ฉัตรสุมาลย์ : วัฒนธรรมองค์กร

วันก่อนอ่านบทความในคอลัมน์หนึ่งของมติชนสุดฯ ที่พูดถึงวัฒนธรรมองค์กร ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้

ผู้เขียนได้หันไปทบทวนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม ที่ผู้เขียนคุ้นเคย และได้เฝ้ามองพอที่จะเข้าใจได้ว่า ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีนั้น มีอะไรบ้างที่อาจจะจัดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน

ก็พอดีไข่ต้มเจ็บหนัก ไข่ต้มเป็นสุนัขเพศเมียพันธุ์บางแก้วค่ะ

ต้องเล่าบริบทอีก ที่วัตรทรงธรรมฯ นั้น ที่ดินที่ภิกษุณีวรมัยท่านให้ไว้มีเนื้อที่ 6 ไร่ ทั้งนี้ ตามกฎหมายค่ะ ว่า จะเป็นวัดต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 6 ไร่ ที่ดินนี้ยกให้เป็นวัตรตั้งแต่ พ.ศ.2501 โน่น

พอมาถึงคราวที่ท่านธัมมนันทาออกบวชท่านก็ยกที่ดินให้อีก 3 ไร่ เป็นผืนต่อกันไปทางด้านหลัง ที่ดินด้านหลังนี้เป็นที่ก่อสร้างพระวิหารพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตเจ้า ทางวัตรก็ต้องเดินสายไฟมาที่วิหารด้านหลัง

สายไฟที่เดินมาบนกำแพงนี้ ถูกขโมยลักตัดสายไฟถึง 6 ครั้ง นายตำรวจยศนายพันที่มาตรวจสถานที่ ออกปากกับท่านธัมมนันทาว่า “หลวงแม่ไม่ลงทุน”

ท่านธัมมนันทาก็ไปไม่ถูก ไม่เข้าใจว่าให้ลงทุนอะไร นายตำรวจท่านนั้นแนะว่า ให้เลี้ยงบางแก้ว

 

พอดีเป็นช่วงที่น้องน้ำมาเยือนกรุงเทพฯ ญาติโยมที่อยู่แถบทวีวัฒนาต้องอพยพครอบครัวมาอาศัยวัตร พร้อมฝากสุนัขพันธุ์บางแก้วไว้ที่สวนด้านหลัง

ช่างเป็นเรื่องบังเอิญโดยแท้ นับแต่นั้นมา ก็ไม่มีปัญหาเรื่องมีคนมาลักตัดสายไฟอีกเลย สุนัขที่มาทำหน้าที่เป็นตำรวจดูแลสวนให้ทางวัตร เป็นสุนัขพันธุ์บางแก้วแท้ ตัวผู้ชื่อ จัมโบ้ และตัวเมียชื่อ ไข่ต้ม

ที่ว่าพันธุ์บางแก้วแท้นี้ เขามีประวัติสายพันธุ์กำกับ ย้อนขึ้นไปถึงปู่ทวดของเขาโน่น

ตัวที่เราต้องดูแล คือไข่ต้มที่ว่าไปแล้วนั่นแหละค่ะ

 

ไข่ต้มตาบอดมาเป็นปีแล้ว เพราะตาบอดเลยไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เลยอ้วนมาก กว่าจะเอาขึ้นท้ายรถกระบะได้ต้องใช้คนยก 3 คน ก็พวกหลวงพี่นั่นแหละค่ะ

หลังจากฉีดยากลับมาแล้ว ฆราวาสที่ดูแลอยู่ว่า หายใจแผ่วลง ในที่สุด เธอก็สิ้นใจราว 6 โมงครึ่ง เป็นเวลาที่หลวงพี่กำลังเตรียมตัวจะลงทำวัตรเย็น

หลวงพี่ที่ทราบเรื่องรูปแรก สิ่งแรกที่ทำคือ ไปเรียนเจ้าอาวาส ท่านธัมมนันทาออกมากำกับงานด้วยตัวเอง

เรื่องแรก คือจุดที่จะฝัง ชี้จุดที่จะฝังภายในสวนด้านในเพราะยังพออาศัยความสว่างจากไฟที่เสาภายในวัตรได้ แล้วก็เตรียมจอบ ท่านธัมมนันทาใช้ปลายจอบขีดให้เป็นรอยว่า ขนาดหลุมประมาณนี้

หลวงพี่ที่ทราบเรื่องออกมาโดยไม่ต้องเรียก ไม่ต้องตาม มาช่วย 4 รูป ฆราวาส 2 คน ผู้หญิงทั้งนั้น ดินที่ขุดแข็งมากเพราะเป็นดินที่มาจากงานก่อสร้าง ปรากฏว่า จอบไม่กินดิน ต้องใช้อีเตอร์ อุปกรณ์ขุดดินปลายแหลม แต่หนัก มีหลวงพี่เพียงสองรูปที่มีแรงที่จะใช้อุปกรณ์นี้ได้

หลวงพี่ที่แรงน้อยกว่า ทำหน้าที่ช่วยโกยดินออก เมื่อขุดด้วยอีเตอร์ดินแตกเป็นก้อนใหญ่ๆ แล้ว เราทำงานไปครึ่งทาง ฆราวาสคนหนึ่งก็ไปเตรียมน้ำสำหรับดื่ม และต่อสายน้ำเอามาช่วยรดเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้ง

ทุกคนทำงานอย่างรู้หน้าที่ ไม่มีการพูดกันมาก

 

เวลาผ่านไป 45 นาที คิดว่า น่าจะได้หลุมลึกพอควร คือประมาณ 1 เมตร หลวงพี่สองรูปไปเข็นร่างของไข่ต้มที่นอนอยู่ที่สวนด้านนอกเข้ามา โดยมีหลวงพี่อีกรูปหนึ่งคอยบริการเปิดประตูรับ

เมื่อเข็นรถที่มีร่างไข่ต้มนอนอยู่มาถึง คาดด้วยสายตาก็รู้ว่า หลุมยังกว้างไม่พอ เพราะบางแก้วโตเต็มที่ ตัวใหญ่เอาการอยู่

ต้องขุดเปิดความกว้างของหลุมออกไปอีก

เหงื่อแตกโชกท่วมหลังทุกรูปทุกคน

ในขณะทำงานนั้น หลวงพี่ท่านหนึ่งกังวลเรื่องไปสวดมนต์ เพราะเป็นเวลาทำวัตรเย็น

ท่านธัมมนันทาทำงานต่อ พูดแต่เพียงว่า “อยากจะไปสวดมนต์ก็ไป” ทั้งรูปที่พูด และรูปที่เหลืออยู่ ยังคงทำงานต่อไป

ท่านธัมมนันทามาพูดทีหลังว่า ศพมันจะแข็งมันไม่รอหลวงพี่สวดมนต์ คือต้องรู้จักจัดการวางลำดับก่อนหลังของงานที่เราเผชิญหน้าอยู่

ในที่สุด เมื่อได้หลุมกว้างได้ที่ เราปูกระดาษหนังสือพิมพ์หนาๆ ที่พื้น แล้วโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วจึงยกร่างของไข่ต้มลงไปนอนในหลุม เอาผ้าห่มให้มิดชิด โรยปูนขาวอีกครั้ง

จากนั้น ช่วยกันโกยดินกลบร่าง

หลวงพี่บางท่านหาดอกไม้มาวางที่ปากหลุม ทุกรูปจุดเทียนเพื่อบอกอำลา ท่านธัมมนันทากล่าวคำไว้อาลัย ระลึกถึงคุณความดีที่ไข่ต้มดูแลวัตรมาตลอดเวลาหลายปี ปลอดจากการรบกวนของคนร้าย

สมาชิกสังฆะลาจากไข่ต้มในฐานะที่ไข่ต้มเป็นสมาชิกของวัตรชีวิตหนึ่ง และขอให้ไข่ต้มไปสู่สุคติ

ท่านสวดมนต์ให้ โดยสวดบทที่นำวิญญาณให้ก้าวข้ามไปสู่ภพใหม่ด้วย

หลวงพี่ทุกรูปปักธูปหนึ่งดอกที่ถืออยู่ในมือลงดิน เอากระถางต้นวาสนามาวางบนหลุม ต่อไปต้นวาสนาก็จะงอกงามตรงจุดนั้น

ในวันพระที่ตามมา สังฆะยังได้ทำบุญให้วิญญาณของไข่ต้มเป็นกรณีพิเศษด้วย

 

ที่เล่ามาทั้งหมด ท่านผู้อ่านจะเห็นวัฒนธรรมองค์กรของที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี สังฆะดูแลทุกชีวิต แม้จะเป็นสุนัขก็ให้ความสำคัญเช่นกัน

เราเห็นความร่วมมือร่วมใจ ความพร้อมเพรียง ความเสมอภาค ที่จะดูแลชีวิตหนึ่งที่เคยเป็นสมาชิกที่ทำประโยชน์ให้กับวัตรเช่นเดียวกัน

ภาพที่เห็นนั้น เป็นภาพของหลวงพี่และหลวงแม่ทำงานด้วยกันโดยไม่มีชนชั้นวรรณะ การทำงานด้วยกันด้วยความเสมอภาค ไม่แยกแยะว่าบวชก่อนบวชหลัง ไม่แยกแยะว่าพระหรือฆราวาสเป็นวัฒนธรรมแข็งขององค์กรนี้

เออ แล้วพระขุดดินไม่ผิดหรือคะ

เอ่อ ถามท่านๆ ก็ว่า เป็นอาบัติทั้งนั้นแหละ แต่ทำความเข้าใจว่า การห้ามไม่ให้ขุดดินนั้น จุดประสงค์เพื่อระวังไม่ไปละเมิดชีวิตของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ในดิน สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เขียนหนังสืออธิบายว่า อนุญาตให้ดินใหม่ไม่เกิน 10 วัน ในความหมายว่า ยังไม่ทันมีสิ่งมีชีวิตเข้าไปอาศัย เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ คือ ไม่ล่วงเกินสัตว์สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดิน

ดินที่ขุดนั้น เล่าให้ฟังแล้วว่าเป็นดินก่อสร้าง ไม่มีสัตว์เล็กสัตว์น้อย และข้อสำคัญในการขุดดิน ไม่ได้มีเจตนาที่จะละเมิดชีวิต

เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ

ภิกษุ ให้ดูที่เจตนาเป็นตัวตัดสินการกระทำ ในความหมายประมาณนี้

การรักษาพระวินัย สักแต่ว่า เพื่อการรักษาพระวินัยให้ดูดี ดูว่าเคร่งพระวินัยก็ไม่น่าจะใช่จุดประสงค์ของสิกขาบท

ทำไมไม่จ้างคนงานล่ะคะ

มันทุ่มหนึ่งแล้วนะ จะมีใครเขารับจ้างทำงานกันตอนนั้นไหม

ในโลกสมัยใหม่ หากรักษาพระวินัยโดยไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์ก็จะขยับตัวแทบไม่ได้เลย

และถ้าจะรักษาพระวินัยตามตัวอักษรแล้ว ทุกรูปอาบัติหมด ตั้งแต่ข้อที่ว่า ห้ามไม่ให้ไปโดยยานทีเดียว ขึ้นรถไม่ได้ นั่งคานหามก็ไม่ได้ พระต้องเดินด้วยเท้าอย่างเดียวเชียวนะ

 

วัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน คือเคารพพระวินัย ขณะเดียวกันระลึกด้วยว่า พระพุทธองค์ทรงฝากพระศาสนาให้พุทธบริษัททั้งสี่เคารพพระธรรมและพระวินัย

ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ก็มีประเด็นที่เห็นด้วยว่า วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่เปลี่ยนยาก นับแต่ลูกวัตรกลัวเจ้าอาวาสเสียคิดเองไม่เป็น ไม่กล้าคิดต่าง แม้คิดต่างก็ไม่กล้าแสดงออก อันนี้ก็เป็นอุปสรรคในการพัฒนาองค์กร ที่ยังต้องค่อยคลำหาเงื่อนปมที่จะคลี่คลายต่อไป

การขับเคลื่อนองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ทันทีที่ใช้คำว่า “ขับเคลื่อน” ทำความเข้าใจได้ว่า มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลง มันต้องขยับขยาย มันต้องเหนื่อย มันต้องออกมาจากบริบทเดิมๆ ที่คุ้นเคย การที่คนไม่อยากเปลี่ยนแปลง คือความกลัวกับความเหนื่อยยาก กลัวว่าตัวเองจะไม่มีที่ลงในการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

เช่นนี้เองที่การขับเคลื่อนองค์กรยิ่งใหญ่ยิ่งยาก แต่ทำได้หากสมาชิกมีความพร้อม รู้เป้าหมายร่วมกัน มีความรับผิดชอบร่วมกัน ไปทางไหนไปด้วยกัน

เช่นนี้มีความเป็นไปได้สูง ที่องค์กรนั้น ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จ แต่จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาองค์กรตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดไปถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุดได้