บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /เมื่อ ‘คน’ โหดร้ายกว่าเชื้อโรค

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อ ‘คน’ โหดร้ายกว่าเชื้อโรค

 

แซงหน้าร้ายแรงกว่าโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ซาร์ส) ไปแล้วภายหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ให้โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน เป็นภาวะฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศ

หลังจากยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งขึ้นไม่หยุดและระบาดไปหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม การประกาศของ WHO มีข้อความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ฟังดูเป็นการตำหนิหรือรังเกียจจีน โดยย้ำว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ล้วนๆ คือเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปมากกว่านี้

แต่ไม่แนะนำให้ประเทศต่างๆ จำกัดการเดินทางหรือการค้ากับจีน

“เวลานี้คือเวลาแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ใช่เวลาแห่งการตราหน้าประณามใคร”

 

ถึงแม้ WHO จะออกมาดักคอไม่ให้ประเทศต่างๆ ฉวยโอกาสใช้คำประกาศของ WHO ในการจำกัดการเดินทาง

แต่สหรัฐอเมริกา คู่ปรับจีนกลายเป็น “เสือปืนไวแห่งความเห็นแก่ตัว” ก่อนใคร

ด้วยการประกาศห้ามต่างชาติทุกรายที่เคยเดินทางไปจีน เข้าสหรัฐอเมริกาเป็นอันขาด

ทำให้บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ เอาอย่างด้วยการขยายการแบนคนจีนทั้งหมด จากเดิมก่อนที่ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการห้ามเฉพาะคนมณฑลหูเป่ยเท่านั้น

พฤติกรรมของสหรัฐแสดงให้เห็นว่า นอกจากเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ทางทหารและเศรษฐกิจแล้ว

รัฐบาลสหรัฐ (ภายใต้การนำของทรัมป์) ยังเป็น “มหาอำนาจแห่งการเห็นแก่ตัว” จนถูกจีนออกมาตำหนิว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

นอกจากไม่ช่วยอะไรแล้วยังโหมกระพือความน่ากลัว

หากพูดแบบภาษาบ้านเราก็คือไม่ช่วยแล้วยังกระทืบซ้ำ

 

ความน่ากลัวของไวรัสมรณะนี้ ในแง่เศรษฐกิจ ถือว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ๆ ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก จึงนอกจากจะกระทบต่อการค้าสินค้าในเชิงรูปธรรมแล้ว ยังส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากจีนเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของโลก

แต่ความน่ากลัวที่สุดของการระบาดไวรัสดังกล่าว กลับไม่ใช่ตัวเชื้อโรคโดยตัวมันเอง หากแต่คือ “ปฏิกิริยารังเกียจ” ที่มนุษย์แสดงออกต่อกัน อย่างที่ทำกันในระดับรัฐบาลเช่นกรณีของสหรัฐ รวมทั้งในระดับประชาชนด้วยกัน

ดังเห็นได้จากข่าวคราวเป็นระยะเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนเอเชียในประเทศตะวันตก ที่ถูกคนตะวันตกแสดงท่ารังเกียจเพราะกลัวนำเชื้อโรคมาแพร่

จนไม่มีการแยกแยะว่าคนเอเชียคนนั้นเป็นจีนหรือชาติอื่น

เพราะเอเชียหลายประเทศทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น ล้วนมีหน้าตาคล้ายๆ กัน

สำหรับในประเทศไทย ก็ถึงกับมีร้านอาหารบางแห่งขึ้นป้ายไม่ต้อนรับคนจีน

ขณะที่ในโลกโซเชียล ก็มีการด่ากราดรัฐบาลไทยว่าทำไมไม่ห้ามคนจีนเข้าประเทศทั้งที่หลายประเทศแบนคนจีนแล้ว

ส่วนที่เกาหลีใต้ ก็เกิดศึกรังเกียจเพื่อนร่วมชาติที่ถูกรัฐบาลอพยพออกมาจากอู่ฮั่น เมื่อชาวเมืองอาซัน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร ต่อต้านไม่ให้นำตัวชาวเกาหลีใต้จากอู่ฮั่นมากักตัวในเมืองนี้ ทั้งที่สถานที่ใช้กักกันนั้นเป็นศูนย์ฝึกราชการ ไม่ได้ใช้พื้นที่ของประชาชนทั่วไป

การประท้วงรุนแรงถึงขนาดทำร้ายรัฐมนตรี และมีการนำสิ่งกีดขวางมาขวางทางเข้าศูนย์กักกัน

มิไยเจ้าหน้าที่จะขอความเห็นใจว่าคนเกาหลีที่มาจากอู่ฮั่นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่แล้ว

 

ไม่เพียงคนต่างชาติเท่านั้นที่แสดงออกถึงการรังเกียจ แม้แต่คนจีนในประเทศจีนด้วยกันบางกลุ่มในบางพื้นที่ก็ปฏิบัติกับเพื่อนร่วมชาติอย่างแล้งน้ำใจเช่นกัน เช่น บางชุมชนนำสิ่งกีดขวางไม่ให้ผู้กลับจากเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ของตนถ้าหากไม่ยอมแจ้งประวัติการเดินทาง บางชุมชนไม่ต้อนรับเพื่อนบ้านที่กลับจากการเดินทางไปเยือนหูเป่ย

บางชุมชนตั้งรางวัลสำหรับใครก็ตามที่แจ้งเบาะแสว่ามีใครเดินทางไปอู่ฮั่น บางคนน่าสงสารเพราะถึงขนาดกลับเข้าไปในที่พักตัวเองในกรุงปักกิ่งไม่ได้หลังเดินทางกลับบ้านเกิดที่เฉิงตู (มณฑลเสฉวน) ช่วงวันหยุด

เหตุการณ์นี้ทำให้คนอู่ฮั่นรู้สึกเจ็บปวดต่อการกระทำของเพื่อนร่วมชาติ บางคนออกมาเตือนสติว่าถ้าคนจีนปฏิบัติต่อชาวอู่ฮั่นยังไง คนต่างชาติก็จะปฏิบัติต่อคนจีนทั้งหมดอย่างนั้น

แต่พูดไปก็คงหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะความกลัวจะทำให้คนเราขาดสติ ไร้เหตุผล หน้ามืด คิดสั้นๆ ขาดมนุษยธรรม คุณธรรม ขาดความเห็นอกเห็นใจไปหมดสิ้น

กฎเกณฑ์ดีงามสูงส่ง เรื่องมนุษยธรรม เชิดชูและเคารพความเป็นมนุษย์ที่เป็นหลักสากล (ผู้กำหนดกติกาประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นฝรั่ง) ถูกเขี่ยทิ้ง (นำการเขี่ยโดยอเมริกา) ไปหมดสิ้นก็ในยามแบบนี้แหละ ที่เรียกว่าเป็นโมเมนต์แห่งการ “ชำแหละธาตุแท้” มนุษย์

 

ไม่แปลกและเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ย่อมมีความกลัวหรือป้องกันตัวเอง แต่การแสดงออกไม่ควรเกินเลยไปจนถึงจุดที่ขาดมนุษยธรรม ไม่เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์

ในเมืองไทยเราก็จะเห็นโลกโซเชียล ใช้คำประชดประชันผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนคนจีนทั้งหมดว่า “พวกโลกสวย ถ้าคิดว่าปลอดภัย ก็เอาคนจีนไปอยู่ที่บ้านสิ”

อันที่จริงเรื่องการแบนคนจีนนี้ ถึงไทยไม่แบน เชื่อว่าหลังจากรัฐบาลจีนประกาศปิดเมืองและห้ามกรุ๊ปทัวร์ออกเดินทางนอกประเทศ นักท่องเที่ยวจีนก็คงไม่ค่อยเดินทางออกนอกประเทศอยู่แล้ว เพราะออกมาแล้วอาจจะกลับไปไม่ได้

ผู้บริหารสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า ถึงแม้ไทยไม่ประกาศแบนอย่างเป็นทางการ คนจีนก็เดินทางออกแทบไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ ส่วนนักท่องเที่ยวประเภทเดินทางมาเองไม่ผ่านบริษัททัวร์ ก็มาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว (ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม เป็นต้น) ผ่านบริษัทตัวแทนให้บริการท่องเที่ยวหรือ OTA (Online Travel Agency)

ซึ่งในจีน OTA เหล่านี้ถูกรัฐบาลสั่งห้ามให้บริการชั่วคราวเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงไม่ควรไปประกาศยกเลิกวีซ่าคนจีนให้เสียความรู้สึก

จริงๆ แล้วไทยอาจมีมาตรการเงียบๆ ที่จะคัดกรองคนจีนที่จะเดินทางมาไทยอยู่แล้ว เช่น อาจกำหนดว่าต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ป่วย จึงจะออกวีซ่าให้ คือเป็นการเพิ่มความลำบากในการเดินทาง ก็อาจจะทำให้คนจีนที่ไม่มีความจำเป็นต้องมาไทย ท้อไปเองก็ได้

ซึ่งก็จะลดจำนวนคนที่จะเดินทางเข้ามาโดยปริยาย

 

ไทยอาจเข้าใจความรู้สึกและวัฒนธรรมคนจีนได้ดีกว่าชาติตะวันตก เพราะคนจีนจะอ่อนไหวเรื่องแบบนี้ จะให้ความสำคัญกับเรื่อง “มิตรยามยาก” และ “บุญคุณต้องตอบแทน” ใครทำอะไรไว้เขาจะจำ ต่างจากคนตะวันตกที่จะยอมรับการกระทำที่ตรงไปตรงมาได้มากกว่า เช่นกรณีเดียวกันนี้ สมมุติไทยแบนคนยุโรปหรืออเมริกัน เพราะกลัวนำเชื้อโรคมาแพร่ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ปกติ พวกเขาก็อาจมาเที่ยวไทยเหมือนเดิม

ส่วนคนจีนนั้น ด้วยวัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆ พวกเขาจะอ่อนไหวเรื่องท่าทีที่พวกเขาถูกคนอื่นปฏิบัติ ดูจากตอนเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต แล้วรองนายกฯ คนหนึ่งของไทยไปพูดว่า “ก็คนจีนทำกันเอง” ส่งผลให้คนจีนเดินทางมาไทยลดลงอย่างชัดเจนอยู่หลายเดือนเพราะประโยคนี้ถูกคนจีนส่งกันว่อนโลกออนไลน์

ดังนั้น การแสดงออกต่อคนจีนในสถานการณ์ไวรัสระบาดเช่นนี้ หากไทยหวังผลระยะยาว ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ตามแบบวัฒนธรรมจีน แต่ยังมีประสิทธิภาพในการคัดกรองคนจีนเข้าประเทศ