เทศมองไทย : “เฟซบุ๊ก” บนทางสายเลือด ที่นครราชสีมา

อันที่จริงเราควรพูดกันถึง “บทบาท” ของสื่อทั้งหมด ทั้งที่เป็นสื่อใหม่อย่างสื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อเก่าทั้งหลาย ในเหตุการณ์น่าเศร้าชวนสลดใจที่เกิดขึ้นในวันพระใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา

ที่เราควรพูดกันอย่างมากคือ การถอดบทเรียนว่าด้วย “ความรับผิดชอบ” ที่สื่อทั้งหลายแสดงออกไปในเหตุการณ์วันนั้นว่า อันไหนเหมาะแล้ว ควรแล้ว อันไหนที่ไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่ง หรืออย่างไรกันที่ควรยกย่องชมเชย

แต่ผมขออนุญาตทิ้งเรื่องที่ว่านั้นไว้กับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หรือผู้สันทัดกรณีในทางด้านนี้โดยเฉพาะมากกว่า เพราะเชื่อว่าความตายของคนไม่น้อยกว่า 30 คนไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะละเลย โยนทิ้งกันไปง่ายๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ใครก็ตามที่สังเคราะห์เรื่องนี้ ในประเด็นนี้ออกมาอย่างเป็นงาน เป็นการ เป็นกิจจะลักษณะในเชิงวิชาการ ผมถือว่าเป็นคุณูปการสำหรับผู้คนทั้งหลายในวันข้างหน้า ลูกหลานในอนาคตข้างหน้าได้ซึมซับเป็นบทเรียนครับ

แต่เรื่องเฟซบุ๊กที่จะพูดถึงนี้ เป็นการหยิบเอาที่ “รอยเตอร์ส” เริ่มต้นเอาไว้เป็นปฐม เผยแพร่ออกไปทั่วโลกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มาบอกเล่าต่อ หรือจะหยิบยกไปเป็นพื้นฐานการถกแถลงทางวิชาการกันต่อไปก็ย่อมได้

 

รอยเตอร์สเริ่มไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อไม่มีใคร หรืออะไรให้พึ่งพาอีกแล้ว ภายใต้สถานการณ์เผชิญหน้ากับความ “บ้าคลั่ง” ที่ทำให้คนคนหนึ่งไล่ล่าสังหารคนมือเปล่าอื่นๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยแบบไม่เลือกหน้ามานับสิบ ผู้คนจำนวนมากในห้างสรรพสินค้าดังในโคราชก็มองหาทางออก มองหาความช่วยเหลือจากเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ เป็นทางเลือกสุดท้าย โดยการใช้เป็นช่องทาง อ้อนวอน ขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำสำหรับทางหลุดพ้นจากเหตุที่เผชิญอยู่

ก่อนเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า โซเชียลมีเดียเคยถูกกล่าวหาหนักมาก เมื่อเกิดเหตุกราดยิงในมัสยิดที่กลายเป็นกรณีสังหารหมู่แห่งไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปีที่ผ่านมาว่า เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์หนักหนาสาหัสมากกว่าที่ควรจะเป็น พอๆ กับที่เป็นแหล่งที่มาของการกระตุ้น ยุยงส่งเสริมให้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น อย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น

แต่ในกรณีที่นครราชสีมา โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก กลายเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งยวดที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากอยู่รอดปลอดภัย หรือสามารถพบช่องทางหลบหนีออกมาได้อย่างชวนระทึก

รอยเตอร์สไม่ได้พูดถึงการ “ไลฟ์สด” ในหลายๆ กรณีที่สุ่มเสี่ยง หรืออาจกระทั่งก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนที่ตกอยู่ในห้วงความเป็นความตายในวันนั้นขึ้นมา

แต่พูดถึงการทุ่มเทให้ความช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากเหล่านั้นของ “เซเลบ” ในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ในบ้านเราชนิดไม่ยอมหลับไม่ยอมนอนกันทั้งคืน ไม่ว่าจะเป็น ภาคภูมิ เดชหัสดิน “หมอแล็บ แพนดา” หรือ “จ่า-ดรามา แอดดิคส์” เป็นต้น

ข้อเท็จจริงเรื่องการใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางประสานงานนี้ยืนยันจากปากของ พ.ต.อ.พงษ์พิพัฒน์ ศิริพรวิวัฒน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ที่บอกกับรอยเตอร์สว่า เป็นการใช้เฟซบุ๊กสื่อสารกับคนที่ติดอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

“ถ้าไม่มีเฟซบุ๊ก งานเราคงยากขึ้นอีกมาก เราคงไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีคนติดอยู่ข้างในเท่าไหร่ และเกิดอะไรขึ้นบ้างข้างในนั้น”

 

โศกนาฏกรรมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันของคนไทยมากน้อยเพียงใด ในจำนวนประชากร 69 ล้านคน มีผู้เป็น “แอ๊กทีฟ ยูสเซอร์” ของเฟซบุ๊กอยู่มากถึง 56 ล้านรายต่อเดือน รอยเตอร์สยังบอกไว้ด้วยอีกว่า แต่ละคนโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้งานโซเชียลมีเดียนานถึง 3 ชั่วโมง โดยผ่านทางสมาร์ตโฟนเป็นหลัก

ปัญหาก็คือ คนร้ายที่คลุ้มคลั่งก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอยู่ด้วย และใช้มันติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รวมทั้งเหยื่ออยู่นานร่วม 4 ชั่วโมงหลังลั่นกระสุนนัดแรก

แต่รอยเตอร์สบอกว่า หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากไม่ยอมปิดบัญชีผู้ใช้ที่กลายเป็นมือสังหารหมู่แห่งไครสต์เชิร์ช ที่สตรีมพฤติกรรมของตนสดๆ ผ่านเฟซบุ๊กของตนเอง รวมถึงกรณีที่ผู้เป็นพ่อ “ฆาตกรรม” ลูกชายในไทยผ่านไลฟ์สดๆ เช่นเดียวกัน

คราวนี้เฟซบุ๊กเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ปิดการใช้งานของผู้ใช้ที่มีปัญหาในทันทีที่ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังตามปิด-ลบข้อความหลายอย่างที่คนร้ายเคยโพสต์เอาไว้และถูกแชร์ไปในหลายๆ ที่ รวมทั้งการจัดการกับบัญชีผู้ใช้ที่หยิบเอาเรื่องนี้มาล้อเล่น เลียนแบบสนุกๆ หรือชื่นชมแบบไม่เข้าท่าอีกด้วย

ตัวแทนของเฟซบุ๊กในไทยบอกกับรอยเตอร์สไว้อย่างนี้ครับ

“เฟซบุ๊กไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ที่ก่อเหตุอำมหิตอย่างนี้ รวมทั้งไม่ยอมให้ใครก็ตามยกย่องหรือสนับสนุนพฤติกรรมอย่างนี้ด้วยเช่นกัน”