เหตุทหารกราดยิงโคราช : วัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบของรัฐและชนชั้นนำ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เหตุทหารกราดยิงโคราชเป็นฝันร้ายที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นในไทย ฝันร้ายทำให้เกิดความกลัว ฝันร้ายที่กลายเป็นความจริงจึงยกระดับความกลัวเป็นความสยองเกล้าอย่างที่สุด เแต่ขณะที่ฝันร้ายคือจินตนาการที่จบลงเมื่อตื่น เหตุแบบทหารคลั่งกราดยิงกลับยังไม่มีใครรู้ว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลย

เหตุทหารกราดยิงเป็นอาชญากรรม คำอธิบายเหตุการณ์ที่ง่ายที่สุดจึงได้แก่การมองหาสาเหตุที่ทหารลงมือฆ่าตั้งแต่ต้น ความขัดแย้งระหว่างผู้ฆ่ากับผู้ถูกฆ่าเรื่องโกงเงินเป็นคำอธิบายเดียวที่พอฟังได้ในขณะนี้ แต่คำอธิบายนี้บอกไม่ได้ว่าทำไมผู้ฆ่าจึงยกระดับจากการฆ่าล้างแค้นเป็นการกราดยิงคนที่ไม่เกี่ยวข้องเลย

ถ้าจ่าจักรพันธ์ลงมือเพราะเรื่องส่วนตัว จ่าก็น่าจะหนีหรือยุติเรื่องนี้ทันทีที่ยิงสองคนนั้นตายคาบ้านสำเร็จ แต่ข้อเท็จจริงคือจ่าขับรถกลับไปค่ายทหาร ฆ่าพลทหาร แล้วปล้นรถฮัมวี่กับอาวุธสงครามอีกมหาศาล การกราดยิงคนที่ไม่รู้จักเกือบทั้งวันจึงต้องมีสาเหตุอื่นมากกว่าเหตุผลเฉพาะตัวแบบฆ่าล้างแค้นที่ถูกโกง

“จ่าคลั่ง” หรือ “ทหารคลั่ง” เป็นคำที่สื่อใช้เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารทางสังคม แต่พฤติกรรมผู้ก่อเหตุตั้งแต่ซุ่มยิงตำรวจเพื่อตีฝ่าค่ายไปถนนใหญ่ การยิงโดรน การสกัดการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แสดงว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้คลุ้มคลั่งจนขาดสติ ซ้ำยังมีสติพอจะวางแผนจนเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาข้ามคืนกว่าจะยุติเหตุร้ายลง

ในคำให้สัมภาษณ์ของพระมนัสวินผู้เห็นเหตุการณ์ช่วงที่จ่าจักรพันธ์แหกด่านตำรวจเพื่อไปที่อื่นต่อ พระระบุว่าจ่าซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ก่อนยิงประชาชนเสียชีวิต 9 คน แต่พอเห็นพระอยู่ใกล้ๆ จ่ากลับไม่ยิงพระ

จ่าจะคลั่งหรือไม่และคลั่งตอนไหนก็ไม่มีใครทราบ เพราะจ่าตายไปแล้ว แต่วิธีฆ่าและไม่ฆ่าแสดงว่าจ่าพอมีสติในการฆ่าคน

คำอธิบายเรื่อง “จ่าคลั่ง” ง่ายต่อการสื่อสารในเวลารวดเร็ว แต่คำอธิบายนี้ไม่ทำให้เห็นความซับซ้อนของเรื่อง เป็นได้ทั้งจริงและเท็จ รวมทั้งอาจนำไปสู่ความเชื่อที่พล.อ.ประยุทธ์และพวกพยายามสร้างว่าจ่าฆ่าคนได้เพราะ “ความคลั่ง” จนนายก, รัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

ในการแถลงขณะกลิ่นคาวเลือดจากความตายและการสูญเสียยังคลุ้งคาวบนเมืองย่าโม สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำคือชะโงกไปโบกไม้โบกมือและทำสัญลักษณ์มินิฮาร์ทแบบคนอายุ 65 ที่คิดแต่หาเสียงโดยไม่คำนึงถึงกาละเทศะ ส่วนพลเอกอภิรัชต์ก็แถลงพร้อมบีบน้ำตา แล้วกล่าวโทษว่าความสยดสยองที่โคราชเป็นเรื่องส่วนบุคคล

แน่นอนว่าการฆ่าล้างแค้นเป็นเรื่องระหว่างบุคคล แต่การฆ่าผู้บังคับบัญชาและญาติซึ่งใช้ความเป็นนายทหารฉ้อโกงแล้วสั่งขังจ่านั้นไม่ใช่เรื่องระหว่างบุคคลล้วนๆ เช่นเดียวกับการที่จ่าปล้นอาวุธสงครามออกจากคลังแสงไปได้จำนวนมาก รวมทั้งการที่กำลังพลขั้นสูงสุดของทหารชั้นประทวนกราดยิงประชาชน

ตรงข้ามกับความเท็จที่พลเอกประยุทธ์และ ผบ.ทบ.ชี้นำสังคม ไม่มีการฆ่าในส่วนไหนของเหตุทหารกราดประชาชนที่เป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลเหมือนขี้เหล้าเมาแล้วมีเรื่อง การฆ่าทุกมิติเกี่ยวพันกับ “ระบบ” ไม่ว่าจะเป็นนายทหารอยุติธรรม คุมคลังแสงหละหลวม หรือกองทัพไม่ปลูกฝังให้ทหารไม่ฆ่าประชาชน

การฆ่าผิดทุกกรณี และต่อให้จะคับแค้นที่ถูกโกงและกลั่นแกล้งอย่างไร จ่าย่อมไม่มีสิทธิฆ่าใครทั้งสิ้น ไม่ต้องพูดถึงการฆ่าประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการโกงและการกลั่นแกล้งอย่างโหดเหี้ยม

ข้ออ้างว่าจ่าเป็นหมาจนตรอกที่กลายเป็นโจ๊กเกอร์ผิดแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่านายกและผบ.ทบ.ทำถูกที่ไม่รับผิดชอบอะไรเลย

ผบ.ทบ.แถลงเรื่องทหารกราดยิงโดยคำพูดที่คมคายว่า “วินาทีที่ทหารลั่นไกสังหารประชาชน เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหาร” แต่ปลายหอกของความคมคายถูกทิ่มแทงกลับไปสู่ ผบ.ทบ.ว่าคำพูดนี้ปัดความรับผิดชอบทั้งสิ้น เพราะผู้ฆ่าคือทหารที่กองทัพฝึกให้ใช้อาวุธสงครามจนปฏิเสธความเป็นทหารไม่ได้ ยกเว้นแต่จะปัดความรับผิดให้พ้นตัวอย่างไร้ยางอาย

ไม่ว่าต้นเหตุที่แท้จริงซึ่งทำให้จ่าจักรพันธ์ฆ่าผู้บังคับบัญชาคืออะไร กองทัพก็ต้องรับผิดชอบที่สร้างระบบควบคุมอาวุธและกำลังพลซึ่งเปิดโอกาสให้จ่ากลายเป็น “จ่าคลั่ง” สามารถก่อเหตุกราดยิงที่น่าสยดสยองได้แบบนี้ เพราะระบบที่ดีย่อมไม่มีทางที่ “จ่าคลั่ง” คนไหนจะทำแบบนี้กับประชาชนได้เลย

ถ้าระบบควบคุมคลังแสงของกองทัพดีพอ จ่าก็จะเป็นแค่ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมเท่านั้น ถ้าระบบฝึกกำลังพลของกองทัพดีพอ จ่าก็จะมีสำนึกว่าความแค้นผู้บังคับบัญชาไม่ใช่เหตุฆ่าผู้บริสุทธิ์ และถ้ากองทัพไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนจนเป็นเรื่องธรรมดา จ่าย่อมมีสติจนคิดได้ว่าทหารห้ามฆ่าประชาชนทุกกรณี

ภายใต้บรรทัดฐานที่นายกและพลเอกอภิรัชต์สร้างขึ้น หาก “นายร้อยคลั่ง”, “นายพันคลั่ง” หรือ “นายพลคลั่ง” ปล้นรถฮัมวีพร้อมอาวุธสงคราม ระเบิด และปืน M60 กราดยิงประชาชนตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็ไม่ถือว่านายกและผบ.ทบ.มีความผิด เพราะคนเหล่านั้นได้พ้นจากทหารไปแล้วทันทีที่เขาทำความเลว

นอกจากนายกและผบ.ทบ.ที่หวังเป็นนายกต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รับผิดชอบอะไรเหมือนกัน คนทั้งคู่นี้ยังทำให้กองทัพทั้งสถาบันไม่ต้องรับผิดชอบกับการปล่อยปละละเลยให้นายทหารโกงกำลังพล , ความล้มเหลวในการควบคุมคลังอาวุธ รวมทั้งความรับผิดชอบต่อความสูญเสียของข้าราชการและประชาชน

ทุกครั้งที่สื่อถามหาความรับผิดชอบจากพล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.ทบ. คำตอบที่ได้มีแต่เรื่องให้รักษาฟรี ช่วยค่าทำศพ ให้ลูกคนตายเป็นทหาร ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคือการเอาภาษีประชาชนไปจ่ายแทนกองทัพในเรื่องที่กองทัพสร้างความเสียหายกับประชาชน แต่นายพลนายพันที่ก่อความเสียหายกลับไม่ต้องรับผิดอะไรแม้แต่นิดเดียว

สำหรับผู้บังคับบัญชาเลวๆ ที่กดขี่ข่มเหงกำลังพล สารที่นายกและ ผบ.ทบ.ส่งไปคืออย่าทำกับกำลังพลถึงจุดที่กำลังพลทนไม่ได้ สำหรับผู้บังคับบัญชาที่ประชาชนถูกฆ่าด้วยอาวุธในควบคุม สารจากนายกและ ผบ.ทบ.คือไม่ต้องรับผิดชอบอะไรในฐานะบุคคลทั้งสิ้น เพราะกองทัพจะเอาภาษีประชาชนไปจ่ายชดใช้ความสูญเสียเอง

กองทัพได้ชื่อว่ามีสำนึกต่ำเรื่องความรับผิดของผู้บังคับบัญชา รัฐประหารที่ผิดกฎหมายกลายเป็นถูกโดยออกกฎหมายนิรโทษกรรม การยอมรับผิดเรื่องยิงผู้บริสุทธิ์ที่สามจังหวัดจะเกิดในกรณีที่ประชาชนมีหลักฐานมัดแน่นเท่านั้น กระทั่งเรื่องใหญ่อย่างเหตุทหารกราดยิงโคราชก็กำลังจบแบบไม่มีใครผิดอะไรเลย

ที่ผ่านมานั้นผู้นำกองทัพมักอ้างว่าตัวเอง “เสียสละ” จนสูงส่งกว่าผู้นำการเมืองและประชาชนทุกคน แต่ในกรณีทหารกราดยิงคนตายที่โคราช ประชาชนได้เห็นแล้วว่าความเสียสละเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อปกปิดความจริงที่ผู้นำกองทัพเป็นเสือนอนกินที่กอบโกยผลประโยชน์จากสังคมมากถึงจุดที่ไม่รู้ความรับผิดชอบชั่วดี

ท่ามกลางการพยายามสร้างภาพว่าเหตุทหารกราดยิงเกิดเพราะ “จ่าคลั่ง” จนนายกและผู้นำกองทัพไม่ต้องรับผิดชอบ สิ่งที่สังคมเห็นคือชนชั้นนำตอนนี้ไม่มีสำนึกของความเป็นผู้นำที่กล้าทำกล้ารับอยู่เลย

ลองคิดง่ายๆ จะเกิดอะไรหากนักการเมืองมีลูกน้องเอาอาวุธสงครามไปยิงคนตายกลางห้างแบบที่ทหารทำ จากนั้นนักการเมืองก็ลอยหน้าลอยตาเป็นรัฐมนตรีต่อ แถลงเก๋ๆ ว่าลูกน้องที่ยิงคนตายไม่ใช่ลูกน้องต่อไป ใครพ่อตายก็จะได้ทำงานในกระทรวงที่รัฐมนตรีคุมอยู่ รัฐจ่ายค่าทำศพ และกองทุนสามสิบบาทจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ไม่ว่าจะในสังคมไหน ความรับผิดชอบทางการเมืองคือเส้นแบ่งระหว่างผู้นำที่เป็นรัฐบุรุุษกับผู้นำที่เป็นอัปรียชน วีรบุรุษคือผู้นำที่ยอมสละตำแหน่งเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งหลักการบางอย่าง ส่วนทุรบุรุษได้แก่ผู้นำที่หวงแหนตำแหน่งโดยใช้ทุกข้ออ้างเป็นเครื่องบังหน้า แต่ไม่คำนึงถึงหลักการอะไรเลย

จ่าจักรพันธ์ถูกผู้บังคับบัญชากดขี่จนกลายเป็น “จ่าคลั่ง” ที่่ก่อเหตุกราดยิงโดยมีสติว่าการยิงคือการสื่อสารทางสังคม การยิงจึงเป็นเครื่องมือในการบอกโลกว่าตัวตนจ่าถูกเหยียบย่ำจนชีวิตเหมือนตายทั้งเป็นไปแล้ว ความตายของจ่าทำให้คนเห็นว่าจ่าถูกข่มเหงจนผบ.ทบ.ยอมรับในปัจจุบัน ต่อให้จ่าผิดที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ก็ตาม

ด้วยต้นทุนสูงระดับชีวิตประชาชนราว 30 และความสูญเสียทางจิตใจกับทรัพย์สินมหาศาล ปฏิกริยาตอบสนองจากผู้นำกองทัพคือการเปิดเพจให้สื่อสารกับ ผบ.ทบ.โดยตรงเท่านั้น วิธีที่ผู้มีอำนาจจัดการกับความตายของจ่าทำให้คนตาสว่างอีกครั้งว่าเราอยู่ในระบอบที่ผู้นำไม่รู้จักคำว่าสปิริตหรือความรับผิดชอบเลย

พลเอกอภิรัชต์สร้่างภาพว่ากองทัพรักความเป็นธรรมโดยประกาศไล่ทหารเกษียณอายุออกจากบ้านราชการ แต่หลังจากคำพูดหลุดจากปากได้วันเดียว กระบวนการกลืนน้ำลายก็เกิดขึ้น ประยุทธ์-ประวิตร-อนุพงษ์ และทหารการเมืองไม่ต้องออกจากบ้านหลวงเหมือนทหารกลุ่มอื่น เพราะถือว่าคนกลุ่มนี้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง

ในโลกแห่งการผดุงความยุติธรรมในกองทัพแบบ ผบ.ทบ. มีแต่ทหารระดับจ่าหรือนายพันเท่านั้นที่ห้ามอยู่บ้านหลวงตลอดชีวิต แต่ทหารการเมืองที่เป็นก๊วนนายกและวุฒิสมาชิกอยู่ได้ ทั้งที่กินเงินเดือนสองทางและบำนาญรวมเกือบสามแสนก็ตาม

บทเรียนจากโศกนาฎกรรมโคราชคือสังคมไทยวันนี้อยู่ใต้ระบอบการปกครองที่ชนชั้นนำล่มสลายความน่านับถือทางศีลธรรมอย่างสิ้นเชิง มีแต่การต่อปากต่อคำเพื่อเอาตัวรอด คำแถลงที่เป็นแค่การแก้ตัว พูดผิดให้เป็นถูก โจมตีคนอื่นเพื่อบิดเบือนประเด็น ไม่ถือความสัตย์ และไม่มีตรงไหนเข้าใกล้ความเป็นผู้นำที่ดี