เศรษฐกิจ / หั่นดอกเบี้ยนโยบายต่ำติดดิน เทหมดหน้าตักดึงเชื่อมั่น ศก. ลุ้นปาฏิหาริย์ผู้นำเสกจีดีพีโต

เศรษฐกิจ

 

หั่นดอกเบี้ยนโยบายต่ำติดดิน

เทหมดหน้าตักดึงเชื่อมั่น ศก.

ลุ้นปาฏิหาริย์ผู้นำเสกจีดีพีโต

 

มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สร้างผลต่อความรู้สึกหลากหลาย

ในฝั่งรัฐบาล และเอกชน รู้สึกเป็นสุขเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำตามข้อเรียกร้อง ใช้มาตรการด้านการเงิน มาช่วยเศรษฐกิจและช่วยทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป

เพราะถ้าดอกเบี้ยนโยบายไทยสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาทำกำไรในไทยมากขึ้น จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่ต่ำเอื้อให้เอกชนลงทุนมากขึ้น ชดเชยกับงบฯ ลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายไม่ได้จากปัญหางบประมาณ 2563

แต่ในมุมฝั่งนักวิชาการกลับตรงข้าม

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การตัดสินใจลดนโยบายดอกเบี้ยของ กนง. แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการกระตุ้นโดยด่วน การลดดอกเบี้ยอาจทำให้ถูกมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่าคนจะใช้เงินหรือไม่ ถ้าดอกเบี้ยลดลงแล้ว คนไม่ใช้เงินก็ถือว่ากระสุนด้าน เพราะคนไม่มั่นใจไม่กล้ารูดบัตรเครดิต ไม่กล้าใช้เงินก็จะกลายเป็นกระสุนด้านในเชิงการกระตุ้น”

 

นอกจากนี้ การลดของ กนง. ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ ทยอยประกาศลดดอกเบี้ยลงตาม เพราะได้รับการกดดันอย่างหนักจากรัฐบาล และ ธปท. ซึ่งในการลดดอกเบี้ยของแบงก์ต่างๆ ต้องลดทั้ง 2 ขา คือเงินฝาก และเงินกู้ เมื่อไปไล่ดูดอกเบี้ยเงินฝาก เมื่อสำรวจตารางดอกเบี้ย พบว่า บางธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ในกลุ่มนิติบุคคล กลุ่มสถาบัน กองทุน เพียง 0.10% ต่อปี

น่าเป็นห่วงว่าหากในปี 2563 กนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้ง อาจมีปัญหาดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมกับผู้ฝากเงิน เหมือนในยุโรปบางประเทศที่คิดค่าธรรมเนียมกับผู้ฝากเงินรายใหญ่ หลังธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

กนง.มีนัดประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทุก 6 สัปดาห์ การลดดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ห่างจากการลดดอกเบี้ยครั้งก่อน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เพียงไม่กี่เดือน และมีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีก

จากการส่งสัญญาณของวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า พร้อมใช้นโยบายการเงินทั้งดอกเบี้ยนโยบาย และเครื่องมืออื่นๆ เข้าไปดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น

 

ธปท.เป็นธนาคารกลางแรกของโลกที่ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดพีก การลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด เพื่อต้องการดำเนินนโยบายแบบตั้งรับ (Take Action) โดยมองสถานการณ์ออกเป็นสมมุติฐานหลากหลายรูปแบบ เพราะหากไม่ตั้งรับให้ดี เมื่อเกิดสถานการณ์ที่แย่และกว้างมากขึ้นจะแก้ไขยากขึ้น

สถานการณ์ขณะนี้แตกต่างจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยสามารถโตตามศักยภาพ 3.5-4% จึงทำให้ช่วงนั้น ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยมากเกินไป

แต่เศรษฐกิจไทยวันนี้อาจถึงตลอดปี ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ยังไม่จางหาย ก็เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา กระทบทันทีต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ยังมีเรื่องขัดๆ ทางการเมืองจนงบประมาณ 2563 ยังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้ตามกรอบที่เคยทำกันมา ซึ่งก็ซ้ำเติมเศรษฐกิจ จากปัจจัยเดิมๆ ที่ยังแก้ไม่ตก อย่างการส่งออกของไทย

ปีนี้ต้องมาลุ้นว่าจะฟื้นตัวหรือไม่ จะพลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้งไหม หลังจากปีที่ผ่านมาติดลบ เพราะตลาดส่งออกหลักของไทย อย่างจีนได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา และผลจากสงครามการค้ากับสหรัฐยังแค่เป็นการสงบศึกชั่วคราว ย่อมกระทบต่อกำลังซื้อการนำเข้าไม่แค่จีนแต่ลามไปทั่วโลก

ดังนั้น เป้าหมายที่รัฐบาล “ประยุทธ์” อยากเห็นจีดีพีปี 2563 โต 2.8% อาจริบหรี่ลง!!!

 

ช่วงนี้ สำนักพยากรณ์ของเอกชนพากันหั่นตัวเลขประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 ลดลงเป็นแถว

บางสำนักมองต่ำกว่า 2% อย่างนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเพียง 1.7-2.1% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมคาดไว้ 2.7%

สาเหตุลงมามาก เพราะปัญหาไวรัสโคโรนากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและส่งออกไทย 1.5 แสนล้านบาท

ความล่าช้าของงบประมาณ 2563 ทำให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐหายไป 6.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนภัยแล้งคาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท

มาฟากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย หั่นเป้าเหลือ 2.0-2.5% จากเดิม 2.5-3.0% ทั้งระบุเปรยไว้ จีดีพีต้นปีมองกันแค่โตกว่า 2% น่าเป็นห่วงว่าปลายปีจะเหลือเท่าไหร่ เพราะเมื่อปี 2562 ต้นปีคาดว่าจะโต 4%

แต่ตัวเลขจริงออกมาน่าจะโต 2.5-2.6% หายไปเกือบครึ่ง

 

แม้ล่าสุด สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับในเวทีสัมมนาเศรษฐกิจแห่งหนึ่งว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตระดับกว่า 2% เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และเยอรมนีอาจโตไม่ถึง 1% การไปคาดหวังให้เศรษฐกิจไทยโต 7-8% เหมือนเวียดนามคงเป็นไปไม่ได้

เมื่อก่อนไทยเป็นแบบเวียดนาม แต่ขณะนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยล้าสมัย ไม่สมดุล จีดีพี 70% พึ่งพาการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกซบย่อมกระทบส่งออกไทยถึงขั้นติดลบมาแล้ว

แม้ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามพยุงเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการกระตุ้น และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ผลักดันอีอีซีให้เกิดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ดูแลเศรษฐกิจในประเทศและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เศรษฐกิจภายในเข้มแข็ง สู้กับความผันผวนภายนอกประเทศ

ระหว่างปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็น จึงทำให้เห็นมาตรการกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ออกมาเป็นระยะทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้ง มาตรการดูแลผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง และเอสเอ็มอี มาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชน มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว

รวมถึงมาตรการดูแลสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีวงเงินเข้าไปช่วยเหลือที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 6-7 แสนล้านบาท

 

เรื่องนี้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า พร้อมออกมาตรการมาดูแลเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการที่กระทรวงเตรียมไว้ ทั้งมาตรการภาษี มาตรการดูแลภาคท่องเที่ยว ชิมช้อปใช้เฟส 4 มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยงบประมาณ 2563 ไม่โมฆะ คาดว่างบฯ ประกาศบังคับเดือนมีนาคม จะทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม

หลังจากนี้ ฟันธงได้เลย รัฐทยอยออกมาตรการมาเป็นระยะ เพราะหลายผลสำรวจสะท้อนว่า “แย่ลง” อย่างดัชนีความเชื่อมั่นประชาชน ระบุต่ำสุดเกือบทุกตัวและทำสถิติแย่ลงมากที่สุด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมกราคมปีนี้ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 243 เดือน หรือ 20 ปี 3 เดือน ตอกย้ำผลสำรวจใช้จ่ายตามเทศกาลตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน วาเลนไทน์ แย่ลงอย่างไม่เคยเจอ!!

จนต่างชาติเองก็สัมผัสได้ สะท้อนจากผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทย ครั้งแรกในรอบปี 2563 แม้ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจหรือมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น

แต่เป็นครั้งแรกที่เอกชนญี่ปุ่นระบุเริ่มกังวลมากขึ้นต่อความต้องการ (สินค้าหรือบริการ) ในไทย จากความวิตกปลายๆ อันดับ 10 ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ครั้งแรก!!!

 

ผลสำรวจข้างต้นน่าจะค้านแนวคิดเคยมองว่าเชื่อว่าหลังจากมีรัฐบาล ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากมีรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ความเชื่อมั่นจากการสำรวจกลับลดลง

การแก้ปัญหาต่างๆ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจ

ทำให้ป้ายในขบวนแห่ล้อการเมืองในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ “ผนงรจตกม”

     โดนใจใครหลายคน