2019 คือ นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย เดินทางเยือนไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน และได้พบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย โดยหวังว่า การติดต่อสัมพันธ์ทวิภาคีระดับสูงสุดเช่นนี้จะดำเนินต่อไปในปีนี้ด้วยเช่นกัน”

“ทั้งนี้ เรายังได้หาทางขยายความร่วมมือของเราในเวทีพหุภาคีต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วท่าทีของเราที่มีต่อวาระในระดับโลกนั้นมีความใกล้ชิดและคล้ายคลึงกันทางธรรมเนียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สหประชาชาติ ซึ่งมิตรชาวไทยของเราได้สนับสนุนความคิดริเริ่มส่วนใหญ่ของรัสเซียอย่างเต็มที่”

“เราซาบซึ้งใจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ทำงานอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-อาเซียนได้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”

“ข้าพเจ้าเชื่อว่า การสร้างเสริมสายสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน จะกระตุ้นให้เราพยายามร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและไทย”

“ดังเช่นเมื่อเดือนตุลาคม รัสเซียและไทยต่างก็ประสบความสำเร็จในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในการส่งเสริมความพร้อม ในการรับมือกับโรคติดต่อ ซึ่งอาจกลายเป็นโรคระบาดได้ ในหมู่ประเทศที่ร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit)”

ในท้ายสุด ท่านทูตเยฟกินี โทมิคิน กล่าวว่า

“สำหรับขั้นตอนต่อไป เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนชาวไทยของเราจะสนับสนุนความคิดริเริ่มระดับภูมิภาคของเราสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (EAEU) และอาเซียนกับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)”