วิเคราะห์ | บทบาทฝ่ายค้านไม่สังฆกรรมถกงบฯ ใหม่ เกาะติดศึกซักฟอกดุเด็ดเผ็ดมัน??

ยังไม่ทันจะก้าวสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว แต่สถานการณ์การเมืองไทยในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก กลับระอุยิ่งกว่าอากาศร้อนในเดือนเมษายน

ในช่วงท้ายของการปิดสมัยประชุม โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ ได้มีการโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทใหม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีกดบัตรแทนกัน โดยมีมติ 9 ต่อ 0 ไม่เป็นโมฆะ แต่ 5 ต่อ 4 ให้ลงคะแนนใหม่ ในวาระ 2-3

จึงได้มีการกำหนดวันลงคะแนนใหม่อีกครั้งในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ และจะเป็นการอภิปรายรายมาตรา ตั้งแต่คำปรารภ ไปจนถึงมาตราสุดท้าย ภายใต้กระแสกดดันจากฝั่งรัฐบาล ที่ดาหน้ากันออกมาดักคอว่าฝ่ายค้านอย่ายื้อในการอภิปรายงบฯ ซ้ำอีก เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ

ถึงขนาดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเองยังออกมากรีดว่า “ฝ่ายค้านจะอภิปราย 4-5 วัน เหมือนเดิมก็ไม่มีใครว่า แต่คนนอกจะรู้เองว่ามีเจตนาอะไร”

โดนฝ่ายรัฐบาลรุมสับมาขนาดนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จึงออกมาตอบโต้ฝ่ายรัฐบาลที่กล่าวหาว่าฝ่ายค้านมีเจตนาเตะถ่วง โดยระบุว่า

“ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายประคับประคององค์ประชุมสภามาตลอด ทุกครั้งก่อนลงมติในแต่ละมาตราของร่างกฎหมาย จะต้องมีการนับองค์ประชุมก่อน หากวิปรัฐบาลพบว่ามีแนวโน้มว่าองค์ประชุมไม่ครบ จะส่งสัญญาณให้ฝ่ายค้านอภิปรายนานขึ้น เพื่อรอให้ครบองค์ประชุม แต่พอร่างกฎหมายมีปัญหา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกดบัตรแทนกัน กลับมาบอกว่าฝ่ายค้านอภิปรายนาน”

เป็นการตอบโต้ที่ทำให้สังคมภายนอกเห็นภาพได้มากยิ่งขึ้น ว่าใครกำลังกล่าวหาใคร

และจากการที่ฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ไม่เป็นโมฆะ และสั่งให้โหวตวาระ 2-3 ใหม่ ภายใน 30 วัน จึงทำให้ฝ่ายค้านมองว่า สภาจำเป็นที่จะต้องทำตามคำสั่งศาลหรือไม่ จนกระทั่ง 6 ฝ่ายค้านมีมติร่วมกันว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับการประชุมเพื่อโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณใหม่ในวาระ 2-3 แต่จะร่วมลงชื่อเป็นองค์ประชุม จากนั้นจะวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม และปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลดำเนินการ

จึงเป็นการแก้เกมที่ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาว่าฝ่ายค้านจะยื้อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ได้อย่างอยู่หมัด และเป็นการตอกลิ่มให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบเอง เพราะฝ่ายรัฐบาลเองที่เป็นคนทำเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบฯ ต้องสะดุดด้วยเหตุกดบัตรแทนกัน โดยที่ฝ่ายค้านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ดังนั้น หากไม่มีฝ่ายค้านร่วมโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ในวาระ 2-3 ก็เป็นไปได้ว่าสภาจะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณโดยใช้เวลาเพียงวันเดียว คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์

เสร็จสิ้นกระบวนความงบประมาณ ในสัปดาห์ถัดไป ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปล่อยเงินให้พรรคอนาคตใหม่กู้จำนวน 191 ล้านบาท หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่รอดจากการยุบพรรคในคดีอิลลูมินาติไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 และในคดีเงินกู้ ศาลจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มีระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเดียว

โดยก่อนหน้านี้ทีมทนายความพรรคอนาคตใหม่เพิ่งยื่นเรื่องขอคัดค้าน และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้มีการไต่สวนพยาน 17 ปาก

ในขณะเดียวกันที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่จะพ้นจากตำแหน่ง เพราะอยู่ครบวาระ ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายจรัญ ภักดีธนากุล โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้รับการคัดเลือกเพราะคุณสมบัติไม่ครบ โดยประธานวุฒิภาจะเป็นผู้นำเสนอรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ก็ยังมีการตั้งถามว่า เมื่อได้รายชื่อตุลาการชุดใหม่แล้ว ตุลาการชุดเก่าที่พ้นตำแหน่งจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

โดยนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า เมื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วจะทำให้ตุลาการทั้ง 5 พ้นตำแหน่งทันที ไม่สามารถลงมติหรือมีคำวินิจฉัยใดๆ ได้อีกต่อไป และยังมองด้วยว่า หากตุลาการทั้ง 5 รายยังทำหน้าที่อยู่ ผู้นั้นจะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าการวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จะเป็นอย่างไร แต่หลายฝ่ายเทน้ำหนักไปทางไม่น่ารอด จนฝ่ายค้านต้องเตรียมแผนสำรองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์

ไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 5 คนจะต้องมีขึ้น ฝ่ายค้านจะต้องเดินหน้าต่อ แม้มือในสภาจะลดลงไปเรื่อยๆ

เพราะไม่ว่าจะอย่างไร การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ไม่ได้หมายจะโค่นล้มรัฐบาล เพราะเสียงฝ่ายค้านไม่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องทำคือการเปิดเวทีในสภา อภิปรายบรรดารัฐมนตรีที่มีชื่อ และเป็นการวัดความอดทนในการขย่มอารมณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้มากแค่ไหน เพราะเป้าหลักไม่ได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพราะในส่วนนี้จะเป็นเพียงการโชว์ลีลาถากๆ แตะๆ ให้เจ็บๆ คันๆ

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะเป็นการประลองวิชาตามประสานักกฎหมาย ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. จะเป็นการนำเรื่องในอดีตออกมาฉายซ้ำตอกย้ำกันอีกรอบ

ในขณะที่เป้าหมายที่แท้จริงคือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่บริหารงานทางการทูตล้มเหลว และนำประเทศไปสู่ภัยอันตราย ในการให้สัมภาษณ์ว่ารู้ล่วงหน้า 1 วัน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาโจมตีอิหร่าน ก่อนที่จะออกมาระบุว่าข้อมูลคลาดเคลื่อน ว่ากันว่า งานนี้มีแค้นฝังหุ่นเก่า ที่มาจากการเพิกถอนพาสปอร์ตของคนแดนไกล

แต่ก็ไม่ได้หวังผลถึงขั้นตกเก้าอี้

แม้ช่วงนี้พรรคเพื่อไทยจะมีเรื่องระหองระแหง ทั้งเรื่องการ full power ของใครบางคน ไปจนถึงการพยายาม balance power เพื่อให้ผ่านช่วงการซักฟอกรัฐบาลไปเสียก่อน เนื่องจากไม่อาจปรับทัพตอนนี้ได้ ต้องรอให้พ้นสมัยประชุมนี้ไปก่อน จึงจะมีการจัดกระบวนทัพอีกครั้ง

เมื่อถึงเวลานั้น อยู่ที่ Maximum power ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนการอภิปรายในครั้งนี้ แว่วๆ ว่าขุนศึกสวมบทเต็มที่ จะดุเด็ดเผ็ดมันถึงขั้นร้องซี้ด แต่ก็ยังไม่เผ็ดร้อนเท่าของจริงที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนอย่างแน่นอน

เพราะเมื่อถึงจุดนั้น จึงจะเป็นการเผาจริง