ลึกแต่ไม่ลับ : “คำถามพ่วง” ถ่วงประชามติรธน. ?

จรัญ พงษ์จีน
AFP PHOTO / BORJA SANCHEZ-TRILLO

เหลืออีกไม่กี่อึดใจแล้ว “ร่างแรก” ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานคณะกรรมการร่างฯ จะสะเด็ดน้ำ เพื่อก้าวสืบไปสู่ขั้นตอน “ทำประชามติ” ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559

ให้ประชาชนเจ้าของสิทธิ 47 ล้านกว่าเสียง ชี้ชะตา ว่าจะเลือกเฮไปข้างไหน “รับ” หรือ “ไม่รับ” ถ้าผ่าน ขั้นตอนต่อไป ก็สามารถชงลูกต่อไปยังกระบวนการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2560 ลงตัวตามโรดแม็ปที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช.วางกรอบเอาไว้

ดังที่เกริ่นนำไว้ในฉบับก่อน ว่า ลำพัง “ร่างปู่มีชัย” อาการลูกผีลูกคน เป็นทุนหนักอยู่แล้ว กลับมี “ตัวถ่วง” คือ “คำถามพ่วง” ที่ 2 สมาชิกคือ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 138 ต่อ 7

และ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) มีมติท่วมท้น 152 ต่อ 0 เห็นควรร่วมกันให้ การทำประชามติ “เพิ่มคำถามพ่วง” ว่า

ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา ได้แก่ ส.ส. และ ส.ว. ในช่วงบ้านเมืองเปลี่ยนผ่าน 5 ปีในระยะแรก เพื่อให้งานปฏิรูปขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการประคับประคองสถานการณ์ประชาธิปไตยไปให้ถึงฝั่ง

 

ภาพรวมโดยสรุปคือ สนช. และ สปท. เคาะร่วมกันให้เพิ่มคำถามพ่วงในการทำประชามติว่า

“250 ส.ว. ควรมีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่”

เป็นคำถามที่ 2 ในการทำประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม ต่อจากคำถามที่ 1 เรื่อง “รับ-ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

ประเด็นว่าด้วย “คำถามพ่วง” เหมือนจะเป็น “สายล่อฟ้า” ชั้นเลิศ พลันที่ “สปท.” และ “สนช.” มีมติด้วยเสียงข้างมากผ่าน เกิดขบวนการออเคสตร้า มีมหกรรมประสานเสียงรุมต้านกันพึ่บพั่บ

 

ขนาด “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ระยะหลังๆ ถูกมองว่า “กินยาผิดซอง” กลายเป็น “เสือหลับ” กับวาทกรรมว่าด้วยปมประชาธิปไตย ออกอาการเป๋ไปเป๋มาตลอด เริ่มจะฟื้นจากสลบ พอจะจำบ้านเลขที่บ้านตัวเองถูกกะเขาถูกต้องขึ้นมาบ้างแล้ว

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ตีกรรเชียงออกมา แถลงจุดยืนด้วยตัวเอง 3 ประเด็น หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ

“พรรคไม่เห็นด้วยและไม่รับคำถามพ่วงประชามติ ที่ให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี”

แม้จุดยืนยังไม่หนักแน่นมั่นคง สมราคายี่ห้อประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังดูแล้วงามกว่า ยืนดูประชาธิปไตยรูเบ้อเร่อเลย อยู่เฉยๆ

ประชาธิปัตย์เพียงแต่ออกลีลา ไม่เห็นด้วย แต่ยังสงวนท่าทีว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ฝั่ง “เพื่อไทย” ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรมาก กับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้ร่มเงาของ “คณะปฏิวัติ-รัฐประหาร” ไม่ว่าจะ ชุดเทวดา หรือมหาปราชญ์ ค้านหัวร้างข้างแตก ออกแถลงการณ์ต้านทุกวี่ทุกวันอยู่แล้ว

การเมืองมันลูกกลมๆ “ประชาธิปัตย์” กับ “เพื่อไทย” ปกติ มีแนวโน้มสูงที่จะตายไม่เผา เงาไม่เหยียบ แต่เกิดกลับตาลปัตร ราวกับปาฏิหาริย์กลางวันแสกๆ 2 เกลอเก่ากลับเห็นพ้องต้องกัน ต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ปู่มีชัย”

เงื่อนไข ที่นำพาสู่การเห็นร่วมของ “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” คือ 250 ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ซึ่งถูกต่อยอดไปเป็น “คำถามพ่วง” ของการทำประชามติ

 

“การออกเสียงประชามติ” หรือ “Referendum” คือการนำร่างกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญ และนโยบายที่สำคัญของประเทศไปผ่านการตัดสินเพื่อแสดงความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย นับเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อแนวทางการปกครองประเทศ และถือเป็นประชาธิปไตยทางตรงแบบหนึ่งซึ่งประชาชนมีส่วน มีเสียงโดยตรง

กระบวนการในการลงคะแนนออกเสียงเพื่อตัดสินใจ ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในเรื่องที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมาย หรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป

“การออกเสียงประชามติ” ต่างจาก “ประชาพิจารณ์” ตรงที่การออกเสียงประชามติ จะต้องมีการลงคะแนนออกเสียงเพื่อหามติของประชาชน ส่วน “ประชาพิจารณ์” เป็นเพียงรับฟังความเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องนั้นๆ ก่อนหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องจะมีคำสั่งหรือดำเนินการใดๆ

เท่ากับว่า “หลักการออกเสียงทำประชามติ” เพื่อให้ประชาชนแสดงความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ในเรื่องร่างกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญ และนโยบายที่สำคัญเท่านั้น

 

กรณีที่ 2 สภาคือ “สนช.” และ “สปท.” นำเสนอ “คำถามพ่วง” ไปผูกโยงในการทำประชามติ เป็น “คำถามที่ 2” จึงน่าจะเข้าข่ายผิดหลักการทำประชามติ

การออกเสียงประชามติมิใช่การค้าที่บังคับให้ขายเหล้าพ่วงเบียร์

การมี 2 คำถาม ในการทำประชามติ ย่อมทำให้ประชาชนเป็นผู้ใช้สิทธิเกิดความสับสนอลหม่านมากพอประมาณ

จะทำให้การทำประชามติยุ่งเป็นยุงตีกัน เพราะต้องลงคะแนน เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ 2 คำถาม

ที่จะชุลมุนชุลเกหนักคือ กรณีที่ผู้มีสิทธิลงมติเห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับในทุกหน่วยหมู่ 279 มาตรา ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” กรธ.ยกร่าง แต่ไม่เห็นชอบ “คำถามพ่วง” ที่ไปเพิ่มอำนาจให้กับ 250 ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้หรือไม่

เกิดความรำคาญ สับสนและพากันแห่นาคไปกาบัตร “ไม่เห็นชอบ” ก็ยิ่งยุ่งอีรุงตุงนังเข้าไปใหญ่

สรุปแล้ว “คำถามพ่วง” จะมีผลเสียมากกว่าผลดี ต่อการทำประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ