โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/ เหรียญหลวงปู่ฝั้นรุ่น 2 พิมพ์น้ำตัน พ.ศ.2507 คณะศิษย์ทหารอากาศ

.หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญหลวงปู่ฝั้นรุ่น 2

พิมพ์น้ำตัน พ.ศ.2507

คณะศิษย์ทหารอากาศ

 

 

“หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พระวิปัสสนาจารย์ ผู้เปี่ยมเมตตา ตามรอยบูรพาจารย์

วัตถุมงคลของหลวงปู่ฝั้น ได้รับความนิยมอย่างมาก สามารถแบ่งกลุ่มผู้สร้างหลักประมาณ 2-3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. คณะศิษย์ทหารอากาศ
  2. คณะศิษย์สกลนคร นำโดยนายมานิต ลิ้มเลิศเจริญ วนิช
  3. กลุ่มลูกศิษย์คณะอื่นๆ เช่น ศิษย์น้ำอูน ศิษย์จันทบุรี เป็นต้น

ค่าความนิยมของวัตถุมงคล มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสนบาท ทั้งนี้ ค่าความนิยมของวัตถุมงคล ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมเฉพาะรุ่นแรกเท่านั้น ในรุ่นต่อมาบางรุ่น ยังมีค่านิยมมากกว่าเหรียญรุ่นแรกบางเหรียญด้วย เนื่องจากเจตนาของผู้สร้างถวาย จำนวนเหรียญ ประสบการณ์ รูปแบบเหรียญ ฯลฯ

สำหรับเหรียญพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่น 2 สร้างปี พ.ศ.2507 พิมพ์น้ำตัน (พิมพ์นิยม) จัดสร้างเพียง 216 เหรียญ โดยศิษย์คณะศิษย์ทหารอากาศ เป็นผู้จัดสร้างถวาย

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ฝั้นครึ่งองค์หันหน้าด้านข้าง ด้านโค้งขอบล่างใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร”

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปยันต์อักขระโบราณ ด้านโค้งขอบบน เขียนคำว่า “วัดบ้านหัวช้าง สกลนคร” ด้านโค้งขอบล่าง เขียนคำว่า “รุ่นสองศิษย์ ทอ.สร้างถวาย” ด้านบนยันต์อักขระ เขียนคำว่า “ที่ระลึกงานสร้างโบสถ์น้ำ” ด้านล่างใต้ยันต์อักขระ เขียนว่า “๒๕๐๗”

เหรียญหลวงปู่ฝั้นทุกรุ่น ได้รับความนิยม เชื่อว่ามีพุทธคุณเด่นรอบด้าน

ปัจจุบัน เหรียญหลวงปู่ฝั้น โดยเฉพาะรุ่น 2 เริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 2

 

มีนามเดิม ฝั้น สุวรรณรงค์ เกิดวันที่ 20 สิงหาคม 2442 ที่ ต.พรรณานิคม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

เบื้องต้นเริ่มศึกษาที่วัดโพธิชัย บ้านม่วงไข่ มีครูหุ่น ไชยชมภู และพระอาจารย์ต้น วุฒิสาร เป็นผู้สอน หลังเรียนจบมีความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ จึงไปอยู่กับนายเขียน อุปพงศ์ พี่เขย ผู้เป็นปลัดขวาอยู่ที่เมืองขอนแก่น ฝึกเป็นเสมียนอำเภอ

ครั้งนั้นหลวงปู่ฝั้นได้เห็นเหตุการณ์สับสนวุ่นวายของข้าราชการและบ้านเมือง เห็นการปราบปรามผู้ร้าย การฆ่าฟัน นักโทษถูกประหารชีวิต

ภาพเหล่านั้นติดตาตรึงใจตลอดมา จนเกิดความรู้สึกปลง มองเห็นความเป็นอนิจจังของชีวิตทางโลก

ทำให้ตัดสินใจไม่รับราชการ หันหน้าเข้าวัดทันที

บรรพชาที่วัดโพนทอง ถัดมาอีกหนึ่งปี อุปสมบทที่วัดสิทธิบังคม ต.บ้านไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระครูป้อง (ป้อง นนตะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สังข์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์แล้ว ไปฝึกอบรมทางปฏิบัติกัมมัฏฐานกับพระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร หรือ “ท่านอาญาครูธรรม” ที่วัดโพนทอง

 

ปลายปี พ.ศ.2462 มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งจาริกไปแสดงธรรมและเข้าพักปักกลดอยู่ในป่าช้าใกล้บ้านม่วงไข่

ด้วยมีใจเลื่อมใสศรัทธา จึงชวนพระอาญาครูดี และพระภิกษุกู่ ธัมมทินโน ออกไปฟังธรรมเทศนา อบรมธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์ใหญ่

ธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น ปลุกให้ท่านและสหธรรมิกทั้งสองมีจิตศรัทธาแรงกล้า จนถวายตัวเป็นศิษย์และออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไป และได้พบหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ จึงได้ศึกษาวิธีฝึกจิตภาวนาเบื้องต้น

จากนั้นก็เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม ก่อนกลับมาหาพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง

พระอาจารย์มั่นชี้ทางปฏิบัติให้เป็นผู้ตั้งใจ ปรารถนาความเพียรแรงกล้าเด็ดเดี่ยว ไปลำพังรูปเดียว อย่าได้คลุกคลี ให้ยินดีต่อความสงบ อย่ามักมาก ยินดีในความมักน้อย เป็นผู้ยินดีในความสันโดษ

 

ต่อมา หลวงปู่ฝั้นออกธุดงค์ไปตามป่าเขาโดยลำพัง ครั้นธุดงค์ถึงวาริชภูมิ บ้านหนองแส ท่านอาพาธเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการหนักมาก เกิดวุ่นวายในจิต จึงออกเดินธุดงค์ต่อทั้งๆ ที่ยังไม่ทุเลา จึงได้คิดภาวนาจนบำบัดไข้ด้วยธรรมโอสถ

หลังโรคภัยไข้เจ็บหายแล้ว หลวงปู่ฝั้นเปลี่ยนญัตติเป็นคณะธรรมยุต มีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์รถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2497-2505 ไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำขาม ซึ่งท่านชอบมากที่สุด เพราะสบายแก่การประพฤติพรหมจรรย์

เป็นที่รักของพระเถระผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์อย่างมาก เนื่องจากอ่อนน้อมถ่อมตน กายวาจาใจบริสุทธิ์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

ขณะเดียวกัน ท่านจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ได้สร้างวัด สร้างกุศลคุณงามความดีให้กับทุกพื้นที่ เมตตาบารมีธรรมแผ่ไพศาล

 

วัตรปฏิบัติหลวงปู่ฝั้น เคร่งครัดไม่ต่างจากพระอาจารย์มั่นผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ เคร่งครัดสมฐานะของพระป่ากัมมัฏฐานที่ดำรงตนอยู่ด้วยความสันโดษเรียบง่าย

พระภิกษุ-สามเณรที่อยู่กับท่าน ต้องปฏิบัติให้เคร่งครัดเหมือนกัน ไม่ว่าจะในเรื่องการเจริญสมาธิ ฉันหนเดียว ปัดกวาดบริเวณ เดินจงกรม การอยู่ถ้ำอยู่ป่า

ลูกศิษย์ลูกหาต่างหวั่นเกรงในความเคร่งในพระธรรมวินัย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ใคร่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติ พวกประพฤติตนเป็นคนเหลวไหล ไร้สาระ ท่านจะขับไล่อย่างไม่เกรงใจ ไม่มีการพะเน้าพะนอ

เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้ประพฤติธรรมอย่างเต็มที่

วันที่ 4 มกราคม 2520 มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58