คนมองหนัง | “ชนชั้นนำ” เบื้องหลังความสำเร็จของ “ชนชั้นปรสิต”

คนมองหนัง

ภายหลัง “Parasite” โดย “บงจุนโฮ” สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์เกาหลีและหนังที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเรื่องแรก ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ (ก่อนหน้านั้น หนังยังคว้ารางวัลผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่)

หนึ่งใน “คนเบื้องหลัง” ที่ดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนได้ไม่น้อย คือสตรีเกาหลีวัยกลางคนร่างเล็กและแลดูไม่ค่อยแข็งแรงนัก ซึ่งขึ้นไปกล่าวขอบคุณทุกๆ คน ไล่ตั้งแต่ “บงจุนโฮ”, น้องชายของเธอเอง มาจนถึงสถาบันศิลปวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา และบรรดาคนดูหนังธรรมดาๆ ที่ตีตั๋วเข้าไปดู “Parasite” ในโรงภาพยนตร์ ด้วยภาษาอังกฤษอันลื่นไหล

สตรีผู้นี้มีนามว่า “อีมีคยอง” หรือ “มิกี้ อี” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานของ “ซีเจกรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจค้าปลีกและบันเทิงของเกาหลีใต้ ในวัย 61 ปี

ภาพประกอบโดย Mark RALSTON / AFP

“อีมีคยอง” มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของ “อีบยองชุล” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจ “ซัมซุง” ที่ล่วงลับไปเมื่อปี 1987

เธอลืมตาดูโลกที่รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายตามครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตที่กรุงโซลตอน 3 ขวบ

“อีมีคยอง” เรียนหนังสือในสาขามนุษยศาสตร์และภาษาศาสตร์ที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น จึงพูดเกาหลี, อังกฤษ, จีนแมนดาริน และญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว ก่อนจะไปจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเอเชียศึกษาที่ฮาร์วาร์ด

เครือ “ซีเจกรุ๊ป” บริหารงานโดยสองผู้นำสูงสุดคือ “อีแจฮยอน” ประธานบริษัท และ “อีมีคยอง” รองประธาน ขณะที่ในความสัมพันธ์ทางด้านสายเลือดนั้น “อีมีคยอง” มีสถานะเป็นพี่สาวของ “อีแจฮยอน”

“ซีเจกรุ๊ป” คือเครือข่ายกิ่งก้านที่แยกตัวออกมาจาก “ซัมซุงกรุ๊ป” เมื่อปี 1996 กิจการของพวกเขาเริ่มต้นที่การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลและแป้งทำอาหาร ก่อนจะขยายงานไปครอบคลุมธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจสุขภาพและความงาม ตลอดจนธุรกิจบันเทิงและโรงภาพยนตร์ (เป็นเอกชนเจ้าแรกของประเทศที่เปิดโรงหนังมัลติเพล็กซ์เมื่อปี 1998)

สายสัมพันธ์ระหว่าง “อีมีคยอง” กับภาพยนตร์นั้นหยั่งรากลึกยาวนานมาหลายทศวรรษ

รองประธาน “ซีเจกรุ๊ป” เคยเปิดเผยว่า เมื่อครั้งยังเรียนหนังสืออยู่ฮาร์วาร์ด เธอพบว่าชั้นเรียนภาษาเกาหลีไม่ได้รับความนิยม ส่วนวัฒนธรรมเกาหลีก็ไม่ได้รับความสนใจในวงกว้าง พันธกิจในการสนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีของเธอจึงเริ่มต้นขึ้น ณ จุดนั้น

ความฝันยิ่งใหญ่ของเธอคือ “การได้มองเห็นคนทั่วโลกรู้สึกสนุกสนานไปกับวัฒนธรรมเกาหลี”

อย่างไรก็ดี จุดออกสตาร์ตในธุรกิจบันเทิงของ “อีมีคยอง” และ “ซีเจกรุ๊ป” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1995 กลับต้องไปตั้งต้นไกลถึงสหรัฐ ผ่านการเป็นผู้ร่วมลงทุนรุ่นแรกๆ (ด้วยเม็ดเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ) ของ “ดรีมเวิร์กส์” บริษัทผลิตภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งมี “สตีเวน สปีลเบิร์ก” เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

จึงไม่แปลกที่ “มิกี้ อี” จะมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน

เธอย้อนอดีตว่า เมื่อก่อนในสมัยที่หนังเกาหลียังไม่เป็นที่รู้จัก เธอมักจะนำเอาดีวีดีหนังเหล่านั้นไปแนะนำให้แก่ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวอร์เนอร์ส, ยูนิเวอร์แซล และฟอกซ์

แต่ “อีมีคยอง” ก็ไม่ต้องเดินเหนื่อยอีกต่อไป เมื่อ “Oldboy” ของ “ปักชานวุก” สร้างประวัติศาสตร์หน้าแรก ด้วยการคว้ารางวัล “กรังด์ปรีซ์” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 2004

แม้ด้านหนึ่ง “อีมีคยอง” จะเป็นทายาทอภิมหาเศรษฐี ผู้ผันตนมาเป็น “เจ้าแม่วงการสื่อ” ที่ดูแลอาณาจักรธุรกิจบันเทิงของ “ซีเจกรุ๊ป” ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ และเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากอุตสาหกรรมทีวี-ดนตรี ที่รู้จักกันในนาม “เค-ซีรี่ส์” กับ “เค-ป๊อป”

แต่อีกด้าน เธอก็ถูกยอมรับนับถือในฐานะ “แม่พระ” ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี และผู้อำนวยการสร้างหญิงที่ทรงอิทธิพลสูงสุด ซึ่งยอมเสี่ยงลงทุนในโปรเจ็กต์หนังที่แปลกแหวกแนวและไม่น่าจะประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

“บงจุนโฮ” ผู้กำกับฯ “Parasite” เคยเปิดเผยว่า “ท่านรองประธานอี” เป็นนักดูหนัง-ละคร และนักฟังเพลงตัวยง

“เธอเป็นคนรักหนังตัวจริง ซึ่งดูหนังมาเยอะมาก และพยายามจะเชื่อมโยงให้ความหลงใหลในแบบแฟนภาพยนตร์ดังกล่าวสอดประสานเข้ากับโลกของธุรกิจ”

“ซีเจกรุ๊ป” ดำรงตนเป็นนายทุนให้แก่ภาพยนตร์ของ “บงจุนโฮ” มาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ “Memories of Murder” “Mother” “Snowpiercer” กระทั่งถึง “Parasite”

ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2018 “ซีเจ อีเอ็นเอ็ม” บริษัทซึ่งดูแลธุรกิจบันเทิงของ “ซีเจกรุ๊ป” ได้ประกาศร่วมลงทุนเป็นเม็ดเงิน 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐกับบริษัทผลิตภาพยนตร์ชื่อ “บารันสัน อีแอนด์เอ” เพื่อสร้างหนังเรื่อง “Parasite”

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่าทาง “ซีเจกรุ๊ป” ยังได้ทุ่มเงินอีกกว่าหมื่นล้านวอน (เกิน 200 ล้านบาท) ในการดำเนินแคมเปญประชาสัมพันธ์หนังเรื่องนี้ เพื่อกรุยทางสู่ความสำเร็จบนเวทีออสการ์

ข่าวเมื่อสองปีก่อนระบุว่า ผู้ที่ตัดสินใจชี้ขาดว่า “ซีเจกรุ๊ป” จะร่วมลงทุนในโครงการสร้างหนังเรื่อง “Parasite” คือ “ท่านประธานอีแจฮยอน” โดยเขาได้มอบหมายให้พี่สาว/รองประธาน “อีมีคยอง” เข้าไปรับผิดชอบด้านกระบวนการจัดการและการดำเนินงานสร้างภาพยนตร์ในภาพรวม

สำหรับคนที่รู้จักอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี นี่จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่เราจะได้เห็นสตรีสองรายขึ้นไปกล่าวความในใจ เมื่อ “Parasite” พิชิตรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

หนึ่งในนั้นคือ “กวักซินแอ” ซีอีโอหญิงแห่ง “บารันสัน อีแอนด์เอ” ส่วนอีกหนึ่งรายย่อมต้องเป็น “อีมีคยอง” รองประธาน “ซีเจกรุ๊ป”

และก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาดเช่นกันที่ “อีมีคยอง” จะกล่าวขอบคุณ “อีแจฮยอน” น้องชาย/เจ้านายของเธอบนเวที ในฐานะ “ผู้ที่สนับสนุนให้พวกเราลงมือสร้างฝันจนกลายเป็นจริงเสมอมา” เพราะท่านประธานคือคนเคาะเรื่องให้ “ซีเจกรุ๊ป” ร่วมลงทุนในการสร้าง “Parasite”

ด้วยเหตุนี้ แม้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ของ “บงจุนโฮ” จะส่งสารสำคัญว่าด้วยความขัดแย้งทางชนชั้น ผ่านการดำรงอยู่และปะทะกันระหว่างครอบครัวเศรษฐีข้างบนและครอบครัวคนยากจนตรงฐานรากพีระมิด

อันเป็นประเด็นสากลที่ผู้คนทั่วโลกกำลังครุ่นคิดคำนึงถึง ตามมุมมองการวิเคราะห์ของ “อีมีคยอง”

ทว่า “ซีเจกรุ๊ป” เครือธุรกิจใหญ่ผู้ออกเงินทุนให้หนังวิพากษ์ปัญหาชนชั้นและความเหลื่อมล้ำเรื่องนี้ กลับถือเป็น “ชนชั้นนำทางธุรกิจ” ส่วนน้อย ผู้ครอบครองทรัพย์สินจำนวนมหาศาลในประเทศเกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี นายทุนใหญ่สองพี่น้อง เช่น “อีแจฮยอน” และ “อีมีคยอง” นั้นเพิ่งผ่านพ้นมรสุมชีวิตลูกใหญ่ที่เคยจู่โจมโหมกระหน่ำใส่พวกเขาเมื่อไม่กี่ปีก่อน

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ปักกึนฮเย” ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2013

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ผู้นำหญิงรายนี้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้กับประชาชนระหว่างหาเสียงก็คือ การมุ่งขจัดบรรดา “แชบ็อล” หรือกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มีพฤติกรรมผูกขาดกินรวบในทางเศรษฐกิจ

หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักหลัง “ปักกึนฮเย” ประสบชัยชนะทางการเมือง ได้แก่ “อีแจฮยอน”

ประธาน “ซีเจกรุ๊ป” ถูกจับกุมตัวในเดือนกรกฎาคม 2013 และถูกดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์-หนีภาษี จนต้องโทษจำคุก 4 ปี ก่อนจะได้รับการลดโทษเป็นจำคุกแค่ 2 ปีครึ่ง

ขณะที่น้องชายประสบวิบากกรรม “อีมีคยอง” ก็อ้างว่าตนเองมีปัญหาด้านสุขภาพ (เธอป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบประสาท จนส่งผลให้ร่างกายมีอาการอ่อนแรง) จึงขอยุติบทบาทในเครือ “ซีเจกรุ๊ป” แล้วย้ายไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสหรัฐ

ไม่กี่ปีต่อมา มีหลักฐานระบุว่าเบื้องหลังการประกาศวางมือจากธุรกิจสายบันเทิงในเครือ “ซีเจกรุ๊ป” ของรองประธาน “อีมีคยอง” นั้นคือแรงกดดันขนานใหญ่ที่ส่งตรงมาจากที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี “ปักกึนฮเย”

รัฐบาลในขณะนั้นเพ่งเล็ง “ซีเจกรุ๊ป” มากเป็นพิเศษ เพราะมีการผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาล้อเลียนเสียดสีผู้นำหญิงออกอากาศทางช่อง “ซีเจ เน็ตเวิร์กส์”

ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า เมื่อปี 2017 ที่อดีตประธานาธิบดี “ปักกึนฮเย” ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในรัฐบาลของเธอก็ถูกจับกุมในข้อหาพัวพันกับการจัดทำ “บัญชีดำศิลปิน” เพื่อรวบรวมรายชื่อศิลปินเกือบหมื่นราย ที่แสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์ “ปักกึนฮเย” อันจะนำไปสู่การตัดงบประมาณสนับสนุน ที่ภาครัฐเคยจัดสรรให้คนทำงานศิลปะเหล่านั้น

ว่ากันว่าหนึ่งในศิลปินที่ถูกแบล็กลิสต์ มีชื่อ “บงจุนโฮ” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” รวมอยู่ด้วย

ในวันที่ “Parasite” สร้างประวัติศาสตร์บนเวทีออสการ์ มูลค่าหุ้นของบริษัท “ซีเจ อีเอ็นเอ็ม” ก็พุ่งสูงขึ้น 2.35 เปอร์เซ็นต์

เช่นเดียวกับมูลค่าหุ้นของ “บารันสัน อีแอนด์เอ” บริษัทผู้รับผิดชอบด้านงานสร้างของหนังเรื่องนี้ (อยู่ในเครือ “บารันสัน” ที่มีกิจการหลักเป็นธุรกิจค้าขายเครื่องเขียนและร้านอาหาร) ซึ่งกระโดดขึ้น 19.25 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ถ้ามองว่าเรื่องทั้งหมดนี้ยังไกลตัวเรา สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ “ซีเจกรุ๊ป” นั้นกำลังเข้ามาร่วมลงทุนด้านธุรกิจบันเทิงในประเทศไทย

กิจการร่วมทุนแรกคือ “ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ที่ “ซีเจกรุ๊ป” ดำเนินการผลิตภาพยนตร์ร่วมกับ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโรงหนังบ้านเรา

กิจการร่วมทุนที่สองคือ “ทรู ซีเจ ครีเอชั่น” ซึ่งมุ่งผลิตคอนเทนต์ในโทรทัศน์ร่วมกับ “ทรูวิชั่นส์”

ข้อมูลจาก

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200210000830

https://www.abc.net.au/news/2020-02-11/who-is-miky-lee-oscars-south-korea-godmother-parasite/11952214

https://www.hollywoodreporter.com/features/meet-important-mogul-south-korean-entertainment-1275756