ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
การศึกษา
วิกฤต ‘หนี้ครู’ พุ่ง 1.4 ล้านล้าน
ปัญหา (โลกแตก)…แม่พิมพ์ไทย!!
กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง เกี่ยวกับปัญหา “หนี้สิน” ของข้าราชการ รวมถึง “หนี้ครู”
เมื่อรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หยิบยกขึ้นมา และมอบหมายให้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เนื่องจากข้าราชการหลายต่อหลายคนมีภาระหนี้สูงมาก จนไม่เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน
จึงสั่งการให้ธนาคารออมสินช่วย “ปรับโครงสร้างหนี้” รวมถึงดูแลหนี้บัตรเครดิตด้วย
สำหรับภาพรวมตัวเลขหนี้สินของข้าราชการทั่วประเทศ ที่ธนาคารออมสินได้รวบรวมไว้ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท กระจายอยู่ในสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง แต่ถ้าดูเฉพาะหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารออมสิน มีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ประมาณ 1.18 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ถึง 6.29 แสนล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็น “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)…
ซึ่งตัวเลขหนี้สินของข้าราชการครูฯ ที่รายงานในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรของ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ครูมีหนี้ทั้งระบบสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท…
ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล 3% ของยอดหนี้รวมทั้งระบบ หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาท!!
หนี้สินครู นับเป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แก้ไม่ตก เหมือนเป็นวัฏจักรที่บรรดาครูส่วนใหญ่ต้องเข้าไปเวียนว่ายตายเกิด เป็นหนี้เป็นสิน ไม่จบไม่สิ้น
ส่วนสาเหตุก็มีมากมายก่ายกองที่ทำให้ครูมีหนี้สินท่วมหัว ไม่ว่าจะเป็นมือเติบ ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หน้าใหญ่ ใจเร็ว ฯลฯ
บางคนเห็นเพื่อนครูมีบ้านเดี่ยว ก็ดิ้นรนกู้เงินมาสร้างบ้านเดี่ยวที่ใหญ่โตกว่า เห็นเพื่อนครูมีรถยนต์ขับ ก็ต้องวิ่งไปกู้เงินมาซื้อรถยนต์ยี่ห้อที่หรูกว่า แพงกว่า สมาร์ตโฟนทั่วๆ ไปก็ใช้ไม่ได้ ต้องเป็นสมาร์ตโฟนราคาแพงๆ ทั้งๆ ที่อาจจะไม่จำเป็น และบางคนต้องมีมากกว่า 1 เครื่อง
เพื่อบ่งบอกถึงฐานะ ถึงความมีหน้ามีตาในสังคม…
ไม่รู้จักประมาณตนเอง…
จากที่เคยพูดคุยกับผู้ที่สอบบรรจุครูได้ใหม่ๆ เล่าให้ฟังว่า สิ่งแรกที่ครูรุ่นพี่มักจะแนะนำให้ครูใหม่ คือให้ “กู้เงิน” ทันทีที่มีสิทธิกู้ได้
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเงินเดือนครูถึงไม่พอใช้ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเงินเดือนครูไม่ได้น้อยนิดเหมือนในอดีต เพราะมีโครงสร้างเงินเดือนของตัวเอง
ยิ่งถ้าครูทำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะด้วยแล้ว เงินเดือน และเงินวิทยฐานะรวมกัน ยังสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ถึงขั้นที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเปรียบเปรยว่า เกิดเป็นครูยุคนี้โชคดี มีรายได้สูงกว่าอาจารย์ที่มีตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” เสียอีก!!
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ซึ่งนายวิบูลย์ กุลวงศ์ ประธานชมรมพิทักษ์คุณธรรมและสิทธิครูจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า ปัญหาหนี้สินครูมีสาเหตุมาจากหน่วยงานต้นสังกัดไม่ได้ส่งเสริม และพัฒนาให้ครูมีวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อไม่ให้ครูมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัด ต้องออกระเบียบข้อบังคับมาควบคุมกำกับเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
เพราะมีรูปแบบการกู้ให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกู้แบบฉุกเฉิน มีหลักทรัพย์ หรือไม่มีหลักทรัพย์ ใช้เพียงการค้ำประกันของสมาชิกกันไปมา กู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ กู้นอกระบบ หรือกู้แทนคนอื่น โดยใช้อาชีพครูค้ำประกัน…
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพ และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ส่งเสริมให้กู้สารพัดวิธี ที่สำคัญคือ หักเงินผ่อนชำระหนี้เงินกู้ก่อนได้รับเงินเดือน ให้โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้จัดระบบเชื่อมโยงกับธนาคาร
ฉะนั้น แม้ปัจจุบันครูจะมีเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ปัญหาหนี้ยากจะหมดไป เพราะหน่วยงานรัฐไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะจัดการปัญหาได้ เนื่องจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดมีส่วนได้เสีย เข้าไปเป็น “กรรมการ” ในสหกรณ์ และส่งเสริมให้ครูกู้เงินโดยไม่ตรวจสอบว่าครูมีหนี้เท่าไหร่ ลักษณะของหนี้เป็นอย่างไร อายุของหนี้ แหล่งหนี้ ยอดรวมทั้งหมดของหนี้
จึงไม่สามารถนำมาประเมินหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ทั้งระบบ ศธ.หรือหน่วยงานต้นสังกัด ต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ควบคุม กำกับ ให้ข้าราชการครูฯ ประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้มีวินัยทางการเงิน และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม
หาก “ผู้บังคับบัญชา” ละเลยต่อหน้าที่ ให้ถือว่า “ผิดวินัย”!!
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาให้ครูที่มีความจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินจริงๆ รวมถึงบรรดาครูที่มีหนี้อยู่ในขั้นวิกฤต อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรือกำลังจะถูกดำเนินคดี
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เดินหน้าจัดทำแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เจรจากับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น หนี้บัตรเครดิต หนี้ที่ผูกพันกับ ศธ.ผ่าน สกสค. หนี้ที่ผูกพันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้นอกระบบ
ส่วนการเจรจาเพื่อขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ เบื้องต้นมีข้อเสนอจากสถาบันการเงินแล้ว แต่ต้องดูความเหมาะสม และเดินหน้าเจรจาต่อ
อีกทั้ง ถ้ามีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้สินครู จะช่วยป้องกันไม่ให้ครูกู้จนเกินตัว ซึ่งตามระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามครูกู้เงินเกิน 5 เท่าของเงินเดือนที่ได้รับ
รวมถึงต้องดูไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของครูแต่ละคนด้วย
ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียนต้องตรวจสอบข้อมูล
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรของ ศธ.ที่มีนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั่งหัวโต๊ะ ยังได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยให้ “เจ้าหนี้” ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ไปหามาตรการเพื่อหารืออีกครั้งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์
โดยขอให้ดูลูกหนี้ใน 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ถูกฟ้องร้องมีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างการบังคับคดี
- อยู่ระหว่างการดำเนินคดี แต่ยังไม่มีคำพิพากษา
และ 3. กลุ่มที่กำลังจะถูกดำเนินคดี
ขณะเดียวกัน ยังตั้งคณะทำงานตรวจสอบตัวเลขลูกหนี้ที่มีเงินเดือนหลังหักชำระหนี้น้อยกว่าร้อยละ 30 โดยสอบถามข้อมูลจาก สพท.เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน
โดยขอให้เจ้าหนี้ “ชะลอ” การดำเนินคดีกับกลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรือกลุ่มที่กำลังจะถูกดำเนินคดี
ล่าสุด นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า ข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินมี 1.18 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการด้านการศึกษา ส่วนการช่วยเหลือ จะเน้นกลุ่มหนี้ดี มีวินัยในการจ่ายหนี้ ที่มีอยู่ประมาณ 90% อาทิ ยืดเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อลดภาระการผ่อนเงินงวดให้น้อยลง
ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย จะมีแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ หากผ่อนชำระดีจนกลับมาเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีวินัยทางการเงิน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการที่จะออกมาในเร็วๆ นี้
ซึ่งการช่วยเหลือจะมีหลายแนวทาง แต่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะเห็นแนวทางชัดเจน และไม่เกิน 1 เดือน น่าจะออกเป็นมาตรการได้
ต้องรอดูว่า รัฐบาลจะมีน้ำยาในการแก้ปัญหา “หนี้ครู” หรือไม่??