การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ Poison City เมืองพิษ (2)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Poison City เมืองพิษ (2)

นักเขียนการ์ตูนหนุ่มฮิบิโนะ เขียน “อสูรย่ำรัตติกาล” เล่าเรื่องไวรัสระบาดที่ทำให้ผู้คนวิปริตออกเข่นฆ่าและกินเครื่องในมนุษย์ ผลงานของเขาถูกคณะปัญญาชนจัดให้เป็นการ์ตูนอันตราย ส่งผลให้นิตยสารยังจังค์ที่ตีพิมพ์ตอนแรกของเขาถูกเรียกเก็บคืนจากตลาดทั้งหมด สร้างความเสียหายต่อเพื่อนนักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ ที่มีผลงานในนิตยสารฉบับเดียวกัน

โฆษณาไม่จ่าย รายได้สูญหาย

ฮิบิโนะเดินทางไปพบมัตสึโมโตะ มัตสึโมโตะเป็นนักเขียนการ์ตูนที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติ เหตุเพราะการ์ตูนเรื่องบาปบริสุทธิ์ของเขาซึ่งเล่าเรื่องเด็กที่ถูกละเมิดอาจจะเป็นต้นเหตุของการฆาตกรรมเด็กคนหนึ่ง มัตสึโมโตะให้การต้อนรับฮิบิโนะเป็นอย่างดี เขาเล่าเรื่องการปรับทัศนคติว่าเขาถูกบังคับให้ดูภาพสยดสยองของคดีฆาตกรรมเด็กหลายชั่วโมงจนอาเจียน

ถึงวันนี้เขาคิดว่าเขาไม่ควรเขียนผลงานแบบที่เคยเขียนอีก

มัตสึโมโตะบอกว่า ทุกวันนี้เขาทำงานเป็นผู้ลงหมึก บริษัทจะมีทีมคิดพล็อตเรื่อง จ้างดารามีชื่อเสียงมาถ่ายทำสตอรี่บอร์ด ทั้งเอาไว้วางแผนโฆษณาและผลิตโมเดลขายต่อ จากสตอรี่บอร์ดนำมาสแกนลงกระดาษเป็นภาพร่าง นักเขียนการ์ตูนทำหน้าที่ลงหมึก ได้ค่าแรงที่พอเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ก่อนที่ฮิบิโนะจะจากมา ภรรยาของมัตสึโมโตะซึ่งตั้งครรภ์แก่กลับมาบ้านพอดี เธออาสาเดินมาส่งฮิบิโนะพร้อมกำชับว่าอย่าเขียนเรื่องที่เคยเขียนอีก

สิ่งที่ฮิบิโนะทำสร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวของเธออย่างมาก และเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างยิ่ง

 

ฮิบิโนะได้รับข้อเสนอจากบอกอให้เลิกเขียนแล้วเขียนเรื่องใหม่หรือลดทอนความรุนแรงลงเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสารยังจังค์ต่อไป หรือหากต้องการเขียนแบบเดิมก็ต้องลงเว็บซึ่งยอดขายจะไม่ดีเท่ากับนิตยสารและโอกาสรวมเล่มก็น้อย มิหนำซ้ำยังอาจจะถูกขึ้นบัญชีการ์ตูนอันตรายได้อยู่ดี

มัตสึโมโตะเตือนเขาแล้วว่าการ์ตูนที่ขึ้นบัญชีอันตรายไว้ที่หน้าร้านหนังสือเปรียบเสมือนการปักป้ายหน้าหลุมฝังศพของตนเอง

แต่ฮิบิโนะดึงดันที่จะเป็นตัวของตัวเอง เขาจะเขียน “อสูรย่ำรัตติกาล” ต่อไปโดยคงฉากบู๊ ศพ ความตาย และแหวะเครื่องใน

เท่ากับหนังสือการ์ตูนเมืองพิษนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องสองเรื่องไปพร้อมกันคือการระบาดของไวรัสในเมืองสมมุติ และการระบาดของโรคหวาดระแวงในเมืองพิษ

ผลงาน “อสูรย่ำรัตติกาล” ในเว็บของเขาเข้าตาอัลเฟรด บราวน์ บรรณาธิการบริหารของคามิคาเซ่มังงะที่ซานฟรานซิสโก อ่านถึงตรงนี้จึงรู้สึกตัวว่านี่เราอึดอัดกับคณะปัญญาชนจนหลงลืมไปเลยว่าโลกไร้พรมแดน

อัลเฟรด บราวน์ ขึ้นเครื่องบินมาที่ญี่ปุ่น เขาแวะไปที่อากิฮาบาร่าก่อน อาณาจักรแห่งมังงะ อะนิเมะ และเกม วันนี้อากิฮาบาร่าเงียบเหงา แสงสีซบเซา ป้ายโฆษณาหรือบิลบอร์ดยักษ์ว่างเปล่า มีนักเรียนประถมตัวเล็กๆ ยืนข้างตู้รับคืนการ์ตูนอันตราย พร้อมเรียกร้องให้ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมคืนความสงบให้แก่กรุงโตเกียว

“ทำไมพวกหนูถึงมาทำอะไรแบบนี้” อัลเฟรดก้มลงถามไถ่

“ครูบอกให้ทำครับ” เด็กชายตอบ ท่าทางหวาดกลัว “ขะ ขอโทษครับ”

“เปล่าๆ ลุงไม่ได้โกรธอะไรพวกหนูหรอกนะ” อัลเฟรดปลอบ

อะไรกันแน่ที่เป็นอาชญากรรมต่อเด็ก ระหว่างการเผยแพร่ภาพความรุนแรงหรือโป๊เปลือย หรือการครอบงำความคิดของเด็กที่รุ่งอรุณแห่งชีวิต ความพอดีอยู่ตรงไหน

 

อัลเฟรดเดินทางไปยังจังค์ขอพบฮิบิโนะและบรรณาธิการฮิงะเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ “อสูรย่ำรัตติกาล” ไปพิมพ์จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

ตัวเขาเองเป็นทั้งนักแปลและผู้บริหารจึงไม่มีปัญหาอะไร ระหว่างการสนทนาเขาเล่าให้ฮิบิโนะฟังเรื่องการควบคุมและเผาหนังสือการ์ตูนในสหรัฐอเมริกาเมื่อทศวรรษที่ 1950 อันเป็นผลพวงจากหนังสือ Seduction of the Innocent ของจิตแพทย์ Fredric Wertham ซึ่งเป็นที่ทราบกันในภายหลังว่าเป็นการเขียนกล่าวหาอิทธิพลของหนังสือการ์ตูนต่อเด็กๆ โดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์

แล้วพอกระแสความไม่พอใจหนังสือการ์ตูนลุกลามออกไปจนเกินควบคุม ตามมาด้วยความรุนแรง บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ได้ตั้งใจจะให้มันลุกลามไปขนาดนั้น”

เมื่ออัลเฟรดอยู่กับฮิบิโนะสองต่อสอง เขากระซิบให้ฮิบิโนะฟังถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเขากับหนึ่งในคณะปัญญาชน

พูดง่ายๆ ว่าเขามีสปายในคณะปัญญาชนและมีข้อแนะนำพิเศษแก่ฮิบิโนะว่าควรทำอย่างไรเพื่ออยู่รอด

จบเล่ม 1

 

ในตอนกลางเรื่องของหนังสือเมืองพิษเล่ม 1 นี้ บทสนทนาตอนหนึ่งระหว่างฮิบิโนะและนักเขียนอันตรายมัตสึโมโตะซึ่งบัดนี้ถูกปรับทัศนคติเรียบร้อยแล้วมีว่า เพราะอะไรนักเขียนการ์ตูนในประเทศญี่ปุ่นจึงถูกเรียกว่าอาจารย์ ทั้งที่ไม่มีใครเป็นอาจารย์จริงๆ สื่อว่าคนญี่ปุ่นเคารพนักเขียนการ์ตูน และนักเขียนการ์ตูนมีอิทธิพลต่อสังคมญี่ปุ่น

พวกเรานักเขียนการ์ตูนจึงสมควรรักษาระดับความน่าเคารพนั้นไว้ และใช้สถานะของตนเองให้เกิดประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ประมาณนั้น

ส่วนนี้คือปัญหาของครูบาอาจารย์หรือคนที่อยู่ในสถานะของครูบาอาจารย์ และเป็นเรื่องที่สมควรถกเถียงหรือวิวาทะได้มาก ดังกรณีนักเรียนตัวเล็กๆ ที่อากิฮาบาร่าถูกครูสั่งมายืนถือป้ายรณรงค์เพื่อคืนความสงบแก่สังคมโดยที่เด็กๆ เองไม่เข้าใจความหมาย ครูเป็นผู้มีอิทธิพลแน่ ทั้งต่อเด็กและสังคม

คำถามคือครูสมัยใหม่ควรคิดอย่างไร และทำอย่างไร