สุจิตต์ วงษ์เทศ /ทำขวัญที่กวางสี หลายพันปีมาแล้ว

ขวัญ ภาพเปรียบเทียบวงกลมมีแฉกตรงกลางหน้ากลองทองมโหระทึก ที่ผาลายและที่อื่นๆ ในกวางสี

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทำขวัญที่กวางสี

หลายพันปีมาแล้ว

 

ผาลายเป็นชื่อหน้าผามหึมา มีภาพเขียนเก่าแก่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว อยู่ริมแม่น้ำในมณฑลกวางสี (ชาวจ้วงเกินสิบล้านคนพูดตระกูลภาษาไต-ไท ต้นตอภาษาไทย) ทางภาคใต้ของจีน (พื้นที่ต่อเนื่องมณฑลกวางตุ้ง)

[กวางสี แปลว่า พื้นที่กว้างขวางฝั่งตะวันตก กวางตุ้ง แปลว่า พื้นที่กว้างขวางฝั่งตะวันออก]

ผาลาย หมายถึง หน้าผาหินมีลวดลายรูปเขียนต่างๆ จีนเรียก ฮวาซาน แปลว่า ผาลาย (ฮวา แปลว่า ลวดลาย, ซาน แปลว่า ภูเขา) ความหมายเดียวกับผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี (ชื่อผาลายพบในไทยที่ อ.เมือง จ.สกลนคร)

ภาพเขียนบนผาลายเนื่องในพิธีกรรม แต่เป็นพิธีกรรมอะไร? ยังบอกตรงไปตรงมาไม่ได้ นักวิชาการจีนในกวางสีบอกเพียงว่ามีรูปคนทำท่าคล้ายกบ และมีรูปหมา โดยมีเครื่องประโคมตีในพิธีกรรม คือ กลองทอง หรือ กลองมโหระทึก เพราะพบภาพเขียนวงกลมมีแฉกตรงกลาง

ภาพเขียนที่ผาลาย (บางกลุ่ม) ในกวางสี (ภาพคัดลอกจากหนังสืองานวิจัยฯ ของอาจารย์ฉิน เซิ่ง หมิน แห่งกวางสี)

 

ขวัญในพิธีกรรมทำขวัญ

ภาพเขียนบนผาลาย ที่กวางสี น่าจะอธิบายเป็นอย่างอื่นได้อีก ดังนี้

ภาพเขียนบนผาลายเนื่องในพิธีกรรมทำขวัญเลี้ยงผีบรรพชน เพราะมีรูปขวัญกระจายหลายกลุ่มปะปนอยู่บนภาพเขียนมหึมานั้น นอกจากนั้นยังมีพิธีหลายอย่างปนกันจนบอกไม่ได้ว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

วงกลมมีแฉกตรงกลางตามรูปเขียนบนหน้าผา หมายถึงขวัญบนกลางกระหม่อมของคน มีรูปแบบเดียวกันกับที่มีบนหน้ากลองมโหระทึก แต่ตรงนี้เจตนาเป็นขวัญกระจายทั่วไป ไม่ใช่กลองมโหระทึก

 

รูปร่างขวัญ

ขวัญไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่คนรู้ว่าสิงสู่อยู่บริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงกลมเหมือนก้นหอย ตรงกลางกระหม่อมบนหัวกบาลของคน เรียกจอมขวัญ

เลยเชื่อกันว่าถ้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีลักษณะเป็นวงกลมหรือขดเหมือนก้นหอย เท่ากับมีขวัญสิงสู่อยู่ตรงนั้น หมายถึง เฮี้ยน ย่อมบังเกิดสิ่งดีที่คอยคุ้มครองป้องกันพ้นจากสิ่งไม่ดี

ดังนั้น เครื่องมือเครื่องใช้เลยต้องมีขวัญสิงอยู่ในนั้น โดยทำลวดลายคล้ายวงก้นหอยจำลองขวัญในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น ปุ่มนูนมีหลายแฉกล้อมบนหน้ากลองมโหระทึก, ลายก้นหอยคล้ายลายนิ้วมือบนหม้อเขียนสีที่บ้านเชียง เป็นต้น

 

ปุ่มนูนมีแฉกล้อม คือ ขวัญ

กลางหน้ากลองมโหระทึกทำปุ่มนูนล้อมด้วยแฉกมีหลายแฉก เป็นรูปขวัญ ซึ่งจำลองจากจอมขวัญบนหัวของคน ที่บริเวณโคนของเส้นผมขึ้นเป็นวงเหมือนขดก้นหอยอยู่กลางกระหม่อม

เมื่อประโคมตีมีเสียงดังกังวานไกลออกไป ด้วยจงใจให้เสมือนเสียงสู่ขวัญ คืนร่างเดิมคนตายจะได้ฟื้นเป็นปกติ

ตรงปุ่มนูนไม่ใช่ตำแหน่งใช้ไม้ตีตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะเมื่อต้องการให้มีเสียงกังวานต้องตีบนพื้นที่ว่างระหว่างปุ่มนูนกับขอบ

นักโบราณคดีชาวยุโรปสมัยก่อนและนักโบราณคดีไทยสมัยนี้ มีนิยามว่ารัศมีแฉกๆ เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดวงดาว เป็นต้น ล้วนเป็นความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้จากโลกตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ จึงไม่น่าจะตรงความหมายดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว