ความเอือมระอาหน่ายเหนื่อย ไม่มีความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรได้

มีพลังกว่าความรู้สึกประชาชน

ถ้าปิดการรับรู้จากช่องทางอื่น รับฟังเฉพาะที่คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูด ย่อมได้ยินว่ารัฐบาลชุดนี้ทุ่มเทการทำงาน เต็มเปี่ยมด้วยจิตใจเสียสละ เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยทั้งหลายควรจะสำนึกถึงบุญคุณด้วยไม่มีรัฐบาลไหนที่ผ่านมาในอดีตจะทุ่มเทและเปี่ยมความสามารถสร้างผลงานให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมากมายถึงเพียงนี้

และหากขยายการรับรู้ขึ้นอีกหน่อยมาอยู่ในแวดวงของผู้ก่อตั้ง “ขบวนการต่อต้านลัทธิชังชาติ” เพิ่มพูนความเชื่อมั่นในทางที่ว่า “รัฐบาล คสช.ซึ่งสืบทอดอำนาจมาในปัจจุบัน” เป็นดังเทพเจ้ามาโปรดเพื่อนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤต ช่างเป็นบุญวาสนาของประชาชนคนไทย

ใครที่ปิดหูปิดตาตัวเองจากความรับรู้ด้านอื่นได้สนิท ย่อมมีชีวิตอยู่ด้วย “ความสุขที่คืนให้ตามสัญญา”

ทว่าโลกที่เคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีการวสื่อสารที่ยากต่อการปิดกั้น จะใครสักกี่คนที่จะยอมตัวเองให้มืดบอดต่อข้อมูลข่าวสารอันล้นทะลักมาจากทุกสารทิศได้ถึงเพียงนั้น

อย่างมากที่สุดก็แค่แม้จะรับรู้ แต่พยายามปลุกเร้าจิตของให้ปิดกั้น หรือต่อต้านข้อมูลที่ทำร้ายอคติของตัวเอง

นั่นย่อมเป็นคนพิเศษจริงๆ

เพราะความเป็นไปทางการเมืองย่อมเป็นผลสะท้อนจากความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่

การเมืองที่สวนทางกับความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ย่อมเกิดแรงเสียดทานที่ทำให้ไม่เป็นสุข

จึงน่าสนใจยิ่งว่าในยุคสมัยเช่นนี้ มีคนที่จงใจปิดกั้นตัวแพราะเพราะอคติทำให้ความรับรู้สร้างความเจ็บปวดให้เกินกว่าจะเปิดใจกว้างมากแค่ไหน

“สวนดุสิตโพล” สำรวจดัชนีการเมืองไทย โดยมีตัวชี้วัด 5 ประเด็น ในมกราคมที่ผ่านมา โดยเทียบกับเรื่องเดียวกันที่เคยสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2562 แล้วดูว่า ประเด็นไหนดีขึ้นประเด็นไหนแย่ลง

ปรากฏว่าภาพรวมคือคะแนนเฉลี่ยของทั้ง 25 ประเด็น ได้เพียง 3.88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 หมายความว่าสอบตก

ทุกตัวชี้วัดได้ต่ำกว่าครึ่งคือ 5 คะแนนทั้งหมด ที่ได้เกินครึ่งมีเพียง “การปฏิบัติงานของฝ่ายค้าน” ที่คือ 5.30 และมากกว่าเดือนธันวาคมที่ได้ 5.20 และ “จริยธรรม/วัฒนธรรมของคนในชาติ” ที่ได้ 5.30 จากที่เคยได้ 4.70 ในเดือนธันวาคม

ดัชนีตัวที่ฉุดคะแนนให้แย่ลงจากเดือนธันวาคม มีถึง 14 ประเด็นคือ การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าจาก 4.28 เหลือ 4.21, สภาพสังคมโดยรวม จาก 4.07 เหลือ 4.01, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจาก 4.14 เหลือ 3.99, ความมั่นคงของประเทศ/การก่อการร้ายจาก 3.92 เหลือ 3.88, ผลงานของนายกรัฐมนตรีจาก 4.07 เหลือ 3.63, ผลงานของรัฐบาลจาก 4.14 เหลือ 3.56, การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวมจาก 3.65 เหลือ 3.53, การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระจาก 3.58 เหลือ 3.41, ความเป็นอยู่ของประชาชนจาก 3.43 เหลือ 3.40, การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้จาก 3.68 เหลือ 3.39, สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวมจาก 3.29 เหลือ 3.22, การแก้ปัญหาการว่างงานจาก 3.25 เหลือ 3.22, ราคาสินค้าจาก 3.20 เหลือ 3.08

การแก้ปัญหาความยากจน จาก 3.14 เหลือ 3.05

ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีต่อรัฐบาลออกมาแบบนี้ ย่อมหมายความว่ากลุ่มคนที่มีสะกดจิตตัวเองให้ปิดกั้นการรับรู้ เพื่อเสพความเชื่อในทางว่ารัฐบาลชุดนี้เก่งกาจสามารถอย่างไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเมืองของเราเป็นคนส่วนน้อย

สำหรับคนส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ที่มีความเป็นไปในทางเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของ “ขบวนการต่อต้านลัทธิชังชาติ” ซึ่งสถาปนากันขึ้นมาเพื่อสร้างความแตกแยกให้สังคม

อย่างไรก็ตาม ด้วย “กติกาโครงสร้างอำนาจประเทศ” ที่ “ดีไซน์มาเพื่อประโยชน์ให้กลุ่มผู้มีอำนาจ”

แม้คนส่วนใหญ่จะส่ายหัวในดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศดังกล่าว

ความเอือมระอา หน่ายเหนื่อยนั้น ไม่มีหนทางและความหวังว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรได้