หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘น้ำนิ่ง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างแอฟริกัน - ท่าทางวิ่งเข้าหา เตะฝุ่นกระจายฟุ้ง เป็นการขู่เล่นๆ มากกว่าจะเข้าโจมตีจริง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘น้ำนิ่ง’

 

ป่าคือโรงเรียน

มีบทเรียนซึ่ง “สอน” ได้อย่างไม่รู้จบ

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นเรื่องที่ผมค้นพบหรอก ความจริงนี้อยู่กับโลกมาเนิ่นนานแล้ว

สำหรับผม โอกาสดีที่สุดในชีวิต คือการได้ทำงานในป่า

มีบทเรียนแห่งความพลาดพลั้งเกิดขึ้นเสมอ เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การกะระดับความลึก หรือความแรงของกระแสน้ำในลำห้วย, หนอง, หรือบึงน้ำต่างๆ ผมพลาดบ่อยๆ

หลายครั้งที่คิดว่าน้ำตื้น พอยืนได้ ก้าวเท้าลงไป ก็พบกับน้ำที่ลึกท่วมหัว

หรือข้ามลำห้วยพร้อมสัมภาระ คิดว่ากระแสน้ำไม่รุนแรงนัก และพบกับกระแสน้ำที่ไหลแรงเกินกว่าจะข้ามได้ โดยไม่ใช้อุปกรณ์อย่างเชือกขึงเพื่อประคองตัว

ขับรถในทางป่า หล่ม ที่มีน้ำนิ่งๆ ไม่ใหญ่ ดูตื้นๆ

ผมพารถจมอยู่ในหล่ม ซึ่งดูเหมือนตื้นๆ เช่นนี้หลายครั้ง

อีกนั่นแหละ บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่า น้ำในห้วย หรือหล่ม ที่เห็นนั่น ลึกแค่ไหน

จนกว่าจะได้ลงไปดู

 

เพื่อนๆ ในป่าทุ่งใหญ่ ส่วนใหญ่ของผมเป็นชนเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย

ทุกคนมาจากหมู่บ้านรอบๆ ป่า บางหมู่บ้านก็อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ หมู่บ้านตั้งมาเนิ่นนาน ก่อนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

พวกเขามีวิถีชีวิตอันสอดคล้องกับความเป็นไปในป่า

ถึงวันนี้ หลายสิ่งเปลี่ยนไป ประชากรในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนไม่น้อยออกไปเรียนหนังสือข้างนอก จนจบปริญญา หลายคนกลับบ้าน

แต่มีจำนวนมากที่หางานทำอยู่ในเมือง

การบุกรุกป่า ล่าสัตว์ป่า มีบ้าง

“พวกวัยรุ่น คะนองๆ แหละครับ พวกนี้ไม่ฟังอะไร ผู้ใหญ่พูด หรือทำอะไร มันว่าล้าสมัยไปหมด” เจริญ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเล่าให้ฟัง

บางครั้ง เขาจับกุมเด็กๆ เหล่านี้ได้ หากเป็นการทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เขานำตัวไปให้ผู้ใหญ่บ้านตักเตือน ถ้าพบว่าฆ่าสัตว์ ก็ดำเนินคดีไปตามระเบียบ

เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่ ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้าน

“ไม่คิดว่าพวกเขาจะเป็นพวกเดียวกันหรือแอบเป็น ‘สาย’ ให้พรรคพวก เข้ามาล่าสัตว์หรือครับ” ผมเคยถามหัวหน้า

“ไม่หรอก” หัวหน้าตอบ “พวกเขาซื่อสัตย์ และเคารพต่อหน้าที่มาก ทำอย่างนั้น เท่ากับไม่เคารพตัวเอง” หัวหน้าพูดต่อ

“อีกอย่าง หาคนจากที่อื่นยาก ไม่มีใครอยากมาอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ ที่เรียกได้ว่า ‘กันดาร’ มาก แห่งหนึ่ง”

ผมพยักหน้าเห็นด้วย

“มีวันลา 7 วัน บางทีเดินทางไปไม่ถึงไหนเลยหมดเวลาแล้ว” พนม ซึ่งเกษียณไปเมื่อสองปีก่อน เคยพูดขำๆ กับผม

เส้นทางสัญจรในป่าทุ่งใหญ่ ช่วงฤดูฝนมีสภาพเป็นอย่างที่พนมเล่า

 

ผมผ่านฤดูฝนแรกในป่าทุ่งใหญ่อย่างสะบักสะบอม ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรถสูงลิบ

การเดินทางที่ไม่สามารถไปได้โดยลำพัง อย่างน้อยต้องมีสักคนคอยช่วยลากสายวินซ์ หรือช่วยขุดตอนพบกับร่องลึกๆ

การเดินทางไปหาอดิเทพคู่หู ซึ่งรออยู่ที่หน่วยนั้น นอกจากเดชา, ชูชัย และอีกหลายคน ที่เปรียบเสมือนผู้ร่วมทางชั้นยอด

ผมจะอุ่นใจเสมอ เมื่อมีชินวรรณร่วมทางไปด้วย

 

ชินวรรณ ผู้ชายวัยกลางคน รูปร่างสันทัด เงียบขรึม ไม่กินเหล้า ไม่สูบยาเส้น เป็นชาวกะเหรี่ยงจากบ้านคลิตี้

เขาจะเป็นคนแรกที่โดดลงจากหลังกระบะเมื่อรถติด และจะก้มดูใต้ท้องรถ สำรวจความเสียหายตอนเราถึงจุดหมาย หรือเมื่อดิ้นพ้นหล่มมาได้

ถึงที่ตั้งแคมป์ หรือหน่วยพิทักษ์ป่า เขาช่วยดูแลหาที่นอน กางเต็นท์ หรือผูกเปล

เวลากินข้าว ชินวรรณนั่งข้างๆ คอยอธิบายความเรื่องที่คนรอบๆ กำลังโม้ด้วยน้ำเสียงอ้อแอ้

 

ชินวรรณได้ชื่อเพราะๆ นี้จากอำเภอ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เวลาไปทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่จะตั้งชื่อเพราะๆ เหล่านี้ให้

ผมไม่รู้ประวัติความเป็นไปของชินวรรณ

เขาไม่เคยบอก ผมก็ไม่เคยถาม แต่รับรู้ได้ถึงความใจร้อนของเขา

ค่ำหนึ่ง เขาลุกขึ้นผลักชูชัย ลากตัวลงไปข้างล่าง เมื่อชูชัยโยนค้อนลงกลางวง มีเสียงคนโดนอัดอยู่ใกล้ๆ

“อ่องมันใจร้อน มันรู้ตัว เลยไม่กินเหล้า” บุญชัย เป็นเพื่อนชินวรรณมานานบอก

“อ่อง” ในความหมายนี้คือ เกลอกัน

“เพราะใจร้อนนี่แหละถึงต้องไปอยู่ในคุกซะหลายปี” บุญชัยเล่าต่อ

ชินวรรณมีปัญหากับชายคนหนึ่งที่เข้าป่าล่าสัตว์บ่อย

“อ่องไปบอกให้เขาเลิก แต่คุยกันอย่างไรไม่รู้ อ่องมันยิงเลย”

ออกจากคุก ชินวรรณสมัครเข้าทำงานอีกครั้ง

 

รุ่งเช้า หลังคืนที่เขาลากตัวชูชัยลงไป เราพบกันตอนเช้า ชินวรรณยกมือไหว้ขอโทษที่ทำกิริยาเช่นนั้น

“โมโหมัน ไม่เกรงใจใครเลย”

เราเดินทางต่อ บนเส้นทางทุรกันดาร

ขณะขับรถ ผมมองกระจกหลัง เห็นชินวรรณนั่งมองสองข้างทาง เอามีดฟันกิ่งไม้ที่ยื่นมาระตัวรถ เขาทำให้ผมนึกถึงลำห้วย

มีความจริงของลำห้วยในป่าอย่างหนึ่งคือ

“น้ำนิ่ง” นั้น ไหลลึก