วิเคราะห์ : แม้คลอดกม.ภาษีที่ดิน ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ (และสูง) ต่อไป

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ 2508 นั้น

โดยแนวคิดกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในนานาอารยประเทศถือว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าต้องการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการจัดเก็บภาษีที่มีอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามากเพราะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า และบริการต่างๆ จากรัฐมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินน้อย

ในประเทศไทย ข้าราชการกระทรวงการคลังที่หัวก้าวหน้า และนักการเมืองบางยุคสมัยที่หัวก้าวหน้า มีความพยายามผลักดันออกกฎหมายนี้กันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เคยสำเร็จ

จนถือกันว่าเป็นกฎหมายอาถรรพ์ ที่เสนอเข้าสภาเมื่อไหร่รัฐบาลมักจะล้มก่อนที่กฎหมายนี้จะผ่านสภาทุกครั้ง ด้วยแรงต่อต้านคัดค้านจากผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลของประเทศ

เพิ่งจะมาครั้งล่าสุด สภานิติบัญญัติที่มีจากการแต่งตั้งหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดปี 2557 ได้รับช่วงร่างกฎหมายนี้ต่อมาจากรัฐบาลก่อนหน้านั้น สามารถทำคลอดกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้สำเร็จ

มีการแปรญัตติจำนวนมาก เพื่อลดอัตราภาษีให้ต่ำลง ด้วยข้ออ้างว่า ให้จัดเก็บจำนวนน้อยๆ ก่อน หรือให้กฎหมายออกมาให้ได้ก่อน ค่อยปรับเพิ่มภายหลัง

มีข่าวการล็อบบี้จากบรรดาผู้ถือครองที่ดินในการแปรญัตติกฎหมายนี้ แต่ไม่มีการยืนยัน ไม่มีการรับรู้ของสาธารณชน

และในที่สุด พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ก็ออกมาสำเร็จ โดยบังคับใช้ในปี 2563

 

ระหว่างนี้ก็มีรายงานข่าวหลายระลอกเกี่ยวกับการเตรียมตัวของผู้เสียภาษีจากกฎหมายฉบับนี้ เช่น ผู้ถือครองห้องชุดคอนโดมิเนียมได้รับจดหมายจากเขต กทม.ให้ไปยืนยันหรือแก้ไขประเภทการเสียภาษี ทำให้คนจำนวนมากต้องเดินทางไปสอบถามที่เขต

มีรายงานข่าวการปลูกมะนาวบนที่ดินแปลงใหญ่ราคาสูงใจกลางกรุงเทพฯ มีการปลูกกล้วยบนที่ดินมากมายหลายแปลงที่มีราคาแพงซึ่งยังไงก็ไม่คุ้มกับการทำเกษตร แต่เพียงเพื่อต้องการเสียภาษีในอัตราเกษตรกรรม

ล่าสุดรัฐบาลมีประกาศเลื่อนการจัดเก็บ จากเดิมที่จะให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยื่นรายการชำระภาษีภายในเดือนเมษายน ออกไปเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2563

คาดว่า ไม่เกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบใดๆ แต่คงสืบเนื่องจากความไม่พร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า

 

แต่ที่กล่าวมานี้ก็ยังไม่ได้เฉลยว่า ทำไมกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งนี้จึงผ่านออกมาบังคับใช้ได้เป็นครั้งแรก จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผลการศึกษา “ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562” ของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

มีการเปรียบเทียบภาระภาษีที่คนกลุ่มต้องการต้องชำระเทียบของปี 2562 ก่อนการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับภาระภาษีที่ต้องเสียในปี 2563 ที่กฎหมายบังคับใช้

จึงเห็นได้ชัดเจนว่า กิจการใหญ่ แลนด์ลอร์ดใหญ่ เสียภาษีน้อยลงกว่าเดิมหลายเท่าตัว

แต่คนชั้นกลางกลับมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนถึง 10 เท่า

และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จัดเก็บภาษีได้น้อยลง

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย จึงแตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับปรัชญาหรือแนวคิดของกฎหมายประเภทนี้ของนานาอารยประเทศ ที่เขามุ่งหวังสร้างความเป็นธรรมทางด้านภาษี

แต่ของเรา แม้ไม่มีการประกาศหลักแนวคิด แต่ผลลัพธ์ชัดเจนว่า เป็นการส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และลดบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ประเทศกรูมีจริงๆ