วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/บทกำหนด ‘บรรณาธิการ’ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บทกำหนด ‘บรรณาธิการ’

และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

 

เหตุผลการลาออกของกรรมการผู้แทนองค์กรสื่อมวลชนทั้ง 4 คน ที่ระบุไว้ในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คือ พบว่าการพิจารณาและความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ ต่อการยกร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้หารือเบื้องต้นกับรองศาสตราจารย์ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้

แถลงการณ์ร่วม เรื่องการลาออกจากคณะกรรมการร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์

ระบุว่า

 

ในการประชุมคณะทำงานร่วมของผู้แทนองค์กรวิชาชีพ 6 องค์กร ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกันมีมติให้ออกแถลงการณ์เพื่อความเข้าใจและประโยชน์ของประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนดังนี้

  1. การพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยก่อนจะมีการแต่งตั้งผู้แทนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
  2. องค์กรวิชาชีพทั้งหลายยังยืนยันให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ทั้งฉบับ และไม่ให้นำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นแบบหรือร่างของพระราชบัญญัติฉบับใหม่
  3. หลักการและเหตุผลรวมทั้งบทมาตราที่สำคัญในพระราชบัญญัติ พ.ศ.2484 มีเนื้อหาที่ขัดกับมาตรา 19 ของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาตรา 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 รับรองไว้
  4. ผู้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นส่วนใหญ่มีความเห็นแตกต่างกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่มักมีการตรวจสอบจริยธรรมและกฎหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นหน้าที่หลักของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงเห็นว่าการใช้มาตรการที่มีลักษณะควบคุมประกอบกับการจดแจ้งการพิมพ์ย่อมขัดกันอย่างชัดเจน
  5. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลาย เห็นว่าร่างกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ที่ฝ่ายวิชาชีพได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาก่อนหน้านี้ มีหลักการดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้วดำเนินการอยู่

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงขอยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนทั้งหลายว่า จะดำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และสนับสนุนการถอนตัวของผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกจากคณะกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ เพื่อยืนยันถึงหลักการความเป็นอิสระของวิชาชีพหนังสือพิมพ์

 

พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2550

หนังสือ “คำอธิบาย พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พุทธศักราช 2550” ที่เรียบเรียงโดยมานิจ สุขสมจิตร และคณะบทที่ว่าด้วย “บทวิเคราะห์ศัพท์ตามกฎหมายใหม่” อธิบายขยายความถึงกรณีหลากหลายในความเป็นสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เช่นนิยาม “บรรณาธิการ” หมายความว่า

“บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย”

ทั้งตำแหน่ง “บรรณาธิการ” มีเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า “หนังสือพิมพ์ ” เท่านั้น ผู้ใดจะเป็นบรรณาธิการต้องไปจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์

คุณสมบัติของบรรณาธิการบัญญัติไว้ในมาตรา 14 ว่า

  1. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
  2. มีสัญชาติไทยหรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย
  3. มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
  4. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  5. ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หรือเป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

 

หลังจากกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีผลประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น รักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือป้องกันสุขภาพของประชาชน

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้

การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย

การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชนไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกันต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่กำหนดและประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย